วันพฤหัสบดี, กันยายน 20, 2561

การคัดค้านรัฐประหาร "กระทบต่อความมั่นคงของ คสช. ไม่ใช่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ”


การสืบความพยานจำเลยนัดสุดท้าย ในคดีชูป้ายค้านรัฐประหารซึ่งนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน เป็นหนึ่งในผู้ต้องหาขัดคำสั่ง คสช. ร่วมกับเพื่อนๆ กลุ่มนักศึกษา ดาวดินเมื่อวันที่ ๑๘ ก.ย. มีนัยยะทั้งทางการเมืองและด้านกฎหมายอันสำคัญ เพื่อการปักหลักมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตยสำหรับประเทศไทย

เมื่อศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในฐานะพยานจำเลย ตอบข้อซักถามของ ไผ่ ดาวดิน จำเลยซึ่งทำหน้าที่ทนายซักพยานด้วยตนเองว่า

คณะรัฐประหารทุกคณะสับสนระหว่างอำนาจของตนเองกับอำนาจของรัฐ การคัดค้าน คสช.ของจำเลยกระทบต่อความมั่นคงของ คสช. ไม่ใช่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ”

นั้นเป็นการให้ข้อคิดเห็นต่อคำถามของผู้ซักความที่ว่า “หากมองในมุมประวัติศาสตร์สังคมศาสตร์ การกระทำของจำเลยสมควรได้รับโทษหรือไม่”

ดร.นิธิเป็นนักวิชาการภาควิชาประวัติศาสตร์ สอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มาเป็นเวลายาวนาน หลังจากจบปริญญาเอกสาขาประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน ในสหรัฐอเมริกา เมื่อศาลทหารย้ำถามถึงความแน่ใจหรือ ว่าต้องการให้ศาลบันทึกคำตอบเช่นนี้ ทั้งพยานและจำเลยผู้ซักตอบพร้อมกันว่า ใช่

คดีวันนี้เป็น ๑ ใน ๕ คดีเกี่ยวเนื่องกับการต่อต้านรัฐประหาร และการทำกิจกรรมตามสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยของ ไผ่ ดาวดิน ซึ่งเมื่อสิ้นสุดการซักพยาน ศาลยินยอมให้มารดาของไผ่ ยื่นประกันขอปล่อยตัวชั่วคราวในสองคดีที่เหลือ ในวงเงินประกันคดีละ ๑ หมื่นบาท

หากแต่ไผ่ยังไม่ได้รับการปล่อยตัวจากการคุมขังในเรือนจำพิเศษขอนแก่น เพราะคำตัดสินจำคุก ๒ ปี ๖ เดือน จากการรับสารภาพในข้อกล่าวหาความผิดตาม ม.๑๑๒ ที่เขาแชร์บทความพระราชประวัติรัชกาลที่ ๑๐ ของสำนักข่าว บีบีซีไทย

ขณะนี้ไผ่ถูกคุมขังมาแล้วเกือบสองปี การได้ประกันตัวในสองคดีคัดค้านรัฐประหาร (อีกคดีหนึ่งยังไม่ได้เริ่มสืบพยาน) ทำให้นำไปใช้อ้างในการยื่นขอพักโทษจากเรือนจำก่อนกำหนดได้

เนื้อหาการถามตอบในการซักพยานของไผ่ จัดว่าเป็นบันทึกหลักการในทางปกครองประชาธิปไตยไว้อย่างลุ่มลึก ในการพิจารณาคดีของศาลทหาร มทบ.๒๓

ต่อคำถามว่าไทยมีการรัฐประหารมาแล้วกี่ครั้ง พยานตอบว่า ๑๓ ครั้ง แต่มีนัยยะสำคัญเพียงสองครั้ง คือรัฐประหาร ๒๔๗๖ และ ๒๕๕๗ โดยครั้งแรกพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาเข้ายึดอำนาจ “เพื่อรื้อฟื้นระบอบการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญกลับคืนมา

เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า กองทัพมีหน้าที่รักษารัฐธรรมนูญ ถือเป็นตัวอย่างที่ดี”

แต่การรัฐประหาร ๒๒ พ.ค. ๒๕๕๗ โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา “เป็นการตัดโอกาสอนาคตที่สำคัญของประเทศไทย ผลของการรัฐประหารทำให้เกิดความทรุดโทรมทางเศรษฐกิจอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน” และยัง

“เป็นการตัดโอกาสที่ประชาชนจะได้เรียนรู้การใช้สิทธิและเสรีภาพ เนื่องจากรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี ๒๕๕๗ จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน และเมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ก็ริดลอนอำนาจประชาชนในการกำกับควบคุมการบริหารประเทศ” ด้วย

นอกนั้น ดร.นิธิได้ตอบคำถามของจตุภัทร์ถึงบทบาทของเยาวชนและนักศึกษาในประวัติศาสตร์ไทยว่า คนหนุ่มคนสาวมีบทบาทมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ในการแย่งอำนาจการปกครองมาจากขุนนาง และมาเด่นชัดในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง “ในการร่วมมือกับนายปรีดี พนมยงค์ ในการสร้างขบวนการเสรีไทย เพื่อต่อต้านและขับไล่ญี่ปุ่นที่ยึดครองประเทศไทยในขณะนั้น”
 
ต่อบทบาทของนักศึกษาในการต่อต้านรัฐประหาร อจ.นิธิตอบไผ่ว่า นักศึกษาได้ร่วมมือกับประชาชนขับไลเผด็จการจอมพลถนอม กิตติขจร ในเหตุการณ์เดือนตุลาคม ๒๕๑๖ ต่อมาก็ต่อต้านการรัฐประหารโดยคณะ รสช.

“ดังนั้นแม้ปัจจุบัน คสช. จะเห็นว่าการคัดค้านรัฐประหารเป็นความผิด แต่ในระยะยาวแล้วอาจจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม” และโดยความจริงคำสั่ง คสช.ที่เอาผิดจำเลยเป็นเพียงกฎหมายชั่วคราว

“การชูป้ายคัดค้านรัฐประหารของจำเลย ไม่ได้ก่อให้เกิดความรุนแรงหรือกระทบต่อความมั่นคงของรัฐแต่อย่างใด เป็นเพียงการแสดงให้เห็นว่า จำเลยไม่อยากเห็นประเทศไทยเดินถอยหลัง”

การคัดค้านรัฐประหารจึงไม่กระทบความมั่นคงชาติ เว้นแต่ว่าจะให้ต้องยอมรับว่า คสช. คือชาติ

(เรียบเรียงจากบทความโดย TLHR -19/09/2018 http://www.tlhr2014.com/th/?p=8953 และโดยประชาไท https://prachatai.com/journal/2018/09/78756)