“แต่เอาเข้าจริง สังคมมันไม่สามารถปกครองได้ด้วยกฎหมายโดยลำพัง”
เป็นคำพูดของรองศาสตราจารย์ พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในอาจารย์กลุ่มเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง
คำพูดดังกล่าวโดยตัวของมันเอง สามารถตีความในบริบทของตรรกะที่นักวิชาการและนักการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยมชื่นชมทหารมักพูดกันเสมอว่า การเลือกตั้งไม่ใช่หัวใจสำคัญของประชาธิปไตย
นั่นคือหากจะอ้างกฎหมายที่เขียนขึ้นด้วยอำนาจเผด็จการ ไม่ยึดโยงประชาชน และยังมีเนื้อหาแทรกซ้อน ให้อำนาจพิเศษแก่คณะรัฐประหารขัดแย้งวิถีแห่งประชาธิปไตยด้วยแล้ว
การไม่ยอมรับหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กลับมีความชอบธรรมเสียยิ่งกว่า การอ้างว่าเป็นประชาธิปไตยได้โดยไม่ต้องเลือกตั้ง
อย่างไรก็ดี คำให้สัมภาษณ์ของ อจ.พวงทองแก่ประชาไท เนื่องมาแต่การที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองหัวหน้า คสช. และ รมว.กลาโหมกล่าวห้ามรณรงค์ต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญ
ทั่นรองฯ พูดอย่างวางอำนาจว่า “รวมถึงการใส่เสื้อโหวตโน หรือโหวตเยสก็ไม่ได้ จะไม่มีการเชียร์ หากเจอต้องถอดออก”
คำพูดเช่นนี้ ฟอร์ด เส้นทางสีแดง ซึ่งออกรณรงค์โหวตโนไม่รับร่าง รธน. เป็นรายแรก ด้วยการสวมเสื้อยืดพิมพ์ภภาพสัญลักษณ์ ‘Vote No’ ตระเวนแจกสติ๊กเกอร์มาอย่างต่อเนื่อง ชี้ว่าการรณรงค์ของกลุ่มตน “จะพิจารณาจาก พรบ. ประชามติเป็นหลัก”
เรื่องเสื้อยืด “อาจจะใส่ก็ได้ ทหารมาให้ถอด ก็ถอดเปลี่ยนเสื้อเอา อย่างไรก็จะรณรงค์ต่อไป”
(http://prachatai.com/journal/2016/04/65295)
และ “ความเห็นของพลเอกประวิตรเป็นเรื่องของพลเอกประวิตรไม่ใช่กฎหมาย”
ทั้งๆ ที่ในกฎหมายประชามติที่ออกมาระบุไว้ชัดเจนว่าการรณรงค์สามารถทำได้ การที่บรรดาบิ๊กๆ ทหารพากันออกมาตีความกฎหมายตามอำเภอใจ จึงเป็นการใช้อำนาจบาตรใหญ่
ชนิดที่การให้เหตุผลโต้อย่างแสบๆ คันๆ ของ อจ. Pavin Chachavalpongpun ก็ถือได้ว่า ‘incredibly justified’
“รัฐประหารก็ทำไปแล้ว ฉีกรัฐธรรมนูญก็ทำไปแล้ว นิรโทษกรรมให้ตัวเองก็ทำไปแล้ว แล้วนี่ตั้งบ่าวไพร่ตัวเองมาร่างรัฐธรรมนูญห่าเหว แล้วจะกระแดะทำประชามติทำซากไรครับ
ก็ประกาศใช้ไปเลยซิ...จะจัดทำประชามติ แต่เสือกไม่ให้ประชาชนออกความเห็น...ย้ำอีกที ประชามติแปลว่า ความเห็นของประชาชนครับ...”
