วันจันทร์, เมษายน 25, 2559
ทิศทาง’ประมงไทย’ ‘อียู’ไม่ปลด’ใบเหลือง’ (ปี 58... ไทยจ้างล็อบบี้ยิสต์มะกันแจงปมไอยูยู แต่ดูเหมือนจะไร้ผล...)
ทิศทาง’ประมงไทย’ ‘อียู’ไม่ปลด’ใบเหลือง’
ที่มา มติชนออนไลน์
23 เม.ย. 59
หมายเหตุ – ความเห็นของฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่อกรณีที่สหภาพยุโรป (อียู) มีแนวโน้มยังคงสถานะใบเหลืองกับไทยจากปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย, ไร้การรายงาน และไร้การควบคุม (ไอยูยู) เนื่องจากไม่สามารถดำเนินการแก้ปัญหาอุตสาหกรรมประมงและแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ไพบูลย์ พลสุวรรณา
ที่ปรึกษาคณะกรรมการสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)
การที่สหภาพยุโรป (อียู) ยังตำหนิและย้ำถึงการให้ใบเหลืองไทยในเรื่องการแก้ไขปัญหาประมง เพราะไทยยังไม่มีการลงโทษขั้นเด็ดขาดกับเรือประมงที่ผิดกฎหมาย ที่ยุติการออกเรือไปแล้ว ที่ผ่านมาไทยมีเพียงมาตรการสั่งการให้เรือผิดกฎหมายหยุดออกเรือเท่านั้น ความเป็นจริงอียูอยากเห็นการลงโทษที่ชัดเจนตามกฎหมาย นอกจากนี้ไทยเองอาจจะไม่เก่งเรื่องประชาสัมพันธ์ให้นานาประเทศรู้ว่าเราได้ดำเนินการจัดการปัญหาประมงถึงไหนแล้วบ้าง
“ที่อียูยังตำหนิการแก้ปัญหาประมงของไทยนั้น เขามีข้อมูลที่เก็บมาตั้งแต่อดีตมานานถึงปัจจุบัน เขาก็จะเห็นความคืบหน้าการทำงาน ทั้งการทำลายล้างเรือประมงผิดกฎหมาย ปัญหาการทำประมง แรงงาน แม้ปัจจุบันรัฐบาลไทยได้พยายามแล้ว ออกกฎหมายและเร่งแก้ไขปัญหานี้ แต่อาจจะยังไม่ทันใจอียู ตรงนี้อาจเป็นส่วนทำให้ไทยใช้คำสั่งมาตรา 44 ย้ายอธิบดีประมงคนล่าสุด และมีการแต่งตั้งคนใหม่ขึ้นมาทำงานแทน ก็แปลว่ามีความลึกซึ้งภายในเราเองหรือไม่ ที่ต้องออกคำสั่งทางกฎหมายเล่นงานคนที่ไม่ทำอะไร”
ในความเป็นอียูแล้ว คงเก็บข้อมูลการทำประมงของไทยมานานเป็นสิบๆ ปี ไม่ใช่อยู่ๆ จะออกประกาศให้ใบเหลืองหรือตำหนิไทย เท่าที่จำได้อียูพูดเรื่องนี้มานานหลายปี รัฐบาลที่ผ่านมาไม่ได้ใส่ใจจริงจังจะทำ จนกระทั่งรัฐบาลปัจจุบันเข้ามาแก้ปัญหาก็พบว่ามีเรือประมงผิดกฎหมายเป็นจำนวนมาก
“ข่าวที่ออกมาที่บอกอียูยังไม่พอใจการทำงานด้านประมงของไทย ไทยจะต้องพิสูจน์ตัวเองว่ากำลังเดินไปบนบรรทัดฐานของมาตรฐานสินค้า บนพื้นฐานของกฎระเบียบโลกด้วย ที่ต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ต้องไม่เห็นแก่ตัว ไม่ใช่แค่กอบโกย แต่ต้องรักษาด้วย”
จากนี้หากอียูไม่ซื้อสินค้าประมงจากไทยและตรึงใบเหลืองหรือใบแดงไว้กับไทยเช่นนี้ จะส่งผลกระทบทางอ้อม เมื่อในที่สุดเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวแล้ว จะมีการเขียนบทความ วิเคราะห์กันอีกมากว่าไทยเป็นเด็กดื้อ ที่ไม่ทำตามกฎหมายของโลก เช่น อียูอาจจะอ้างได้ว่าเตือนไทยก็แล้วเป็นเวลาสิบๆ ปี ไทยก็ยังเฉยๆ ไม่แก้ปัญหา ก็จะทำให้ผูู้บริโภคในตลาดส่งออกกังขาว่า การซื้อสินค้าประมงจากไทยเป็นการส่งเสริมให้ล้างผลาญทรัพยากรโดยไม่สนใจสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ตรงนี้คือจุดน่ากลัวมากกว่า
