โปรดเกล้าฯ พ.ร.ป.ส.ส. - ส.ว. แล้ว ไทม์ไลน์หลังจากนี้เป็นอย่างไร
Submitted on Wed, 2018-09-12 17:40
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาประกาศให้ พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. และพ.ร.ป.การได้มาซึ่ง ส.ว. เป็นกฎหมายแล้ว ไทม์ไลน์สู่การเลือกตั้งนับจากนี้ต้องรอให้ พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้อีก 90 วัน หลังจากนั้นให้จัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน ส่วน ส.ว. 250 คนสามารถดำเนินการสรรหามาให้ คสช. เลือกได้เลย
12 ก.ย. 2560 เว็บไชต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.) แล้ว
ผู้สื่อข่าวประชาไทรายงานเพิ่มเติมว่า ตามรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 มาตรา 268 ระบุว่า ให้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน หลังจาก พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง , พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง , พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. มีผลบังคับใช้
อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2561 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติเห็นชอบให้ยืดเวลา พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้ออกไปอีก 90 วันหลังมีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา โดยที่ประชุมได้ให้เหตุผลว่า เพื่อให้ประชาชนและผู้เกี่ยวข้องมีเวลาเตรียมตัวศึกษาทำความเข้าใจ เตรียมความพร้อมกับระบบเลือกตั้งแบบใหม่
นั่นเท่ากับว่า ระยะเวลาในการเตรียมการจัดการเลือกตั้ง 150 วันจะมีผลเริ่มนับได้ตั้งแต่วันที่ 11 ธ.ค. 2561 และการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้อย่างช้าที่สุดไม่เกินวันที่ 9 พ.ค. 2562 แต่อย่างไรก็ตามกฎหมายไม่ได้ระบุให้ใช้ระยะเวลาเต็มตามกรอบ 150 วันนี้ หากแต่สามารถจัดการเลือกตั้งภายในระยะเวลาเท่าใดก็ได้แต่ต้องไม่เกิน 150 วัน
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2561 อิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ระบุว่า หลังจากที่กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้ คาดว่าจะมีการประกาศ พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ส.ส. วันที่ 4 ม.ค.2562 และเลือกตั้งในวันที่ 24 ก.พ.2562 หรือช้าสุดไม่เกินวันที่ 2 พ.ค. 2562
ในส่วนของการทำกิจกรรมของพรรคการเมืองนั้น หลังจากนี้ คสช. จะมีออกสั่งโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 เพื่อคลายล็อคทางการเมือง พรรคการเมืองทุกพรรคสามารถทำกิจกรรมการทางเมือง เช่น ให้มีการประชุมใหญ่พรรค ให้เลือกหัวหน้า-กรรมการบริหารพรรค จัดทำข้อบังคับพรรค ประกาศอุดมการณ์พรรค และเปิดรับสมาชิกพรรค รวมทั้งดำเนินการสรรหาผู้ลงรับสมัครเลือกตั้งในระบบแบ่งเขต และระบบบัญชีรายชื่อได้ แต่ยังคงห้ามให้มีการลงพื้นที่หาเสียงทางการเมือง
ในส่วนของการดำเนินการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่ง ส.ว. นั้น เมื่อวันที่ 5 ก.ย. พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. เปิดเผยว่า เมื่อ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วจะมีผลบังคับใช้ทันที กระบวนการสรรหา ส.ว. ก็ต้องเริ่มดำเนินการในทันที โดยหลังจากนี้ กกต.จะพิจารณาให้ความเห็นชอบระเบียบ กกต.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.
