วันพุธ, กุมภาพันธ์ 28, 2561

เลือกตั้งแน่นะ แต่เอ๊ะไหงมีผู้พิพากษา 'กินป่า' กันเหรอ เขาถึงได้เคมเปญ 'ทวงคืน'

โอเค เป็นอันกล้าพูดแล้วนะว่าจะเลือกตั้งกุมภา ๖๒ แต่จะให้คุณค่าแก่คำพูดของตัวเองแค่ไหน คอยดูกันไปอีกนิด ว่าจะเป็นพิน็อคคิโออย่างเดิมไหม

ประยุทธ์พูดว่าจะปลดล็อคพรรคการเมืองหลังกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. และแต่งตั้ง สว. ประกาศใช้ในเดือนมิถุนานี้ แล้วจะเรียกประชุมแม่น้ำ ๕ สาย กับบรรดาพรรคการเมือง (เพื่อกำชับว่าทำอะไรได้บ้าง ไม่ได้บ้าง) ก่อน เท่ากับพรรคการเมืองมีเวลาหาเสียงกันราว ๖ เดือน

แต่ “ต้องดูสถานการณ์บ้านเมืองว่าปลดล็อคแล้วจะเกิดอะไรขึ้น” อีกที

อันนี้ไม่แน่ใจเขายังห่วงอะไรกัน ไอ้  สถานการณ์นั่นถ้าเป็นความรุนแรง ก่อการร้าย บึ้มโน่นบึ้มนี่ แม้ขณะนี้ที่ว่า คสช. เอาอยู่แล้ว เสื้อแดง ราบคาบหมด ก็ยังมีบึ้มอยู่ไม่ขาด ทั้งนราธิวาส ยะลา แสดงว่าไม่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย มากไปกว่าจะดูว่าเปิดหาเสียงแล้ว คสช. ได้เปรียบเสียเปรียบแค่ไหน ต่างหาก

'สมชาย แสวงการ' ตำแหน่งเลขานุการวิป สนช. (ศักยะประมาณขนหน้าแข้ง คสช.) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวบลูมเบิร์กว่า “มั่นใจจะจัดเลือกตั้งอย่างเป็นทางการได้ประมาณ ปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนมีนาคม ๒๕๖๒”

เนื่องจากรอให้พรรคการเมืองที่ตั้งใหม่ๆ จะพรรคสุเทือกหรือพรรคนิติตะวันก็ตาม จดทะเบียนกันในเดือนมีนาคมนี้ และจะยินดีให้พรรคการเมืองทั้งเก่าและใหม่ประโคมหาเสียงกัน หลังจากที่มีการเลือกตั้งท้องถิ่นแล้วในราวเดือนมิถุนาถึงสิงหา (๖๑) เพื่อประเมินสถานการณ์เสียก่อน

ข้อสำคัญ นายสมชายว่า “ยังไม่สามารถปลดล็อกพรรคการเมืองได้ เพราะเกรงว่าจะเกิดสถานการณ์ความขัดแย้งรอบใหม่ โดยเฉพาะความขัดแย้งในกลุ่มพรรคการเมืองที่มีจุดยืนสนับสนุนแนวคิดระหว่างเสื้อเหลืองและเสื้อแดง ซึ่งเป็นปัญหาเดิมๆ”


บร๊ะ พูดยังกะเขาตั้งหน้าจะตีกันอีก ถ้าหมายถึงเสื้อแดงฮ้าร์ดคอร์ที่ยังเป็นอิสระกันอยู่นอกเขตแดนละก็ พวกนั้นเขาขอบใจที่ให้สรรพคุณล้นแก้ว โกตี๋ก็เก็บไปแล้ว ไม่เห็นจะต้องจะเก็บใครอีก

ลุงสนามหลวงเหรอ ดูเหมือนรายนี้ใช้ยุทธวิธีมวลชน ไม่เลือกตั้งในกติกา คสช. แต่จะทดสอบพลังจากการเลือกตั้งท้องถิ่นว่าประชาชนพร้อมขนาดไหน ถ้าหากทัดทานพลังโหมลงพื้นที่ ปูพรมโดย กอ.รมน. และฝ่ายปกครองได้ละก็ เลือกตั้งใหญ่อาจเอาด้วยมั้ง

ฉะนั้น ฝ่ายที่หัวเด็ดตีนขาดไม่เอา คสช. เขาก็มาทางสงบด้วยเหมือนกันนี่ แม้นว่าไม่เอาสงบราบเรียบแบบ สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ที่ว่า “ถ้าเลือกพรรคเพื่อไทยแล้วจะไม่ทำให้เกิดความวุ่นวายหรือความขัดแย้งในบ้านเมืองอีก”

กับต้องเดินตามพิมพ์เขียวในหน้าที่ ที่มีต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ พร้อมทั้ง “ยืนหยัด ยืนยัน ที่จะปกป้องระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ด้วย


ใครจะว่า เกี๊ยเซี้ย-จูบปาก ตะหาน คสช. ไม่ยั่น ถ้าเพื่อไทยพร้อมจะมาอยู่ในอ้อมอกหญิงหน่อยละก็ฟันธง ไม่ยิ่งหย่อนกว่า ปชป. แน่

ขานั้นออกมาชัดเจนแล้วนิ “พรรคประชาธิปัตย์จะร่วมกับพรรคของนายสุเทพ (เทือกสุบรรณ) จัดตั้งรัฐบาลเพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อหรือไม่นั้น ตนย้ำว่าสุดท้ายอยู่ที่ผลการเลือกตั้ง” นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พูดแบะท่าอ้าซ่าพร้อมจะกลับไป ราบ ๑๑


ส่วน ลุงกำนันที่เป็นข่าวมาหลายอาทิตย์ว่าตั้งแน่พรรคลิ่วล้อทหาร (เห็นว้อยซ์ทีวีบอกว่าเพิ่งออกมาแก้ตัว “ไม่ได้พูด”) ก็โดนลุงตูบห้ามทัพแล้วให้ “ช้าก่อน” ขอบคุณที่จะตั้งพรรคหนุน มีมากมายหลายคนอยากหนุนเหมือนกัน

“หนุนแล้วจะได้เป็นมั้ย หวั่นยิ่งขัดแย้ง ขอให้พอได้แล้ว” (สรุปที่ประยุทธ์พูดสั้นๆ ตามสำนวน Wassana Nanuam)

แก่นกลางหัวใจของเรื่องอยู่ที่ ถ้ามีเลือกตั้งแน่อย่างที่ประยุทธ์โพล่งออกมาจริง นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ (ม.รังสิต) อย่าง ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ เค้าว่าจะเกิด “ผลบวกต่อภาคการลงทุน
โดยเฉพาะตลาดหุ้นน่าจะมีแรงซื้อเข้ามามากในกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ ค่าเงินบาทอาจแข็งค่าได้อีก นอกจากนี้ยังจะส่งผลดีต่อโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่รอดูความชัดเจนในการกลับคืนสู่ประชาธิปไตย ความน่าสนใจของระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) จะเพิ่มขึ้น”


แต่หากเป็นปาหี่อีก เศรษฐกิจจะยิ่งกลับมาพับเพียบหนักกว่าเดิม “คสช. ไม่สามารถทำได้ตามที่ประกาศเอาไว้ หรือมีการเลื่อนการเลือกตั้งอีก คาดว่าผลกระทบทางลบต่อภาคการลงทุนจะรุนแรงมากกว่าก่อนหน้านี้”

ดร.อนุสรณ์เตือนพร้อมกับตั้งข้อกังขาว่า “การให้สัญญาในวันนี้ก็จะเป็นเพียงเทคนิคในการลดแรงกดดันทางการเมืองภายในประเทศและแรงกดดันจากประชาคมโลก”

ปัญหาก็คือจากวันนี้ถึงวันนั้น ปีกว่าๆ มะเร็งร้ายของสังคมประชาธิปไตย ในยุคอำนาจนิยม คสช. นี่มันกินกร่อนไม่หยุดหย่อน

ไหนจะคอรัปชั่นโตวันโตคืน อย่างที่ Somchet Mhin Jearanaisilpa โพสต์ว่าสมัยก่อนเขาเรียกค่าหัวคิวในวงการก่อสร้างที่ ๕ เปอร์เซ็นต์ “แต่สมัยนี้ เรียกกัน ๒๐% แบบเอาเงินสดๆมาก่อนเลย
 
ซ้ำร้าย “ขนาดประมูล e-Auction ที่เริ่มทำสมัยนายกคนไหนก็ไม่รู้ ที่ต้องการจะให้มีการประมูลแบบโปร่งใส มาสมัยนี้คนประมูลก็สามารถจ่ายเงินซื้อเพื่อดูข้อมูลของคู่แข่งได้ บางคนจ่ายเงิน ๒ ล้าน แต่ประมูลไม่ได้ก็เสียเงินค่าดูฟรีๆ เรียกว่าหากินกันง่ายๆ เลย

ไหนจะระบบยุติธรรมเน่าเฟะ เศรษฐีบุกรุกป่ายิงสัตว์สงวนกำลังจะหลุดข้อหาทีละเปลาะ แต่คนที่ปูด (หรือ ‘whistle blower’) กลับจะโดนข้อหาเสียเอง

แล้วพวกตุลาการก็อิ่มเอมเปรมปรีดิ์ ดังที่ ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน เอามาปูด ว่าพวกผู้พิพากษานอกจากเพิ่งได้ขึ้นเงินเดือน เงินประจำตำแหน่งกันอีกคนละ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ในหมู่ผู้พิพากษาชั้น ๔ (ประธานศาลอุทธรณ์ภาค รองประธาน ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะ อธิบดีศาล)
น่าจะได้ราว ๘๐,๕๖๐ + ๔๖,๕๗๐ (= ๑๒๗,๑๓๐ ของเดิม ๗๓,๒๔๐ + ๔๒,๕๐๐ = ๑๑๕,๗๔๐) แล้วมีค่าตอบแทนเหมาจ่ายรถประจำตำแหน่งอีก ๔๑,๐๐๐ (เทียบเท่าปลัดกระทรวง) ยังไม่พอ “แถมบ้านพักตากอากาศหรู วิวดอย น้ำไฟฟรี”

ดังที่เขามีแคมเปญกันทาง change.org ขอให้ศาลอุทธรณ์ ภาค ๕ คืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ๑๔๗ ไร่ ๓ งาน๔๑ ตร.ว.” เพราะเอาที่ราชพัสดุในป่าสงวนไปทำโครงการจัดสรรบ้านพักตีนดอยสำหรับผู้พิพากษากับแฟลตตุลาการ มูลค่า ๑,๐๑๗ + ๖๖๕ ล้านบาท

ซึ่งเขาบอกว่า “คนธรรมดามีตังค์ก็สร้างให้ถูกกฎหมายไม่ได้” นั่นละ

กฎหมายคืออะไรกันแน่ :ชำนาญ จันทร์เรือง

ข้อถกเถียงในยุครัฐบาลทหารที่ใช้มาตรา ๔๔ ออกประกาศและคำสั่ง คสช.มาใช้บังคับอย่างมากมาย พร้อมกับการสำทับว่าทุกคนต้องปฏิบัติตาม หากไม่ปฏิบัติตามจะต้องได้รับโทษทัณฑ์ตามหลักกฎหมายดั้งเดิมที่เล่าเรียนกันมาในอดีต

