วันศุกร์, เมษายน 01, 2559

อย่างง... โหวตโน = ไม่รับร่างรธน(ชัดเจนว่าไม่เอา) ส่วนโนโหวต เป็นการบอยคอต ไม่ไปใช้สิทธิ์ - จำง่ายๆ...คือออกไปใช้สิทธิแต่โหวต โน





ผมเคยพูดไปแล้วครั้งหนึ่งเรื่อง โหวตโนไม่รับ หรือ โนโหวตบอยคอต-ไม่ใช้สิทธิ์ ก็ขอย้ำอีกทีว่า ผมเสนอให้ไปใช้สิทธิ์ไม่รับร่างรธน. "โหวตโน"

การบอยคอต แล้วอ้างว่า ต้องรณรงค์ให้คนไม่ไปใช้สิทธิ์ คว่ำบาตรประชามติไปเลย แม้ร่างรธน.จะผ่าน แต่ถ้าคนงดออกเสียง "โนโหวต" เยอะมากเป็นล้านเสียง รธน.นั้นก็จะ "ไม่ชอบธรรม" อยู่ดี

ฟังเผิน ๆ ดูเหมือนเข้าท่า เป็นอุดมคติสวยหรู Political correctness ไม่เกลือกกลั้วกับประชามติจอมปลอม ไม่เตะหมูเข้าปากนักการเมือง ฯลฯ


แต่ความจริงคือ ถ้าพวกคุณบอยคอตไม่ไปใช้สิทธิ์ เขาก็นับรวมพวกคุณไปกับพวกไม่ใช้สิทธิ์อื่น ๆ นั่นแหละ แยกไม่ออกว่า ใครบอยคอต ใครนอนหลับทับสิทธิ์ เช่น ประชามติปี 2550 มีคนไม่ใช้สิทธิ์ 20 ล้านคน ถ้าเป็นปี 2559 คุณจะอ้างหรือว่า ทั้ง 20 ล้านคนที่ไม่ใช้สิทธิ์เป็น "โนโหวต" คว่ำบาตรการลงประชามติ?!? ใครจะไปเชื่อคุณ?

ผลสุดท้าย การรณรงค์โนโหวต จะไม่มีผลสะเทือนทางการเมืองใด ๆ เลย ขอให้ดูผลงานพวกพันธมิตรเสื้อเหลืองที่เคยบอยคอต "โนโหวต" เลือกตั้งปี 2554 แล้วล้มเหลว

ขณะที่การรณรงค์ "โหวตโน ไม่รับ" ยังเป็นช่องทางให้อธิบายทั้งที่มาและเนื้อหาของร่างรธน. ได้เสนอ "โรดแมป" ทางเลือก และกิจกรรมอื่น ๆ แม้ผลประชามติออกมา "โหวตโน" อาจจะแพ้เหมือนปี 2550 และรธน. "ผ่าน" (เพราะคนส่วนใหญ่อยากเลือกตั้งเร็ว) แต่เราก็ยังมีคะแนน "ไม่รับร่าง" ชัดเจนว่า อย่างน้อยเป็นเท่าใด เหมือนปี 2550 ที่คนไม่รับถึง 10 ล้านเสียง เป็นผลสะเทือนทางการเมืองอยู่ดี

พวกที่ "โนโหวตคว่ำบาตร" โดยอ้างว่า "พวกมันโกง เปลี่ยนหีบบัตร ฯลฯ" นั้นขัดแย้งตัวเอง เพราะการโนโหวตนั่นแหละจะทำให้เขายิ่ง "โกงง่ายขึ้น" และชนะประชามติง่ายขึ้น

แม้สุดท้ายร่างรธน.จะผ่าน เขาก็จะยังไม่ให้เลือกตั้งอยู่ดี อย่างน้อยถึงปลายปี 2560 (และอาจเลื่อนไปถึงปี 61-62) เราก็ยังเคลื่อนไหวต่อไปได้ เช่นเดียวกับประชามติปี 2550


พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์
.....

http://www.prachatai.com/journal/2016/04/65003

ooo





ชวนคว่ำร่าง รธน.ไม่ผิดกฎหมาย !
นายสามารถ แก้วมีชัย บอกว่า
พรรคเพื่อไทย ชวนคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ
ไม่ผิดกฎหมาย
จะผิดกฎหมายได้อย่างไร
เมื่อขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายใด
ออกมาใช้บังคับเรื่องการทำประชามติ
ยกเว้นเขาจะใช้มาตรา 44
ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาออกคำสั่ง

