วันพุธ, เมษายน 27, 2559

ถ้าการศึกษาของประเทศไทยได้ครึ่งนึงของประเทศพัฒนาเช่นฟินแลนด์ ป่านนี้คงพัฒนาไปไกลแล้ว ทุกวันนี้ถอยหลังไปสู่ยุคอดีตกาล


http://www.matichon.co.th/news/117418




เห็นการถอยหลังของวิธีคิดและแนวปฏิบัติของการศึกษาไทย แล้วการพยายามเปรียบเทียบกับการศึกษาของฟินแลนด์กันอยู่เรื่อยๆ (ซึ่งก็มักจะดูกันแต่เรื่องความสำเร็จ ไม่ค่อยกล้าดูเรื่องเสรีภาพและสิทธิทางการศึกษาของทางฟินแลนด์กันเท่าไร) ผมก็ขอเล่าเรื่องการศึกษาที่นี่ให้ฟังกันหน่อยแล้วกันนะฮะ

ผมเข้าคอร์สเรียนภาษาฟินน์ ที่จัดให้กับคนต่างชาติ โดยสำนักงานจังหวัดที่ผมอยู่ มาได้สองปีแล้ว และในระหว่างที่เรียนภาษา ก็จะมีการแนะนำให้คนต่างชาติได้เรียนรู้เกี่ยวกับระบบการเมือง การปกครอง การศึกษา และวิธีสังคมของคนที่นี่ และตลอดการเรียนที่นี่ ผมได้รับการตอกย้ำเสมอว่า การเรียนการสอนไม่มีการเลือกปฏิบัติ คนต่างชาติ คนฟินน์ ได้รับเหมือนกัน และครูย้ำเสมอว่า การเรียนภาษาฟินน์มันต้องใช้เวลา อย่าแข่งขันกับคนอื่นเพื่อคะแนน ให้ใช้ความพยายามในการเรียนรู้เอา

และผมก็ต้องไปรับลูกสาวเพื่อนที่โรงเรียนเด็กเล็กเป็นบางครั้ง และให้เด็กๆ มาเล่นที่บ้านของผมด้วย

ครับ เรื่องการศึกษาเป็นเรื่องใหญ่มาก และให้ความสำคัญมากที่ฟินแลนด์ แต่ไม่ได้หมายความว่า "อัดฉีดเด็กกันตั้งแต่เด็กๆ" เช่นที่คนไทยมองมันอย่างผิวเผิน

ประเด็นที่ผมขอพูดถึงเรื่องการศึกษาที่ฟินแลนด์ เท่าที่สัมผัสด้วยตัวเอง คือ

1. ไม่มุ่งแข่งขัน แต่มุ่งให้เด็กมีโอกาสฝึกและเรียนรู้ที่หลากหลาย โดยมองว่า แรงจูงใจจะเป็นแรงผลักดันให้เด็กหรือผู้ใหญ่ใส่ใจการเรียนด้วยตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น ในการเรียนภาษาของผมและเพื่อนชาวต่างชาตินั้น จะมีการทำ pretest ก่อนเรียน เพื่อที่ครูจะดูว่านักเรียนแต่ละคนมีพื้นฐานมาแค่ไหน และเมื่อเรียนจบคอร์ส ก็จะมีการทำเทสซ้ำอีกครั้งหนึ่ง ด้วยข้อสอบชุดเดิม และคะแนนก็จะบอกเฉพาะตัวของนักเรียนคนนั้น เพื่อให้เขาได้ประเมินพัฒนาการของตัวเอง จะไม่มีการประกาศผลการเรียนหรือขึ้นป้ายหราโชว์ใดๆ ทั้งสิ้น

