ที่มา ไทยรัฐออนไลน์
โดย ทีมข่าวการเมือง
24 เม.ย. 2559
เมืองไทยยังอยู่ในภวังค์ของเดือนเมษายน เดือนแห่งความร้อนระอุ
และยังแทรกด้วยพายุฤดูร้อนพัดถล่มในหลายจังหวัดภาคอีสาน ภาคเหนือ ทำให้เกิดปรากฏการณ์ลูกเห็บตกใส่บ้านเรือนราษฎร วัดวาอาราม สถานที่ราชการได้รับความเสียหาย
หลายพื้นที่ได้เห็นภาพพืชผลทางการเกษตรล้มตายเพราะสภาวะแล้งจัด
ในขณะที่บรรยากาศทางการเมืองก็ดีกรีระอุถึงจุดที่เปิดหน้าแลกหมัดซัดกันตรงๆแล้ว
ตามอารมณ์แบบที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช.ให้สัมภาษณ์ออกอากาศ พูดชัดเลยว่า อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ชักใยอยู่เบื้องหลังล็อบบี้ยิสต์โจมตีรัฐบาลในต่างประเทศ และความเคลื่อนไหวของกลุ่มต้าน คสช.
จ่อไล่บี้ตรวจสอบเส้นทางการเงิน สกัดท่อน้ำเลี้ยงขบวนการป่วน
เป็นอาการดุดัน ท่าทีร้อนแรงต่อเนื่องของหัวหน้า คสช.ที่ก่อนหน้านั้นก็ได้ให้สัมภาษณ์ออกอากาศ ชักน้ำเสียงเขียวปรามการเคลื่อนไหวในห้วงเข้าสู่โหมดประชามติร่างรัฐธรรมนูญ
ห้ามหมดทั้ง “โหวตโน-โหวตเยส”
ไม่เปิดไฟเขียวให้มีการรณรงค์รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ห้ามตีปี๊บชี้นำประชามติในทุกกรณี
โดยการคาดโทษหนักถึงขั้นจำคุก 10 ปี นับตั้งแต่วันที่กฎหมายประชามติประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้ พวกทำผิดเงื่อนไขโดนแน่
กระตุกบทเข้มของ “รัฏฐาธิปัตย์” ไม่สนกระแส ไม่แคร์สื่อ
พล.อ.ประยุทธ์เดินหน้ายกระดับความเด็ดขาดในการใช้อำนาจตามสถานการณ์ หลังโดนจี้ “ต่อมเดือด” จากการที่ขบวนการต่อต้านประชามติร่างรัฐธรรมนูญ กล้าเปิดหน้าแสดงตัวแสดงตนกันแบบโจ่งแจ้ง
ไม่สนจะเป็นการท้าทายอำนาจท็อปบูต
จุดเริ่มเลยก็คือเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองที่ประกอบไปด้วยอาจารย์มหาวิทยาลัยชั้นนำ ทั้งธรรมศาสตร์ จุฬาฯ เกษตรศาสตร์ ศิลปากร ฯลฯ
เปิดแถลงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่ลิดรอนสิทธิประชาชน
จัดอยู่ในโซนที่ไม่มีผลประโยชน์ทางการเมืองแอบแฝง แรงเสียดทานอยู่ในระดับที่ คสช.หวั่นใจ
แต่นั่นไม่เท่ากับเป็นการกระตุกกระแสนำร่องให้ขบวนการที่แฝงเหลี่ยมทางการเมือง ซึ่งถูกกดทับไว้ด้วยอำนาจพิเศษ ได้จังหวะโหนลูกตามน้ำ
ตามสูตรยั่วให้ คสช.ทุบ ล่อให้เข้าเหลี่ยมปมละเมิดสิทธิมนุษยชน
