‘ออกจากบ้าน’: สังคมไทยกำลังเผชิญภาวะสมองไหล?
โดย จันจิรา สมบัติพูนศิริ
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ที่มา มติชนออนไลน์
25 เม.ย. 59
ขณะที่ข้าพเจ้ากำลังตักอาหารกลางวันอย่างใจจดใจจ่อก่อนร่วมงานประชุมวิชาการว่าด้วย “การอพยพ” เมื่อปลายปีที่แล้ว นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิรุ่นใหม่ไฟแรงเดินปรี่เข้ามาทักทาย ข้าพเจ้าดีใจที่เราเจอกัน หลังจากไถ่ถามสารทุกข์สุขดิบและตรวจสอบตารางการทำงานในปีหน้า (ซึ่งคือปีนี้ขณะที่กำลังเขียนบทความ) ข้าพเจ้าสารภาพว่าจะไม่อยู่เมืองไทยสักพักเพราะลาทำวิจัย นักเคลื่อนไหวหนุ่มตอบกลับพร้อมส่งแววตาแห้งๆ ว่า “ถ้าออกจากเมืองไทยไปอยู่ที่อื่นได้ก็ไปเถอะ เราก็อยากไม่อยู่แถวนี้เหมือนกัน หมดหวัง”
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ข้าพเจ้าได้ยินถ้อยแถลงแสดงอาการถอนใจเช่นนี้ ตั้งแต่กลางปี 2557 เป็นต้นมา มิตรสหายหลายคนบ่นกรุบว่าอยากออกไปอยู่อื่น คนจำนวนหนึ่งอยากออกไปเพียงชั่วคราวเพื่อให้ “หายเซ็ง” แต่คิดจะกลับมาเพราะห่วงบ้าน แต่คนอีกจำนวนหนึ่งคิดว่าคงไปนานเพราะสถานการณ์บ้านเมืองไม่อำนวยให้พวกเขาทำงานที่อยากทำในปีสองปีข้างหน้าดังที่ผู้มีอำนาจได้ “สัญญา” ไว้ คนเหล่านี้ที่ข้าพเจ้าพูดถึงมีลักษณะร่วมกันสองสามประการ
หนึ่งคือเป็นคนรุ่นใหม่อยู่ในวัยยี่สิบถึงสามสิบ
สองคือคนเหล่านี้มีการศึกษาระดับสูงในประเทศตะวันตกหรือเคยออกไปใช้ชีวิตต่างประเทศ
และสามคือพวกเขา/เธอเติบโตในช่วงที่สังคมไทยมี “ประชาธิปไตย” แม้จะไม่สมบูรณ์แบบแต่ก็เปิดโอกาสให้พวกเขา/เธอแสดงความเห็น ความคิดสร้างสรรค์ และมีปฏิสัมพันธ์กับวัฒนธรรมนานาชาติ ข้าพเจ้าไม่ทราบแน่ชัดว่าคนเหล่านี้มีจำนวนเท่าไหร่ ถือเป็น “คนส่วนน้อย” ของสังคมหรือไม่ (ข้าพเจ้าคิดจะหาตัวเลขคนเดินออกจากประเทศซึ่งมีอายุในช่วง 30-40 ปีเหมือนกัน แต่ไม่อาจเข้าถึงข้อมูลทางการได้)
แต่ที่แน่ๆ คนเหล่าคือเป็นส่วนหนึ่งของ “ชนชั้นสร้างสรรค์” (the creative class) ซึ่งต้องการพื้นทำงานที่ให้อิสรภาพแก่พวกเขาในการคิดออกไปจากกรอบแคบๆ ของชนชั้นอนุรักษนิยม
บทความ “Exodus chapter two: Fresh wave prepares to call it quits” เขียนโดยนันท์ชนก วงษ์สมุทร์ และตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์เมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 เมษายน เปิดเผยเรื่องราวของคนรุ่นใหม่ที่ตัดสินใจ (หรือกำลังตัดสินใจ) เดินทางออกจากบ้านที่ชื่อว่าสังคมการเมืองไทย คนเหล่านี้หาใช่นักกิจกรรมทางการเมืองหรือนักวิชาการที่ถูกหมายหัวจากทางการ ทว่าเป็นศิลปินและนักธุรกิจรุ่นเยาว์ นักเรียนทุนที่จบจากมหาลัยชั้นนำของโลกไม่ว่าจะเป็นออกซ์ฟอร์ด แคมบริดจ์ หรือมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย นักวิจัยด้านสังคมศาสตร์ฝีมือฉมัง พวกเขาเห็นตรงกันว่าบรรยากาศทางการเมือง ณ ตอนนี้เต็มไปด้วยความหวาดกลัว แม้พวกเธอ/เขามิได้เป็นเป้าหมายโดยตรง แต่เพราะการข่มขู่ผู้แสดงความเห็นต่างเกิดขึ้นดาษดื่น จึงต้องปรามตัวเองมิให้แสดงความเห็นอย่างเต็มที่
