วันพฤหัสบดี, กันยายน 27, 2561

ใครจะรับผิดชอบ! หากไม่เร่งฟ้องผู้ต้องหาคดีกบฏอีก 18 คน บางข้อหาใกล้หมดอายุความ ฟ้องต่อศาลแล้ว 29 ยังเหลืออีก 18





ร้องอสส.ตั้งกก.สอบอธิบดีอัยการคดีพิเศษ-เร่งฟ้องผู้ต้องหาคดีกบฏอีก 18 คน ชี้หากฟ้องไม่ทันบางข้อหาหมดอายุความ


วันที่ 26 กันยายน 2561
ที่มา มติชนออนไลน์


เมื่อเวลา 10.00น.วันที่ 26กันยายน ที่สำนักงานอัยการอัยการสูงสุด(อสส.) อาคารศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนและเลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ(สกสส.) พร้อมคณะทำงาน ได้เข้ายื่นหนังสือถึงนายเข็มชัย ชุติวงศ์ อัยการสูงสุด ให้สั่งการเร่งนำตัวผู้ต้องหากลุ่ม คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(กปปส.) ที่เหลืออีกอย่างน้อย 18 คน ฟ้องต่อศาลอาญาในคดีร่วมกันเป็นกบฏ และขอให้อัยการสูงสุดตั้งกรรมการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ โดยมีนายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นผู้รับมอบหนังสือ

นายโกศลวัฒน์กล่าวว่า ภายหลังได้รับมอบหนังสือจะนำเรียน นายเข็มชัย ชุติวงศ์ อัยการสูงสุดภายในวันนี้ ส่วนเรื่องคดีที่ยังไม่สามารถฟ้องผู้ต้องหาที่เหลือได้นั้นต้องขอไปตรวจสอบรายละเอียดจากทางสำนักงานคดีพิเศษเเต่ทราบมาว่าก่อนหน้านี้ทางผู้ต้องหาก็มีการยื่นร้องขอความเป็นธรรมเข้ามา ส่วนเรื่องข้อกังวลที่ว่าบางข้อหาจะหมดอายุความเเล้วจะฟ้องได้ทันหรือไม่นั้น ทางสำนักงานอัยการสูงสุดเราตะหนักเเละให้ความสำคัญเรื่องนี้เป็นอย่างมากเขื่อว่าเมื่อคำร้องถึง อสส.ท่านก็จะมีข้อพิจารณาสั่งการต่อไปเพื่อประโยชน์เเห่งความเป็นธรรม

ด้าน นายวิญญัติ กล่าวว่า นับแต่มีการสั่งฟ้องผู้ต้องหา 47 คน ฟ้องต่อศาลแล้ว 29 คน ยังเหลืออีก 18 คน ไม่มีการนำตัวมาฟ้องต่อศาลอาญา ทั้งๆที่ผู้ต้องหากลุ่มนี้เป็นชุดเดียวกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ มีพฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาเป็นการร่วมกระทำความผิดและสนับสนุนกระทำความผิด แต่สำนักงานคดีพิเศษกลับปล่อยปละละเลยไม่เร่งดำเนินการให้ได้ตัวมาฟ้อง และยังยอมให้มีการขอเลื่อนนัดหลายครั้งโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ไม่มีมาตรการใดที่จะดำเนินการให้ได้ตัวผู้ต้องหาที่เหลือมาฟ้องต่อศาลให้ครบตามสำนวนได้ อาทิ การออกหมายจับ เป็นอำนาจของอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ ที่จะเร่งดำเนินการตามกฎหมายได้ แต่กลับปล่อยปละละเลยต่อหน้าที่ ไม่นำพาให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายและจัดให้มีการนำตัวผู้ต้องหาดังกล่าวมาฟ้องคดีอาญาต่อศาลแต่อย่างใด จนกระทั่งความผิดบางฐานที่ฟ้องผู้ต้อหาอื่นไปแล้ว เช่น คดีอาญาฐานบุกรุก ตาม ป.อ. มาตรา 362 ซึ่งมีอายุความ 5 ปี จะขาดอายุความในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2561 อันจะทำให้ผู้ต้องหาที่เหลือได้รับประโยชน์หลุดพ้นคดีบุกรุกไป

ดังนั้น เพื่อเป็นการผดุงไว้ซึ่งหลักนิติธรรมไม่เลือกปฏิบัติ และเพื่อรักษาไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย จึงขอให้อัยการสูงสุดตั้งกรรมการสอบอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ ปล่อยปละละเลยต่อหน้าที่ และให้นำตัวผู้ต้องหาที่เหลือส่งฟ้องศาล หากปล่อยปละละเลยจนคดีขาดอายุความ ตนจะดำเนินการตามกฎหมายเพื่อรักษาประโยชน์ของรัฐ