โดยเฉพาะช็อตไฮไลต์ กรณีของ “เสี่ยไก่” นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีคนดังของพรรคเพื่อไทย ที่เดินทางเข้าพบทหารที่ค่าย มทบ.11 ตามนัดหมาย เพื่อทำการพูดจาปรับทัศนติ จากการโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว วิพากษ์วิจารณ์ ประกาศจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ
เล่นบทท้าทายมาตรการของ คสช.ไม่เลิก
ก่อนถูกนำไปควบคุมตัวที่ค่ายทหารในจังหวัดกาญจนบุรี โดยที่ลูกสาวของนายวัฒนาตระเวนขอเข้าเยี่ยมพ่อในค่ายทหาร พร้อมๆกับเดินสายยื่นหนังสือร้องเรียนถึงสหภาพยุโรป และผ่านสถานทูตสหรัฐอเมริกา
เรียกร้องให้ คสช.ปล่อยตัวบิดา
กลายเป็นฉาก “ดราม่าประชาธิปไตย” กระตุกกระแสสิทธิมนุษยชน
ในจังหวะล้อกันกับความเคลื่อนไหวของ “กลุ่มพลเมืองโต้กลับ” ที่นำโดย “จ่านิว” นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ แกนนำขบวนการหน้าเดิมๆ ที่ถูกรัฐบาล คสช.ตีราคาเป็นแค่พวก “รับงาน” รวมตัวชุมนุม แสดงกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ให้ทหารปล่อยตัวนายวัฒนา
นั่นก็ทำให้ทหารฟันธงเลยว่า มีคนบอกบท ชักใยอยู่เบื้องหลัง
ก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์จะเฉลยเองว่า “ทักษิณ”
แน่นอน สถานการณ์ไหลมาถึงจุดที่โจทก์สำคัญตามท้องเรื่องเผชิญหน้ากันตรงๆ
ระหว่างคู่ขัดแย้งหลัก พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวขั้วอำนาจ คสช.กับอดีตนายกฯทักษิณ ที่อยู่ในสถานะหัวขั้วอำนาจพรรคเพื่อไทยและกลุ่มเสื้อแดง นปช.
เร้าบรรยากาศเข้าโหมดท้ารบแตกหักกัน
ท่ามกลางสถานการณ์เดิมพันประชามติร่างรัฐธรรมนูญเป็นหัวเชื้อชนวน
อย่างไรก็ตาม โดยรูปเกมอำนาจก็ยังอยู่ในจุดเดิมๆ
แบบที่ฝ่าย “ทักษิณ” ก็อาศัยความได้เปรียบในเกมมวลชนเป็นเกราะกำบังกาย
เน้นไปที่ยุทธศาสตร์โลกล้อมประเทศไทย เดินหมากบลัฟรัฐบาลทหารในด้านปมสิทธิมนุษยชน อาศัยแนวร่วมนานาชาติโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกากับสหภาพยุโรปกดดันรัฐบาล คสช.
กระตุกแรงบีบทางด้านเศรษฐกิจ บีบกันหน้าดำหน้าเขียว
ตามรูปการณ์อย่างที่เห็นรายการชักธงแดงด้านธุรกิจการบินและการยกธงเหลืองธุรกิจด้านการประมง ที่โยงกับปมการเมืองประเทศไทยภายใต้รัฐบาลทหาร
และก็เป็นอดีตนายกฯทักษิณที่โดนแฉว่าจ้างล็อบบี้ยิสต์โจมตีรัฐบาล คสช.
