พออ่านคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่
๑๓/๒๕๖๑ ก็ถึงบางอ้อทำไม ‘พระวิษณุ’
เหน็บธนาธรก่อนหน้านี้นิดนึง
“ไม่ว่าใครก็ตาม
ถ้าพูดเป็นก็พูดได้แม้จะยังมีล็อกอยู่ ไม่จำเป็นต้องเป็นนายธนาธร
โดยหากจะพูดว่าจะทำอย่างนั้นอย่างนี้เพื่อให้อะไรดีขึ้นก็สามารถพูดได้ ตนก็เคยพูด
ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่อย่าตั้งหลักว่าสิ่งที่พูดคือนโยบายหาเสียงก็แล้วกัน”
นั่นเป็นหมัดขวาอัปเปอร์คัท
ตามด้วยหมัดแย้ปซ้าย “ตนเชื่อว่านักการเมืองทำเป็น เพราะเคยหาเสียงกันมาเยอะ
แต่จะยุ่งหน่อยสำหรับนักการเมืองมือใหม่ที่ยังไม่รู้ว่าแค่ไหนคือการหาเสียง หรือแค่ไหนคือการแสดงความคิดเห็นโดยเสรี
จึงต้องระวังเพราะมีคนคอยจดบันทึกไว้
แม้ไม่ดำเนินการในวันนี้ แต่เมื่อถึงเวลาที่พลาดหนักเข้าก็จะโดน
ตนเตือนด้วยความหวังดี ไม่ได้ขู่”
นั่นเป็นการตอบคำถามนักข่าวของนายวิษณุ
เครืองาม ตามรายงานของมติชนออนไลน์เมื่อบ่ายโมงครึ่ง ๑๔ ก.ย. รวมทั้งคำถามที่ว่าจะคลายล็อคได้เมื่อไร
ทั่นรองฯ ฝ่ายกฎหมายผู้ปฏิเสธไม่ใช่พระเจ้าหลุยส์ แต่เป็น ‘พระวิษณุ’ ตอบว่า
“ผมก็ไม่ตอบ อย่ามาถามเลย
ถามไปสื่อก็ลงข่าวไม่ทัน” ก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ เมื่ออีกไม่นานต่อมา คำสั่ง
๑๓/๒๕๖๑ ก็ออกประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ที่ต้องเล่าเกล็ดย่อยเสียยืดยาดอย่างนี้
มิใช่ไร เพียงเป็นข้อสังเกตุว่าทั่นรองฯ ฝ่ายกฎหมาย คสช. คนนี้ไม่เบา
โวหารสามหาวในช่วงเปลี่ยนไปจาก คสช.ที่ยึดอำนาจเขามา สู่ คสช.
ที่อยู่ต่อหลังเลือกตั้ง ย่อมแสดงว่าอย่าหวังจะได้ประชาธิปไตยจ๋า
อย่างที่พรรคใหม่ไฟแรงหวัง
ฟังที่ ผบ.ทบ.คนปัจจุบันพูดยิ่งชัด “ต้องใช้ดุลพินิจที่เหมาะสมในการกำหนดบทบาทหน้าที่ของกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย
แต่ยืนยันว่า คสช.จะยังคงอยู่ต่อไป ให้ดูจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่เข้ามาทำหน้าที่”
พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ให้สัมภาษณ์สื่อในฐานะเลขาธิการ คสช.ปัจจุบันว่า
คสช.กำลังพิจารณาบทบาทกองทัพในฐานะกองกำลังรักษาความสงบในช่วงคลายล็อคการเมือง “ตั้งแต่ช่วงนี้ไปจนถึงกลางเดือน
ธ.ค.และช่วงที่เปิดให้หาเสียงเลือกตั้งได้”
โดยเฉพาะเกี่ยวกับ “สิ่งที่กังวลก็คือ การนำไปเชื่อมโยงระหว่างทหารกับการสนับสนุนการเลือกตั้ง”
ซึ่งจะอยุ่ในความรับผิดชอบของ ผบ.ทบ.คนใหม่ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์
สำหรับประกาศคำสั่ง คสช.เรื่องการคลายล็อคพรรคการเมือง
นอกจากอนุญาตให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมบางอย่างเพื่อความพร้อมตามกฎหมายในการเข้าแข่งขันรับเลือกตั้ง
ในช่วงเวลา ๙๐ วันก่อนที่ประกาศ พรบ.การเลือกตั้ง ส.ส. จะมีผลบังคับใช้
มีประเด็นควรใส่ใจเกี่ยวกับการหาเสียงของพรรคการเมือง
ในมาตรา ๑๔๔ ข้อ ๖ ดังนี้
“พรรคการเมืองจะดำเนินการประชาสัมพันธ์หรือติดต่อสื่อสารกับผู้ดำรงตำแหน่งใดๆ
ภายในพรรคการเมืองและสมาชิกของพรรคการเมืองของตน โดยวิธีผ่านทางเทคโนโลยี่สารสนเทศหรือสื่ออีเล็กทรอนิกส์ก็ได้
แต่การดำเนินการนั้นต้องไม่มีลักษณะเป็นการหาเสียง
ทั้งนี้คณะกรรมการการเลือกตั้งและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
อาจกำหนดลักษณะต้องห้ามของการประชาสัมพันธ์
หรือการติดต่อสื่อสารที่จะมีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน
หรือสั่งให้มีการระงับการดำเนินการดังกล่าวได้”
เป็นที่สงสัยว่าถ้าประกาศว่าจะตระบัดคำหันมาทำการเมืองจนถึงอายุ
๘๐ ปี ดังเช่นที่พระพุทธเจ้าทรงสละอายุขัย และเป็นการเมืองที่ดึงเอาสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเสาหลักกำหนดนโยบายละก็
คงไม่เข้าข่ายหาเสียงละมัง