ทว่าทุกวันนี้ พวก คสช. มักทำตัวเป็นกฎหมายเสียเอง บ่อยไป นอกจากกรณี ‘บิ๊กตือ’ ข้างต้น เราจะได้พบกับความวิเศษของ ‘บิ๊กตู่’ อยู่เสมอ กระทั่งระดับลิ่วล้ออย่าง ‘ไก่อู’ ก็มีให้เห็นเป็นระยะๆ
กระทั่งรองโฆษกหญิงอย่าง พ.อ.ศิริจันทร์ งาทอง “กล่าวถึงกรณีที่ทนายความและบุตรสาวของนายวัฒนา (เมืองสุข) เดินทางยื่นหนังสือถึงหน่วยงาน องค์กร และสถานทูตต่างประเทศ
ว่าเป็นสิทธิ์ที่สามารถทำได้ แต่ขอให้ระมัดระวัง เพราะการพยายามใช้ต่างประเทศมากดดันนั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่ง ‘ส่วนตัว’ มองว่าในกรณีนี้ไม่ได้ส่งผลดีต่อนายวัฒนาแต่อย่างใด”
(http://news.voicetv.co.th/thailand/353919.html)
การนี้ Jittra Cotchadet นักกิจกรรมแกนนำแรงงานสิ่งทอมีคอมเม้นต์ไว้น่าคิด “เป็นโฆษกกองทัพบก นี่ออกความเห็นส่วนตัวในการแถลงข่าวได้ด้วยเหรอว่ะ
ความเห็นส่วนตัวของทนายและลูกสาวคุณวัฒนาเขาคงไม่คิดเหมือนหล่อน และถ้าเป็นความเห็นส่วนตัวของจิตรา กองทัพไม่มีสิทธิ์ควบคุมตัวใครทั้งนั้น รู้ไว้ด้วย”
ฉะนี้กระแสเรียกร้องให้ปล่อยตัวนายวัฒนาจึงได้ขยายออกไปอย่างรวดเร็ว ดังที่กลุ่ม ‘พลเมืองโต้กลับ’ ให้เหตุผลไว้
“ความยุติธรรมของคนคนหนึ่ง หมายถึงความยุติธรรมของคนทั้งสังคม”
พร้อมทั้งเชิญชวนพลเมืองทั่วไปที่เห็นด้วยกับการต่อสู้เพื่อสิทธิของตนเอง ด้วยการแต่งขาวออกไปยืนเฉยๆ อย่างสงบ ตามที่ต่างๆ กลุ่มยังประกาศด้วยว่าจะจัดเคลื่อนไหวทุกเย็นตลอดสัปดาห์นี้ จนกว่านายวัฒนาจะได้รับการปล่อยตัว
(http://prachatai.org/journal/2016/04/65334)
ไม่แต่เท่านั้น ๖ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ “จี้ คสช. ยุติการใช้อำนาจคุกคามข่มขู่ ปิดกั้นการแสดงออกของประชาชน”
โดยที่ข้อเรียกร้องของสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA), มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF), มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (CRC), มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (Enlaw), ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR), และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ระบุในข้อหนึ่งว่า
การควบคุมตัวนายวัฒนา “ทำให้บุคคลที่ถูกควบคุมตัวตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง การใช้อำนาจดังกล่าวย่อมขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง ซึ่งประเทศไทยมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม”
(http://news.voicetv.co.th/thailand/354258.html)
นั่นเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศที่ คสช. และลิ่วล้ออาจมองว่ามันห่างไกลตัว ทำมั่วซั่วได้ไม่เป็นไร หากแต่เรื่องระเบียบกฎหมายภายใน ก็ยังมั่วกันอยู่ไม่เว้นแต่ละวัน
ดังที่เพจ หยุดดัดจริตประเทศไทย เอ่ยไว้ “พ่ออนุมัติเซ็นให้ลูกรับยศร้อยตรี แบบนี้อย่านึกว่าไม่ผิดกฎหมาย
เพราะการแต่งตั้งบรรจุเข้ารับราชการเป็นคำสั่งทางปกครองอย่างหนึ่ง
จากมาตรา ๑๓ ของพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ระบุไว้ชัดเจนว่า บิดาออกคำสั่งให้บุตรไม่ได้...