ขณะที่ฝ่าย คสช.ก็มีอำนาจรัฏฐาธิปัตย์อยู่ในมือ โดยมีกองทัพเป็นฐานกำลังคุ้มกัน เน้นคุมเกมความมั่นคงภายในประเทศ เดินยุทธศาสตร์ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการกดแรงกระเพื่อมจากฝ่ายต่อต้าน ให้ทหารเป็นหน่วยหลักแทนตำรวจ
ล็อกการเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบถึงลูกถึงคน
“ทักษิณ-ประยุทธ์” ถือดุลกันไปคนละอย่าง ต่างฝ่ายต่างมีไพ่เดิมพัน
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น แม้จะมีสัญญาณเร้าเข้าโหมดเผชิญหน้า ท่าทีแรงๆระหว่างคู่ขัดแย้งระดับหัวขั้วอำนาจ แต่หากประเมินตามเงื่อนสถานการณ์ก็ยังไม่ถึงขั้น “ติดดาบ” ลุยแต่อย่างใด
โดยสถานการณ์ด้านมวลชน ก็ยังไม่มีวี่แววว่าม็อบจะออกมาต่อต้านรัฐบาล
ชนวนเงื่อนไขร่างรัฐธรรมนูญยังไม่ถึงระดับที่จุดไฟติด
ที่สำคัญ ประเมินอารมณ์ผู้คนในสังคมส่วนใหญ่ก็ยังอยู่ในอาการแหยงม็อบมากกว่าเบื่อทหาร อย่างน้อยตอนนี้บ้านเมืองสงบ ทำมาหากินได้สะดวกกว่า
ไม่ต้องเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายกับฉากม็อบยึดถนน ปาระเบิด ยิงกันเจ็บตาย
ในส่วนของสถานการณ์โลกล้อมประเทศไทย เงื่อนไขกดดันจากนานาประเทศก็คงทำได้แค่เฝ้าจับตา กดดันผ่านมาตรการแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจ
ตราบใดที่ประเทศไทยยังไม่ถึงขั้นรัฐล้มเหลว
ไม่ว่าชาติมหาอำนาจไหนก็แทรกแซงไม่ได้
หรือว่ากันในส่วนของนักการเมืองเอง แม้จับอาการของ 2 ค่ายใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์จะไม่เอาด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่เวนคืนอำนาจนักเลือกตั้งอาชีพไปอยู่กับนักลากตั้ง
โดยเฉพาะการ “บอนไซ” พรรคใหญ่ เปิดทางให้พรรคเล็กได้ประโยชน์เต็มๆ
แต่เมื่อเทียบกับอาการทนอดอยากปากแห้งมา 2–3 ปี นักเลือกตั้งอาชีพไม่เว้นแม้แต่พรรคเพื่อไทย พะยี่ห้อ “ทักษิณ” อยากลงสนามเลือกตั้งเต็มแก่
โดยเนื้อแท้ป้อมค่ายการเมืองก็ไม่ได้ตั้งป้อมชนทหารแบบท้าเป็นท้าตาย
อย่างดีก็แค่รักษาฟอร์มนักประชาธิปไตย เลี้ยงกระแสแต่งตัวลงสนาม
ตามเงื่อนสถานการณ์ยังอยู่ในวิสัยที่ทหารคุมเกมได้
เว้นเสียแต่ “ภูมิคุ้มกัน” ที่ “บกพร่อง” ลงไป
เรื่องของเรื่องสำรวจอาการ คสช. โดยเทียบกับสถานการณ์เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่ทหารเข้าทำการยึดอำนาจการบริหารจากรัฐบาลพลเรือน
เต็มไปด้วยดอกไม้และเสียงเชียร์
