วันเสาร์, กันยายน 01, 2561

“บรรยง” ไขปมเศรษฐกิจโต นายทุนเฮ แต่ปชช.ไม่ได้จับเงิน ชี้จีดีพีกองอยู่ที่ประชากรไม่ถึง 1%






“บรรยง” ไขปมเศรษฐกิจโต นายทุนเฮ แต่ปชช.ไม่ได้จับเงิน ชี้จีดีพีกองอยู่ที่ประชากรไม่ถึง 1%


21 August 2018
ประชาชาติธุรกิจ


เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม นายบรรยง พงษ์พานิช อดีตกรรมการคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณีที่รัฐบาลประกาศการเติบโตทางเศรษฐกิจแต่ประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะคนรากหญ้าไม่ได้รู้สึกว่าเศรษฐกิจดีขึ้น

ระบุว่า “เห็นข่าวช่วงนี้แล้วเลยทำให้เข้าใจเลยว่า…ทำไมในขณะที่รัฐบาล ทั้งตัวนายกฯ ทั้งคณะทีมเศรษฐกิจ ต่างตีฆ้องร้องป่าวประกาศผลงานรัฐบาล ว่าที่ทุ่มเทมาตลอดสี่ปี สามารถฉุดอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจ จากต่ำเตี้ยเรี่ยดินขึ้นมาได้ จนครึ่งปีแรก GDP เติบโตได้ตั้ง 4.8% แล้วทำท่าว่าจะยั่งยืนไปได้ทั้งปี …แต่ในขณะเดียวกัน ประชาชนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะชาวรากหญ้า ชาวบ้านร้านตลาด และคนหากินตัวเล็กตัวน้อยจึงยังไม่รู้สึกดีขึ้นด้วยเลย แถมหลายภาคส่วนรู้สึกแย่ลงด้วยซ้ำ

ส่วนพวกชาวหุ้น พวกนายทุนต่างก็ดีใจกันทั่วหน้า ที่ครึ่งปีแรกนี้ บริษัทในตลาดหลักทรัพย์มีกำไรรวมกันถึง 5.5 แสนล้านบาท มีอัตราเติบโตถึง 20% เทียบกับกำไรในช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะฉะนั้นเศรษฐกิจภาคตลาดหุ้นและภาคบรรษัททั้งหลายก็น่าจะดีอย่างเขาว่าจริงๆ ซึ่งถ้าตามสถิติเดิม กำไรในตลาดหุ้นจะมีสัดส่วนประมาณหนึ่งในสี่ของกำไรนิติบุคคลในประเทศไทยทั้งหมด และถ้าเราเชื่อว่ากำไรเฉลี่ยของบริษัทนอกตลาดเป็นไปในทิศทางเดียวกับบริษัทในตลาด ก็จะคาดได้เลยว่าปีนี้นิติบุคคลน่าจะมีกำไรรวมกันสุทธิหลังภาษีประมาณ 4.5 ล้านล้านบาท เท่ากับประมาณ 30% ของรายได้ประชาชาติ (GDP รวมประมาณ 15 ล้านล้านบาท) …ซึ่งตัวเลขที่ว่านี้ก็สอดคล้องกับการจัดเก็บภาษีนิติบุคคลของกรมสรรพากร ที่ปีที่แล้วจัดเก็บได้สูงถึง 626,000 ล้านบาท และเท่าที่ผมทราบอัตราจัดเก็บได้ (Effective rate) ประมาณ 14% (เพราะมี BOI และการลดหย่อนต่างๆ มากมาย)

ซึ่งนั่นก็หมายความว่า ปีที่แล้วที่ทั้งประเทศมีรายได้ประชาชาติรวม 15 ล้านล้านบาทนั้น ถ้านับด้านรายได้ (Income Approach) ว่ามันตกอยู่กับใคร ก็สรุปได้ว่าเกือบ 30% ตกเป็นของทุน (Capital) ซึ่งหมายถึงเจ้าของกิจการทั้งไทยทั้งเทศ ซึ่งประมาณว่ามีไม่กี่แสนคน ไม่ถึง 1% ของประชากรเป็นคนได้ไป ส่วนคนส่วนใหญ่ประมาณสี่สิบล้านคนที่รับเป็นเงินเดือนค่าจ้าง (Wage) นั้น ตามสถิติมีส่วนแบ่งอยู่ประมาณ 42% (ของประเทศไทยรายได้ส่วนนี้ค่อนข้างต่ำ) คือได้รับรวมกัน 6.3 ล้านล้าน ส่วนที่เหลือเป็นรายได้จากค่าเช่า (Property) ดอกเบี้ย (Interest) ซึ่งก็คือทุนอีกนั่นแหละ รายได้ของรัฐและจากเศรษฐกิจนอกระบบที่ไม่เป็นทางการ

