วันพฤหัสบดี, เมษายน 28, 2559

ปรับเปลี่ยนประเทศไทย (ไทยแลนด์ 4.0) ศก.ไทยบุญเก่าใกล้หมด





โดย พิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงาน

มติชนออนไลน์
27 เม.ย. 59

มาจนถึงขนาดนี้แล้ว คงปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศไทยมีปัญหาเพิ่มขึ้นในทุกด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เชื่อได้ว่าคนไทยทุกคนต้องการเห็นประเทศไทยปรับเปลี่ยนและพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น หรือเป็น “ไทยแลนด์ 4.0” ตามคำเรียกสากลที่นิยมใช้กันของโลกในปัจจุบัน

เพื่อให้เข้าใจตรงกันว่าแนวคิดที่จะเสนอนี้เป็นบางแนวคิดที่น่าจะเป็นประโยชน์กับประเทศ ซึ่งหลังจากการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปีหน้านี้ ใครจะเข้ามาบริหารประเทศก็อยากให้นำไปพิจารณา เพราะผู้เขียนไม่ได้อยากถูกเรียกไปปรับทัศนคติครั้งที่ 8 หรือต้องไปเข้าอบรมตามคอร์สที่กำลังจะมีการจัดขึ้น ซึ่งไม่เชื่อว่าจะแก้ปัญหาอะไรได้ และไม่น่าเกิดประโยชน์กับประเทศแต่อย่างไร แต่น่าจะสร้างปัญหาให้ภาพพจน์ประเทศเสียหายในเรื่องการละเมิดสิทธิของบุคคลให้เพิ่มขึ้นมากกว่า

ในภาวะที่การเปลี่ยนแปลงของโลกเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทุกประเทศน่าจะต้องการมีผู้นำที่มีความรู้ความสามารถและปรับเปลี่ยน นโยบายและแผนงานให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไป อาจจะไม่ต้องถึงขนาดรู้และอธิบายควอนตัมฟิสิกส์ได้เหมือนผู้นำแคนาดา แต่ก็ต้องรู้และเข้าใจเรื่องหลักๆ ที่จะเกิดขึ้นในโลกอนาคต เช่น Cloud computing, Blockchain and Bitcoin, Tesla electric car, Paperless society, Non paper currency, low inflation period เป็นต้น และเรื่องเหล่านี้อาจจะพัฒนาขึ้นไป หรือปรับเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น หรืออาจจะหายไปเลยก็เป็นได้ แล้วแต่การเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบในหลายๆ ด้าน และหากผู้นำยังมีแนวคิดในกรอบเดิมๆ หรือแค่คิดว่าจะยังสามารถวางยุทธศาสตร์ประเทศระยะยาวเป็น 20 ปีได้ แต่ไม่เข้าใจความหมายของเรื่องที่กล่าวมาแล้วนี้ ก็เท่ากับประเทศนั้นยากที่จะพัฒนาแข่งขันกับประเทศอื่นในอนาคตได้ ดังนั้นจึงอยากขอเสนอแนวคิดการปรับเปลี่ยนประเทศไทยในบางเรื่องที่เห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนในหลายด้าน ดังนี้