ตามระดับความคาดหวังของประชาชนที่อยากให้ทหารกู้วิกฤติความขัดแย้ง นำประเทศไทยกลับสู่ความสงบ มอบฉันทามติให้ คสช.ใช้อำนาจพิเศษ เดินหน้ายกเครื่องปฏิรูปใหญ่ประเทศไทย
คนไทยพร้อมเป็นกำลังสนับสนุนเต็มที่ คะแนนต้นทุนเต็มหน้าตักของ พล.อ.ประยุทธ์
แต่ผ่านมา 2 ปี บรรยากาศอย่างที่เห็นๆกัน ถ้ารัฐบาลทหารไม่โกหกตัวเอง ก็ต้องยอมรับว่าอำนาจพิเศษเริ่มไม่ขลังเหมือนในช่วงแรกๆ
โดยระดับความขลังหายไปพร้อมๆกับอาการแปลกใจของคนในสังคม
กับปมทะแม่งๆแบบที่ พล.อ.ประยุทธ์เองต้องตอบคำถามนักข่าว เคลียร์กระแสร้อนๆว่าด้วยปมการแต่งตั้งลูกชายของ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ปลัดกลาโหม เป็นทหารด้วยวิธีพิเศษ
หรือกับคิวที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและ รมว.กลาโหม ต้องแก้ข่าวเรื่องลับๆที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะถอนฟ้องคดีสลายม็อบพันธมิตรฯหน้าอาคารรัฐสภา ที่มีน้องชายคือ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร.อยู่ในข่ายจำเลยร่วม
หัวขั้วอำนาจ คสช.ต้องเจอกับปมผลประโยชน์แฝงมากับเกมอำนาจ
มันย่อมหนีไม่พ้นสถานการณ์ “กัดกร่อนศรัทธา”
อย่าลืมว่า คสช.หยุดนักการเมือง โดยเงื่อนไขเรื่องของพฤติกรรมผลประโยชน์แฝงในอำนาจ แต่ถึงตอนนี้กลับมีข้อสงสัยในพฤติกรรมที่ไม่แตกต่างจากที่โจมตีนักการเมือง
นี่ต่างหากที่เป็นอันตราย
ไม่ใช่แค่กับ พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร หรือทีมงาน คสช.
แต่มันหมายถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับประเทศชาติและประชาชนคนไทย
เพราะถ้าถึงจุดที่วิกฤติศรัทธาอำนาจพิเศษเละ
รัฐบาลทหาร คสช.เอาไม่อยู่ สุดท้ายแล้วไม่เหลือใครที่จะคุมสถานการณ์บ้านเมืองได้
“สงครามกลางเมือง” จะไม่ใช่ฉากที่เห็นแค่ในหนัง.
ทีมการเมือง
เมืองไทยยังอยู่ในภวังค์ของเดือนเมษายน เดือนแห่งความร้อนระอุ
และยังแทรกด้วยพายุฤดูร้อนพัดถล่มในหลายจังหวัดภาคอีสาน ภาคเหนือ ทำให้เกิดปรากฏการณ์ลูกเห็บตกใส่บ้านเรือนราษฎร วัดวาอาราม สถานที่ราชการได้รับความเสียหาย
หลายพื้นที่ได้เห็นภาพพืชผลทางการเกษตรล้มตายเพราะสภาวะแล้งจัด
ในขณะที่บรรยากาศทางการเมืองก็ดีกรีระอุถึงจุดที่เปิดหน้าแลกหมัดซัดกันตรงๆแล้ว
ตามอารมณ์แบบที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช.ให้สัมภาษณ์ออกอากาศ พูดชัดเลยว่า อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ชักใยอยู่เบื้องหลังล็อบบี้ยิสต์โจมตีรัฐบาลในต่างประเทศ และความเคลื่อนไหวของกลุ่มต้าน คสช.
