อึ้ง ทีมงาน พล.อ.ประยุทธ์ เสิร์ชกูเกิลหา “ข้อเสียของบัตรทอง” เอาไปพูดในรายการวันศุกร์ แต่ข้อมูลกลับมั่วทั้งหมด
ตารางที่เห็น คือข้อความที่ออกอากาศในรายการ “ศาสตร์พระราชา เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” เมื่อวันศุกร์ที่ 28 ก.ย. ที่ผ่านมา ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พูดถึง “ความไม่สมบูรณ์” ของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค
น่าสนใจก็ตรงที่ว่า ข้อมูลดังกล่าว แทบจะเป็นข้อมูลที่ “มั่ว” ทั้งหมด ซึ่ง Gossip สาสุข พยายามสืบหาว่า “ต้นทาง” มาจากไหน
จนไปพบว่า ข้อมูลเหล่านี้อ้างอิงจากเว็บเพจhttps://www.honestdocs.co/30-baht-cure-all-diseasesซึ่งไม่ใช่งานวิชาการ ไม่ใช่งานวิจัย ไม่ใช่แม้แต่ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงอย่าง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
แต่เป็นข้อมูลจากเว็บไซต์ “ขายยา” และให้คำแนะนำด้านสุขภาพออนไลน์ ซึ่งจะขึ้นมาเป็นเว็บแรก หากเสิร์ชใน Google ว่า “ข้อเสียของบัตรทอง”
สันนิษฐานได้ว่าเมื่อทีมงานของหัวหน้าคสช. เจอข้อมูลในเว็บ ก็ดึงมาทำสคริปต์รายการ “ศาสตร์พระราชาฯ” ทันที ไม่ได้ตรวจทานข้อมูล ว่าจริงเท็จแค่ไหน
เรื่องยิ่งมั่วไปกว่านั้นก็ตรงที่พอได้รับข้อมูลมา พล.อ.ประยุทธ์ ก็เลือกอ่านออกรายการไปตามนั้น ไม่ได้มีการตรวจสอบข้อมูลและความถูกต้องใดๆ ก่อนจะออกอากาศในรายการซึ่งเผยแพร่ในทีวี-วิทยุทุกช่อง
ไม่ว่าเจตนาของ นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. จะเป็นไปเพื่อหาเสียง หรือเป็นไปเพื่อดิสเครดิตรัฐบาลก่อน แต่ข้อมูลที่ออกมา ได้สะท้อนถึงความ “มั่ว” และความไม่เป็นมืออาชีพของรัฐบาลชุดนี้ได้ชัดเจน
ทีมงาน Gossip สาสุข ถือโอกาสนี้ชี้แจงข้อมูลที่พล.อ.ประยุทธ์ อ่านออกรายการ ในแต่ละข้อ
(1) ระบบ “30 บาท” ไม่ได้รักษาได้เฉพาะโรงพยาบาลรัฐเท่านั้น - ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เกิดขึ้นโดยมีแนวคิดให้ประชาชน สามารถเข้ารับการรักษาได้ในหน่วยบริการที่ใกล้ที่สุด โดยสำนักงานหลักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เหมาจ่ายลงไปยังทั้งโรงพยาบาลรัฐ และเอกชน เพื่อดูแลผู้ใช้สิทธิ์บัตรทอง
เรื่องนี้ในต่างจังหวัด จะมีปัญหาน้อยกว่าในกรุงเทพฯ เพราะในเขตภูมิภาค มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลอำเภอ และโรงพยาบาลจังหวัดค่อนข้างครบ ต่างจากในกรุงเทพฯ โดยในกรุงเทพฯ สปสช. พยายามดึงโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่ง เข้ามาช่วยบริการในระบบ เช่น โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ โรงพยาบาลแพทย์ปัญญา โรงพยาบาลสุขสวัสดิ์ ฯลฯ ตลอดจนคลินิกเอกชนในชื่อของคลินิกชุมชนอบอุ่น
โรงพยาบาลเอกชน อาจหายไปบ้างจากระบบ เนื่องจากเม็ดเงินในระบบไม่พอ แต่ก็ไม่ได้ใช้ได้แต่ “โรงพยาบาลรัฐ”อย่างเดียว อย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ พูดแน่นอน
ล่าสุด ตัวเลขหน่วยบริการที่ขึ้นในระบบบัตรทอง มีทั้งสิ้น 12,109 แห่ง มีหน่วยบริการเอกชนถึง 509 แห่ง นอกนั้น เป็นหน่วยบริการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (รัฐ) 11,054 แห่ง หน่วยบริการรัฐนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 134 แห่ง หน่วยบริการรัฐสังกัดกทม.เทศบาลเมือง และเมืองพัทยา 22 แห่ง และหน่วยงานรัฐสังกัดองค์กรปกครองท้องถิ่น 390 แห่ง
(2) ไม่คุ้มครองการรักษาเกินความจำเป็นพื้นฐาน- พล.อ.ประยุทธ์ ยกตัวอย่างในรายการว่า ปัจจุบัน “30 บาท” ไม่คุ้มครองการผสมเทียมเพื่อมีบุตร การรักษากรณีมีบุตรยาก การผ่าตัดแปลงเพศ
แน่นอนว่านี่คือข้อเท็จจริง เพราะการรักษาเหล่านี้มีค่าใช้จ่ายสูง และไม่ได้เป็นเรื่องของการดูแลรักษาสุขภาพขั้นพื้นฐาน
น่าเสียดายที่ หัวหน้าคสช. ไม่ได้บอกว่าควรแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร หรือหาก พล.อ.ประยุทธ์ ได้เป็นรัฐบาลต่อ อาจเพิ่มการทำกิฟท์ หรือผ่าตัดแปลงเพศ ไปอยู่ในระบบบัตรทอง?
(3) ไม่คุ้มครองการรักษาที่มีงบจัดสรรเฉพาะ เช่น อาการป่วยทางจิต - ปัจจุบัน ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ได้ตั้งงบเพื่อการบริการผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในชุมชน แยกออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว และมีการรักษาผู้ป่วยจิตเวชเรื่อยมานับตั้งแต่มีนโยบายนี้
ผู้ประสบอุบัติเหตุทางรถ– แน่นอนว่าต้องใช้สิทธิ์ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ก่อน เป็นอันดับแรก แต่หลังจากนั้น ก็สามารถใช้สิทธิบัตรทองได้ตามปกติ
(4) ไม่คุ้มครองกรณีโรคเรื้อรัง– ข้อนี้คือสาระสำคัญที่ผิดมหันต์ ปัจจุบันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ครอบคลุมโรคเรื้อรัง มีกองทุนเฉพาะทั้งโรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคมะเร็ง รวมถึงโรคไต สปสช.ก็สนับสนุนให้มีการล้างไตทางช่องท้อง โดยแนวทางการรักษาแต่ละโรคเรื้อรัง ก็มีราชวิทยาลัยแพทย์ฯ เป็นผู้กำหนดแนวทางการรักษา และตรวจสอบมาตรฐาน-คุณภาพ การรักษาอย่างใกล้ชิด
เรื่องความมักง่ายแบบนี้ ไม่น่าจะอยู่ในวิสัยของผู้ที่จะกำหนด “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” และผู้ที่กำลังสนใจ “งานการเมือง” เป็นอย่างยิ่ง
ท่านผู้อ่านว่าจริงไหม?
#30บาทรักษาทุกโรค #คสช.
Gossipสาสุข
...