อีกทั้งยังเคยมีคำพิพากษาฎีกายืนยันมากว่าครึ่งศตวรรษแล้ว ว่าเมื่อคณะรัฐประหารยึดอำนาจสำเร็จย่อมเป็นรัฏฐาธิปัตย์ สามารถออกกฎหมายมาบังคับใช้ได้ และผู้คนก็ยังเชื่อในแนวความคิดนี้มาโดยตลอด ทั้งๆ ที่ในนานาอารยประเทศ ไม่ว่าจะเป็นแวดวงของนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์สมัยใหม่ได้มีการเปลี่ยนแนวความคิดนี้มานานแล้ว ดังจะเห็นได้จากในรัฐประชาธิปไตยหลายๆ รัฐ จะมีข้อห้ามหรือลดความความสัมพันธ์กับรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารแล้วออกกฎหมายมาใช้เอง เป็นต้น

ประเภทของแนวความคิดที่ใช้อธิบายว่ากฎหมายคืออะไร

๑)แนวความคิดแบบอำนาจนิยม คือแนวความคิดที่เชื่อว่ากฎหมายเป็นเครื่องมือของรัฐในการกำกับควบคุมประชาชน โดยกฎหมายไม่ได้มีไว้เป็นเครื่องมือในการจำกัดอำนาจรัฐหรือคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนแต่อย่างใด ซึ่งแนวความคิดนี้อธิบายว่า กฎหมายคือคำสั่งของรัฏฐาธิปัตย์ ผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามย่อมได้รับโทษแนวความคิดแบบนี้งอกงามได้ดีในรัฐอำนาจนิยม  

แนวความคิดแบบนี้ไม่สามารถอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นได้ เป็นความสัมพันธ์ทางเดียวจากข้างบนสู่ข้างล่าง ประชาชนไม่มีสิทธิในการเสนอความคิดเห็นหรือมีส่วนร่วมในการออกกฎหมาย กฎหมายที่ออกมาล้วนแล้วแต่สนับสนุนการใช้อำนาจรัฐและลดทอนอำนาจของสังคมกับประชาชน ข้อเสียที่สำคัญคือมีลักษณะหยุดนิ่งและมีแนวโน้มที่จะล้าหลังตามยุคสมัยไม่ทัน

๒)แนวความคิดแบบเสรีประชาธิปไตย คือแนวความคิดที่เชื่อว่ากฎหมายเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างรัฐกับประชาชนที่ให้อำนาจรัฐบางเรื่อง และในขณะเดียวกันก็จำกัดอำนาจรัฐด้วยการปกป้องประชาชนจากการใช้อำนาจตามอำเภอใจของรัฐ แนวความคิดแบบนี้งอกงามในรัฐเสรีประชาธิปไตย

แนวความคิดแบบนี้ถือว่ากฎหมายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม คือ เป็นเรื่องความคิดความเชื่อ และวัตรปฏิบัติของคนในสังคมที่มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน

แนวความคิดนี้สามารถอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมได้ดีเพราะเป็นความสัมพันธ์หลายทาง จากบนลงล่าง จากล่างขึ้นบน และในระนาบเดียวกัน มีการรับฟังเสียงจากประชาชน เช่น การทำประชามติ ประชาพิจารณ์ การมีส่วนร่วมในการเสนอกฎหมาย มีการรับฟังความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญในเรื่องกฎหมายที่ออกมาบังคับใช้

ที่สำคัญที่สุดคือออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติที่เป็นตัวแทนของประชาชนหรือฝ่ายบริหาร (กรณีกฎหมายลำดับรองที่ต่ำกว่าพระราชบัญญัติลงมา) ที่ประชาชนเป็นผู้เลือกให้เข้ามาทำหน้าที่ ซึ่งอาจจะเป็นโดยทางตรงหรือทางอ้อมก็ได้

กฎหมายในแนวความคิดนี้จะมีลักษณะที่จำกัดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจให้กับสังคม มิใช่ใช้กฎหมายได้ครอบจักรวาลและหาความแน่นอนไม่ได้ อันเป็นผลทำให้เกิดการขาดความมั่นคงทางกฎหมาย แนวความคิดแบบเสรีประชาธิปไตยนี้จะมีลักษณะพลวัตร สามารถปรับปรุงแก้ไขให้ทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนของสังคม

อีกอย่างหนึ่งในแนวความคิดนี้กฎหมายไม่จำเป็นที่ต้องมีสภาพบังคับให้ต้องลงโทษตามแบบแนวคิดดั้งเดิม เพราะกฎหมายในยุคใหม่นี้อาจเป็นเพียงกฎหมายในรูปแบบพิธีเท่านั้น เช่น พรบ.งบประมาณ, พรฎ.ยุบสภาฯ ฯลฯ

แน่นอนว่าในปัจจุบันนี้ยังคงมีการต่อสู้กันในทางความคิดระหว่างสองแนวความคิดนี้อยู่ ซึ่งก็แล้วแต่ว่าในสังคมใดมีลักษณะการปกครองแบบใด ถ้าเป็นในสมัยโบราณที่ปกครองด้วยระบอบ

สมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ประชาชนเคารพศรัทธายอมรับในความชอบธรรมของพระราชา (รากศัพท์ของคำว่า ‘ราชา ก็คือ ‘รช’ ซึ่งแปลว่ายินดีหรือพอใจ) หรือในปัจจุบันบางสังคมที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการก็จะใช้แนวความคิดแบบที่ ๑ คือ แบบอำนาจนิยมนี้มาอธิบาย

แล้วกฎหมายไทยอยู่ในแนวความคิดแบบใด

แน่นอนว่าในอดีตเราอยู่ในแบบที่ ๑ แล้ววิวัฒนาการมาอยู่ในแบบที่ ๒ แล้วก็มีการพยายามหมุนเข็มนาฬิกากลับไปสู่แบบที่ ๑ อีก เป็นระยะๆ ปัจจุบันจึงอยู่ในสภาพการณ์ที่เรียกว่าแปลกประหลาด เพราะทั้งๆ ที่มาตรา ๓ ของรัฐธรรมนูญปี ๖๐ ซึ่งบัญญัติหลักของรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
          
รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม ไว้อย่างชัดเจน

แต่ก็ยังมีการใช้มาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี ๕๗ มาประกอบกับมาตรา ๒๖๕ ของรัฐธรรมนูญฯปี ๖๐ ซึ่งเป็นข้อยกเว้น ออกประกาศและคำสั่งโดยไม่ได้ยึดบทบัญญัติตามมาตรา ๓ นี้ซึ่งเป็นบทบัญญัติหลักแต่อย่างใด

อีกทั้งยังมีการใช้คำสั่งตามมาตรา ๔๔ ดำเนินคดีกับผู้ที่ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญฯปี ๖๐ ในส่วนที่ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการเรียกร้องการเลือกตั้ง ทั้งๆที่ พรบ.การชุมนุมสาธารณะ ปี ๒๕๕๘ เป็นกฎหมายในเรื่องเดียวกันแต่ออกมาทีหลัง ซึ่งตามหลักกฎหมายทั่วไป กฎหมายใหม่ย่อมลบล้างกฎหมายเก่า จนผู้อยากเลือกตั้งต้องไปยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าตกลงเป็นอย่างไรกันแน่ ฤาว่ามาตรา ๔๔ ใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญแล้วหรือไร

อย่างไรก็ตามแม้ว่ารัฐธรรมนญปี ๖๐ มาตรา ๒๑๓ จะกำหนดให้บุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครอง มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง เพื่อวินิจฉัยการกระทำนั้นว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยไม่ได้บัญญัติเหมือนรัฐธรรมนูญฯปี ๕๐ ที่ต้องให้ไปใช้สิทธิโดยวิธีอื่นก่อน เพียงแต่กำหนดว่าให้เป็นไปตามเงื่อนที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ

แต่จากข้อมูลของไอลอว์พบว่านับตั้งแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฯปี ๖๐ จนถึงวันที่ ๒๙ มกราคม ๖๑ มีการยื่นคำร้องตามมาตรา ๒๑๓ เข้าสู่ศาลธรรมนูญทั้งหมด ๗๓ เรื่อง แบ่งเป็นในปี ๒๕๖๐ จำนวน ๖๗ เรื่อง และในปี ๒๕๖๑ อีกจำนวน ๖ เรื่อง ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งออกมาแล้วทั้งหมด ๕๕ ฉบับ ซึ่งทุกฉบับศาลรัฐธรรมนูญไม่เคยรับพิจารณาคำร้องของประชาชนที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงเลย

กล่าวโดยสรุป ไม่ว่าจะเป็นแนวความคิดที่ ๑ หรือที่ ๒ ก็ตาม ย่อมอยู่ที่บริบทของสังคมและการยอมรับของประชาชนในสังคมนั้นๆ ซึ่งก็คือ ความชอบธรรม หรือ legitimacy” นั่นเอง

ฉะนั้น การที่ผู้ฉีกกฎหมายสูงสุดเรียกร้องขอให้ประชาชนเคารพกฎหมายหรือปฏิบัติตามกฎหมายที่ตนเองออกมาบังคับใช้ ย่อมยากต่อการยอมรับของประชาชนในสังคมนั้นเป็นธรรมดา

-----------

 หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑

ชาวเน็ตว่าไง "ฟังเสียงคนรุ่นใหม่อยากเลือกคนแบบไหนเป็นนายกฯ ?"




เสียงคนรุ่นใหม่

ที่มา
https://www.voicetv.co.th/read/SkbSgAMuG


“สำหรับผม ผมต้องการคนที่เข้าใจความเป็นประชาธิปไตยครับ ต้องเป็นคนที่รู้จักฟัง ฟังคนรุ่นใหม่ ฟังเสียงของคนในประเทศว่าเขาต้องการอะไร เขาอยากให้ประเทศดำเนินไปในทิศทางไหน เป็นคนที่ไม่คิดว่าตัวเองสามารถใช้อำนาจไปทำอะไรใครก็ได้ หรือพาประเทศไปในทิศทางไหนก็ได้ที่ตัวเองคิดว่ามันดีแล้ว อยากจะให้เป็นคนที่ยอมรับการตรวจสอบจากทุกสถาบัน ทั้งกฎหมาย สื่อ และประชาชนเองที่ต้องดำเนินชีวิตอยู่ในประเทศนี้ เขาควรจะมีสิทธิที่จะได้แสดงออกความคิดเห็นของเขาต่อตัวผู้นำและโครงการต่างๆ อยากได้คนที่เปิดรับการมีส่วนร่วมของประชาชนครับ”พชร คำชำนาญ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 แลกเปลี่ยนความคิดเห็น

...