จ่อไล่บี้ตรวจสอบเส้นทางการเงิน สกัดท่อน้ำเลี้ยงขบวนการป่วน
เป็นอาการดุดัน ท่าทีร้อนแรงต่อเนื่องของหัวหน้า คสช.ที่ก่อนหน้านั้นก็ได้ให้สัมภาษณ์ออกอากาศ ชักน้ำเสียงเขียวปรามการเคลื่อนไหวในห้วงเข้าสู่โหมดประชามติร่างรัฐธรรมนูญ
ห้ามหมดทั้ง “โหวตโน-โหวตเยส”
ไม่เปิดไฟเขียวให้มีการรณรงค์รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ห้ามตีปี๊บชี้นำประชามติในทุกกรณี
โดยการคาดโทษหนักถึงขั้นจำคุก 10 ปี นับตั้งแต่วันที่กฎหมายประชามติประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้ พวกทำผิดเงื่อนไขโดนแน่
กระตุกบทเข้มของ “รัฏฐาธิปัตย์” ไม่สนกระแส ไม่แคร์สื่อ
พล.อ.ประยุทธ์เดินหน้ายกระดับความเด็ดขาดในการใช้อำนาจตามสถานการณ์ หลังโดนจี้ “ต่อมเดือด” จากการที่ขบวนการต่อต้านประชามติร่างรัฐธรรมนูญ กล้าเปิดหน้าแสดงตัวแสดงตนกันแบบโจ่งแจ้ง
ไม่สนจะเป็นการท้าทายอำนาจท็อปบูต
จุดเริ่มเลยก็คือเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองที่ประกอบไปด้วยอาจารย์มหาวิทยาลัยชั้นนำ ทั้งธรรมศาสตร์ จุฬาฯ เกษตรศาสตร์ ศิลปากร ฯลฯ
เปิดแถลงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่ลิดรอนสิทธิประชาชน
จัดอยู่ในโซนที่ไม่มีผลประโยชน์ทางการเมืองแอบแฝง แรงเสียดทานอยู่ในระดับที่ คสช.หวั่นใจ
แต่นั่นไม่เท่ากับเป็นการกระตุกกระแสนำร่องให้ขบวนการที่แฝงเหลี่ยมทางการเมือง ซึ่งถูกกดทับไว้ด้วยอำนาจพิเศษ ได้จังหวะโหนลูกตามน้ำ
ตามสูตรยั่วให้ คสช.ทุบ ล่อให้เข้าเหลี่ยมปมละเมิดสิทธิมนุษยชน
โดยเฉพาะช็อตไฮไลต์ กรณีของ “เสี่ยไก่” นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีคนดังของพรรคเพื่อไทย ที่เดินทางเข้าพบทหารที่ค่าย มทบ.11 ตามนัดหมาย เพื่อทำการพูดจาปรับทัศนติ จากการโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว วิพากษ์วิจารณ์ ประกาศจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ
เล่นบทท้าทายมาตรการของ คสช.ไม่เลิก
ก่อนถูกนำไปควบคุมตัวที่ค่ายทหารในจังหวัดกาญจนบุรี โดยที่ลูกสาวของนายวัฒนาตระเวนขอเข้าเยี่ยมพ่อในค่ายทหาร พร้อมๆกับเดินสายยื่นหนังสือร้องเรียนถึงสหภาพยุโรป และผ่านสถานทูตสหรัฐอเมริกา
เรียกร้องให้ คสช.ปล่อยตัวบิดา
กลายเป็นฉาก “ดราม่าประชาธิปไตย” กระตุกกระแสสิทธิมนุษยชน
ในจังหวะล้อกันกับความเคลื่อนไหวของ “กลุ่มพลเมืองโต้กลับ” ที่นำโดย “จ่านิว” นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ แกนนำขบวนการหน้าเดิมๆ ที่ถูกรัฐบาล คสช.ตีราคาเป็นแค่พวก “รับงาน” รวมตัวชุมนุม แสดงกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ให้ทหารปล่อยตัวนายวัฒนา
นั่นก็ทำให้ทหารฟันธงเลยว่า มีคนบอกบท ชักใยอยู่เบื้องหลัง
ก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์จะเฉลยเองว่า “ทักษิณ”
แน่นอน สถานการณ์ไหลมาถึงจุดที่โจทก์สำคัญตามท้องเรื่องเผชิญหน้ากันตรงๆ
ระหว่างคู่ขัดแย้งหลัก พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวขั้วอำนาจ คสช.กับอดีตนายกฯทักษิณ ที่อยู่ในสถานะหัวขั้วอำนาจพรรคเพื่อไทยและกลุ่มเสื้อแดง นปช.