“ไทยแลนด์ 4.0” ที่เชื่อว่าคนไทยทุกคนอยากเห็นเรื่องแรก น่าจะเป็นเรื่องการปรับเปลี่ยนแนวทางทางเศรษฐกิจ ทำอย่างไรให้ประเทศไทยมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจขึ้นไปเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีมาตรฐานความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และอีกเช่นกัน คงไม่ต้องมาพูดกันอีกแล้วว่าเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบันทรุดลงและเสื่อมโทรมขนาดไหน เพราะผู้เขียนพยายามเตือนมาตลอดตั้งแต่มีการประท้วงจนถึงหลังมีการปฏิวัติ จนถูกเรียกเข้าค่ายทหารหลายหน แต่ก็ไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่คาดการณ์ไม่ให้ไม่เป็นจริงได้ ถึงจะให้โกหกก็เปลี่ยนไม่ได้ ปัญหาของเสาหลักเศรษฐกิจที่เสื่อมเห็นได้จากการส่งออกที่ลดลง 5.78% ในปีที่แล้ว และการลงทุนที่ลดลงอย่างมาก และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่การลงทุนจากต่างประเทศของไทยที่ลดลง 90% จากรายงานของ Nikkei Asian Review ส่วนหนึ่งมาจากข่าวสารทางด้านลบที่กระจายออกไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปิดประเทศ การจับคนปรับทัศนคติเป็นจำนวนมาก การแสดงความเห็นด้านสิทธิมนุษยชนขัดกับแนวทางประชาคมโลก การต่อปากต่อคำกับประเทศมหาอำนาจในเรื่องต่างๆ ย่อมส่งผลกลับมาสู่ความเชื่อมั่นและการลงทุนจากต่างประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แถมปีนี้ยังมีข่าวเรื่องการห้ามแจกปฏิทินและการตรวจยึดขันแดง อีกทั้งการดำเนินคดีกับผู้ที่ถ่ายรูปกับขันแดงที่เป็นเรื่องขบขันของคนทั้งโลกไปแล้ว และถึงแม้ที่บอกว่าปีนี้จะมีการลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้นอีกหนึ่ง เท่าก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 20% ของปีก่อนหน้านี้เท่านั้น คงไม่สามารถจะฟื้นฟูเศรษฐกิจอะไรได้มากนัก แต่จะส่งผลให้เศรษฐกิจในอนาคตยิ่งย่ำแย่ เพราะการลงทุนลดลงมากจะทำให้การส่งออกในอนาคตก็จะลดลงมากไปด้วย ในขณะเดียวกันเงินลงทุนต่างประเทศกลับไหลไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านทำให้ทุกประเทศมีการลงทุนเพิ่มมากขึ้น และมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงกว่าไทยมาก ซึ่งขนาดคนไทยเองยังแห่ไปลงทุนต่างประเทศโดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้านที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวในปีที่ผ่านมา

ผลกระทบนี้จะทำให้ประเทศไทยติดกับดักการเป็นประเทศรายได้ปานกลาง เพราะไม่สามารถจะหารายได้เพิ่มขึ้นได้ เพราะประเทศเล็กๆ อย่างไทย ต้องพึ่งรายได้จากต่างประเทศเป็นหลักทั้งการส่งออกและการลงทุน แนวคิดที่จะเพิ่มการบริโภคในประเทศก็ทำไม่ได้เพราะรายได้ของประชาชนส่วนใหญ่ลดลงมาก

การปรับเปลี่ยนประเทศไทยทางเศรษฐกิจจึงต้องเริ่มต้นจากเปลี่ยนภาพพจน์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกลับมาอย่างเร่งด่วน และต้องทบทวนปัญหาเดิมที่เกิดขึ้นว่าจะต้องไม่เกิดขึ้นอีก ซึ่งน่าจะเป็นความจำเป็นอย่างแรก เพราะประเทศไทยยังต้องการการลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีสูงและมีมูลค่าเพิ่มสูงที่ตอนนี้ย้ายไปประเทศเวียดนามกันมากแล้ว

นอกจากนี้ ในภาวะที่โลกจะประสบกับภาวะเงินเฟ้อที่ต่ำเป็นระยะเวลาอีกนานซึ่งรวมถึงไทยด้วย ผู้บริหารในอนาคตจะต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดนโยบายให้สอดคล้อง และมีการลงทุนในสาธารณูปโภคมากขึ้นเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน และส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียนอย่างแท้จริง ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อความเชื่อมั่นและการยอมรับของนานาชาติที่มีต่อประเทศไทยกลับมาได้อย่างแท้จริง ที่น่าเป็นห่วงคือยิ่งใช้เวลานานเท่าไหร่ในการกลับสู่ระบบที่จะเรียกความมั่นใจของต่างประเทศให้กลับมาได้ โอกาสของประเทศไทยที่จะพัฒนาก็หายไปเรื่อยๆ และโอกาสของประเทศเพื่อนบ้านก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน ส่วนขั้นตอนการพัฒนาในรายละเอียดว่าจะต้องพัฒนาอย่างไรก็คงจะต้องดูภาวการณ์ของโลกหลังการเลือกตั้งซึ่งอาจจะเปลี่ยนแปลงไปได้เสมอ