ผู้เป็นบิดาบังคับให้รับราชการทหาร จากนั้นอนุมัติลูกตัวเองติดยศร้อยตรี แถมให้เป็นเอกสารลับเหมือนมีเจตนาปกปิด ผิดกฎหมายเต็มๆ ตามตัวอักษร...ตัวลูกชายรู้ล่วงหน้าว่าจะได้ติดยศร้อยตรี
กฎหมายระบุชัดเจนว่าห้ามทำ ขนาดนี้หน้าไม่ด้านจริงทำไม่ได้นะ”
ท่าจะจริงของเขาละ ลองฟังที่หัวหน้าใหญ่พูดถึงเรื่องนี้ก็ได้ “ปัดโธ่ เขาก็แต่งตั้งกันทุกปี” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าว
“เขาเปิดกันทุกปี เป็นการแข่งขันส่วนหนึ่ง อีกส่วนเป็นการคัดเลือกจากคณะกรรมการระดับบน แล้วปลัดกลาโหมก็เซ็นชื่อไปในฐานะที่ได้รับมอบอำนาจให้เซ็นชื่อ
จริงๆ ไอ้นี่มันก็ซื่อ จริงๆ (พูดถึงน้องชาย) ไม่ควรเซ็นด้วยซ้ำไป แต่มันก็ไม่ได้ จะให้คนอื่นเซ็นเพราะเป็นเรื่องของกฎหมาย”
อ้างกฎหมายอีกแล้ว แต่อ้างแบบแถๆ แถกๆ “ว่าเป็นคนละเรื่องกัน เรื่องนี้เป็นการแต่งตั้งทดแทนผู้ที่เกษียณอายุไป ถ้าเป็นญาติกันแล้วตั้งไม่ได้ มันก็ไม่ใช่ ถือเป็นคนละขั้นตอน เป็นคนละส่วน อย่านำมาปนกัน”
เหตุผลสำคัญกว่านั้น ทั่นตู่บอกว่า “เอาให้ดี พูดกันให้ชัด วันนี้ลูกหลานกำลังพลเขาก็มีการบรรจุเข้ามา ก็ถือเป็นลูกหลาน มีความไว้เนื้อเชื่อใจส่วนหนึ่ง เพราะอย่างไรก็เคยชินกับระบบวินัย พ่อแม่เป็นทหาร ก็มีข้อพิจารณาตรงนี้ด้วย”
(http://www.matichon.co.th/news/110326)
นี่เหตุผลเดียวกับสภาผัว-เมีย-ลูก เด๊ะเลย ชนชั้นพิเศษ มีความลับมากมายต้องปกปิดไม่ให้คนทั่วไปได้รู้ ผิดกับหลักการ public offices ในประเทศตะวันตกมากเชียวละ ยังกับหน้ามือเป็นหลังตรีน
โดยทางประชาธิปไตย public ก็คือสาธารณะ ใครที่ถือตำแหน่งสาธารณะย่อมต้องเปิดอ้าซ่าให้ประชาชนทั่วไป ‘รับรู้’ แม้แต่บางกรณีที่เกี่ยวกับส่วนตัว รวมทั้งสุขภาพ ความมั่งคั่งและการมีเพศสัมพันธ์นอกสมรสด้วย
อันต่างกับการ ‘ล่วงรู้’ เรื่องส่วนตัวอีกบางอย่าง เช่นปากหวานและตดหอม เรื่องอย่างนั้นมันไม่มีผลกระทบกับสาธารณะมากนัก เว้นแต่ไปแสดงต่อธารกำนัลตอนออกงานในที่รโหฐาน
รวมความว่าเทร็นด์ปัจจุบันของ คสช. ตั้งแต่ตัวพี่ถึงลิ่วล้อ อยู่ที่การ ‘ละเมิด’ ต่อประชาชนโดยอ้าง ‘กฎหมาย’
ประชาชนจำนวนหนึ่ง ซึ่งอาจถือว่าเป็นส่วนใหญ่ก็ได้ (หากวัดจากคะแนนเสียงที่ผ่านๆ มา ไม่ใช่โพลนะ) ต้องเผชิญกับอาการก้าวร้าวเช่นนั้น โดยมิอาจพึ่งพาผู้ตีความและบังคับใช้กฎหมาย อาทิ ศาลและตำรวจได้
ถึงจุดหนึ่งก็จำต้องหาทางออกเพื่อปกป้องตนเอง จุดนั้นจะมาถึงหรือยัง ช้าหรือเร็วแค่ไหนมิอาจทราบได้
หากแต่มีนักกลอนฝ่ายประชาชนรายหนึ่ง 'สุขุม สมหวัง ยังวัน' แนะไว้ว่าถึงเวลาแล้วที่จะ
“ซักเสื้อแดง”