เร้าบรรยากาศเข้าโหมดท้ารบแตกหักกัน
ท่ามกลางสถานการณ์เดิมพันประชามติร่างรัฐธรรมนูญเป็นหัวเชื้อชนวน
อย่างไรก็ตาม โดยรูปเกมอำนาจก็ยังอยู่ในจุดเดิมๆ
แบบที่ฝ่าย “ทักษิณ” ก็อาศัยความได้เปรียบในเกมมวลชนเป็นเกราะกำบังกาย
เน้นไปที่ยุทธศาสตร์โลกล้อมประเทศไทย เดินหมากบลัฟรัฐบาลทหารในด้านปมสิทธิมนุษยชน อาศัยแนวร่วมนานาชาติโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกากับสหภาพยุโรปกดดันรัฐบาล คสช.
กระตุกแรงบีบทางด้านเศรษฐกิจ บีบกันหน้าดำหน้าเขียว
ตามรูปการณ์อย่างที่เห็นรายการชักธงแดงด้านธุรกิจการบินและการยกธงเหลืองธุรกิจด้านการประมง ที่โยงกับปมการเมืองประเทศไทยภายใต้รัฐบาลทหาร
และก็เป็นอดีตนายกฯทักษิณที่โดนแฉว่าจ้างล็อบบี้ยิสต์โจมตีรัฐบาล คสช.
ขณะที่ฝ่าย คสช.ก็มีอำนาจรัฏฐาธิปัตย์อยู่ในมือ โดยมีกองทัพเป็นฐานกำลังคุ้มกัน เน้นคุมเกมความมั่นคงภายในประเทศ เดินยุทธศาสตร์ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการกดแรงกระเพื่อมจากฝ่ายต่อต้าน ให้ทหารเป็นหน่วยหลักแทนตำรวจ
ล็อกการเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบถึงลูกถึงคน
“ทักษิณ-ประยุทธ์” ถือดุลกันไปคนละอย่าง ต่างฝ่ายต่างมีไพ่เดิมพัน
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น แม้จะมีสัญญาณเร้าเข้าโหมดเผชิญหน้า ท่าทีแรงๆระหว่างคู่ขัดแย้งระดับหัวขั้วอำนาจ แต่หากประเมินตามเงื่อนสถานการณ์ก็ยังไม่ถึงขั้น “ติดดาบ” ลุยแต่อย่างใด
โดยสถานการณ์ด้านมวลชน ก็ยังไม่มีวี่แววว่าม็อบจะออกมาต่อต้านรัฐบาล
ชนวนเงื่อนไขร่างรัฐธรรมนูญยังไม่ถึงระดับที่จุดไฟติด
ที่สำคัญ ประเมินอารมณ์ผู้คนในสังคมส่วนใหญ่ก็ยังอยู่ในอาการแหยงม็อบมากกว่าเบื่อทหาร อย่างน้อยตอนนี้บ้านเมืองสงบ ทำมาหากินได้สะดวกกว่า
ไม่ต้องเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายกับฉากม็อบยึดถนน ปาระเบิด ยิงกันเจ็บตาย
ในส่วนของสถานการณ์โลกล้อมประเทศไทย เงื่อนไขกดดันจากนานาประเทศก็คงทำได้แค่เฝ้าจับตา กดดันผ่านมาตรการแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจ
ตราบใดที่ประเทศไทยยังไม่ถึงขั้นรัฐล้มเหลว
ไม่ว่าชาติมหาอำนาจไหนก็แทรกแซงไม่ได้
หรือว่ากันในส่วนของนักการเมืองเอง แม้จับอาการของ 2 ค่ายใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์จะไม่เอาด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่เวนคืนอำนาจนักเลือกตั้งอาชีพไปอยู่กับนักลากตั้ง
โดยเฉพาะการ “บอนไซ” พรรคใหญ่ เปิดทางให้พรรคเล็กได้ประโยชน์เต็มๆ