ด้าน 'เมธาวจี สาระคุณ' นักศึกษาชั้นปีที่ 3 แลกเปลี่ยนในประเด็นเดียวกันว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่คนรุ่นใหม่ต้องให้พื้นที่คนรุ่นเก่าเยอะมาก

“เราต้องเคารพผู้ใหญ่ เราต้องให้ผู้ใหญ่ไปก่อน สุดท้ายแม้เราจะขึ้นมาจริงๆ เราก็ยังต้องฟังผู้ใหญ่เยอะมากในการตัดสินใจแต่ละอย่างของเรา มันจะมีไหมพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่ที่เสนอนโยบายเพื่อโลกใบใหม่ เพื่ออนาคต ไม่ใช่แค่เพื่อให้อดีตยังคงอยู่” เมธาวจี กล่าว

...

“ผมคิดว่าท้ายที่สุด คนรุ่นใหม่ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการการเลือกตั้ง เลือกผู้แทนของตัวเอง เราจะปล่อยให้คนจำนวนหนึ่งกำหนดอนาคตของเราต่อไปอีกหรือไม่ หรือเราจะเริ่มส่งเสียงเพื่อให้เรากำหนดอนาคตของตัวเอง เราจะปล่อยให้ศตวรรษที่หายไป ที่กลุ่มต่างๆ ช่วงชิงอำนาจโดยไม่ฟังเสียงของประชาชนมันดำรงต่อไปหรือเปล่า ผมคิดว่าการออกมาต่อสู้ครั้งนี้ คนที่ได้ประโยชน์มากที่สุดก็คือคนรุ่นใหม่ หลายคนบอกว่ากลุ่มชุมนุมของเรามีแต่คนอายุมาก แต่พวกเขาก็ต่อสู้เพื่ออนาคตของคนรุ่นหลัง เขาไม่ได้พูดในฐานะคนที่เคยผ่านมาก่อน แต่เขาต้องการส่งต่ออนาคตให้คนรุ่นใหม่ มันก็อยู่ที่คนรุ่นใหม่ว่าจะปล่อยให้ป้าๆ ลุงๆ ต่อสู้โดยลำพังต่อไป และปล่อยให้เขากำหนดอนาคตของเราโดยที่เราก็ไม่รู้ทิศทางของเราหรือไม่ ทุกวันนี้คนรุ่นใหม่ติดอยู่ในลูปว่าเราไม่รู้ทิศทางของประเทศ ผมคิดว่าถ้าเราไม่รู้ทิศทาง เราก็ต้องออกมากำหนดอนาคตของเราเอง”

สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์

...

Tongla Narakon สเปคนายกฯ ไม่ขออะไรมาก แค่ไม่เป็นแบบ ตาเหล่ ปากหมา หน้าบึ้ง พูดไม่รู้เรื่อง ก็พอแหละ

Lak Phoruen สเปคนายก.ไม่ตอแหล.ไม่ปากหมา.กิริยาไม่สถุน.มีภาวะผู้นำไม่บ้าอำนาจ.ทำงานเพื่อราษฎรไม่ใช่ทำงานเพื่อพรรคพวกตัว

Khemika Jaidee จะเลือกคนที่สนับสนุนกิจกรรมของนักศึกษา และไม่จับนักศึกษาขังคุก

Ananta Pechboonsri ใครก็ได้ที่มาตามกฎกติการะบอบประชาธิปไตย

บรอนด์ รายแบล็ค ปล้นคนรวยช่วยคนจน.

Josep Tem ขอมากจากเสียงประชาชน พูดจริงทำจริงก็พอครับ

เก็บความจากVoice TV โพสต์ 


(เมื่อเสียงปืนดังกฎหมายก็จะเงียบเสียงลง) ทวงคืนเสรีภาพ ยังไม่สำเร็จ! ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง ขอให้วินิจฉัยคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ





ทวงคืนเสรีภาพ ยังไม่สำเร็จ!
ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง ขอให้วินิจฉัยคำสั่งหัวหน้าคสช. 3/2558 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
.
26 กุมภาพันธ์ 2561 ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยกไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัย กรณีที่ภาคประชาชนสามกลุ่มได้ใช้สิทธิตามมาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญ 2560 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2560 ยื่นคำร้องสามฉบับขอให้วินิจฉัยว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เรื่องการห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ขัดต่อเสรีภาพการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญให้เหตุผลว่า รัฐธรรมนูญได้กำหนดช่องทางการตรวจสอบอื่นไว้แล้ว คือ การยื่นคำร้องผ่านศาลและผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงไม่สามารถยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ รายละเอียดดังนี้
.
คำสั่งที่ 7/2561 เรื่อง กรณีเกษมชาติและพวกรวมสามคน ขอให้พิจารณาว่า คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 26 และ 44 หรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 มีสถานะใช้บังคับตามกฎหมาย คำร้องดังกล่าวจึงเป็นการขอให้ศาลตรวจสอบว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ชอบตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญได้ระบุสิทธิในการตรวจสอบความชอบตามรัฐธรรมนูญไว้เป็นการเฉพาะแล้ว โดยการใช้สิทธิทางศาลตามมาตรา 212 และช่องทางผู้ตรวจการแผ่นดินตามมาตรา 231(1) ผู้ร้องจึงไม่สามารถยื่นคำร้องผ่านช่องทางศาลรัฐธรรมนูญได้
.
คำสั่งที่ 8/2561 เรื่อง กรณีรัฐพลและพวกรวมสามคน ขอให้พิจารณาว่า คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 26 และ 44 หรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 มีสถานะใช้บังคับตามกฎหมาย คำร้องดังกล่าวจึงเป็นการขอให้ศาลตรวจสอบว่า คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ชอบตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญได้ระบุสิทธิในการตรวจสอบความชอบตามรัฐธรรมนูญไว้เป็นการเฉพาะแล้ว โดยการใช้สิทธิทางศาลตามมาตรา 212 และช่องทางผู้ตรวจการแผ่นดินตามมาตรา 231(1) ผู้ร้องจึงไม่สามารถยื่นคำร้องผ่านช่องทางศาลรัฐธรรมนูญได้
.
คำสั่งที่ 10/2561 เรื่อง กรณีอานนท์และพวกรวมสี่คน ขอให้พิจารณาว่า คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 26,28 และ 44 หรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 มีสถานะใช้บังคับตามกฎหมาย คำร้องดังกล่าวจึงเป็นการขอให้ศาลตรวจสอบว่า คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ชอบตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญได้ระบุสิทธิในการตรวจสอบความชอบตามรัฐธรรมนูญไว้เป็นการเฉพาะแล้ว โดยการใช้สิทธิทางศาลตามมาตรา 212 และช่องทางผู้ตรวจการแผ่นดินตามมาตรา 231(1) ผู้ร้องจึงไม่สามารถยื่นคำร้องผ่านช่องทางศาลรัฐธรรมนูญได้
.
และการที่ผู้ร้องระบุว่า เจ้าหน้าที่ได้อาศัยคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของผู้ร้องด้วยการควบคุมตัวผู้ร้องไว้ในสถานที่อื่นใดที่ไม่ใช่สถานีตำรวจ ที่คุมขัง ทัณฑสถาน หรือเรือนจำ ขัดต่อมาตรา 28 ของรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 7 ธันวาคม 2558 และสิ้นสุดลงในวันเดียวกัน เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ ผู้ร้องจึงไม่สามารถยื่นคำร้องผ่านช่องทางมาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญได้
.
ก่อนหน้านี้ในวันที่ 26 มกราคม 2561 ศาลรัฐธรรมนูญได้ยกคำร้องของนิมิตร์และพวกรวมสามคนที่ขอให้พิจารณาว่า คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 26 และ 44 หรือไม่ ซึ่งให้เหตุผลเหมือนกันกับคำร้องสามคำร้องนี้
.
จากการสอบถามไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2561 พบว่านับตั้งแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 จนถึงวันดังกล่าว มีการยื่นคำร้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญด้วยช่องทางตามมาตรา 213 อย่างน้อย 73 เรื่อง แบ่งเป็นในปี 2560 จำนวน 67 เรื่อง และในปี 2561 อีกจำนวนหกเรื่อง โดยข้อมูลจากเว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญพบว่าที่ผ่านศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งออกมาแล้วทั้งหมด 55 ฉบับ ซึ่งทุกฉบับศาลไม่รับพิจารณาคำร้อง โดยอาศัยเหตุผลสามประการ คือ
.
หนึ่ง ในรัฐธรรมนูญกำหนดกระบวนการในการให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้เป็นการเฉพาะแล้ว
สอง รัฐธรรมนูญได้กำหนดวิธีการยื่นคำร้องไว้เฉพาะแล้วให้ไปยื่นตามวิธีการดังกล่าว
สาม เป็นเรื่องที่ไม่มีการละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้ร้อง
.
สำหรับมาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้มีสิทธิยื่นคําร้อง ต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคําวินิจฉัยว่าการกระทํานั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ
.
อ่านเพิ่มเติม
๐ สรุปคำฟ้อง 'ทวงคืนเสรีภาพ' ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 https://ilaw.or.th/node/4712
๐ เปิดสามเหตุผลศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องประชาชน กรณีถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญhttps://ilaw.or.th/node/4743

ที่มา FB


iLaw

...

เมื่อเสียงปืนดังกฎหมายก็จะเงียบเสียงลง
มิตรสหายท่านหนึ่ง

ฟัง "General Pinocchio" พูดถึงวันเลือกตั้งชัด ๆ อีกครั้ง



...