2. เด็กเล็ก จะมีโรงเรียนเด็กเล็ก บางเมืองก็จะมีสองระดับ คือ เด็กเล็กจนถึง 3 ขวบ และตั้งแต่ 3 - 6 ขวบ ที่โรงเรียนจะดูแลเด็กหมด อาทิ เรื่องอาหาร ก็จะมีอาหารให้เด็กทั้ง เช้า กลางวัน บ่าย ก่อนเด็กจะเลิกเรียนกลับบ้าน ก็ได้รับการดูแลจนอิ่ม และจะกินที่บ้านเพียงมื้อค่ำ (เด็กทุกคนที่เจอบอกว่าชอบอาหารที่โรงเรียน) ในระหว่างที่อยู่โรงเรียนก็มีอุปกรณ์ เกมส์ และสนามเด็กเล่นให้เด็กเล่น หน้าเก็บเบอร์รี่ก็พาเด็กเดินเข้าป่าไปเก็บเบอร์รี่ (ลูกเพื่อนอายุ 5 ขวบ นี่พาผมเดินในสวนป่า และแนะนำว่าชื่อภาษาฟินน์ของต้นไม้ใบหญ้ามันชื่ออะไรบ้าง) ที่โรงเรียนเด็กเล็กจะไม่เน้นการสอนการเขียนอ่าน (การเขียนอ่านนี่มักจะเป็นการเริ่มสอนกันเองโดยพ่อแม่ที่บ้าน) และเด็กๆ ที่พบนี่พอสี่ห้าขวบก็เขียนอ่านกันได้บ้างแล้ว

3. เจ็ดขวบเข้าโรงเรียน ซึ่งโรงเรียนขั้นแรกนี่จะมี 9 ปี ระหว่างนี้ เด็กนักเรียนมีกิจกรรมเสริม (โดยไม่ต้องจ้างครูพิเศษ) ให้เรียนเพิ่มเติมเพียบ ทั้งร้องเพลง เล่นดนตรี กีฬา ฯลฯ หรือบางกิจกรรมก็เป็นกิจกรรมเรียนพิเศษร่วมกับผู้ใหญ่ด้วย การเรียนการสอน ก็จะไม่มีการจัดระดับเด็กด้วยเกรดหรือผลการสอบเช่นกัน

4. เมื่อจบ 9 ปีแล้ว นักเรียนจะเลือกเข้าเรียนต่อ ม. ปลาย หรือจะเลือกเข้าเรียนสายวิชาชีพ ก็ทำได้ และเมื่อจบแล้ว ก็มีโอการเรียนต่อมหาวิทยาลัยทั้งสองสาย

5. สิ่งที่การศึกษาที่นี่ดูเหมือนจะใส่ใจเป็นพิเศษ และให้ความสำคัญมากๆ คือ การไม่ให้เกิดการรู้สึกเลือกปฏิบัติในการเรียน ให้เสรีภาพนักเรียนให้มากที่สุด ทุกระดับไม่มีการบังคับทางวินัยเรื่องการแต่งกายใดๆ ทั้งสิ้น และจะไม่มีการแบ่งแยกเด็กจากผลการเรียน (แต่ดูเหมือนว่าจะพยายามช่วยดูแล ไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องปมด้อยเรื่องการเรียนไม่เก่ง ไม่ดีเท่าคนอื่น

6. สวัสดิการสังคมที่นี่จะมีเงินเดือนให้เด็ก (และแม่เลี้ยงเดี่ยว) ทุกคนตั้งแต่เกิด จนครบ 18 ปี และในการเรียนระดับที่สูงไป ก็จะมีสวัดิการการช่วยเหลือเยอะมาก แม้มหาวิทยาลัยไม่ฟรีหมด แต่ก็มีการอุดหนุนในระดับที่เยอะมาก และมีกองทุนกู้ให้เด็กได้กู้เรียน ใครที่ไม่อยากมีภาระกู้เงิน ก็มักจะทำงานพิเศษ ... (ซุปเปอร์มาเก็ตและร้านค้าต่างๆ เป็นแหล่งเริ่มต้นการทำงานและหารายได้พิเศษของเด็กๆ และเยาวชนของที่นี่จริงๆ)

7. พิธีรับใบปริญญาบัตรที่นี่ที่สำคัญที่สุด คือ งานจบการศึกษา ม. ปลาย หรืออาชีวะ ซึ่งทุกคนจะได้หมวกสีขาวเป็นเครื่องหมายว่าเรียนจบแล้ว และเจ้าหมวกสีขาวนี่ก็เป็นหมวกที่พวกเขาจะใส่ออกงานกันในวันแรงงานสากล และในวันรับใบประกาศนียบัตรของลูกๆ ยามจบ ม. 6 (คนที่อายุมากๆ สีหมวกก็จะเหลืองคล้ำขึ้น) ถ้าใครมาฟินแลนด์แล้วสงสัยว่าทำไมคนที่นี่ใส่หมวกขาวกันเยอะจริงในเทศกาลวันแรงงาน (ซึ่งก่อนวันแรงงานหนึ่งวัน คือ วันที่ 30 เมษาฯ ที่นี่ถือเป็นวันครอบครัว พวกเขาจะพากันใส่หมวกไปสังสรรค์กับเพื่อนและครอบครัวกัน เป็นเทศกาลที่ทุกร้าน ทุกเมืองจะเต็มไปด้วยผู้คนที่ออกมาทานอาหารนอกบ้านจริงๆ วันนี้)

