วันพฤหัสบดี, กันยายน 27, 2561

จากขบวนการอารยะ (สมัชชาคนจน) สู่ขบวนการอนารยะ (ม็อบกากๆ ที่มีทหารเตรียมพร้อมออกมาสนับสนุน) จะสร้างสังคมอารยะ ได้อย่างไร ?!?





จากขบวนการอารยะสู่อนารยะสังคม : สมัชชาคนจนถึง พันธมิตร และกปปส. โดย อุเชนทร์ เชียงเสน


โดย อุเชนทร์ เชียงเสน
26 กันยายน 2561
มติชนออนไลน์


ในวาระครบรอบ 12 ปี รัฐประหาร 19 กันยา สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดสัมมนาวิชาการครั้งสำคัญเรื่อง “การสร้างและจรรโลงประชาธิปไตยในบทเรียนและประสบการณ์ของภาคประชาสังคม” แต่น่าตกใจที่ไม่มีใครอภิปรายบทบาทประชาสังคมไทยต่อรัฐประหารและความถดถอยของประชาธิปไตยเลย ยกเว้นนักวิชาการที่ตั้งคำถามแบบเกรงใจว่าประชาสังคมหรือ civil society นี้ ได้กลายเป็น อนารยะสังคม หรือ uncivil society แล้วใช่หรือไม่

การทบทวนบทบาท “ประชาสังคม” ในวาระนี้ โดยไม่อภิปรายเรื่องนี้เลย พอทำให้เห็นตำแหน่งแห่งที่ และอนาคตของประชาสังคมไทยว่าจะไปในทิศทางใด จะหลุดพ้นจากฐานะขบวนการอนารยะได้หรือไม่

จริงๆแล้วคุณูปการอย่างเดียวของประชาสังคมอย่างพันธมิตรฯ และ กปปส. ต่อแวดวงวิชาการ คือ นำไปสู่คำถามและความรู้ “ใหม่” ว่า “ความคึกคักเข้มแข็งของประชาสังคมไม่ได้เป็นคุณต่อระบอบประชาธิปไตยเสมอไป หากขึ้นอยู่กับบริบททางการเมือง ชนิดของรัฐ และธรรมชาติของกลุ่มองค์กรที่ประกอบขึ้นเป็นประชาสังคม” ทั้งนี้ ประชาสังคมที่แบ่งขั้ว เผชิญหน้ากันอย่างรุนแรง ไม่ยึดมั่นในหลักการและคุณค่าแบบประชาธิปไตย นำไปสู่ความไร้เสถียรภาพหรือบ่อนทำลายประชาธิปไตย





ในงานนี้เอง ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา จากธรรมศาสตร์ เสนอว่าประชาสังคมไทยแบบ”การเมืองบนท้องถนน” ได้เปลี่ยนจาก “สังคมเจรจา” เป็น “สังคมสหบาทา” คือ จากที่เคยอยู่บนพื้นฐานการถกเถียงด้วยข้อมูลและเหตุผล กลายเป็นตรงกันข้าม ต้องการบรรลุเป้าหมายที่ต้องการทั้งหมด โดยไม่ยอมรับการเจรจาและปะทะกันด้วยความรุนแรง พร้อมเสนอว่า วิถีทางการกอบกู้ประชาธิปไตยนั้นต้องพาสังคมไทยกลับไปสู่สังคมเจรจาที่ผู้คนรับฟังข้อมูลเหตุผล ความคิดเห็นที่แตกต่างจากตน โดยมีความอดทนอดกลั้นเป็นคุณธรรมของประชาสังคมนี้

ผู้เขียนเห็นด้วยกับข้อเสนอข้างต้น แต่เห็นว่า ธรรมชาติหรือลักษณะขององค์กรประชาสังคมเองมีส่วนกำหนดความเป็น “อารยะ/อนารยะ” โดยใช้สมัชชาคนจน กับพันธมิตรฯ และ กปปส. เช่นเดียวกัน เป็นรูปธรรมใน
การอธิปรายเปรียบเทียบ