'ประยุทธ์' ประกาศ 'เลือกตั้ง' ใน ก.พ. 62 ย้ำห้ามถามอีก







Feb 27, 2018
ที่มา Voice TV


นายกฯ ปัดคว่ำกฎหมายลูก เตรียมเลือกตั้งภายใน ก.พ. 2562 หลังกฎหมายลูกประกาศใช้เตรียมเรียกแม่น้ำ 5 สาย ถกพรรคการเมือง


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยืนยันไม่เคยคิดล้มกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2 ฉบับสุดท้าย โดยทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ และเมื่อประกาศใช้กฎหมายทั้ง 2 ฉบับในเดือนมิ.ย. ก็จะเรียกประชุมแม่น้ำ 5 สายพร้อมกับพรรคการเมืองทั้งหมด ดังนั้นตามกรอบเวลาการเลือกตั้งจะจัดขึ้นไม่เกินเดือน ก.พ. ปี 2562 แน่นอน ขออย่ามาถามอีก เพราะพูดชัดแล้ว ส่วนการปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรม ต้องดูสถานการณ์บ้านเมือง ว่าปลดล็อกแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ขอให้หาเสียงด้วยความสงบ เพราะส่วนตัวก็อยากให้มีการเลือกตั้ง แต่หากใครยังมองว่าตนอยากอยู่ต่อ ก็ไม่ขอคุยด้วยแล้ว

"เพราะว่ามันมีการเลื่อนไปจากเดิม 90 วัน ตามพ.ร.บ.ที่มีผลบังคับใช้ ก็แค่นั้นเองผมก็ตอบชัดเจนแล้วนะ การเลือกตั้งไม่เกินก.พ. 62 จะเอาอะไรกันอีกละ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นวันเวลาไหน ต้องอยู่ในห้วง 150 วัน และต้องพิจารณาสถานการณ์บ้านเมือง ผมไม่ได้ขู่นะ แต่พอดูละกันพอเราปลดล็อกทางการเมืองอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง ผมก็หวังให้มันเกิดสิ่งดีๆขึ้นมา หาเสียงกันโดยสงบ ไม่ใส่ร้ายป้ายสี ไม่ยุยงปลุกปลั่น มันจะได้เลือกตั้งได้" พลเอกประยุทธ์ กล่าว

ด้าน พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงคำปรารภของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในที่ประชุม ครม. ถึงเรื่องการปลดล็อกพรรคการเมืองใหม่ให้สามารถจดทะเบียนจัดตั้งพรรคได้ในวันที่ 1 มี.ค.นี้เป็นต้นไป และหากเปิดรับสมาชิกเพิ่มให้ขออนุญาตจาก คสช. ก่อน ขณะที่พรรคเก่าสามารถที่จะลงทะเบียน สำรวจ และตรวจสอบสถานะสมาชิกพรรคได้ในวันที่ 1 เม.ย. เป็นต้นไป แต่ไม่อนุญาตให้เปิดรับสมาชิกใหม่ เพราะถือว่าพรรคการเมืองเก่ามีความได้เปรียบทั้งโครงสร้างการบริหารพรรค และจำนวนสมาชิก

ส่วนการปลดล็อกพรรคการเมืองต้องรอให้สถานการณ์ต่างๆมีความพร้อมเสียก่อน และคาดว่าจะสามารถจัดการเลือกตั้งได้ภายในเดือนก.ย.2561 ถึง ก.พ. 2562 ตามโรดแมพ ขณะเดียวกันกระทรวงมหาดไทยยืนยันพร้อมจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นภายใน 1 เดือนครึ่ง หลังประกาศใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้ง 6 ฉบับ ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีย้ำว่าไม่มีนโยบายที่จะคว่ำกฎหมายลูกแต่อย่างใด

ooo

...



(โง่แล้วอยากนอนเตียง) มีความเห็นสอดคล้องกันมากขึ้นว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เข้ามาบริหารประเทศกว่า 3 ปีแล้ว ประชาชนเห็นความ "บ่มิไก๊" มากยิ่งขึ้น




ในประเทศ : วิกฤตศรัทธา


ที่มา มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 23 กุมภาพันธ์ - 1 มีนาคม 2561
เผยแพร่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2561


มีความเห็นสอดคล้องกันมากขึ้นว่า หลังรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เข้ามาบริหารประเทศผ่านมาแล้ว 3 ปีกว่า และเหลือเวลาตามโรดแม็ปอีกประมาณ 1 ปี

เผชิญ “วิกฤตศรัทธา” มากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ สามารถอ้างอิงจากโพลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อผลงานรัฐบาล ของ “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต

ซึ่งได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,016 คน ระหว่างวันที่ 12-17 กุมภาพันธ์ 2561

ปรากฏว่าประชาชนให้คะแนนภาพรวมของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ผ่านอย่างเฉียดฉิว

โดยคะแนนเต็ม 10 ได้ 5.35 คะแนน

ทั้งนี้ ผลงานด้านสังคม

โดยภาพรวมประชาชนให้ 5.39 คะแนน

แยกเป็น

1. การดูแลช่วยเหลือประชาชน/ปราบปรามอาชญากรรม 5.76

2. การจัดระเบียบสังคม/สร้างมาตรฐานคุณธรรม ค่านิยม 12 ประการ 5.71

3. การปราบปรามยาเสพติด 5.69

4. การปราบปรามการทุจริต 4.85

5. การดูแลรักษาสุขภาพประชาชน 5.34

6. การลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม 4.75

7. การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี/ไทยแลนด์ 4.0 5.56

8. การแก้ปัญหาการค้ามนุษย์/แรงงานต่างด้าว 5.69

9. การรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 5.27

10. การทำนุบำรุงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม 5.84

11. การจัดการศึกษา/การปฏิรูปการศึกษา 5.19

12. พัฒนาระบบการผลิตและพัฒนาครู 5.00

ในประเด็นด้านสังคม แม้ส่วนใหญ่ รัฐบาลสอบผ่าน

แต่กระนั้น น่าสังเกตว่า สอบตกใน 2 เรื่อง คือ

การปราบปรามการทุจริต ได้ 4.85

และการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม 4.75

ถือเป็น 2 เรื่องสำคัญ โดยเฉพาะการปราบปรามการทุจริตนั้น ประเด็นนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่จบ

และเป็นหัวเชื้อให้เรื่องนี้ลามไปยังประเด็นอื่นๆ อย่างกว้างขวาง นอกจากการแฉกันเองผ่านปากของ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ จนสร้างความอึมครึมในคณะรัฐมนตรีแล้ว





ล่าสุด นายต่อตระกูล ยมนาค ประธานอนุกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติด้านการป้องกันการทุจริต ในคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน ได้ทำหนังสือถึงประธาน คตช. แสดงความกังวลต่อบทบาทของ คตช. ในสถานการณ์ดังกล่าว

และเรียกร้องให้ พล.อ.ประวิตร ลาออก เพื่อลดความไม่พอใจของสังคม

ซึ่งสะท้อนผ่านผลสำรวจดัชนีสถานการณ์การทุจริตคอร์รัปชั่นของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ชี้ปี 2560 สถานการณ์คอร์รัปชั่นเริ่มกลับมา และในปี 2561 นี้จะรุนแรงมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือน พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่ขานรับนายต่อตระกูล อย่างสิ้นเชิง

โดยอ้างว่า ทุกอย่างอยู่ในกระบวนการตรวจสอบอยู่แล้ว อย่าทำให้วุ่นวาย หรือให้มีปัญหา

ส่วนมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่เผยผลสำรวจดัชนีสถานการณ์การทุจริตคอร์รัปชั่นเพิ่มขึ้น พล.อ.ประยุทธ์ อ้างว่า ได้เรียกมหาวิทยาลัยหอการค้ามาพบ ซึ่งได้รับแจ้งว่าเป็นการชี้แจงทางหลักการวิชาการซึ่งไม่ได้มีหลักฐานชัดเจน เพียงแต่ว่าเป็นการประมาณการ

ท่าทีปกป้อง “พี่ใหญ่” พล.อ.ประวิตร และไม่เห็นด้วยกับผลสำรวจการคอร์รัปชั่นของผู้นำรัฐบาลและ คสช. นี้

อาจจะเป็นคำตอบที่สำคัญหนึ่งว่า ทำไมชาวบ้านจึงให้รัฐบาลสอบตกในเรื่องดังกล่าว

มาถึงผลงานด้านเศรษฐกิจ ที่รัฐบาลหวังว่า หากดึงเวลาการทำงานออกไปจะเรียกค่านิยมจากชาวบ้านได้ เพราะผลงานจากการอัดฉีดเม็ดเงินจำนวนมหาศาลเข้าสู่ระบบ จะเริ่มปรากฏผล

แต่จากโพล “สวนดุสิต” ถึงผลงานด้านนี้ ปรากฏว่า ในภาพรวม

รัฐบาล “สอบตก” ได้คะแนนเพียง 4.94

โดยแยกในรายละเอียดคือ

1. ชีวิตความเป็นอยู่ด้านการทำมาหากิน/แก้ปัญหาจ้างงาน 4.56

2. ค่าครองชีพ รายได้ รายจ่าย หนี้สิน 4.45

3. ราคาพืชผลทางการเกษตร 4.26

4. การควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภค 4.65

5. ส่งเสริมการลงทุน/พัฒนาอุตสาหกรรม 5.11

6. ราคาเชื้อเพลิง/พลังงาน 5.04

7. การกระตุ้นการท่องเที่ยว 5.87

8. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน/ระบบขนส่ง 5.59

จะเห็นว่า ใน 8 หัวข้อ “ผ่าน” เพียง 4 ประเด็นเท่านั้น

ยิ่งหากไปฟังคนในวงการเศรษฐกิจ อย่าง นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย ให้ข้อมูลแล้วยิ่งน่าเป็นห่วง

ประเด็นแรกคือ ค่าเงินบาทที่สูงเกินไป โดยคาดว่าในช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายนนี้ ค่าเงินบาทจะแข็งค่ามากที่สุด

โดยมีโอกาสที่จะลงไปทดสอบระดับต่ำกว่า 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อยู่ที่ 30.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการแข็งค่ามากที่สุดตั้งแต่ปลายปี 2556

และคงจะกระทบภาคส่งออกอย่างมาก

นอกจากนี้ ที่ผิดความคาดหมาย นั่นก็คือ อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2560 ขยายตัวเพียง 3.9%

ถือว่าต่ำกว่าประเทศในภูมิภาค

และเป็นการต่ำกว่าศักยภาพที่ควรจะขยายตัวได้ถึง 5%

สาเหตุเพราะยังขาดการลงทุน ยังไม่เห็นการลงทุนเครื่องจักรและการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต

ที่สำคัญคือ การปฏิรูปกฎหมายและการจัดการเลือกตั้งยังไม่คืบหน้าและไม่แน่นอน ทำให้นักลงทุนโดยเฉพาะต่างชาติขาดความเชื่อมั่นในการลงทุน

ทำให้รัฐบาลเผชิญ “วิกฤตศรัทธา” ในด้านสำคัญอีกด้านหนึ่ง

หันไปพิจารณาผลงานด้านความมั่นคง สวนดุสิตโพลชี้ว่า ภาพรวม สอบผ่าน 5.83

โดยแยกเป็น

1. ความมั่นคงเข้มแข็งของประเทศ 5.77

2. ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 5.51

3. การมุ่งรักษาความมั่นคงเทิดทูนสถาบัน 6.95

4. การควบคุมการก่อการร้าย/การควบคุมการประท้วง 6.08

5. การแก้ปัญหาชายแดนใต้ 4.89

6. การแก้ปัญหาอาชญากรข้ามชาติ 5.35

7. การพัฒนาและเสริมสร้างกำลังกองทัพ 6.25

แม้รัฐบาลจะสอบผ่านในเรื่องความมั่นคง และถือเป็นจุดแข็งของรัฐบาลชุดนี้

แต่กระนั้น กลับสอบตกในประเด็นสำคัญคือ การแก้ปัญหาชายแดนใต้ ที่ได้คะแนนเพียง 4.89

เป็นวิกฤตศรัทธาที่ดำรงอยู่มาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง

มาถึงประเด็นสำคัญ คือผลงานด้านการเมือง

สวนดุสิตโพลชี้เปรี้ยงว่า โดยภาพรวม รัฐบาลสอบตก

คือได้เพียง 4.64

และยังสอบตกทุกประเด็นย่อย ดังนี้

1. การดำเนินการแก้ไขปัญหาทางการเมืองในภาพรวม 4.89

2. การสร้างความปรองดองจากความขัดแย้งทางการเมือง 4.78

3. การเตรียมการเลือกตั้งตามโรดแม็ป 4.30

4. การออกกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4.38

5. การส่งเสริมความเข้มแข็งทางด้านการเมืองในภาพรวม 4.62

6. การบริหารราชการแผ่นดินที่มีธรรมาภิบาล 4.85

ซึ่งผลสำรวจนี้ ไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่นัก

เพราะที่ผ่านมา รัฐบาลและ คสช. ถูกโจมตีและถูกตั้งคำถามอย่างหนักถึงการเตะถ่วงการเลือกตั้ง

จนทำให้เกิดกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ออกมาเคลื่อนไหวแม้ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา “หน้าเดิม” ประมาณ 6-7 คน แต่ในตอนนี้ อาจจะแตกต่างจากที่ผ่านมา

นั่นคือ กิจกรรมที่ทำขึ้น มีการขานรับจาก “มวลชน” และ “สังคม” มากขึ้น

นำไปสู่ความกังวลของรัฐบาลและ คสช. ว่า ม็อบอาจจุดติด จึงสั่งให้มีการติดตามการเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก ยอมรับว่า “คนส่วนใหญ่” ต้องการ “การเลือกตั้ง”

“เพียงแต่คนส่วนใหญ่เข้าใจเหตุผลและขั้นตอน จึงยอมให้ใช้เวลาสักระยะหนึ่งเพื่อเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง ดีกว่าออกมาเผชิญหน้ากันทำให้สถานการณ์ย้อนกลับมาสู่ที่เดิม”

จึงให้คำมั่นกลายๆ ว่า “หากคำนวณขั้นตอนตามกฎหมาย ก็จะมีการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562”

ถือเป็นความพยายามที่จะบอกว้ารัฐบาลและ คสช. ไม่ได้ต้องการเตะถ่วง

แถมยังบอกในเชิงยอมรับข้อเท้จจริงว่า “ในเรื่องอยากเลือกตั้ง หรือไม่อยากเลือกตั้งนั้น ฟังเสียงดูจากธรรมชาติของคน พออยู่นานรู้สึกเบื่อ อยากหาสิ่งที่ดีกว่า แต่ไม่รู้ว่าสิ่งที่ดีกว่าคืออะไร”

การจับอุณหภูมิ “เบื่อ” ได้นี้เอง จึงทำให้ผู้บัญชาการต้องออกมาย้ำถึงเรื่องการเลือกตั้งว่าจะมีขึ้นแน่

ซึ่งหากทำให้คนในสังคมเชื่อกันมากๆ ว่าการเลือกตั้งอาจจะล่าช้าหรือไม่มีขึ้น แรงกดดันก็จะเพิ่มขึ้น ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาลและ คสช. แน่นอน

เพราะว่าไปตอนนี้ “วิกฤตศรัทธา” ที่หนักสุดก็คงเป็นประเด็นเลือกตั้งนั่นเอง

ซึ่งก็สอดคล้องกับผลสำรวจของสวนดุสิต ที่ชี้ความต้องการ “5 อันดับ” งานที่ประชาชนอยากให้รัฐบาล “เร่งดำเนินการ” ในระยะเวลา 1 ปีก่อนการเลือกตั้ง

อันดับ 1 แก้ปัญหาเศรษฐกิจ ราคาพืชผลการเกษตร การค้าระหว่างประเทศ 46.68%

อันดับ 2 เร่งกฎหมายเลือกตั้ง การจัดการเลือกตั้ง 34.73%

อันดับ 3 ตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่นของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การดำเนินคดีทางการเมือง 32.30%

อันดับ 4 พัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ การดูแลรักษาสุขภาพประชาชน สวัสดิการผู้สูงอายุ 26.77%

อันดับ 5 การดำเนินงานของรัฐบาล การบริหารประเทศ การปฏิรูประบบราชการ 24.12%

จะเห็นว่า สิ่งที่ชาวบ้านต้องการ คือสิ่งที่รัฐบาล “สอบตก” และล้วนนำไปสู่ “วิกฤตศรัทธา” ทั้งสิ้น

นี่กระมังที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ พยายามลดแรงกดดันอีกแรงหนึ่ง

โดยพยายามสยบเสียงวิพากษ์วิจารณ์อาจมีคว่ำ 2 กฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งในชั้นกรรมาธิการ เพื่อเลื่อนโรดแม็ปการเลือกตั้งออกไปอีกว่า


“จะไม่มีการล้มกฎหมายลูกโดยเด็ดขาด”


ถือเป็นการพยายามกู้ศรัทธากลับมา

ขณะเดียวกัน ก็หวังว่า การคิกออฟ โดยให้ทหาร กระทรวงมหาดไทยและหน่วยราชการต่างๆ ลงไปพูดคุยกับประชาชนทั่วประเทศ ตามโครงการไทยนิยมยั่งยืน ตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์นี้

จะดึงชาวบ้านกลับมาอยู่รัฐบาลและ คสช.

และคลายวิกฤตศรัทธาลง

อย่างไรก็ตาม จะเป็นอย่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งข้อสังเกตหรือไม่

คือต้องรอดูเมื่อลงพื้นที่จริง โดยมีการนำวิทยากรไปพบประชาชนว่าจะได้ผลมากน้อยแค่ไหน

รวมถึงการใช้งบประมาณกว่า 2,000 ล้านบาทที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องชี้แจงได้ว่านำงบฯ ไปดำเนินการอะไร

มีผลสัมฤทธิ์เป็นอย่างไร


จะมองว่าเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อปูทางให้พรรคทหารหรือไม่

หากเป็นอย่างที่ว่า ความหวังที่จะกู้ “วิกฤตศรัทธา” ก็คงไม่ใช่


ooo

เปิดเส้นทาง พรรคมวลมหาประชาชนปฏิรูปประเทศฯ ของ สุเทพ เทือกสุบรรณ หนุน คสช.



"พอละยังกับเบี้ยล่างเผด็จการ พอละยังกับความไม่ยุติธรรม พอละยังกับการลากตั้งที่ลากยาวไปเรื่อยๆเพียงเพราะเพื่อยื้ออำนาจ" - อ่าน คำปราศรัย 'พลังใหม่ประชาธิปไตย ม.พะเยา' ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 24 กุมพาพันธ์ 2561





ที่มา FB

พลังใหม่ประชาธิปไตย ม.พะเยา


"สวัสดีพ่อแม่พี่น้องและเหล่าเพื่อนๆนิสิตนักศึกษามิตรสหายทุกท่าน วันนี้ก็คงเป็นครั้งแรกของผมที่ได้มีโอกาสได้ขึ้นมาพบปะทุกท่าน ณ ที่แห่งนี้ ที่ๆเต็มไปด้วยกลิ่นของสิทธิเสรีภาพทุกตารางนิ้ว ที่ๆเต็มไปด้วยกลิ่นอายของประชาธิปไตย เวลานี้....ผมมีความรู้สึกใจชื้นเป็นอย่างมากที่ยังมีพื้นที่ที่รับฟังความคิดเห็นของผมอยู่ ถึงแม้ว่ามันจะถูกจำกัดด้วยพุ่มไม้ลายพลางสีเขียวก็ตาม

...ผมก็เป็นแค่นิสิตนักศึกษาธรรมดาๆคนนึงที่ชื่นชอบในเรื่องของศาสตร์ของรัฐศาสตร์และการเมือง ที่อยากกำหนดอนาคตตัวเอง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงอะไรต่างๆทุกอย่างมักจะมีจุดเริ่มต้นเสมอ และก่อนที่จะเดินไปจุดนั้นผมมักจะถูกผู้ใหญ่หลายท่านถามเสมอ ซึ่งพวกเขาก็จะเอาแต่ถามกับผมว่า ยังเรียนอยู่เอาเวลาไปตั้งใจเรียนดีกว่ามั้ย เสียเวลามาทำกิจกรรมทำไม !!! หรือบางครั้งผู้ใหญ่มักจะตีตราพวกผมเป็นพวกเด็กหัวรุนแรง พวกเด็กไม่รักสถาบัน พวกฟันไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม ผมก็อยากจะย้อนกลับไปถามว่าท่านครับหมดอายุราชการมายังบริหารอยู่ทำไม เปลี่ยนให้คนรุ่นใหม่ทำจะบางดีกว่าไหม เอาเวลาไปเลี้ยงหลานดีกว่าไหมลุง !!!

มันก็เป็นเพราะความคิดแบบท่านแบบนี้ไงพวกเด็กหัวรุนแรงอย่างพวกผมถึงต้องลุกออกมาเปลี่ยนแปลง เพราะคิดแบบคุณๆไงเสียงของประชาชนถึงเป็นได้แค่เปลวเทียนในความมืด ..
นานเท่าไหร่แล้วที่เราถูกพันธนาการด้วยโซ่ตรวนทั้งๆที่เราไร้ซึ่งความผิด ประชาธิปไตย99.9%ไม่กลัวการวิจารณ์แต่กลัวธูป36ดอก กฎหมายคุ้มครองคนรวยให้มีเบาะรองนั่งเป็นหนังเสือสามสี่ผืน ใครวิจารณ์รัฐบาลโดนหมายเรียก? มันไม่ควรจะเกิดขึ้นอีกในยุคศตวรรษที่22
สิทธิเสรีภาพในด้านการแสดงความคิดเห็นมันไม่ควรจะถูกกลบด้วยเขม่าดินปืนหรือการปรับทัศนคติ คนที่ควรจะไปปรับทัศนคติคือพวกคุณไม่ใช่พวกเรา การแสดงความคิดเห็นไม่ควรจะถูกปิดกั้น อิสระภาพไม่ควรจะถูกล้อมด้วยรวดหนาม เผด็จการควรจะอยู่แค่ในค่ายไม่ใช่เผด็จการเรี่ยราดเรื่อยเปื่อยในสังคมแบบนี้ เราทุกคนรวมถึงผมมีสิทธิที่จะกำหนดอนาคตไปพร้อมๆกัน อนาคตของพวกเราทุกคนจะเป็นไปในทิศทางไหนมันก็ขึ้นอยู่กับปัจจุบันวันนี้ของเรา.. !!!