“ไทยแลนด์ 4.0” ทางด้านการเมือง น่าจะเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างมาก เพราะปัญหาทางการเมืองใน 10 ปีที่ผ่านมาได้ถ่วงการพัฒนาของประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง ความจำเป็นที่จะต้องมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของนานาชาติเป็นสิ่งที่จำเป็นไม่ใช่ทางเลือก เพราะตอนนี้คงจะได้ทราบกันแล้วถึงผลของความเชื่อมั่นของต่างประเทศที่ลดลงว่ามีผลกระทบอย่างไร และความจำเป็นที่จะต้องมีความต่อเนื่องในระบอบประชาธิปไตยโดยไม่สะดุดอีก และต้องปล่อยให้ระบอบประชาธิปไตยได้พัฒนาไป ซึ่งเมื่อมองย้อนกลับไป ทุกฝ่ายต้องหันมายอมรับความจริงกัน โดยเฉพาะปัญหาทางการเมืองที่มาจากพรรคการเมืองใหญ่สองพรรค หากพรรคใหญ่ที่สุดมีการบริหารประเทศให้ดีพอก็คงไม่มีประชาชนออกมาขับไล่เป็นแสนๆ คน และถึงกับทำให้ประชาชนเหล่านี้คิดวิปริตส่งเสริมให้มีการปฏิวัติ และนิยมชมชอบกับการปฏิวัติ ซึ่งทวนกับกระแสโลก ขัดกับระดับการศึกษา และน่าจะฝืนกับความเชื่อส่วนตัว ในขณะที่อีกพรรคหนึ่งที่เคยยืนหยัดเพื่อประชาธิปไตยและต่อสู้กับเผด็จการมาตลอดเมื่อในอดีต แต่ต่อมากลับไม่เคยชนะการเลือกตั้งเลย เพราะไม่เคยพัฒนาตัวเอง และไม่สามารถคิดนโยบายที่ถูกใจประชาชนได้ แต่กลับออกมาใช้ยุทธวิธีนอกระบอบประชาธิปไตยเพื่อขับไล่รัฐบาล อีกทั้งบอยคอตการเลือกตั้ง ซึ่งเสมือนเป็นการชักชวนให้เกิดการปฏิวัติ โดยมุ่งหวังจะได้อำนาจโดยไม่ได้สนใจว่าประเทศจะประสบกับปัญหาอะไรบ้างที่จะตามมา ดังนั้นการปรับเปลี่ยนทางแนวคิดและการดำเนินงานของพรรคการเมืองจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น การกล่าวอ้างว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ฉลาดและไม่มีความรู้ ทั้งที่ความจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น และถ้ารัฐธรรมนูญใหม่ที่ร่างขึ้นมาบนพื้นฐานของความเชื่อนี้ จะยิ่งทำให้ปัญหาต่างๆ เพิ่มมากขึ้น และอาจจะนำไปสู่ความไม่สงบทางการเมืองได้ และที่สำคัญคือจะทำอย่างไรให้ได้รัฐบาลที่ชนะการเลือกตั้งเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ถึงแม้ไม่เชียร์แต่ก็ต้องไม่เกลียด

และอีกเรื่องที่ได้ยินกันตลอดว่าตอนนี้เป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งเป็นข้ออ้างในการดำเนินการในเรื่องต่างๆ ในวิธีที่ไม่ปกติ แต่ไม่เห็นมีใครจะบอกได้ว่าหลังจากการเปลี่ยนผ่านแล้วประเทศจะเป็นอย่างไร และจะเดินหน้ากันต่อไปได้อย่างไร ประชาชนจะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้อย่างไร ประชาชนรู้แต่เพียงว่าช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านนี้กลับทำให้ประชาชนลำบากกันอย่างมาก