สมัชชาคนจน “ตัวแบบ” ขบวนการอารยะ

สมัชชาคนจนก่อตั้งปลายปี 2538 จัดการชุมนุมประท้วงเพื่อกดดันต่อรองกับรัฐบาลและส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเปิดเวทีเจรจาการแก้ไขปัญหา ด้วยความเป็นองค์กรมวลชนที่เน้นแก้ไขปัญหาที่ชอบธรรมของตัวเอง ผสมผสานกับแนวคิดและประสบการณ์ต่อสู้ในอดีต นำไปสู่การจัดองค์กรและยุทธิวิธีเคลื่อนไหวดังนี้

การจัดองค์กร สมัชชาคนจน เปิดกว้างต่อพันธมิตรและแนวร่วม ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างพันธมิตร “คนจน” การสร้างแรงสนับสนุนจากสาธารณชนในวงกว้าง เพื่อเสริมแรงกดดันและอำนาจต่อรอง เน้นการมีส่วนร่วมและการตัดสินใจร่วมกันของเจ้าของปัญหา ตัดสินใจแบบ “ผู้นำรวมหมู่” นั่นคือ สร้างประชาธิปไตยในองค์กร มีการต่อรอง เหนี่ยวรั้ง และควบคุมกันเองอย่างใกล้ชิด และเชื่อมโยงเป้าหมายเฉพาะหน้ากับข้อเรียกร้องเชิงนโยบาย ที่เป็นผลประโยชน์ส่วนรวมหรือ “สาธารณะ” โดยการสนับสนุนของนักกิจกรรม ปัญญาชน

ยุทธวิธีการเคลื่อนไหว สมัชชาคนจนใช้ยุทธวิธีขัดขวางท้าทายระบบการเมืองปกติ ซึ่งเป็นปฏิบัติการทางตรงในการเข้าไปขัดขวาง กดดันการตัดสินใจทางการเมืองของรัฐบาลหรือฝ่ายที่เกี่ยวข้อง อาจจะเป็นการกระทำที่ถูกหรือผิดกฎหมายก็ได้ แต่อยู่บนฐานของการไม่ใช้ความรุนแรงหรือสันติวิธี

ความอารยะของขบวนนั้นดูได้จากปฏิบัติการที่เป็นจริง โดยเฉพาะเมื่อเผชิญหน้ากับความรุนแรง ไม่ใช่จากถ้อยแถลงโอ้อวด อย่างสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย ปี 2543 สมัชชาคนจนใช้ “อารยะขัดขืน” ปีนทำเนียบรัฐบาล

ทั้งนี้ “อารยะขัดขืน” (civil disobedience) หมายถึง “การกระทำทางการเมืองซึ่งมีลักษณะเป็นสาธารณะ (public) สันติวิธี (nonviolent) และมีมโนธรรมสำนึก (conscientious) ที่ขัดต่อกฎหมาย (contrary to law) ปกติเป็นสิ่งที่ทำโดยมุ่งให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในกฎหมาย (in the law) หรือนโยบายของรัฐบาล” โดยมิได้มุ่งเปลี่ยนแปลงแย่งชิงอำนาจรัฐ โดยการละเมิดกฎหมายมีหน้าที่ “สื่อสารกับสังคมการเมืองว่าเกิดอะไรผิดปกติบางอย่างที่ผู้คนซึ่งปกติปฏิบัติตามกฎหมายจงใจละเมิดกฎหมาย” และ “การปลุกมโนธรรมสำนึกของสาธารณะ มิได้เพียงเกิดจากการละเมิดกฎหมาย แต่เกิดจากการรับผลของการละเมิดกฎหมาย” คือผู้ใช้ต้องยอมรับการลงโทษของรัฐที่จะกระทำต่อตนในฐานะพลเมืองของรัฐ ดังนั้น ทั้งเป้าหมายและวิธีการอันเป็นหัวใจของอารยะขัดขืน จึงส่งผลทำให้สังคมการเมืองโดยรวมมี “อารยะ” ยิ่งขึ้น