แต่เมื่อเทียบกับอาการทนอดอยากปากแห้งมา 2–3 ปี นักเลือกตั้งอาชีพไม่เว้นแม้แต่พรรคเพื่อไทย พะยี่ห้อ “ทักษิณ” อยากลงสนามเลือกตั้งเต็มแก่
โดยเนื้อแท้ป้อมค่ายการเมืองก็ไม่ได้ตั้งป้อมชนทหารแบบท้าเป็นท้าตาย
อย่างดีก็แค่รักษาฟอร์มนักประชาธิปไตย เลี้ยงกระแสแต่งตัวลงสนาม
ตามเงื่อนสถานการณ์ยังอยู่ในวิสัยที่ทหารคุมเกมได้
เว้นเสียแต่ “ภูมิคุ้มกัน” ที่ “บกพร่อง” ลงไป
เรื่องของเรื่องสำรวจอาการ คสช. โดยเทียบกับสถานการณ์เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่ทหารเข้าทำการยึดอำนาจการบริหารจากรัฐบาลพลเรือน
เต็มไปด้วยดอกไม้และเสียงเชียร์
ตามระดับความคาดหวังของประชาชนที่อยากให้ทหารกู้วิกฤติความขัดแย้ง นำประเทศไทยกลับสู่ความสงบ มอบฉันทามติให้ คสช.ใช้อำนาจพิเศษ เดินหน้ายกเครื่องปฏิรูปใหญ่ประเทศไทย
คนไทยพร้อมเป็นกำลังสนับสนุนเต็มที่ คะแนนต้นทุนเต็มหน้าตักของ พล.อ.ประยุทธ์
แต่ผ่านมา 2 ปี บรรยากาศอย่างที่เห็นๆกัน ถ้ารัฐบาลทหารไม่โกหกตัวเอง ก็ต้องยอมรับว่าอำนาจพิเศษเริ่มไม่ขลังเหมือนในช่วงแรกๆ
โดยระดับความขลังหายไปพร้อมๆกับอาการแปลกใจของคนในสังคม
กับปมทะแม่งๆแบบที่ พล.อ.ประยุทธ์เองต้องตอบคำถามนักข่าว เคลียร์กระแสร้อนๆว่าด้วยปมการแต่งตั้งลูกชายของ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ปลัดกลาโหม เป็นทหารด้วยวิธีพิเศษ
หรือกับคิวที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและ รมว.กลาโหม ต้องแก้ข่าวเรื่องลับๆที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะถอนฟ้องคดีสลายม็อบพันธมิตรฯหน้าอาคารรัฐสภา ที่มีน้องชายคือ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร.อยู่ในข่ายจำเลยร่วม
หัวขั้วอำนาจ คสช.ต้องเจอกับปมผลประโยชน์แฝงมากับเกมอำนาจ
มันย่อมหนีไม่พ้นสถานการณ์ “กัดกร่อนศรัทธา”
อย่าลืมว่า คสช.หยุดนักการเมือง โดยเงื่อนไขเรื่องของพฤติกรรมผลประโยชน์แฝงในอำนาจ แต่ถึงตอนนี้กลับมีข้อสงสัยในพฤติกรรมที่ไม่แตกต่างจากที่โจมตีนักการเมือง
นี่ต่างหากที่เป็นอันตราย
ไม่ใช่แค่กับ พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร หรือทีมงาน คสช.
แต่มันหมายถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับประเทศชาติและประชาชนคนไทย
เพราะถ้าถึงจุดที่วิกฤติศรัทธาอำนาจพิเศษเละ
รัฐบาลทหาร คสช.เอาไม่อยู่ สุดท้ายแล้วไม่เหลือใครที่จะคุมสถานการณ์บ้านเมืองได้
“สงครามกลางเมือง” จะไม่ใช่ฉากที่เห็นแค่ในหนัง.
ทีมการเมือง