“ไทยแลนด์ 4.0” ในทางสังคม เรื่องนี้ค่อนข้างยุ่งยาก เพราะสังคมไทยเติบโตมาจากสภาวะที่ผิดปกติมาเป็นเวลานาน คนส่วนใหญ่จะใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล การแบ่งแยกชนชั้นที่ฝังลึกแต่พยายามจะปฏิเสธ ปัญหาหลักส่วนหนึ่งน่าจะเกิดมาจากการศึกษา ที่สถาบันการศึกษาเองยังชี้นำในแนวทางที่ผิดแปลกแตกต่างจากสังคมโลก หลายแนวคิดยังสับสนในตัวเอง เช่น ประเทศต้องการให้ประชาชนมีความคิดสร้างสรรค์ มีนวัตกรรมใหม่ๆ แต่ในขณะเดียวกันกลับปิดกั้นการแสดงออกในความคิดเห็น แม้เต่เรื่องที่สำคัญมากของประเทศ เช่น เรื่องรัฐธรรมนูญ หรือการที่ประเทศไทยมุ่งจะก้าวหน้าทางด้านเศรษฐกิจดิจิตอล แต่กลับยกเลิกการแจกแท็บเล็ต ที่นอกจากจะช่วยให้เยาวชนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้การเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิตอลแล้ว ยังจะช่วยพัฒนาการศึกษาและความรอบรู้ให้กับประชาชนให้เข้ากับสังคมโลกได้ด้วย เป็นต้น และที่ต้องปรับปรุงเป็นพิเศษน่าจะเป็นการปรับปรุงวิธีคิดและวิธีการดำเนินการของสื่อมวลชน ซึ่งเป็นผู้กำหนดทิศทางแนวคิดของสังคมในขณะนั้นๆ ให้มีมาตรฐานสากล หลายครั้งที่เห็นสื่อยังมีคำถามแปลกๆ และยังให้ความนิยมกับสิ่งที่ไม่น่าเป็นที่ยอมรับในระดับสากล แต่สื่อก็ทำไปเพียงเพื่อเอาใจผู้มีอำนาจและฐานลูกค้าของตน โดยไม่มองว่าผลกระทบเหล่านั้นจะมีต่อประเทศและสังคมไทยอย่างไร

การปรับเปลี่ยนประเทศไทยนี้ต้องมีแนวทางที่ชัดเจน และต้องเป็นในแนวทางที่ประชาคมโลกรับได้ เพราะประเทศไทยต้องอยู่กับสังคมโลกไปอีกนาน การที่จะอ้างว่าประเทศไทยมีลักษณะพิเศษต้องมีวิธีการที่แตกต่างกับประเทศอื่นนั้น น่าจะเป็นเพียงข้ออ้างสำหรับผู้ที่ได้ประโยชน์เท่านั้น สุดท้ายก็จะเห็นได้ว่าผลกระทบที่ได้รับกลับตกอยู่กับคนทั้งประเทศที่ต้องมาลำบากกันทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมกับแนวคิดและข้ออ้างแบบนี้

ถึงเวลาหรือยังที่ประเทศไทยจะต้องหันกลับมาคิด ตั้งหลักตั้งฐาน เรียนรู้จากประสบการณ์ที่สร้างความลำบากให้กันถ้วนหน้า หรือจะต้องรอให้ลำบากและเสียหาย ต้องเจ็บต้องตายกันไปมากกว่านี้ถึงจะมารู้สึกตัวกัน ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นก็อาจจะสายไปเสียแล้ว

ooo



ศก.ไทยบุญเก่าใกล้หมด "กอบศักดิ์" เปรียบลงทุนใหม่เหมือนจุดเตาถ่าน




ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
25 เม.ย 2559


แม้ทีมเศรษฐกิจรัฐบาลประยุทธ์ 3 นำโดย "ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" รองนายกรัฐมนตรี จะออกมาตรการปลุกเศรษฐกิจหลายด้าน อาทิ อัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจครอบคลุมชนชั้นกลางลงไปถึงรากหญ้า มาตรการหนุนภาคอสังหาฯ ให้ซอฟต์โลนเอสเอ็มอีกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำ ลดภาษี ออกมาตรการจูงใจเอกชนลงทุนต่าง ๆ นานา แต่ไตรมาสแรกของปีนี้ เศรษฐกิจไทยยังสโลว์ดาวน์ กูรูเศรษฐกิจไทย-เทศพาเหรดหั่นจีดีพีไทยปีนี้อยู่ที่ระดับ 2.8-3.0% จากคาดการณ์ว่าจะโต 3-4%

