วันเสาร์, กันยายน 29, 2561

ไอลอว์ทำแผนผังอธิบายว่า ลุงตู่จะกลับมาเป็นนายกฯ ได้อย่างไร - รู้ไม๊ใครเป็นพรรค 'กองหนุน' พล.อ.ประยุทธ์





เลือก(ตั้งเข้ม)ข้น (แต่ได้นายกฯ)คนกลาง
#เลือกข้นคนกลาง #ใครเลือกประยุทธ์
.
สถานการณ์ทางการเมืองกำลังเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เมื่อ “ลุงตู่” พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ใกล้จะลงจากอำนาจและเปิดทางให้เกิดการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า (24 กุมภาพันธ์ 2562) ขณะที่พรรคการเมืองทั้งใหม่และเก่า เริ่มทยอยจัดประชุมเพื่อเลือกหัวหน้าพรรค ผู้บริหารพรรค และเตรียมตัวเพื่อไปสู่การเลือกตั้ง
.
ตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” อันทรงอำนาจ เกียรติยศ และผลประโยชน์ ผู้นำฝ่ายบริหารของรัฐไทย กำลังจะว่างลงอีกครั้ง พรรคการเมืองทั้งหลายที่เตรียมลงชิงชัยก็จ้องกวาดเสียงในสนามเลือกตั้งเพื่อชิงเก้าอี้ตัวนี้กันอย่างเต็มที่ หลังอดทนรอกันมานานกว่า 4 ปี
.
แต่ถ้าใครยังไม่รู้ ลุงตู่ และ คสช. ได้วางแผนเพื่อสืบทอดอำนาจไว้หมดแล้วในรัฐธรรมมนูญและกฎหมายต่างๆ ที่ออกตามมา ไม่ว่าประชาชนจะเข้าคูกาหาเบอร์อะไร พรรคการเมืองจะแข่งขันกันในสนามเลือกตั้งเข้มข้นกันขนาดไหน ไม่ว่าตัวลุงตู่เองจะลงสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่และมีคนออกเสียงให้สักกี่เปอร์เซ็นต์ ลุงตู่ก็ยังมีโอกาสจะกลับมารับตำแหน่งนายกฯ รอบ 2 ได้ จนอาจมีคนเสิร์ชในพันทิปหาคนรับผิดชอบว่า “ใครเลือกประยุทธ์” มาอีก
.
○ ไอลอว์ทำแผนผังอธิบายว่า ลุงตู่จะกลับมาเป็นนายกฯ ได้อย่างไร ○
.
เริ่มแรก รัฐธรรนูญฉบับปัจจุบันซึ่งร่างโดยคนของ คสช. กำหนดให้รัฐสภามี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) 500 คน และ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คน รวม 750 คน และคำถามพ่วงที่ผ่านประชามติก็ให้ ส.ว. ร่วมเลือกนายกฯ ได้ด้วย (ปกติเป็นหน้าที่ส.ส.เท่านั้น) โดยนายกฯ จะต้องได้รับเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของรัฐสภาหรือ 376 เสียง
.
จุดพีคของแผนนี้ก็คือ ส.ว. ชุดแรก 250 คน ประกอบด้วย ผบ. เหล่าทัพเป็น ส.ว. โดยตำแหน่ง 6 คนและที่เหลืออีก 244 คน คัดเลือกมาโดยคสช. แค่นี้ก็เป็น 2 ใน 3 ของเสียงที่ใช้เลือกนายกฯ แล้ว และเหลืออีกเพียงแค่ 126 เสียงจาก ส.ส. เท่านั้น