โดยหลังจากนี้ตนจะติดตามว่าสุดท้ายเเล้วจะมีการนำตัวผู้ต้องหามาส่งฟ้องต่อศาลทันหรือไม่ หากอธิบดีอัยการคดีพิเศษยังไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายตนจะมีการดำเนินการร้องต่อ คณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) หรือ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ต่อไป ซึ่งขณะนี้ตนยังเห็นว่าอัยการสูงสุดยังสามารถที่จะมีคำสั่งกำชับติดตามคดีได้อยู่

เมื่อถามว่า ก่อนหน้านี้มีจำเลยบางรายอ้างรอเงินจากกองทุนยุติธรรม นายวิญญัติ กล่าวว่า ที่ผ่านมาจำเลยที่ยังไม่ถูกส่งฟ้องนั้นมีการอ้างเหตุหลายประการไม่ว่าจะเป็นติดสอนหนังสือ ติดประชุม ซึ่งท่านสรมารถที่จะทำได้ เเต่ท่านต้องไม่บืมหน้าที่ในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ส่วนผู้ต้องหาที่อ้างว่า รอเงินทุนจากกองทุนยุติธรรม เมื่อทางกระทรวงยุติธรรม ไม่อนุมัติเงินทุนให้เนื่องจากท่านไม่เข้าคุณสมบัติไม่ได้มีฐานะยากจนท่านก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการโดยเร็ว

เมื่อถามว่าข้อหาที่จะหมดอายุเป็นเพียงข้อหาที่มีอัตราโทษต่ำเมื่อเทียบกับที่มีการฟ้องข้อหากบฎที่มีอัตราสูง นายวิญญัติบอกว่า ในทางคดีความไม่สามารถที่จะมองเเบบนั้นได้คดีที่มีการฟ้องกลุ่มผู้ต้องหาไปนั้นมีหลายข้อหามีข้อหากบฎที่มีอัตราโทษสูงถึงประหารชีวิต เเต่หากมีการพิจารณาไป เเล้วตัวจำเลยบางคนเกิดไม่เข้าข่ายความผิดฐานกบฎ เเต่มีความผิดฐานบุกรุก ศาลก็ไม่สามารถที่จะลงโทษได้เรื่องจากคดีหมดอายุความ ซึ่งปัญหาทางเทคนิคนี้ก็อาจส่งผลกระทบต่อรูปคดีได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในส่วนผู้ต้องหาที่เหลือตามสำนวนสอบสวนและมีคำสั่งฟ้องเเต่ยังไม่ได้มีการนำมาฟ้องมีดังรายชื่อต่อไปนี้ 
(1)นายนิติธร ล้ำเหลือ ผู้ต้องหาที่ 11 , 
(2)นายอุทัย ยอดมณี ผู้ต้องหาที่ 12 , 
(3)พันตำรวจโทสุภวัฒน์ สุปิยะพาณิชย์ ผู้ต้องหาที่ 17 ,
(4)นางสาวจิตรภัสร์ กฤดากร ผู้ต้องหาที่ 19,
(5)นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ผู้ต้องหาที่ 25, 
(6)นายกิตติศักดิ์ ปรกติ ผู้ต้องหาที่ 27 ,
(7)พลเอกปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ ผู้ต้องหาที่ 31 ,
(8)นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ต้องหาที่ 32 ,
(9)นายพิภพ ธงไชย ผู้ต้องหาที่ 33, 
(10)นายอมร อมรรัตนานนท์ หรือรัชต์ชยุตม์ ศิรโยธินภักดี ผู้ต้องหาที่ 37,
(11)นายกิตติชัย ใสสะอาด ผู้ต้องหาที่ 43, 
(12)นายคมสัน ทองศิริ ผู้ต้องหาที่ 44 ,
(13)นายพิเชษฐ พัฒนโชติ ผู้ต้องหาที่ 46 ,
(14)นายประกอบกิจ อินทร์ทอง ผู้ต้องหาที่ 48 , 
(15)นายนัสเซอร์ ยีหมะ ผู้ต้องหาที่ 49 ,
(16)นายพานสุวรรณ ณ แก้ว ผู้ต้องหาที่ 50 ,
(17)นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด ผู้ต้องหาที่ 51 และ
(18)นางทยา ทีปสุวรรณ ผู้ต้องหาที่ 55