"ประชาชาติธุรกิจ" สัมภาษณ์พิเศษ "ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล" กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี หนึ่งในทีมเศรษฐกิจรองนายกฯสมคิด ด้วยคำถามเรื่องความหวังเศรษฐกิจไทยในปี 2559 การลงทุนขนาดใหญ่จะมาตามนัดหรือไม่ และโครงการใหม่ที่จะทยอยออกมาในระยะข้างหน้า จะผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตไปในทิศทางใดในอนาคต


จีดีพีปีนี้ 3.0-3.5% ไม่เน้นตัวเลขสูง

ดร.กอบศักดิ์กล่าวว่า เป้าหมายของทีมเศรษฐกิจรัฐบาลชุดนี้ ไม่มีความตั้งใจจะทำตัวเลขเศรษฐกิจให้ได้ 4.5-5.0% แต่เข้ามาเพื่อประคองสถานการณ์เศรษฐกิจให้เดินไปได้ ไม่ให้ย่ำแย่ จึงบอกทุกคนว่า ปีนี้จีดีพีจะโตที่ระดับ 3.0-3.5% แม้บางแห่งปรับลดประมาณการจีดีพีตั้งแต่ต้นปี ซึ่งอาจเป็นการประเมินที่เร็วเกินไป

"ยอมรับว่าเศรษฐกิจตอนนี้ไม่คึกคัก สามวันดีสี่วันไข้ ยังไม่ได้อยู่ในช่วงปกติ เพราะเศรษฐกิจตอนนี้ซับซ้อนมีแรงต้านและบางภาคเศรษฐกิจไปไม่ได้ เช่น เศรษฐกิจฐานรากที่มีปัญหาจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ทำให้ประชาชนไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นนักธุรกิจ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังขึ้น ๆ ลง ๆ แต่ผมไม่คิดว่าเศรษฐกิจจะหัวทิ่ม และถ้าไม่มีเหตุการณ์ใหญ่ ๆ เข้ามากระทบ ก็มั่นใจว่าจีดีพี 3.0-3.5% เป็นไปได้ ส่วนปัจจัยเรื่องประชามติ เรื่องการเมือง ขออย่างเดียวอย่าตีกัน เศรษฐกิจก็จะเดินได้"

ด้านตัวเลขการส่งออกยังไม่ดีขึ้น ติดลบ 9% ในช่วง 2 เดือนแรก แต่ถ้าเทียบกับประเทศอื่น ๆ ถือว่าของไทยอยู่ในระดับที่ดีกว่าประเทศอื่น เพราะบางแห่งติดลบถึง 20% เศรษฐกิจโลกเป็นแบบนี้ ต้องทำใจ อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวดีมาก ล่าสุดตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้นสูงมาก และนักท่องเที่ยวยุโรปก็เริ่มกลับเข้ามา ปีนี้นักท่องเที่ยวเข้ามาเฉลี่ยเดือนละ 3 ล้านคน

จับตาปัจจัยเสี่ยง ศก.จีน-สหรัฐขึ้นดอกเบี้ย

ในอีกด้านหนึ่ง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรียอมรับว่า ต้องเผื่อใจว่ายังมี Downside Risk จากปัจจัยต่างประเทศ เช่น หากเศรษฐกิจของประเทศใหญ่สักแห่งเกิดปัญหาขึ้น เช่น กรณีเศรษฐกิจจีน หรือทิศทางการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ไม่ชัดเจน เหล่านี้ย่อมกระทบเศรษฐกิจไทยในภาพรวม ส่วนปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศคือ ปัญหาราคาสินค้าเกษตร แต่รัฐบาลก็ได้ออกมาตรการดูแลเอาเงินเข้าไปช่วยประคองเพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาลุกลามในระยะ 2-3 ปีนี้