“สำหรับเรื่องอียูยังให้ใบเหลืองไทย และยังต้องการให้ไทยปรับปรุงการแก้ไขปัญหา อาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง จริงๆ อาจจะกำลังใช้ไทยเป็นตัวอย่างในการสั่งสอนประเทศอื่นด้วยว่า หากจะทำให้เศรษฐกิจประเทศเติบโตด้วยการค้าขาย ก็ควรจะต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และเคารพในสิทธิมนุษยชนด้วย เป็นการกระตุ้นจิตสำนึก เรื่องนี้ีคงไม่แตะถึงการเมือง เพราะบางประเทศที่ปกครองด้วยคอมมิวนิสต์ก็ยังทำการค้าขายกับอียูได้อยู่ หรือบางประเทศที่มีการเลือกตั้งแล้ว การข่มเหงก็ยังมีอยู่ให้เห็น”
ใบเหลืองหรือใบแดงที่อียูจะให้ไทยให้เรื่องแก้ไขปัญหาประมง จะมีผลต่างกันแค่ไหนกับเรื่องการค้านั้น จริงๆ คงไม่แตกต่างกัน เพราะทุกวันนี้โดนใบเหลืองก็ไม่ใช่ว่าค้าขายง่าย เพราะไทยถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษี (จีเอสพี) ของยุโรป ซึ่งทำให้ต้องเสียภาษีส่งสินค้า รวมถึงสินค้าประมงที่เป็นวัตถุดิบและแปรรูปที่เข้าไปในยุโรป ทำให้ผู้ประกอบการไทยเร่งพัฒนาตัวเองในแง่ต้นทุนการผลิต และยังขาดนวัตกรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่ยังต้องปรับปรุง
ชนินทร์ ชลิศราพงศ์
นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย
รัฐบาลชุดนี้มีความตั้งใจที่จะร่วมมือกับอียูในการแก้ไขปัญหาไอยูยู โดยรัฐบาลได้ออกกฎหมายและมาตรการต่างๆ ที่สำคัญตามระเบียบและมาตรฐานสากล ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา ถือว่ารัฐบาลแก้ไขปัญหาได้ดี และมีความก้าวหน้าที่เป็นรูปธรรมค่อนข้างมาก เพียงแต่ขาดการประชาสัมพันธ์และอธิบายให้ประชาชนและประชาคมโลกได้รับทราบเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนและผู้ประกอบการประมงไทยขอให้กำลังใจรัฐบาลเดินหน้าแก้ไขปัญหาไอยูยูต่อไป และพร้อมที่จะสนับสนุนรัฐบาลอย่างเต็มที่ทุกกรณี เพื่อให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายและมาตรฐานมีความเป็นสากล ทั้งนี้ภาพลักษณ์สินค้าไทยกับผู้ค้าในต่างประเทศ ก็ได้รับรู้และเข้าใจดีว่ารัฐบาลไทยมีความก้าวหน้าการแก้ไขปัญหาไอยูยูมาโดยตลอด ไม่ได้มีปัญหาหรืออุปสรรคต่อสินค้าไทยแต่อย่างใด จึงไม่อยากให้ภาครัฐเป็นกังวลและกดดันจากอียูมากเกินว่า ไทยจะได้ใบเหลือง หรือใบแดง เพราะรัฐบาลเร่งเดินหน้าแก้ไขปัญหาตามมาตรฐานสากลอยู่แล้ว
สำหรับระยะเวลาในการแก้ไขปัญหานั้น ขอเรียนว่า ไม่มีประเทศใดในโลกนี้ที่จะแก้ไขปัญหาไอยูยูได้เสร็จรวดเร็ว เพราะแต่ละประเทศส่วนใหญ่ต้องใช้เวลาในการแก้ไขอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลไทยได้แก้ไขปัญหาไอยูยูในรอบ 12 เดือนมานี้ ถือว่าหลายเรื่องเดินหน้าได้รวดเร็วมาก น่าจะแก้ไขปัญหาได้รวดเร็วที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลกก็ว่าได้ อย่างประเทศมอลตาในทวีปยุโรป ต้องใช้ระยะเวลาในการแก้ไขปัญหาการทำประมงตามค่าจับสัตว์น้ำสูงสุดอย่างยั่งยืน (เอ็มเอสวาย) ยาวนานถึง 10 ปี รวมทั้งกองเรือจับปลาทูน่าของอียู 28 ประเทศเอง ก็ยังมีปัญหาการจับปลาเกินค่ามาตรฐานในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งปัญหาเหล่านี้ล้วนต้องใช้ระยะเวลาทั้งนั้น
นณริฎ พิศลยบุตร
นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)
