งานเสวนา “อนาคตประเทศไทย ตายหรือตันก่อนการเลือกตั้ง” 1/3
งานเสวนา “อนาคตประเทศไทย ตายหรือตันก่อนการเลือกตั้ง” 2/3
งานเสวนา “อนาคตประเทศไทย ตายหรือตันก่อนการเลือกตั้ง” 3/3
ooo
เวทีเสวนาอนาคตประเทศไทยฯไม่หนุนสืบทอดอำนาจ
10 ก.ย. 61
สำนักข่าวไทย
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย 10 ก.ย.-ตัวแทนหลายพรรคร่วมเวทีเสวนาอนาคตประเทศไทยตายหรือตันก่อนเลือกตั้ง เห็นตรงกันไม่หนุนการสืบทอดอำนาจ
คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 และเครือข่ายตรวจสอบภาคประชาชน จัดการเสวนา เรื่อง อนาคตประเทศไทย ตายหรือตันก่อนการเลือกตั้ง โดยมี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.), นพ.ระวี มาศฉมาดล ผู้ก่อตั้งพรรคพลังธรรมใหม่ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา นายธีระชัย เขียวบริบรูณ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังร่วมเสวนา
นายจตุพร กล่าวว่า รัฐธรรมนูญออกแบบไม่ให้พรรคการเมืองใดได้เสียงข้างมากในการจัดตั้งรัฐบาล ดังนั้น หากพรรคการเมืองไม่ตกลงกันก่อน เพียงแค่นัยนายกรัฐมนตรีคนนอกหรือคนในก็เกิดปัญหาได้ และยังจะต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ด้วย คาดว่าถ้ากรณีได้นายกรัฐมนตรีคนนอก ที่เป็นคนที่ทุกคนคิดกันอยู่ขณะนี้ ที่มีอำนาจอาญาสิทธิ์ แต่เมื่อเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรแล้วจะไม่เหลือดาบอาญาสิทธิ์ การตรวจสอบ การถูกอภิปรายจะยังทนได้หรือไม่
“สิ่งสำคัญคือทุกฝ่ายต้องคุยกัน และขอพรรคการเมืองอย่าเพิ่งหาประโยชน์ในขณะตอนนี้ เพื่อร่วมกันสร้างบรรยากาศ และป้องกันปัญหาเหมือนกับเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสีย ส่วนตัวผมไม่สนใจว่าพรรคใดจะชนะการเลือกตั้ง แต่สิ่งสำคัญจะต้องไม่มีผู้เสียชีวิต ไม่ว่าพรรคใดชนะหรือแพ้ ขอให้ยอมรับว่า 5 ปีที่ผ่านมา คนไทยกลัวคำว่าไม่สงบ จึงเป็นสิ่งที่หลอกหลอนคนไทยมาโดยตลอด และสิ่งที่ดำเนินการกันอยู่ทุกวันนี้ ยิ่งทำให้การเลือกตั้งไกลออกไปและอาจเกิดวิกฤติได้” นายจตุพร กล่าว
นพ.ระวี กล่าวว่า จุดยืนของพรรคพลังธรรมใหม่จะไม่ร่วมรัฐบาลกับเผด็จการทหารอย่างแน่นอน เพราะพรรคพลังธรรมใหม่มีความเป็นอิสระ จะไม่เอาประชาธิปไตยแบบตะวันตกหรือแบบที่ประเทศไทยผ่านมา 4-5 ปีก่อนด้วย แต่จะต้องเป็นธรรมาธิปไตย ที่ประชาชนมีส่วนร่วม ช่วยกันยุติความขัดแย้งกลุ่มคนสีเสื้อ หลังการเลือกตั้งตนจะสนับสนุนและเลือกคนดีให้เป็นนายกรัฐมนตรี โดยจะทำประชามติกับสมาชิกพรรค เพื่อให้เลือกผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป
นายสิริพงศ์ กล่าวถึงจุดยืนของพรรคชาติไทยพัฒนาว่า ไม่เอานายกรัฐมนตรีคนนอก แต่ยังกังวลที่ว่าคำว่าคนนอกยังมีความหมายกว้าง รวมถึงไม่สามารถบอกว่า อนาคตประเทศไทยจะตายหรือตันก่อนเลือกตั้ง เพราะไม่ว่าจะอย่างไรก็จะต้องเดินหน้าต่อ พร้อมขอความร่วมมือจากพรรคการเมืองอย่าสร้างเงื่อนไขทางการเมือง เพื่อไม่ให้เกิดรัฐประหารอีก
