วันพุธ, กันยายน 26, 2561

‘สามัญชน’ อีกพรรคประกาศยกเลิกคำสั่ง คสช. ไม่เอานายกฯ คนนอก และที่ปลอมตัวเป็น 'คนใน'

สามัญชน เป็นอีกพรรคการเมืองที่กำลังจัดตั้งใหม่ ซึ่งประกาศแนวนโยบายแจ้งชัดว่าจะดำเนินการยกเลิกประกาศและคำสั่งต่างๆ ของ คสช. ที่ใช้กำกับควบคุมและตีกรอบการดำเนินชีวิตของประชาชนตลอดกว่าสี่ปีที่ผ่านมา อย่างผิดผีผิดไข้ต่อครรลองการบังคับใช้กฎหมายโดยนิติธรรม แห่งหลักการประชาธิปไตยอันเป็นสากล

จากคำให้สัมภาษณ์รายการ ไทยว้อยซ์ไล้ฟ์ ของ จอม เพชรประดับ โดยว่าที่โฆษกพรรคสามัญชน ปกรณ์ อารีกุล ถึงแนวทางการ ปลดอาวุธ คสช. ด้วยมือเปล่า ขยายความจากว่าที่หัวหน้าพรรค เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ กล่าวไว้หลังการประชุมใหญ่เลือกคณะกรรมการบริหารพรรค ที่บ้านโนนสว่าง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย


เขาบอกว่าจะเสนอเป็นร่าง พรบ. เพื่อยกเลิกคำสั่งและประกาศ คสช. ที่มีผลต่ออำนาจการตัดสินใจของพี่น้องประชาชน ทั้งนี้เป็นแนวทางเดียวกับที่กำลังมีการณรงค์เข้าชื่อกันให้ครบ ๑ หมื่น ซึ่งสำนัก ไอลอว์ริเริ่มไว้

ก่อนหน้านี้พรรคประชาชาติ พรรคใหม่อีกพรรคหนึ่งซึ่งจัดตั้งโดยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทาและพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ก็ได้แถลงแนวนโยบายผลักดันให้มีการยกเลิกและปรับปรุงกฎหมายที่ “เป็นอุปสรรคต่อการดํารงชีวิตและการประกอบอาชีพของประชาชน”

รวมทั้งกฎหมาย “ที่บัญญัติขึ้นในขณะที่ประเทศไม่ได้ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย” โดยออกมาในรูปคำสั่งและประกาศของคณะผู้ยึดอำนาจการปกครอง ทั้งนี้ เลขาธิการพรรคแสดงความชื่นชมในแนวทางการรณรงค์ในเรื่องนี้ของ ILaw’ เอาไว้ด้วย


การรณรงค์ดังกล่าวของไอลอว์เริ่มมาตั้งแต่เมื่อกลางเดือนมกราคม จนบัดนี้เป็นเวลา ๘ เดือนกว่า มีผู้เข้าชื่อราว ๔ พันคน ขณะที่เป้าหมายอยู่ที่ ๑ หมื่นรายชื่อตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๓๓ เตรียมไว้นำเสนอต่อรัฐบาลใหม่ที่จะมีหลังการเลือกตั้ง
ในจำนวนคำสั่ง คสช.กว่า ๕๐๐ ฉบับ ไอลอว์ยกตัวอย่างคำสั่งที่ “มีลักษณะเป็นการใช้อำนาจพิเศษ ประชาชน ไม่มีส่วนร่วม และยังส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพและกระบวนการประชาธิปไตยของประชาชน” รวมทั้ง “คำสั่งมีลักษณะเป็นการใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ โดยอ้างมาตรา ๔๔ หรืออำนาจสูงสุด” ว่ามีประมาณ ๓๕ ฉบับ

ดังเช่น คำสั่งที่ ๓/๒๕๕๘ ที่ คสช.มักใช้ในการกดดันเสรีภาพในการแสดงออกของกลุ่มที่เห็นต่าง และไม่สนับสนุนการปกครองโดยคณะรัฐประหาร คำสั่งนี้ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ ๕ คนขึ้นไป และให้อำนาจทหารเป็นผู้จับกุม และสอบสวนคดีความมั่นคง โดยสามารถกักกันตัวไว้ได้ ๗ วัน

ยังมีคำสั่งและประกาศ คสช. เกี่ยวกับสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมอีกหลายฉบับ เช่นคำสั่งที่ออกในปี ๒๕๕๗ ได้แก่ฉบับที่ ๖๔ ขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่, ๖๖ ให้ กอ.รมน.เป็นผู้ทวงคืนผืนป่า, ๗๐ และ ๑๐๙ เกี่ยวกับการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน


โดยเฉพาะเกี่ยวเนื่องกับเขตเศรษฐกิจพิเศษ ระเบียงตะวันออก หรือ อีอีซีนั้นมีการใช้อำนาจวิเศษของมาตรา ๔๔ เปลี่ยนตัวนายกเทศมนตรีเสียดื้อๆ ด้วย ดังประกาศที่ ๑๕/๒๕๖๑ ให้ปลดพลตำรวจตรีอนันต์ เจริญชาศรี พ้นจากตําแหน่งนายกเมืองพัทยา แล้วตั้งนายสนธยา คุณปลื้ม เข้าไปเป็นแทน
 
นายสนธยา และตระกูลคุณปลื้ม ผู้ยิ่งใหญ่ของจังหวัดชลบุรีนี้เป็นที่ทราบกันดีว่าเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐที่รัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. จัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหลังเลือกตั้ง

น่าขันที่ข้ออ้างในการแต่งตั้งนายสนธยาบอกว่า “มีความจําเป็นต้องได้มาซึ่งนายกเมืองพัทยาและผู้บริหารเมืองพัทยาที่มีศักยภาพสูง พร้อมด้วยประสบการณ์และความรู้ความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อประโยชน์ต่อการสนับสนุนกิจกรรมและการดําเนินการในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก”


โดยแนวนโยบาย พรรคสามัญชนจึงเป็นอีกพรรคหนึ่งที่จะเป็นเรี่ยวแรงในการลบล้างอำนาจคณะรัฐประหารที่จะกำกับควบคุมรัฐบาลหลังเลือกตั้งอีกอย่างน้อย ๒๐ ปีได้ โดยเฉพาะจากคำของนายปกรณ์ในรายการจอมว่า

“ส.ส.สามัญชนจะไม่สนับสนุนนายกฯ คนนอก และร่วมมือกับพรรคอื่นที่ไม่สนับสนุน ถ้าจะมีบุคคลที่สืบทอดอำนาจจาก คสช. ถึงแม้เขาจะมาเป็น คนในก็ไม่สนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นประยุทธ์หรือคนอื่น”

(ดูรายละเอียดการประชุมใหญ่พรรคสามัญชน และรายชื่อผู้บริหารพรรคได้ที่ https://www.matichonweekly.com/hot-news/article_135250)