พอละยังกับเบี้ยล่างเผด็จการ พอละยังกับความไม่ยุติธรรม พอละยังกับการลากตั้งที่ลากยาวไปเรื่อยๆเพียงเพราะเพื่อยื้ออำนาจ ผมพอแล้วกับเหตุการณ์เหล่านี้ แล้วคุณละครับพอแล้วหรือยัง พอละยังที่ถูกริดรอนสิทธิไปเรื่อยๆ พอละยังที่ถูกข่มเหงทางอ้อมแบบนี้ อนาคตเราเอาคืนมา!!! ของคุณครับ"
.
.
คำปราศัยของ พลังใหม่ประชาธิปไตย ม.พะเยา
24 กุมพาพันธ์ 2561
ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เผยแนวปฏิบัติการทำความเห็น-คำสั่งคดี ป.อาญา 112 ใหม่ ให้อัยการสูงสุดพิจารณาเพียงผู้เดียว ระดับล่างไม่อาจทำความเห็นได้ ระบุชัดเพื่อความรอบคอบรัดกุม






สนง.อัยการสูงสุด สั่งเข้มแนวปฏิบัติคดีป.อาญา112 ใหม่ ให้อสส.พิจารณาคนเดียวเท่านั้น



27 กุมภาพันธ์ 2561
ที่มา สำนักข่าวอิศรา


สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายพรศักดิ์ ศรีณรงค์ รองอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการแทนอัยการสูงสุด ได้ทำหนังสือถึงผู้บริหารระดับสูงในสำนักงานอัยการสูงสุดทุกระดับชั้นให้รับทราบแนวทางปฏิบัติในการดำเนินคดีอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งมีสาระสำคัญอยู่ที่การให้ข้อหาประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จะถูกพิจารณาโดยอัยการสูงสุดเท่านั้น พนักงานอัยการระดับทั่วไปไม่อาจทำความเห็นได้ ขณะที่ระบบการจัดทำความเห็นในลำดับชั้นของอัยการภายในองค์กรอัยการก็ไม่มีสำหรับข้อหา ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

โดยหนังสือดังกล่าวระบุว่า ด้วยการดำเนินคดีอาญาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นคดีสำคัญที่ต้องป้องกันและปราบปรามเป็นพิเศษ เพื่อให้การดำเนินคดีประเภทดังกล่าวตามอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการเป็นไปด้วยความรอบคอบรัดกุม สำนักงานอัยการสูงสุดจึงวางแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการทำความเห็นและคำสั่งในคดีประเภทดังกล่าว และให้ถือปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกัน ดังนี้

1. สำนักงานอัยการที่ได้รับสำนวนคดี ส.1 และส.2 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ทำการรายงานคดีสำคัญตามแบบที่กำหนด พร้อมส่งสำเนารายงานการสอบสวนของพนักงานสอบสวน, สำเนาความเห็นคณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของตำรวจ (ถ้ามี), สำเนาคำให้การผู้ต้องหา และสำเนาประวัติอาชญากร และตำหนิรูปพรรณผู้กระทำผิดให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาทันที โดยยังไม่ต้องทำความเห็นใน อ.ก.4 หรือ อ.ก.2

2. สำนวนคดีที่พนักงานสอบสวนไม่ได้ดำเนินคดีในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่พนักงานอัยการประจำศาลชั้นต้นได้รับสำนวนไว้เห็นว่าควรจะดำเนินคดีในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา 112 ด้วย เพิ่มเติมจากความเห็นของพนักงานสอบสวน ให้พนักงานอัยการประจำศาลชั้นต้นส่งสำนวนสอบสวนพร้อมบันทึกความเเห็นแยกต่างหากให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาทันที โดยยังไม่ต้องทำความเห็นใน อ.ก.4 หรือ อ.ก.2

3. กรณีตามข้อ1. และ ข้อ2. หากมีการดำเนินคดีในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในศาลชั้นต้น การดำเนินคดีของพนักงานอัยการผู้รับผิดชอบในชั้นศาลสูงให้ปฏิบัติเช่นเดียวกัน คือ ไม่ต้องมีความเห็นและคำสั่งใน อ.ก.14 แต่ให้ส่งสำเนาคำพิพากษาของศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ และกรณีที่ยังไม่ได้รับสำเนาคำพิพากษา ให้พนักงานอัยการผู้รับผิดชอบในชั้นศาลสูงส่งย่อคำพิพากษาของศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ตามแบบ อ.ก.14 แล้วแต่กรณีไปให้สำนักงานอัยการสูงสูดพิจารณาทันที

วันอังคาร, กุมภาพันธ์ 27, 2561

‘put your foot in your mouth.’ กับ น้ำมะพร้าวล้างหน้า 'ศพก่อนเผา'

ใครงั่งกว่ากันในการพูดแบบ เอาเท้ายัดปาก(สำนวนฝรั่ง ‘put your foot in your mouth.) ระหว่าง รมว.ท่องเที่ยวของแกมเบีย กับ นรม. แห่งกะลาแลนด์

เป็นข่าวอึงอื้อขึ้นมาตอนนี้ว่า กระทรวงต่างประเทศได้ทำหนังสือประท้วงไปยังประเทศแกมเบียแล้ว จากการที่ รมว.ท่องเที่ยวของประเทศนั้นพูดออกรายการโปรโมทอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแกมเบีย กระทบภาพลักษณ์ไทยเสียหาย

รมว.ยุติธรรมของไทยแถลงเมื่อเช้า (๒๗ ก.พ.) ยอมรับว่าถึงแม้ภาพลักษณ์ดังกล่าวจะมีอยู่จริง (จากหลักฐานโทนโท่ เป็นข่าวเมื่อปลายเมษายน ปีที่แล้วนี่เองว่า ประเทศไทยถูกจัดไว้ในอันดับ ๑ ของสิบประเทศที่ขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวค้าประเวณี http://www.newtv.co.th/news/1194)
 
เเต่จากการที่กระทรวงวัฒนธรรมทำเรื่องคุณธรรมจริยธรรมเเล้ว ถือว่าดีขึ้นมาก” นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ คุยเสียอีกว่า “ปัจจุบันการท่องเที่ยวของประเทศไทยเปลี่ยนไปเป็นการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพมากขึ้นแล้ว

แต่นายฮามัต บาห์ รมว. ท่องเที่ยวของแกมเบียยังไม่รู้ จึงได้พูดออกสื่อของรัฐ GRTS แจ้งให้นักท่องเที่ยวจากประเทศตะวันตกสำเหนียกว่า “เราไม่ใช่จุดหมายของการท่องเที่ยวเพื่อกามารมณ์ ใครอยากท่องเซ็กทัวร์ก็โน่น ไปประเทศไทย...

รายการของ GRTS แพร่หลายทุกวันพฤหัสบดีมาตั้งแต่เมื่อกลางเดือนที่แล้ว เนื่องจากตามชายหาดสถานที่ท่องเที่ยวในแกมเบียจะมีกลุ่มชายฉกรรจ์ (เรียกว่า ‘bumbsters’ น่าจะเทียบได้กับ แมงดา ในไทย) ตระเวณเสนอบริการนวดพิเศษโดยเด็กผู้หญิงอ่อนวัย หากใครสนใจจะพาไปรับบริการในซุ้มมิดชิดริมชายหาดนั้นเอง

รัฐมนตรีฮามัตให้สัมภาษณ์กับแคร์ ฟาตู ผู้ดำเนินรายการว่า ห้ามเด็กผู้หญิงอายุต่ำกว่า ๑๘ ปีไปมั่วสุมในสถานที่อโคจร และจะจัดการอย่างเด็ดขาดกับนักท่องเที่ยวที่ถูกจับได้ว่าไปใช้บริการทางเพศกับเด็กผู้หญิงเหล่านั้น


แสดงว่าในแกมเบียก็มีปัญหาเรื่องเซ็กทัวร์อยู่แล้ว หนังสือพิมพ์ฟรีดอม ของแกมเบียให้ข้อคิดว่าคำพูดของนายฮามัตจะก่อผลกระทบทางการทูตอย่างสุดหยั่งได้ “การไปตีตราชาติหนึ่งว่าเป็นที่รวมแห่งเซ็กทัวร์ ไม่ใช่วิเทโศบายที่ดีเลย บาห์ควรที่จะรำลึกไว้ว่ามีชาวแกมเบียไม่น้อยที่เป็นนักศึกษาและแรงงานอยู่ในประเทศไทย”

หากแต่นายฮามัตซึ่งมีพื้นเพอาชีพในกิจการโรงแรมมาก่อนเล่นการเมือง เป็นคนปากโพล่ง ดังที่มีคอมเม้นต์ท้ายข่าวรายหนึ่งกล่าวว่า “ขอบคุณพระเจ้า นายคนนี้ไม่มีทางได้เป็นประธานาธิบดีแกมเบีย

ฮามัต บาห์ เป็นแบบนี้มาตลอด ผมรู้จักเขาดีตั้งแต่ครั้งยังเป็นผู้จัดการฝ่ายบันเทิงของโรงแรมที่หาดคอมโบ้ เขามักจะปล่อยภาษาสถุลออกจากปากอยู่เสมอด้วย” ผู้ใช้นาม โมฮัมเม็ด คามาร่า โพสต์ไว้เมื่อ ๑๖ มกรา ๖๑

แล้วนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยที่มีชื่อเสียงระบือออกนอกอาณาเขตประเทศไปไกลว่า ปากพ ล่อยล่ะ พอจะเทียบเคียงกันได้ไหม จากการพูดแบบ shoots his words from his behind.”
ล่าสุดนี่ระหว่างเดินสายหาเสียง ลงพื้นที่นครชัยศรี นครปฐม โปรโมทโครงการไทยนิยมยั่งยืน ให้นำน้ำมะพร้าวมาล้างหน้าตอนเช้า เพราะน้ำมะพร้าวนั้นสะอาด

ไม่รู้เหมือนกันว่าทั่นนายกฯ เคยล้างหน้าแบบนี้ด้วยตัวเองหรือไร เท่าที่จำได้เมื่อตอนเด็ก เวลาเปิดโลง เขาจะเฉาะมะพร้าวให้น้ำหล่นลงไปล้างหน้าศพ ก่อนนำออกมาเผา

เป็นกำลังใจให้ครับ งานสุจริตทุกงานมีเกียรติและมีคุณค่า.. #ชีวิตผู้ลี้ภัย จอม เพชรประดับ อีกแง่มุมหนึ่ง









#ชีวิตผู้ลี้ภัย #PoliticalAsyluminUSA #mybigbrother

พี่จอม เพชรประดับ สื่อสารมวลชนฝ่ายประชาธิปไตย ผู้ลี้ภัยที่มีชื่อเสียงมากๆคนนึงในประเทศสหรัฐอเมริกา

นอกจากใช้เวลาสำหรับทำรายการสื่อสารผ่าน YouTube และ Facebook แล้ว พี่จอมต้องทำกล้วยทอดขายในวัดไทยในแอลเอ

ชีวิตผู้ลี้ภัยที่ใครๆมองว่าน่าสบาย เพราะสามารถแสดงออกทางความคิดและเคลื่อนไหวทางการเมืองได้อิสระกว่าคนที่อยู่ในประเทศไทยแล้ว

แต่อีกภาคหนึ่งคือการต้องดิ้นรนต่อสู้ชีวิต ทำมาหากินอย่างสุจริต และไม่ได้สุขสบายเลย

วันนี้เราไปเยี่ยมและชิมกล้วยทอดพี่จอม บอกได้เลยว่า “อร่อยมาก”

ทุกครั้งที่เจอกัน เราก็จะดีใจพูดคุยกันตามประสาคนหัวอกเดียวกันเสมอ



Nuttigar Woratunyawit

55555555คิดได้แค่นี้😂 //ส่งให้คนไทยในต่างเทศกิน😂


ooo

...