สมรัก ศิลา ศิลปินและเจ้าของบาร์ WTF ในย่านสุขุมวิทเผยว่าการพูดถึงการเมืองและความขัดแย้งผ่านศิลปะนอกกระแสรัฐยากมากขึ้น บางครั้งหากจัดนิทรรศการในหัวข้อที่ฝ่ายรัฐเห็นว่า “ล่อแหลม” ก็มีโทรศัพท์ลึกลับโทรมาเตือน (และขู่กลายๆ) สมรักตัดสินใจปลีกตัวไปทำธุรกิจในประเทศโปรตุเกสแทน แน่นอนว่าเหตุผลทางการเมืองมิใช่เหตุผลเดียวทำให้สมรักตัดสินใจ “ออกจากบ้าน” ทว่าบรรยากาศแห่งความกลัวและความอึดอัดที่ต้องจำกัดความคิดสร้างสรรค์ตนเป็นแรงผลักให้อันหนักหน่วงที่สุด ขณะที่อดีตอาจารย์/นักปรัชญาฝีมือดีชี้ว่าตนตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งอาจารย์ในมหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ ของประเทศไทยเพราะเบื่อหน่ายกับการเมืองหลังรัฐประหาร ตลอดจนไม่อาจทนกับวัฒนธรรมอนุรักษนิยมที่ฝังลึกในวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยไทยได้ นิติศาสตรบัณฑิตไฟแรงอีกคนรู้สึกคล้ายกันว่าสังคมไทยไม่มีที่ทางให้บุคลากรเป็นตัวของตัวเอง โดยเฉพาะการแสดงความเห็นทางการเมืองแบบตรงไปตรงมาของเธอได้ ขณะนี้เธอได้งานเป็นทนายในบริษัทชั้นนำในประเทศสิงคโปร์และคิดว่าคงไม่กลับเมืองไทยอีกสักพัก
เธอให้สัมภาษณ์ว่าช่วงที่ผ่านมาเธอ “ไม่คิดถึงเมืองไทยเลย”
ปรากฏการณ์ที่ชนชั้นสร้างสรรค์กำลังหลั่งไหลออกจากประเทศไทยมิใช่เรื่องใหม่ แต่ที่ใหม่ (อย่างน้อยในสองสามทศวรรษที่ผ่านมานี้) คือเหตุผลที่ผลักให้คนออกจากสังคมการเมืองไทย ผลสำรวจจาก Jobstreet.com ในปี 2554 ชี้ว่าคนทำงานซึ่งมีวุฒิบบัณฑิตศึกษาขึ้นไปกว่าร้อยละ 80 ต้องการออกไปทำงานนอกประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐ และออสเตรเลีย เหตุผลหลักคือรายได้ที่สูงกว่าเมืองไทย เมื่อถูกถามว่าเหตุผลใดสามารถรั้งให้ตนอยู่เมืองไทยได้ ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนมากระบุว่า “ครอบครัว” มีเพียงร้อยละ 7 เท่านั้นที่บอกว่าจะอยู่เมืองไทยเพื่อ “ทำประโยชน์ให้ประเทศชาติ” (“Thailand shows sign of brain drain,” The Nation (July 13, 2011))
ข้าพเจ้าคิดว่าเหตุผลทางเศรษฐกิจยังสำคัญต่อการตัดสินใจของคนรุ่นใหม่ในการออกไปทำงานนอกประเทศ อย่างไรก็ดีข้าพเจ้าสงสัยว่าบรรยากาศทางการเมืองที่ปกคลุมบ้านเมืองและบดบังอิสรภาพการคิดและถามมาเกือบสองปีกำลังผลักไสให้คนรุ่นใหม่ที่รู้สึกอึดอัดคับข้องใจเลือกออกจากบ้าน การตัดสินใจนี้ไม่ง่ายนัก เพราะเราถูกปลูกฝังมาให้ผูกพันกับบ้านและครอบครัวในเมืองไทย ด้วยเหตุนี้นักเรียนไทยที่ออกไปเรียนเมืองนอกเมืองนา มักกลับมาบ้านเพราะห่วงครอบครัว การขัดขืนปุ่มทางวัฒนธรรมเรื่องความผูกพันกับบ้านจึงมิน่าใช่เรื่องง่าย คนที่เลือกออกจากบ้านคงรู้สึกว่าความผูกพันกับบ้านหลังใหญ่ที่เรียกว่าเมืองไทยเริ่มจางหาย หรือกระทั่งรู้สึกเป็นคนแปลกหน้าของบ้านหลังนี้
ประสบการณ์ออกจากบ้านของคนรุ่นใหม่ที่อัดอึดกับการเมืองแบบปิดเป็นปรากฏการณ์ร่วมของคนจากหลายที่ทั่วโลก ภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ของอดีตสหภาพโซเวียต ผู้คนเรือนล้านอพยพออกไปอยู่ประเทศที่มีเสรีภาพและมั่งคั่งกว่า ในประเทศเซอร์เบียช่วงทศวรรษ 1990 คนรุ่นใหม่หลั่งไหลออกจากประเทศจนเป็นปัจจัยสำคัญร่วมกับการคว่ำบาตรนานาชาติที่ล้มเศรษฐกิจเซอร์เบีย ภายใต้รัฐบาลอำนาจนิยม ฮูโก ชาเวซ ของเวเนซูเอลา ประชากรมากกว่า 150,000 ย้ายไปอยู่สหรัฐและยุโรป ไม่เพียงเพราะถูกคุกคามเท่านั้นแต่รู้สึกว่าการทำงานภายใต้ระบอบการเมืองแบบปิดยากลำบาก
ข้าพเจ้าคิดว่าสถานการณ์ในเมืองไทยยังไม่ใกล้ภาวะวิกฤตอย่างประเทศที่ยกตัวอย่างข้างต้น แต่หากระบอบการเมืองปัจจุบันยังคงบังคับให้คนคิดและรู้สึกเหมือนๆ กัน ก็เป็นไปได้ว่าความอึดอัดคับข้องใจจะทวีคูณ คนที่มีทางไปและศักยภาพสูงคงเลือกออกจากบ้านหลังนี้มากขึ้นเรื่อยๆ หากคนกลุ่มนี้คือมันสมองของสังคมโดยเป็นกลไกขับเคลื่อนให้ฝ่าคลื่นลมทางเศรษฐกิจข้างหน้าได้ สังคมไทยที่ผลักไสพวกเขาออกไปแต่ต้นอาจเสียประโยชน์เอง?