“จุดยืนของพรรคชาติไทยพัฒนพร้อมเป็นฝ่ายค้าน ถ้าพรรคอื่น ๆ จับมือแล้วสามารถทำงานร่วมกันได้ หรือถ้าไม่ว่าพรรคใด งรัฐบาลแล้วมีแนวโน้มจะเกิดวิกฤติหรือเป็นเสียงข้างน้อย พรรคชาติไทยพัฒนาจะไม่เข้าร่วม แต่ถ้าร่วมแล้วได้เป็นเสียงข้างมาก เพื่อทำงานได้ เดินหน้าได้ สามารถออกกฎหมายได้ พรรคชาติไทยพัฒนาก็พร้อมร่วมงาน พร้อมสนับสนุนนายวราวุธ ศิลปอาชา ว่าที่หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนาเป็นนายกรัฐมนตรี” นายสิริพงศ์ กล่าว
นายจาตุรนต์ กล่าวถึงแนวคิดให้พรรคการเมืองหาเสียงน้อย และใช้กฎหมายด้วยการเลือกปฏิบัติกับประชาชน หรือพรรคการเมืองที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล ถือว่าไม่เป็นธรรมต่อการเลือกตั้ง เพราะพรรคการเมืองไม่สามารถพบประชาชนได้อย่างเต็มที่ ทำให้ประชาชนไม่มีข้อมูลว่าพรรคการเมืองจะมีนโยบายใด ทำให้ขาดข้อมูลในการตัดสินใจ
“พรรคเพื่อไทยไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของผู้นำคสช.หรือคนนอกมาเป็นนายกรัฐมนตรี รวมทั้งการเสนอรายชื่อคนนอกมาเป็น 1 ใน 3 รายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งแม้จะได้เสียงคะแนนข้างมาก พรรคก็ไม่สนับสนุน หรือถ้าพรรคการเมืองที่สนับสนุนคสช.มีเสียงข้างมากจัดงรัฐบาล เพื่อไทยขอเป็นฝ่ายค้าน โดยพร้อมเป็นพันธมิตรกับพรรคการเมืองที่ไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ว่าจะร่วมรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์ได้หรือไม่ แต่ถ้าจะเป็นฝ่ายค้านพรรคเพื่อไทยก็พร้อมจะร่วมงานด้วย
ด้านนายจุรินทร์ กล่าวว่า อนาคตประเทศไทยก่อนการเลือกตั้งจะต้องไม่ตาย หรือตัน แต่สิ่งที่จะเดินไปสู่ทางตายคือคสช. จากปัจจัย 2 ประการ คือปัจจัยทางเศรษฐกิจ และปัจจัยทางการเมือง แม้คสช.จะประกาศจีดีพีโตขึ้น แต่เม็ดเงินไม่ได้กระจายไปสู่ฐานราก ซึ่งปัญหารวยกระจุก จนกระจายเป็นตัวกดดันคสช. ส่วนปัจจัยการเมืองยังถูกกดดันจากต่างประเทศ และประชาชนอยากเห็นการเลือกตั้งเกิดขึ้น แม้จะมีบางส่วนยังลังเล เพราะกลัวความขัดแย้งจะเกิดขึ้น
“ประเด็นสำคัญ ไม่ใช่การคลายล็อค ปลดล็อคเมื่อใด หรือจะหาเสียงอย่างไร เพราะสุดท้ายการเลือกตั้งครั้งนี้ คสช.จะยังคงดำรงตำแหน่งผู้เขียนกติกา และเป็นทั้งผู้กำกับการที่มีอำนาจสูงสุดตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ทั้งการควบคุมและการใช้อำนาจม.44 รวมถึงเป็นผู้แข่งในสนามเลือกตั้งด้วย แม้การเลือกตั้งเสร็จสิ้นไปแล้ว คสช.ยังมีอำนาจม.44 อยู่ในมือ เพราะคสช.จะพ้นอำนาจเมื่อได้รัฐบาลใหม่ ดังนั้น ความลังเลของประชาชนจึงห่วงว่าจะเกิดความขัดแย้งเหมือนในอดีต
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ทางออก 4 ประการที่จะทำให้เกิดการเลือกตั้งที่รู้รักสามัคคีว่า ทุกฝ่ายจะต้องยึดมั่นระบอบประชาธิปไตยแบรัฐสภา ไม่ใช่ประธานาธิบดี และหลังการเลือกตั้ง พรรคที่รวมเสียงข้างมากได้จะต้องเป็นผู้นำในการจัดตั้งรัฐบาล เสียงข้างน้อยจะต้องเป็นฝ่ายค้านตรวจสอบรัฐบาล และเมื่อมีรัฐบาลแล้ว ฝ่ายบริหารต้องใส่ใจรับฟังเสียงประชาชนและเสียงข้างน้อย เพื่อไม่ให้กลายสภาพเป็นเผด็จการรัฐสภา พาประเทศสู่วิกฤติเหมือนในอดีต รวมถึงทุกฝ่ายจะต้องยึดกฎหมายและหลักนิติธรรมในการอยู่ร่วมกัน เพื่อสร้างสังคมสันติ.
-สำนักข่าวไทย