การแก้ไขปัญหาไอยูยูของรัฐบาลถือว่าค่อนข้างมีความคืบหน้า แต่จากที่ประเมินรัฐบาลยังตอบโจทย์ปัญหาของอียูเพียงครึ่งเดียว เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลยังแก้ไขปัญหาไอยูยูโดยเน้นหนักในกระบวนการผลิตสินค้าประมงเพื่อแก้ไขปัญหาภาพลักษณ์ในการส่งออกเท่านั้น อาทิ มาตรการการจดทะเบียนเรือ ใบอนุญาตการใช้เรือ ใบอาชญาบัตร การติดตั้งอุปกรณ์ติดตามตำแหน่งเรือ (วีเอ็มเอส) การจัดทำสมุดบันทึกการทำประมง (Fishing Logbook) การจัดตั้งศูนย์แจ้งเข้า-ออกเรือประมง (PIPO) การตรวจสอบย้อนกลับสินค้าประมง ซึ่งรัฐบาลควรที่จะไปเร่งแก้ไขเพื่อเตรียมใน 3 เรื่อง คือ 1.การทำประมงตามค่าจับสัตว์น้ำสูงสุดอย่างยั่งยืน (เอ็มเอสวาย) ซึ่งรัฐบาลต้องชี้ให้เห็นว่า ภาครัฐได้มีการกำหนดและการควบคุมการจับสัตว์น้ำไม่เกินปริมาณความสมดุลทางธรรมชาติอย่างจริงจัง ไม่ใช่การปล่อยปละให้เกิดการทำประมงที่เกินความสมดุล และไร้การควบคุม
2.รัฐบาลจะต้องจัดหาให้มีกระบวนการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการแก้ไขปัญหาไอยูยู ตัวอย่างเช่น การออกมาตรการควบคุมเรือที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ห้ามออกทำการประมง ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้อาจขาดรายได้และพยายามหาช่องทางที่จะลักลอบทำประมงผิดกฎหมายอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นรัฐบาลจะต้องมีมาตรการเยียวยาบุคคลเหล่านี้ อาทิ การรับซื้อเรือคืน เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้นำเงินไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ ไม่มายุ่งเกี่ยวกับการทำประมงผิดกฎหมายอีก ไม่เช่นนั้นหากเจ้าหน้าที่รัฐมีการปล่อยปละ ก็อาจเกิดการลักลอบทำประมงผิดกฎหมายอยู่ตลอดเวลา
3.มาตรการแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์และแรงงานทาส ถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ภาครัฐควรให้ความใส่ใจมากยิ่งขึ้น โดยปัญหาที่ยังเป็นอุปสรรคสำคัญในขณะนี้ คือ เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยยังไม่สามารถสื่อสารเป็นภาษาประเทศเพื่อนบ้านได้ ทำให้การแก้ไขในหลายๆ ปัญหายังไม่ต้องจุด รวมทั้งฝ่ายไทยยังไม่ได้รับข้อมูลที่ชัดเจนว่าแรงงานต้องการอะไร หรือกำลังประสบปัญหาการใช้แรงงานทาสมากน้อยเพียงใด ซึ่งหากเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยสามารถสื่อสารได้จะทำให้การแก้ไขปัญหานี้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น
“เชื่อว่าหากรัฐบาลเร่งเดินหน้าเพิ่มเติมใน 3 เรื่องนี้ ไทยจะมีโอกาสหลุดจากใบเหลืองของอียูได้อย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม คาดว่าในการที่ไทยจะเดินทางไปพบกับอียูครั้งนี้ ประเทศไทยไม่น่าจะได้รับผลกระทบอะไร โดยไทยน่าจะคงได้ใบเหลืองต่อไป เนื่องจากมีความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหา แต่ยังไม่ครบถ้วนครอบคลุมตามอียูต้องการเท่านั้น ไม่น่าจะเกิดเหตุการณ์ที่ไทยโดนลดอันดับเป็นใบแดง หรือปลดล็อกเป็นไฟเขียวแต่อย่างใด”
.....
ข่าวเกี่ยวข้อง...
“ดอน” จ้างล็อบบี้ยิสต์มะกันแจงปมไอยูยู - จวก “นักข่าวฮ่องกง” ต้องรับรู้กติกาประเทศอื่น
http://manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9580000096597
(แก้ไขล่าสุด 26 สิงหาคม 2558