จากนั้นในวันที่ 12 ต.ค. จะประกาศกำหนดวันลงทะเบียนองค์กร เพื่อเป็นองค์กรที่จะมีสิทธิเสนอชื่อผู้สมัคร ส.ว. และแจ้งให้สำนักงาน กกต.จังหวัดทราบ วันที่ 22-31 ต.ค. สำนักงาน กกต.จังหวัด รับลงทะเบียนองค์กร วันที่ 16 พ.ย. คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและนายกรัฐมนตรีนำ พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือก ส.ว. ทูลเกล้าฯ วันที่ 20 พ.ย. ประกาศรายชื่อองค์กรที่มีสิทธิแนะนำชื่อบุคคลเพื่อสมัครรับเลือกเป็น ส.ว. แยกเป็นรายกลุ่ม
นอกจากนี้ วันที่ 30 พ.ย.คาดว่า พ.ร.ฎ ให้มีการเลือก ส.ว.มีผลใช้บังคับ วันที่ 5 ธ.ค. กกต.ประกาศเกี่ยวกับวันเลือก วันรับสมัคร และสถานที่เลือก ซึ่งระดับอำเภอภายใน 20 วันนับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลารับสมัคร ระดับจังหวัดภายใน 7 วันนับแต่วันเลือกในระดับอำเภอ และระดับประเทศภายใน 10 วันนับแต่วันเลือกในระดับจังหวัด เปิดรับสมัคร ส.ว. วันที่ 10-14 ธ.ค. ซึ่งเป็นการเปิดรับสมัครไม่เกิน 15 วันนับแต่วันที่มี พ.ร.ฎ. และวันที่ 30 ธ.ค. จะเป็นวันเลือก ส.ว. ในระดับอำเภอ วันที่ 6 ม.ค. 62 เลือก ส.ว.ในระดับจังหวัด วันที่ 16 ม.ค. เลือก ส.ว.ในระดับประเทศ วันที่ 17-21 ม.ค. กกต. รอไว้ 5 วันตามที่กฎหมายกำหนด และวันที่ 22 ม.ค. กกต.แจ้งรายชื่อผู้ได้คะแนนสูงสุดลำดับที่ 1-10 ของแต่ละกลุ่มแต่ละวิธีสมัคร รวม 200 คนให้คสช.คัดเลือกเป็นส.ว. 50 คน และคัดเลือกอีก 50 คน เป็นบัญชีสำรอง
ทั้งนี้ ตามบทเฉพาะกาลของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. กำหนดให้ ส.ว. ชุดแรกมีจำนวนทั้งหมด 250 คน ซึ่งแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ตามที่ คสช. ถวายคำแนะนำ โดยมีช่องทางในการสรรหาทั้งหมด 3 ทางคือ
1.ให้คณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาซึ่งแต่งตั้งโดย คสช. จำนวน 9-12 คน คัดเลือกบุคคลมาทั้งหมด 400 รายชื่อยื่นเสนอต่อ คสช. จากนั้น คสช. จะเป็นผู้เลือกให้เหลือ 194 รายชื่อเพื่อเป็นสมาชิกวุฒิสภา และคัดเป็นรายชื่อสำรอง 50 รายชื่อ
2.ให้ กกต. ดำเนินการจัดให้มีการคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภาตามบททั่วไป แต่ให้มีการรับสมัครเพียงแค่ 10 กลุ่มอาชีพ ตามมาตรา 91 และให้มีการดำเนินการคัดเลือกตามที่บทเฉพาะกาลบัญญัติไว้ สุดท้ายให้ได้รายชื่อทั้งหมด 200 รายชื่อ เพื่อยืนให้ คสช. คัดเลือกให้เหลือ 50 รายชื่อเพื่อเป็นสมาชิกวุฒิสภา และคัดเป็นรายชื่อสำรอง 50 รายชื่อ
3.ให้มีสมาชิกวุฒสภาโดยตำแหน่ง 6 ตำแหน่งดังต่อไปนี้ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ
โดย ส.ว.ชุดนี้จะมีวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี และในวาระเริ่มแรกจะมีอำนาจให้ความเห็นชอบผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ด้วย ซึ่งจากเดิมเป็นอำนาจในการพิจารณาให้ความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น และยังมีหน้าที่ในการตรวจการ กำกับ ดูแล การทำงานของรัฐบาลให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีอีกเช่นกัน
(ขอบคุณเว็บข่าว 'ประชาไท' https://prachatai.com/journal/2018/09/78671)