แต่ถ้า พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ
ร่างรัฐธรรมนูญออกมา
ทางพรรคพร้อมปฏิบัติตามกฎหมาย

ส่วนจะเคลื่อนไหวต่อหรือไม่นั้น
ก็ต้องดูว่ากฎหมายห้ามทำอะไร
แต่จะทำอยู่ในขอบเขต
ขณะเดียวกันจะรณรงค์ให้ประชาชน
ออกมาใช้สิทธิให้มากเพราะไม่ใช่เรื่องผิด

โดยจะไม่ชี้นำ
แต่ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ
ว่าจะรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญ

บรรยากาศก่อนเลือกตั้ง
ควรผ่อนคลายและเปิดโอกาสให้ผู้เห็นต่าง
ได้แสดงความเห็น
เพราะรัฐธรรมนูญ
เป็นกติกาสูงสุดของประเทศที่ต้องใช้กับทุกคน
หากไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม
ในการร่างรัฐธรรมนูญ

ก็ควรเปิดโอกาสให้สามารถแสดงความเห็น
ได้อย่างเต็มที่ตามหลักสากล


ที่มา FB


บรรจบ ขุมทอง

ooo





แถลงการณ์ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (New Democracy Movement - NDM)

เรื่อง จุดยืนของขบวนการต่อการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 เวลาประมาณ 13.30 น. คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นำโดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ได้แถลงข่าวเปิดเผยรายละเอียดของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมจากร่างแรกเมื่อสองเดือนที่แล้ว

ขบวนการประชาธิปไตยใหม่มีความเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวยังคงมีบทบัญญัติที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย ดังที่มีอยู่ในร่างก่อนหน้า ได้แก่

1. การใช้ถ้อยคำกำกวมเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพ เช่น ห้ามใช้สิทธิเสรีภาพเป็นอันตรายต่อ “ความมั่นคงของรัฐ” (มาตรา 25) การอนุญาตให้ตรากฎหมายไม่เป็นไปตามเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญได้หากไม่ขัดต่อ “หลักนิติธรรม”

2. การให้สิทธิชุมชนแบบครึ่งๆ กลางๆ ที่สุดท้ายแล้วยังคงถูกครอบด้วยคำว่า “ตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ” (มาตรา 43) จึงเป็นเพียงสิทธิที่ชุมชนได้รับมอบมาตามกรอบที่รัฐกำหนดไว้ ไม่ใช่สิทธิที่ชุมชนเป็นคนกำหนดเอง

3. การตัดโอกาสทางการศึกษาระดับมัธยมปลายและอาชีวศึกษา เหลือเพียงการศึกษาภาคบังคับ (มาตรา 54) และให้รัฐบาล คสช. มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษา (มาตรา 261) ซึ่งส่งผลในทางปฏิบัติเป็นการครอบงำเด็กผ่านหลักสูตรของ คสช.

4. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่บิดเบือนความต้องการแท้จริงของประชาชน ใช้บัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว นำคะแนนที่ประชาชนเลือกคนไปคิดให้กับพรรคที่เขาอาจไม่ได้อยากเลือก (มาตรา 91) โดยไม่มีบัตรที่สองให้ประชาชนปฏิเสธพรรคนั้นได้ ทำให้นักการเมืองบางคนแอบอิงคะแนนเสียงเข้ามาเป็น ส.ส. ได้ง่ายขึ้น

5. ให้พรรคการเมืองเสนอชื่อบุคคลที่จะให้เป็นนายกรัฐมนตรีได้ถึง 3 ชื่อ โดยบุคคลดังกล่าวไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. (มาตรา 88) ทำให้ประชาชนไม่อาจคาดหมายได้ว่าใครใน 3 คนจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี

6. การเลือกสมาชิกวุฒิสภาที่เป็นเพียงการเลือกกันเองในกลุ่มบุคคลจากวงการอาชีพต่างๆ (มาตรา 107) ซึ่งในความเป็นจริงย่อมมีกลุ่มคนที่ถูกกีดกันออกไป ไม่สามารถครอบคลุมประชาชนได้ทั้งหมด