8. ฟินแลนด์นี่เปิดโอกาสให้มีการศึกษาแลกเปลี่ยนกับสถานศึกษานอกประเทศ โดยเฉพาะระหว่างกันในยุโรปนี่เยอะมาก ทั้งมีระบบมีทุนให้ หรือหาทุนกันไปเอง จึงทำให้นักศึกษาฟินน์รุ่นใหม่ ค่อนข้างจะมีโลกทัศน์กว้างกว่าคนรุ่นเก่า เพราะการเปิดโลกผ่านทางการศึกษา และก็มีคนที่ออกไปทำงานนอกประเทศเยอะขึ้นเรื่อยๆ เพราะฟินแลนด์นั้นดูเล็กไปจริงๆ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในยุโรป หนุ่มสาวจำนวนไม่น้อยก็อยากไปใช้ชีวิตที่มีสีสันและเมืองใหญ่กว่าเฮลซิงกิ

ละคนที่นี่จะพูดกันได้อย่างชำนาญอย่างน้อยสองหรือสามภาษา (ฟินน์ สวีดิช อังกฤษ, เยอรมัน, ฝรั่งเศส, สเปน) หรือภาษาหลักๆ ของโลกนั่นล่ะครับ การเปิดเรียนเปิดสอนภาษาเหล่านี้มีในทุกสถาบันการศึกษา

9. ผมชอบโครงการการศึกษาผู้ใหญ่ของที่นี่มากครับ (ทั้งคนว่างงาน คนเกษียณอายุแล้ว คนต่างชาติที่ยังต้องปรับตัวเข้าสังคมที่นี่) มีวิชาให้เลือกเรียนเยอะมาก ท้งด้านภาษาต่างๆ คอมพิวเตอร์ ทำอาหาร งานฝีมือ วาดภาพ ร้องเพลง เซรามิก ก่อสร้าง เชื่อม ซ่อมรถ ฯลฯ เลือกได้ตามสะดวกเลย ค่าเรียนก็ถูกมาก แถมสำหรับคนว่างงาน ก็มีเงินค่าเรียนให้อีกต่างหาก นี่ก็เป็นกิจกรรมที่สร้างให้คนว่างงานและคนเกษียณได้มีกิจกรรมทำ และได้มีโอกาสพบปะผู้คน

10. กระนั้น แม้จะดูแลกันขนาดนี้ การวิพากษ์วิจารณ์คุณภาพการศึกษาก็ยังเป็นประเด็นสังคมและการเมืองที่สำคัญที่สุดในฟินแลนด์ และตอนนี้ก็มีการวิพากษ์กันว่า คุณภาพการศึกษาต่ำลง และเมื่อประเทศพยายามจะรัดเข็มขัดทางเศรษฐกิจ ก็คิดจะตัดลดงบประมาณการศึกษา นักศึกษามหาวิทยาลัย และวิทยาลัยช่างของที่นี่ประท้วงกันเยอะช่วงนี้ ในเมืองการศึกษาใหญ่ เพื่อต่อต้านนโยบายการตัดลดเงินช่วยเหลือและอุดหนุนการศึกษา

สรุปคือ การศึกษาไม่ใช่เรื่องการบังคับให้เด็กเรียน ท่องจำ แข่งขัน แล้วเกร็งข้อสอบครูเพื่อให้ได้เกรดสูงๆ เพื่อป้อนเข้าเป็นมนุษย์แรงงานในสายพานการผลิต .... แต่การศึกษาเพื่อให้คนเติบโตอย่างมีคุณภาพ คือ การเปิดให้ผู้คน ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ได้ใช้เสรีภาพในการคิด การเรียน อย่างสร้างสรรค์ตั้งแต่แรก เพื่อให้พวกเขาได้สามารถเลือกเส้นทางการเรียนตามความสนใจและความสามารถให้มากที่สุด

Junya Yimprasert