ถ้าหาก "ลุงตู่" สนใจที่จะเล่นการเมืองตามที่ประกาศไว้และลงสมัครรับเลือกตั้งด้วย พรรคการเมืองของลุงตู่ก็ต้องหา ส.ส. อีกไม่มากนัก และชวนพรรคการเมืองที่สนับสนุนแนวทางเดียวกันมารวมกันอีกไม่กี่พรรค จัดสรรผลประโยชน์ตำแหน่งรัฐมนตรีให้ดี ส.ส. 126 คนที่จะลงคะแนนเสียง เลือกลุงตู่กลับมาเป็นนายรัฐมนตรี ให้นั่งเก้าอี้ต่อเนื่องยาวนานไปเรื่อยๆ คงไม่ไกลเกินฝัน
.
ซึ่งไม่ต้องห่วงเลย เพราะถึงช่วงกลางปี 2561 ก็มีอย่างน้อย 9 พรรคการเมืองและ 1 กลุ่มการเมืองแล้วที่ประกาศกร้าวพร้อมสนับสนุนลุงตู่ให้กลับเป็นนายกฯ อีกรอบ เช่น พรรครวมพลังประชาชาติไทย ซึ่งมีสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นแกนนำคนสำคัญ พรรคประชาชนปฏิรูป ซึ่ง ไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นแกนนำพรรค และกลุ่มสามมิตร ซึ่งประกอบด้วย 3 ส. ได้แก่ สมศักดิ์ เทพสุทิน สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ สองอดีตนักการเมือง และ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล คสช.
.
(ใครเป็นพรรค 'กองหนุน' พลเอกประยุทธ์อีกบ้าง อ่านเพิ่ม :https://ilaw.or.th/node/4874)
.
แต่ถ้าหาก ลุงตู่ สงวนท่าทีไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งเสียเอง ก็ไม่ได้หมายความว่า จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญยังเปิดช่องสำหรับ "นายกฯ คนนอก" ที่ไม่ต้องผ่านการเลือกตั้งก็ได้ แต่กระบวนการอาจจะซับซ้อนเพิ่มขึ้นอีกหน่อย เพราะต้องอาศัย ส.ส. ถึงครึ่งสภาที่เห็นด้วยว่าจะให้มีนายกฯ คนนอกได้
.
(ดูเรื่องที่มาของ นายกฯ คนนอก ต่อได้ที่ :https://www.ilaw.or.th/node/4068)
.
แค่นั้นยังไม่พอ คสช. ยังได้ออกแบบระบบการนับจำนวนที่นั่ง ส.ส. อันพิสดารที่เรียกว่าระบบจัดสรรปันส่วนผสม หรือ MMA สร้างวิธีการคำนวนที่นั่งที่แทบเป็นไปไม่ได้ที่พรรคการเมืองใดจะชนะและมี ส.ส. ครองเสียงได้เกินครึ่งสภา ไม่ต้องพูดถึงเลยว่า จะได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาหรือ 376 เสียงเอาไว้ใช้เลือกนายกฯ ระบบนี้จึงทำให้ผู้สนับสนุนลุงตู่หายห่วงไปได้ว่า "อำนาจเก่า" จะไม่มีทางกลับมาเป็น "เผด็จการรัฐสภา" และโหวตเอาลุงตู่กับพรรคพวกออกไปจากอำนาจได้
.
ระบบ MMA ที่ว่านี้ นอกจากจะตัดโอกาสของพรรคขนาดใหญ่ที่จะครองที่นั่งจำนวนมากในสภาได้แล้ว ยังเกลี่ยคะแนนเสียงไปคิดคำนวนเป็นจำนวนที่นั่งเพิ่มให้กับพรรคขนาดกลางๆ และพรรคขนาดเล็ก ที่มีโอกาสจะได้ ส.ส. จากระบบแบ่งเขตเลือกตั้งระหว่าง 10-30 คน ให้ได้ที่นั่ง ส.ส. จากระบบบัญชีรายชื่อเพิ่มอีกโดยไม่ต้องลงแรงอะไรมากมาย เช่น พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคพลังชล พรรคภูมิใจไทย และถึงวันนี้พรรคการเมืองเหล่านี้ก็ยังไม่มีพรรคไหนที่ประกาศว่า จะไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ คสช.
.
เมื่อมีองค์ประกอบทั้งพรรคการเมืองที่จะมาเป็นกองหนุน และระบบกลไกที่เอื้อประโยชน์ให้พร้อมเสร็จสรรพแบบนี้แล้ว ไม่ว่า สนามเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคการเมืองจะต่อสู้แย่งชิงความนิยมกันอย่างเข้มข้นเพียงใด เส้นทางการกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีรอบสอง ของคนที่อ้างตัวว่า "เป็นกลาง" อย่างลุงตู่ ก็คงไม่ได้ยากเย็นเกินที่จะไปให้ถึง

...

มีพรรคการเมืองอย่างน้อย 9 พรรค ที่เปิดตัวแสดงจุดยืนเป็นกองหนุนให้กับ พลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป ได้แก่

พรรคพลังประชารัฐ: พรรคสามมิตร (อดีตนักการเมืองเก่า)
พรรครวมพลังประชาชาติไทย: พรรครวมพล กปปส.
พรรคประชาชนปฏิรูป: พรรครวมพลทหาร
พรรคพลังชาติไทย
พรรคเห็นแก่ตัว-พรรคเห็นแก่ชาติ
พรรคพลังธรรมใหม่
พรรคทางเลือกใหม่
พรรคไทยธรรม
พรรคพลังพลเมืองไทย

ที่มา