ทักษิณ เผย!! บริษัทต้องมี CEO เก่ง ๆ
(นาทีที่ 4.20)



https://www.youtube.com/watch?v=1WjAnJ1Wjic

SuperBIG NEWS

"เปิดคลิปที่หลายคนอาจไม่เคยดู" ทักษิณ เผย!! บริษัทต้องมี CEO เก่ง ๆ แต่ถ้าเผลอไปเอาหาหน้ายามมาเป็น CEO ก็ลำบาก ลั่น!! ฝั่งตรงข้ามกำลังทำร้ายตัวเอง เข้าเกียร์ถอยหลังแล้วเร่งคันเร่ง รู้สึกห่วงลูกหลานในประเทศไทยในอนาคต 

20 ประเทศที่มีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตสูงสุดของโลก





สัดส่วนประชากรที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ตของบ้านเราไม่กระจอกเลย เป็นอันดับ 7 ของโลก

มีคนส่งลิงค์เว็บสถิติการใช้อินเตอร์ของโลกล่าสุดมาให้ดู ผมเห็นว่าน่าสนใจ จึงเอามาเล่าต่อ

นี่เป็นตัวเลขล่าสุด (ธันวาคม 2017) ของ 20 ประเทศที่มีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตสูงสุดของโลก https://www.internetworldstats.com/top20.htm

ถ้าเอาจำนวนคน ประเทศไทยมาอันดับที่ 16 มีผู้ใช้เน็ตราว 57 ล้านคน

แต่การดูตัวเลขจำนวนคนใช้แบบนี้ ไม่ได้ให้ภาพที่แท้จริง เพราะประเทศประชากรมากๆอย่างจีน หรืออินเดีย ย่อมมีตัวเลขผู้ใช้สูงตามไปด้วยเป็นธรรมดา

ต้องดูที่ "การเข้าถึง" หรือสัดส่วนของผู้ใช้ต่อประชากร ว่าแต่ละประเทศมีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตเป็นสัดส่วนเท่าไรของประชากรทั้งหมด (ช่อง Internet Penetration ในตาราง)

ซึ่งของไทย จัดเป็นตัวเลขที่สูงมากทีเดียวคือ 82.4% เป็นอันดับ 7 ของโลก

ที่สำคัญกว่านั้น จะเห็นว่า ไทยเป็นประเทศที่ไม่ใช่ประเทศอุตสาหกรรมเดิม (ตะวันตก+ญี่ปุ่น) ที่มีผู้ใช้เน็ตเป็นสัดส่วนมากที่สุดในโลก

เยอรมัน 96.2
สหรัฐ 95.6
สหราชอาณาจักร 94.7
ญี่ปุ่น 93.3
ฝรั่งเศส 92.6
อิตาลี 92.4
ไทย 82.4

ตััวเลขที่น่าสนใจอีกตัวหนึ่งคือจำนวนผู้ใช้เฟซบุ๊ก ซึ่งไทยมีประมาณ 46 ล้านคน จากประชากร 69 ล้านคน ตารางไม่ได้ทำสัดส่วนของตัวเลขนี้ไว้ และผมไม่มีเวลาคำนวนละเอียด แต่โดยคร่าวๆ เรามีผู้ใช้เฟซบุ๊กต่อประชากรเป็นสัดส่วนราว 66% เท่าๆกับสหราชอาณาจักร (66%) สูงกว่า ญี่ปุ่น (56%) อิตาลี และฝรั่งเศส (50%) เยอรมัน (37% - คนเยอรมันไม่ชอบใช้เฟซบุ๊ก) มีเพียงสหรัฐในลิสต์ข้างบนที่มากกว่าเรา (73%)

เสียดายที่ไทยจัดเป็น "มหาอำนาจ" ทางเน็ตในแง่จำนวนคนใช้ แต่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการเสพข่าวสารอย่างเสรีทางเน็ต ยังด้อยพัฒนามากๆอย่างที่รู้กัน

จัสติน ช่วยทีดิ!


Somsak Jeamteerasakul

...


Pruay Saltihead ของไทยที่จำนวนผู้ใช้เฟซบุ๊คมากนี่อาจจะเป็นเพราะ 1 คนต้องมี 2 แอคเคาน์ เพราะเอาไว้โพสการเมืองและกลัวคดีหมิ่น


‘กลาโหม’เตรียมตั้งศูนย์โฆษณาชวนเชื่อ oops! ศูนย์ไซเบอร์ รับมือสงคราม’ไซเบอร์’





‘กลาโหม’เตรียมตั้งศูนย์ไซเบอร์กลาโหม-เหล่าทัพ รับมือสงคราม’ไซเบอร์’


26 กุมภาพันธ์ 2561
ที่มา มติชนออนไลน์


เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ที่กระทรวงกลาโหม พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังการประชุมสภากลาโหม ครั้งที่ 2/2561 ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุม ว่า กระทรวงกลาโหมได้ขับเคลื่อนปฏิรูปกองทัพ ด้านไซเบอร์ต่อเนื่องตลอด 3 ปี ที่ผ่านมา สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคงและยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศกระทรวงกลาโหม โดยได้จัดทำแผนแม่บทไซเบอร์เพื่อการป้องกันประเทศกระทรวงกลาโหมปี 60-64 และกำหนดให้ไซเบอร์ เป็นมิติของสงคราม ที่ต้องจัดเตรียมกำลังและใช้กำลัง เช่นเดียวกับมิติหนึ่งของการสงครามอื่นๆ

ปัจจุบัน ได้จัดตั้งศูนย์ไซเบอร์กลาโหมและ “หน่วยไซเบอร์ระดับปฏิบัติการของแต่ละเหล่าทัพ” โดยอยู่ระหว่างการเสริมสร้างศักยภาพและขีดความสามารถการปฏิบัติ ทั้งด้านนโยบายและแผน ด้านกำลังพล ด้านการปฏิบัติการ ด้านเทคโนโลยีและการวิจัยพัฒนา รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยี ให้พร้อมในการปฏิบัติ ขณะเดียวกัน ก็ได้ให้ความสำคัญกับการผนึกกำลังด้านไซเบอร์

พล.ท.คงชีพกล่าวต่อว่า ในระยะแรกนี้ ได้เน้นขีดความสามารถเชิงรับ เช่น ด้านการป้องกันโครงสร้างพื้นฐาน และด้านการเฝ้าระวัง ซึ่งแต่ละเหล่าทัพได้จัดตั้ง โรงเรียนและเปิดสอนผู้ปฏิบัติงานไซเบอร์ระดับต่างๆ ควบคู่กับการฝึกปฏิบัติการ สำหรับการผนึกกำลังด้านไซเบอร์ ได้กำหนดเป้าหมายให้มีกำลังพลสำรองไซเบอร์ พร้อมทั้งขยายความร่วมมือและผนึกกำลังกับหน่วยงาน ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เช่น การฝึกไซเบอร์ในการฝึกร่วม/ผสมทางทหาร ภายใต้รหัสคอบร้าโกลด์ ที่ผ่านมา

“การปฏิรูปกองทัพด้านไซเบอร์จะเป็นส่วนสำคัญ ให้กองทัพมีความพร้อมและมีขีดความสามารถในการรับมือกับการโจมตีและการคุกคามทางไซเบอร์ ซึ่งสามารถพัฒนาไปสู่การทำสงครามไซเบอร์ได้ในอนาคต หากขาดการผนึกกำลังด้านไซเบอร์ร่วมกัน โดยกองทัพไม่เตรียมความพร้อม และภาคประชาชนไม่ตระหนักรู้และตื่นตัวในทิศทางเดียวกัน สงครามไซเบอร์จะกระทบต่อความมั่นคงและผลประโยชน์ชาติดังที่เกิดขึ้นเป็นตัวอย่างในหลายประเทศทั่วโลก” โฆษกกระทรวงกลาโหมกล่าว

...

ไอ้ที่ตั้งทั้งหลายแหล่ ก็เพียงหวังสยบคนไทยที่เห็นต่างเท่านั้นแหละ ส่วนภัยจากนอกประเทศ ตามยถากรรม

มิตรสหายท่านหนึ่ง

ระบบราชการจะเป็นกลไกหลักขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศได้จริงหรือ?





ระบบราชการจะเป็นกลไกหลักขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศได้จริงหรือ?

ระบบราชการสมัยใหม่ที่ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดทฤษฎีของตะวันตก ซึ่งเรายึดถือปฏิบัติมานานนับร้อยปีตั้งแต่การปฏิรูประบบราชการในปี พ.ศ.2435 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น

ในด้านหนึ่ง แนวคิดการจัดตั้งและพัฒนาระบบราชการ และการใช้ระบบราชการในการปกครองและบริหารประเทศ ปรากฎเป็นรูปเป็นร่างในจีนมานานนับพันปี อาจย้อนหลังไปได้ถึงการสถาปนาระบบราชการแบบรวมศูนย์ในรัฐฉินของซางยางในช่วงศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาล ตราบจนกระทั่งยุคกลางราชวงศ์หมิงในช่วงคริสตศตวรรษที่ 16 ระบบราชการของจีนก็พัฒนาจนถึงขีดสุด จนกลายเป็นรากฐานของระบบราชการในราชวงศ์ชิง ตราบจนถึงยุคหลังการปฏิวัติจีน สืบมาจนถึงปัจจุบัน

ระบบราชการในสมัยราชวงศ์หมิง ถูกจัดวางอยู่บนรากฐานความคิดที่สำคัญ คือแนวคิดจ้งเหวินชิงหวู่ (重文轻武) คือการ "เน้นบุ๋นละบู๊" หรือการให้ข้าราชการฝ่ายพลเรือนมีอำนาจกำกับ+ควบคุมข้าราชการฝ่ายทหารได้ ซึ่งเป็นแนวคิดที่สืบทอดมาจากราชวงศ์ซ่งในช่วงคริสตศตวรรษที่ 10 โดยแนวคิดนี้มีหลักการสำคัญอยู่ที่การรวบอำนาจบังคับบัญชาทหารให้อยู่ที่ผู้นำสูงสุด คือฮ่องเต้เพียงพระองค์เดียว ฮ่องเต้เท่าานั้นที่ทรงไว้ซึ่งอำนาจในการบังคับบัญชาทหาร ทั้งการคัดเลือก แต่งตััง ปลดนายทหาร การสั่งระดมพล เคลื่อนพล จะต้องกระทำภายใต้พระบรมราชโองการเท่านั้น

แต่ในทางปฏิบัติ สำหรับยุคสมัยที่ยังไม่มีระบบการสื่อสารทางไกลผ่านสายโทรศัพท์ โทรเลข คลื่นวิทยุ หากแม่ทัพนายกองได้รับพระบรมราชโองการให้นำทัพไปสู้กับข้าศึก จะมีอำนาจในการเคลื่อนบ้ายกำลังทหารตามสถานการณ์ในแนวหน้าที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาได้อย่างไร