ทีนี้ พอมาครึ่งปีแรกนี้ รายได้ประชาชาติรวมโตขึ้น 4.8% ซึ่งถ้ารวมเงินเฟ้อ 1.5% ก็เท่ากับเติบโตได้ 6.3% แต่กำไรของบริษัทซึ่งมีส่วน 30% เติบโตตั้ง 20% (สมมุติว่านอกตลาดหลักทรัพย์ก็เติบโตในทิศทางเดียวกัน) ก็พอจะเดาได้ว่าคนส่วนใหญ่ซึ่งกินเงินเดือนกับทำงานนอกระบบจะเป็นอย่างไร …ก็ติดลบน่ะสิครับ ยิ่งแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยกำลังมา ราคาอสังหาริมทรัพย์ทะยานไม่หยุด ยิ่งน่ากังวลแทนคนส่วนใหญ่ของประเทศซึ่งไม่มีเงินออม ไม่มีทรัพย์สินสะสม ว่าจะต้องลดส่วนแบ่งอันหมายถึงลดรายได้แท้จริงไปอีกเรื่อยๆ

ทั้งหมดนี้เป็นการวิเคราะห์คร่าวๆ เบื้องต้น ที่อยากให้มีนักวิชาการลงวิจัยกันอย่างละเอียดอีกครั้งนะครับ แต่ผมค่อนข้างมั่นใจว่า ”ทิศทาง” (Trend) มันเป็นไปอย่างที่ว่า ซึ่งก็สอดคล้องกับเทรนด์ในหลายๆ ประเทศ เช่น สหรัฐ จีน อังกฤษ ซึ่งกำลังเป็นปัญหาใหญ่อยู่ทั่วไป เพราะความเหลื่อมล้ำมันทวีขึ้นทุกที และก็สอดคล้องกับทฤษฎีของ Thomas Piketty ในหนังสือ Capital in the Twenty-first Century ที่ว่า ตราบใดที่อัตราผลตอบแทนของทุนยังสูงกว่าอัตราการเติบโต (r>g) ในที่สุดนายทุนจะเอาทุกสิ่งทุกอย่างไปไว้ในกระเป๋าตนจนหมด และเมื่อนั้นแหละครับ Communist กับ Marxist ก็มีโอกาสจะฟื้นคืนชีพ

ถามว่าเรื่องนี้ใครผิด? …บริษัทห้างร้าน นายทุน รัฐบาล หรือประชาชนทั่วไป …จริงๆ ไม่มีใครผิดหรอกครับ บริษัทก็มีหน้าที่ที่ต้องเพิ่มกำไร นายทุนเขาก็แสวงหาผลตอบแทน รัฐบาลก็มีหน้าที่กระตุ้นให้เศรษฐกิจเดินหน้าไปให้ได้ …มันเป็นปัญหาทางโครงสร้างที่สะสมหมักหมมมานาน

แล้วถามว่าทิศทางแก้ปัญหาที่ทำอยู่ แผนยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปประเทศที่มีแล้วนั้น โครงการประชารัฐต่างๆ เหล่านี้จะตอบโจทย์แก้ปัญหาเหล่านี้ได้ไหม? …(ในความเห็นผม) คิดว่ายังไม่เพียงพอ แถมหลายเรื่องเป็นการหลงทางเสียด้วยซ้ำ เช่น การไม่กระจายอำนาจ การเน้นความมั่นคงที่ไม่ตรงจุดโดยเพิ่มกฎระเบียบทุกวัน การเพิ่มขยายขนาดบทบาทและอำนาจรัฐ การตัดการมีส่วนร่วม ฯลฯ

แล้วถามว่าควรจะทำยังไง? …ก็คงต้องตอบว่าไม่ทราบครับ ขอไปสวดมนต์ก่อน”

ที่มา : มติชนออนไลน์
...