7. ศาล ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระที่ไม่มีความยึดโยงกับประชาชน (มาตรา 203, 204, 217) แต่มีอำนาจมาก เช่น อำนาจร่วมตีความประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (มาตรา 5) อำนาจเลื่อนกำหนดวันเลือกตั้ง (มาตรา 104) อำนาจกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมบังคับใช้กับนักการเมือง (มาตรา 219) เป็นต้น

8. หากคณะรัฐมนตรีพ้นตำแหน่งตามมาตรา 144 (รู้เห็นการเปลี่ยนแปลงเนื้อหางบประมาณที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องแก่ผู้เสนอให้เปลี่ยนแปลง) ให้ปลัดกระทรวงรักษาการแทนและคัดเลือกนายกรัฐมนตรีรักษาการ (มาตรา 167(4), 168) เป็นการเปิดโอกาสให้เกิดรัฐราชการได้

9. การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ยังคงเป็นไปได้ยากมาก (มาตรา 256) เนื่องจากต้องการเสียงจากทุกพรรคการเมืองที่ไม่ได้มีผู้เป็นรัฐมนตรี เป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 20 และเสียงจาก ส.ว. ถึง 1 ใน 3 ของจำนวนทั้งหมด

10. คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังคงมีอยู่หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่หลังการเลือกตั้งจะเข้ารับหน้าที่ และยังคงมีอำนาจเต็มตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 (มาตรา 265) และกรอบเวลาในการจัดการเลือกตั้งภายหลังจัดทำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ ซึ่งยังคงไม่มีความแน่นอน เนื่องจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อาจไม่เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติได้ โดยไม่ได้มีการกำหนดกระบวนการหลังจากนั้น (มาตรา 267)

11. มีการนิรโทษกรรมและรับรองความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการกระทำและการใช้อำนาจโดย คสช. ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต (มาตรา 279)

ในขณะเดียวกัน กลับมีการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติที่ยิ่งขัดต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย ได้แก่

1. การให้สมาชิกวุฒิสภาชุดแรก จำนวน 250 คนมาจากการสรรหาซึ่งมี คสช. เป็นผู้คัดเลือกในขั้นตอนสุดท้าย โดยมีปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการเหล่าทัพต่างๆ รวม 6 คน เป็น ส.ว. โดยตำแหน่ง (มาตรา 269) มีอำนาจตีความประเพณีการปกครอง (มาตรา 5) เร่งรัดการปฏิรูปประเทศ โดย ครม. ต้องแจ้งความคืบหน้าต่อรัฐสภาทุก 3 เดือน (มาตรา 270)

2. การเปิดช่องยกเว้นให้ไม่ต้องเลือกนายกรัฐมนตรีจากรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอมาได้ (มาตรา 272)

3. การกำหนดให้รัฐต้องให้ความรู้เกี่ยวกับอันตรายจากการทุจริตแก่ประชาชน และจัดให้มีมาตรการป้องกันและขจัดการทุจริต (มาตรา 63) ซึ่งในทางปฏิบัติจะเป็นเพียงเครื่องมือในการควบคุมเฉพาะนักการเมืองเลือกตั้ง และหนุนเสริมสถานะขององค์กรที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน

4. การบัญญัติให้กำลังทหารใช้เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศด้วย (มาตรา 52)

ทั้งหมดทั้งมวลนี้แสดงให้เห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวยังคงพยายามบ่อนเซาะสถาบันที่มาจากการเลือกตั้งให้อ่อนแอ และเอื้อให้สถาบันที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนเป็นผู้บงการการเมืองไทยในระยะยาว ไม่ต่างจากร่างเมื่อสองเดือนที่แล้ว จึงไม่มีทางที่ร่างรัฐธรรมนูญนี้จะนำพาประเทศไทยไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยได้

ขบวนการประชาธิปไตยใหม่จะไม่อดทนยอมรับร่างรัฐธรรมนูญนี้ไปก่อน เพื่อที่จะตระหนักในภายหลังว่ามันได้สร้างความเสียหายในระยะยาวอีกต่อไป เราขอแสดงจุดยืนสนับสนุนให้ประชาชนไปร่วมลงประชามติ #ไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว และร่วมกันหาหนทางไปสู่ระบอบประชาธิปไตยด้วยมือของประชาชนเอง

ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (New Democracy Movement - NDM)

30 มีนาคม 2559