"ตอนนี้โลกไม่เหมือนเดิม และกำลังเข้าสู่ช่วงท้าทายรอบใหม่ เป็นหนังคนละม้วนกับในอดีต หลายประเทศทั้งยุโรป จีน ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่หลายแห่งต้องแก้ปัญหาของตัวเอง และดูเหมือนจะแก้ไม่ตก กระทบต่อภาคส่งออกไทยในปีนี้อาจไม่ดีนัก ตลาดเงินโลกยังผันผวน แต่โชคดีพื้นฐานเศรษฐกิจไทยเข้มแข็ง หนี้ต่างประเทศน้อย สภาพคล่องในระบบการเงินยังมีอยู่หลายล้านล้านบาท โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐจะทำ พูดไปก็ไม่มีใครยี้ และบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ก็มีกำไรสะสมเยอะมาก ซึ่งเขารอจังหวะลงทุน"

บุญเก่าใกล้หมด ต้องสร้างของใหม่

อย่างไรก็ตามยอมรับว่า ขณะนี้ประเทศไทยกินบุญเก่าใกล้หมดแล้ว เพราะอดีตได้แรงหนุนจาก 2 อุตสาหกรรมหลัก คือ รถยนต์และปิโตรเคมี ซึ่งไทยเป็นฐานการผลิตที่ดีที่สุดของภูมิภาค แต่วันนี้ 2 อุตสาหกรรมนี้เริ่มแผ่ว อดีตเศรษฐกิจไทยเติบโตเฉลี่ยปีละ 6% ปัจจุบันโตปีละ 2-3% ยังทำได้ยาก เมื่อปี 2558 อัดฉีดเม็ดเงินเต็มที่จีดีพียังทำได้แค่ 2.8% เมื่อก่อนส่งออกเคยเติบโตระดับ 20% แต่ 3-5 ปีหลังส่งออกปรับตัวลดลงต่อเนื่อง สิ่งเหล่านี้กำลังบอกเราว่า ความเข้มแข็งในอดีตเริ่มหมดแล้ว

ดังนั้น ประเทศไทยต้องสร้างสิ่งใหม่ที่จะเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มาสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน บทบาทของไอซีทีจะเปลี่ยนไปอย่างมาก หลังจากมีการลงทุนโครงข่าย 4G และขยายบรอดแบนด์ครอบคลุมระดับหมู่บ้านเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงในอนาคตจะมีการลงทุนด้านอีคอมเมิร์ซมากขึ้น ผลักดันให้เกิดสตาร์ตอัพเพิ่มขึ้น และน่าจะทำให้ผู้ประกอบการไทยเทียบชั้นกับอาลีบาบาได้

"เรามีความคาดหวังจะทำให้ประเทศไทยเป็น Sourcing Center ในกลุ่มประเทศ CLMV ถ้าเราทำได้ บริษัททั่วโลกจะเปลี่ยนจากจีนมาใช้ไทยเป็นฮับ เพราะตอนนี้ค่าจ้างในจีนสูงขึ้นมาก หลายบริษัทเริ่มยกเลิกคำสั่งซื้อจากจีนแล้วหันมาซื้อในแถบเพื่อนบ้านเรา ซึ่งถ้าไทยทำได้ เราก็จะเป็นฮับที่สำคัญ"

ขณะเดียวกัน ดร.สมคิดมีแนวคิดทำ "ซูเปอร์อีสเทิร์นซีบอร์ด" ขยายท่าเรือแหลมฉบัง พัฒนาสนามบินอู่ตะเภา จัดตั้งพื้นที่ฟรีเทรดโซน ทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของภูมิภาค งานของทีมเศรษฐกิจเวลานี้ คือต้องทำให้เกิดสิ่งใหม่ เศรษฐกิจใหม่ มุ่งเน้นสร้างนวัตกรรมสนับสนุน S-Curve วางรากฐานเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง

"ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยเหมือนรถอีแต๋น จะวิ่งแข่งสู้กับโตโยต้า เลกซัส คงสู้ไม่ได้ และไม่มีใครเชียร์ให้เหยียบคันเร่งแข่งเลกซัส ไม่บ้าอย่างนั้น แต่ถ้าสามารถใช้เวลา 1 ปีครึ่งนับจากนี้ วางรากฐานเครื่องยนต์ใหม่ เอาเครื่องยนต์เลกซัสมาใส่ในอีแต๋นได้ ประเทศไทยก็จะสามารถแข่งกับคนอื่นได้"

ยันลงทุนขนาดใหญ่ขยับแล้ว

ดร.กอบศักดิ์ย้ำว่า รัฐบาลได้เร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน สร้างนวัตกรรมยกระดับเศรษฐกิจฐานราก การลงทุนที่คาดหวังและรอคอยจากรัฐบาลนั้นเกิดขึ้นแล้วหลายโครงการ และกำลังจะตามมาอีกหลายโครงการ ช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมา มีการลงทุนออกมาหลายโครงการ ที่เห็นชัด ๆ เช่น การประมูลโครงข่าย 4G โครงการรถไฟทางคู่ 2 ช่วง คือ ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น และช่วงฉะเชิงเทรา-แก่งคอย ซึ่งเปิดประมูลและเซ็นสัญญาไปแล้วเมื่อเดือน ธ.ค. 2558 และเมื่อกลางเดือน ม.ค. ภาคเอกชนก็เริ่มก่อสร้างแล้ว

โครงการรถไฟฟ้าในเมือง 10 สาย (รวมสายเก่า) นายกรัฐมนตรีก็เร่งให้ประมูลให้เสร็จภายในปีนี้ ซึ่งอีกไม่นานก็จะได้ใช้รถไฟฟ้าสายสีม่วงกันแล้ว ขณะที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) สายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ที่ผ่านการอนุมัติของคณะกรรมการ PPP Fast Track ตอนนี้อยู่ระหว่างร่างทีโออาร์ ซึ่งเร็วขึ้นจากกระบวนการปกติที่จะกินเวลาถึง 2 ปี ส่วนโครงการก่อสร้างสุวรรณภูมิเฟส 2 ในเดือน เม.ย.นี้ ก็ได้ออกประกาศให้รับซองประมูลแล้ว ล่าสุดทราบว่ามีผู้สนใจอย่างน้อย 8 ราย

"นอกจากนี้ พบว่า เดือน ก.พ.ที่ผ่านมา มีปริมาณการใช้ปูนซีเมนต์ปรับตัวเป็นบวกอีกรอบ เหล่านี้เป็นสัญญาณว่ามีโครงการลงทุนขนาดใหญ่จำนวนมากเริ่มขยับแล้ว และเป็นสิ่งที่หลายคนไม่ทันเฉลียวใจว่า โครงการที่ทุกคนรอคอยกำลังเกิดขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งผมก็เข้าใจ เพราะสมัยผมอยู่แบงก์ เวลาไปพบนักลงทุน เขาก็บอกว่า อย่ามาพูดเลย ไม่เชื่อหรอก เบื่อจะฟังแล้ว คือคนไม่เชื่อสายตาตัวเอง ว่าการลงทุนกำลังเกิดขึ้น แต่ผมอยากขอให้รอจนถึงครึ่งปีหลังจะเห็นโมเมนตัมชัดเจนขึ้น" ดร.กอบศักดิ์กล่าว

พร้อมกับย้ำว่า ตอนนี้รัฐมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว แต่การที่พูดกันว่า ยังไม่เห็นเอกชนลงทุนตามนั้น อาจจะไม่จริง และไม่ใช่เอกชนไม่ทำอะไร อย่างกลุ่มธุรกิจรับเหมาก่อสร้างก็ขยับแล้ว แต่ต้องใช้เวลาให้เงินกระจายออกไป เหมือนจุดไฟเตาถ่าน มันไม่ใช่เตาแก๊ส และตอนนี้ก็มีบางภาคเศรษฐกิจมีปัญหา เช่น ภาคเกษตรซึ่งยังถูกกดดันจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ แต่คาดว่าภายในครึ่งปีหลังจะมีโมเมนตัมเพิ่มขึ้น