ราชวงศ์หมิงในยุคต้นแก้ปัญหานี้ด้วยการตั้งขุนนางฝ่ายพลเรือน/ขุนนางฝ่ายใน(ขันที)มาทำหน้าที่เป็น "ผู้กำกับทัพ" ซึ่งเปรียบเสมือนข้าหลวงผู้แทนพระองค์ ทำหน้าที่พิจารณาอนุญาต/อนุมัติคำสั่งของผู้บัญชาการทหารแทนฮ่องเต้ ในการเคลื่อนย้ายกำลังพลในยามสงครามแทนฮ่องเต้ และขณะเดียวกันก็มีหน้าที่สอดส่องดูแลการบังคับบัญชาทหารของนายทัพแล้วรายงานต่อฮ่องเต้

ต่อมาก็พัฒนามาอีกขั้นโดยการตั้งตำแหน่งตูซือ(ผู้บังคับการทหาร)ในเขตพื้นที่มณฑลต่างๆ โดยขึ้นการบังคับบัญชากับถีตู(ผู้ว่าราชการมณฑล) ซึ่งเป็นข้าราชการฝ่ายพลเรือน และฮ่องเต้จะทรงส่งผู้ตรวจการมณฑล(สวินฝู่)ไปตรวจการทั้งด้านทหารและพลเรือนในท้องที่ต่างๆเป็นครั้งคราว

ในช่วงปลายราชวงศ์หมิงก็มีการตั้งขุนนางตำแหน่ง "จ่งตู" (ผู้บัญชาการมณฑล/ข้าหลวงผู้สำเร็จราชการมณฑล) เป็นข้าราชการฝ่ายพลเรือน แต่มีอำนาจบังคับบัญชาทั้งทหารและพลเรือนในเขตมณฑลที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งส่วนใหญ่จะมีตำแหน่งนี้อยู่ในมณฑลชายแดนที่อยู่ห่างไกล (ต่อมาในสมัยราชวงศ์ชิงได้เปลี่ยนขอบเขตการบังคับบัญชาของจ่งตูให้บังคับบัญชาสองมณฑลควบคู่กัน ผมจึงเปลี่ยนคำเรียกตำแหน่งนี้ในสมัยชิงเป็น "ผู้ว่าราชการสองมณฑล" ให้สอดคล้องกับขอบเขตอำนาจที่เปลี่ยนไป แต่ยังคงเป็นขุนนางฝ่ายพลเรือน มีอำนาจบังคับบัญชาทั้งทหารและพลเรือน)

ในส่วนกลางมีการจัดองค์กรระบบราชการทั้งกระทรวง/กรม (ปู้) มีสำนัก(ฝู่) กอง(ซือ) ต่างๆ ในการบริหารราชการแผ่นดิน มีหน่วยงานตรวจสอบการทำงานของข้าราชการทั้งหน่วยตรวจสอบการใข้อำนาจทางราชการในทางทุจริตและประพฤติมิชอบ(ตูฉาเยวี่ยน) และหน่วยตรวจสอบจริยธรรมขุนนาง(อวี้สื่อฉา) ในส่วนภูมิภาคก็มีการจัดระบบราชการโดยมีมณฑล(เสิ่ง)เป็นหน่วยการปกครองสูงสุดในส่วนภูมิภาค มีถีตู(ผู้ว่าราชการมณฑล)เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด แต่ละมณฑลก็มีส่วนราชการระดับสำนัก/กอง(ฝู่/ซือ) ทำหน้าที่เสมือนลิ่วปู้(หกกระทรวง/กรม)ในส่วนกลาง มีหัวเมืองในบังคับบัญชาหลากหลายระดับ ทั้งระดับนคร(ตู) เมือง/จังหวัด(ฝู่/ซื่อ/เฉิง/โจว) อำเภอ(เสี้ยน) และตำบล (เซียง) มีหน่วการปกครองที่เล็กที่สุดคือหมู่บ้าน(เจี่ย) ซึ่งมีนายบ้าน(หลีเจี่ย)ซึ่งเป็นคนท้องที่ที่มีอิทธิพล หรือมีบารมีเป็นที่เคารพนับถือของคนในหมู่บ้านเป็นผู้ปกครองดูแล

จะว่าไปในแง่ของระบบราชการ ราชวงศ์หมิงถือว่าได้ออกแบบระบบไว้ค่อนข้างจะสมบูรณ์แบบแล้ว(และจะเห็นว่ามีหลายส่วนคล้ายกับระบบราชการปัจจุบันมาก)

แต่ปัญหาใหญ่คือ ปรัชญาความคิดที่ถูกนำมาใช้ในการบริหารราชการ และการปฏิบัติราชการของขุนนางในสมัยหมิง กลับยึดถือแนวคิดแบบลัทธิหรูเจีย (ลัทธิขงจื่อ) ซึ่งเป็นแนวคิดที่ยึดถือจารีต ประเพณี ความสัมพันธ์ส่วนตัวและระบบอาวุโส มากกว่าที่จะยึดถือตัวบทกฎหมายเป็นสำคัญ(ซึ่งหานเฟยจื่อเคยวิจารณ์ไว้อย่างแหลมคมว่า "พวกหรูใช้บุ๋น(วิชาความรู้-หมายถึงหลักจารีตจริยธรรมในตำรา)บ่อนทำลายกฎหมาย") สิ่งนี้ก็เลยทำให้การทำงานของขุนนางขาดความเป็นมืออาชีพ ไม่สามารถแยกเรื่องส่วนตัวกับส่วนรวมได้ ดังนั้นปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น ใช้อำนาจโดยมิชอบในวงราชการในสมัยหมิง จึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยมิยาก แม้จะวางระบบไว้ดีเพียงใดก็ตาม

ยิ่งตั้งแต่ช่วงกลางราชวงศ์หมิง ที่รัฐต้าหมิงสมาทานแนวคิดหลี่เสวีย(ปรัชญาขงจื่อใหม่)โดยเฉพาะสำนักของจูซี และออกกฎบังคับให้บัณฑิตที่เข้าสอบเคอจวี่ หรือสอบเข้ารับราชการทุกระดับ ต้องยึดถือการตีความตามคัมภีร์ขงจื่อแบบจูซี และเขียนให้อยู่กรอบของปากู่เหวิน หรือบทความแปดตอน ห้ามขาดห้ามเกิน ห้ามตีความนอกกรอบความคิดสำนักจูซี เลยทำให้บุคลากรที่ได้รับคัดเลือกเข้ามาในระบบราการนั้น นอกจากจะไม่มีความเป็นมืออาชีพเพราะยึดถือความสัมพันธ์ส่วนตัวและระบบอาวุโส(ตามกรอบคิดแบบขงจื่อ) ยังกลายเป็นพวกอนุรักษ์นิยม ไม่รู้จักคิดสร้างสรรค์หรือคิดนอกกรอบ ทำให้ไม่สามารถปรับตัว ปรับแนวคิดการปฏิบัติราชการให้สอดคล้องกับถาวการณ์ที่เปลี่ยนไปได้ทันการณ์ ท้ายสุดราชวงศ์หมิงจึงอ่อนแอลงจนล่มสลายใต้เงื้อมมือกบฎชาวนา ทั้งที่ตั้งราชวงศ์ขึ้นโดยกบฎชาวนา และวางระบบไว้อย่างดีแล้วก็ตาม

หากพิเคราะห์ในแง่นี้ คำถามที่ว่า ระบบราชการจะขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศได้จริงหรือไม่ ตอบว่าได้ แต่หลักคิดปรัชญาในการขับเคลื่อนระบบราชการ และการปฏิบัติราชการของข้าราชการในระบบ ควรยึดถือแนวคิดแบบสำนักนิตินิยม(ฝ่าเจีย)ซึ่งยึดถือหลักตัวบทกฎหมายเป็นสำคัญ ไม่สนใจความสัมพันธ์ส่วนตัวและระบบอาวุโส ไม่สนใจว่าผู้ถูกบังคับตามกฎหมายจะเป็นผู้ใด แต่ถ้ากระทำตามที่กฎหมายบัญญัติ(ว่าควรจะได้รางวัล)ก็ควรจะได้รับรางวัล หากกระทำการในสิ่งที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าควรถูกลงโทษ ก็ต้องลงโทษทัณฑ์ตามกฎหมายบัญญัติไม่มีขัอยกเว้น เช่นนี้จึงจะเป็นพื้นฐานของความรุ่งเรืองของบ้านเมืองภายใต้การขับเคลื่อนของระบบราชการ (อาณาจักรฉินเป็นตัวอย่างอันดีของขับเคลื่อนด้วยระบบหลักการนี้ และที่ล่มสลายก็เพราะผู้มีอำนาจในเวลานั้นคือเจ้าเกาและหลี่ซือละเมิดหลักกฎหมายเสียเอง คือวางแผนฆ่าฝูซู องค์ชายใหญ่ที่สมควรเป็นรัชทายาทตามกฎมณเฑียรบาล แล้วยกองค์ชายเล็กหูไฮ่ขึ้นแทน)


Worapong Keddit

...

พงศกร รอดชมภู ของไทยสะท้อนการใกล้ล่มสลายของชาติ เพราะราชการยึดถือระบบอุปถัมภ์ เหนือกว่าการสร้างความยุติธรรมตามกฎหมาย และการคัดเลือกคนเข้าทำงานหรือแต่งตั้งตามระบบคุณธรรมคือแข่งขันความรู้ทางโลก

ล้วนติดกับดักปรัชญาล้าหลัง ลัทธิ ความเชื่อ ไปจนถึงศาสนาที่ไม่สามารถแข่งขันกับใครได้ครับ

Worapong Keddit เรากำลังเดินซ้ำรอยเดียวกับราชวงศ์หมิงและชิงที่ล่มสลายไปเพราะปัญหาแบบเดียวกันนี้เลยครับท่าน นี่แหละคือสิ่งที่ผมอดวิตกไม่ได้ครับ

Worapong Keddit จริงๆปัญหาจากการยึดถือหลักคิดแบบขงจื่อในระบบราชการสมัยหมิงอีกขัอนึงที่นำมาสู่การเล่นพรรคเล่นพวก ก็คือการกราบขุนนางที่เคยเป็นพี่เลี้ยงที่สอนงานให้ขุนนางใหม่เป็นอาจารย์ครับ สิ่งนี้ทำให้เกิดการเล่นพรรคเล่นพวกโดยขุนนางที่ถูกกราบเป็นอาจารย์ก็จะคอยหาทางดันลูกศิษย์ตนให้มีตำแหน่งสูงๆ ลูกศิษย์ก็เลยมีหนี้บุญคุณที่ต้องชดใช้ให้อาจารย์ของตนผ่านการใช้อำนาจหน้าที่ทางราชการครับ

พงศกร รอดชมภู ระบบอุปถัมภ์ ของเราคือพวกร่วมทำมาหากิน ส่งส่วยกันมาครับ