ในปฏิบัติการปีนทำเนียบ สมัชชาคนจนเน้นว่า ต้องการแก้ไขปัญหาไม่ใช่ขับไล่รัฐบาล “หากเป็นการขับไล่รัฐบาลแล้วใครจะเป็นผู้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น” และยืนยันว่า “หากเป็นการผิดกฎหมายที่ล้าหลัง เราก็ยอมให้จับกุมแต่โดยดี” แม้พวกเขาจะไม่ได้เรียกปฏิบัติการนี้ว่า “อารยะขัดขืน” แต่ได้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

ก่อนปฏิบัติการ สมัชชาคนจนชี้แจงขั้นตอนต่างๆ เตรียมการให้ผู้เข้าร่วมเข้าใจถึงผลที่อาจเกิดขึ้น ทั้งการถูกจับกุมหรือตอบโต้ด้วยความรุนแรง และในวันจริง เมื่อรัฐบาลระดมเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าสลาย ผู้ชุมนุมด้านนอกทำเนียบพยายามต้านทานด้วยร่างกายตัวเองและยอมล่าถอยในที่สุด มีผู้ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยจำนวนหนึ่ง ส่วนกลุ่มที่ได้ปีนเข้าไปอยู่ในทำเนียบก็ยอมให้จับกุมโดยไม่ตอบโต้ใดๆ

หลังจากเหตุการณ์ ทั้งนักวิชาการและสื่อมวลชน ได้ออกมาสนับสนุนและร่วมกันกดดันรัฐบาล ในที่สุดรัฐบาลต้องมีมติ ครม.เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาและเปิดเวทีสาธารณะถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย แม้ท้ายที่สุด ผลที่เกิดขึ้นไม่สามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนได้ แต่สมัชชาคนจนยังยืนยันไม่เข้าร่วมขับไล่รัฐบาลตามคำชักชวนขององค์กรพันธมิตร แต่ใช้วิธีรณรงค์ให้สมาชิกทั่วประเทศไม่เลือกผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นแทน

พันธมิตรฯ และ กปปส. “ตัวแบบ” ขบวนการอนารยะ

พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ก่อตั้งขึ้นต้นปี 2549 โดยนักกิจกรรมการเมืองและเจ้าพ่อสื่อมวลชน สนธิ ลิ้มทองกุล เพื่อเป็นองค์กรนำเคลื่อนไหว “โค่นล่ม” ระบอบทักษิณ จบลงด้วยรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และกลับมาเคลื่อนไหวรอบสอง หลังจากเลือกตั้งใหม่ ในปี 2551 โดยอ้างว่าเพื่อคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่ยกระดับไปสู่การขับไล่รัฐบาลในทันที การชุมนุมยุติลงหลังปิดสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิแล้วศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคร่วมรัฐบาล ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ พันธมิตรของตน จัดตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นมาแทน ส่วน กปปส. นั้น ก่อตั้งขึ้นในปลายปี 2556 โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อต่อต้านร่าง พรบ. นิรโทษกรรม แล้วยกระดับไปสู่การขับไล่รัฐบาลอย่างรวดเร็ว จบด้วยรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

ด้านการจัดองค์กร เน้นการรวมศูนย์อำนาจสั่งการบังคับบัญชา โดย 5 แกนนำในกรณีพันธมิตรฯ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และคณะ กรณี กปปส.

นอกจากเป้าหมาย“โค่นล้ม” รัฐบาลจากการเลือกตั้งแล้ว สิ่งที่เหมือนกันของ 2 ขบวนการนี้ คือ การปฏิเสธการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่อย่างหัวเด็ดตีนขาด เสนอทางออกที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและหลักการประชาธิปไตย เช่น ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ฯลฯ ขณะที่พันธมิตรฯ คว่ำบาตรการเลือกตั้ง กปปส. ไปไกลกว่าคือขัดขวางการเลือกตั้ง ทั้งหมดนี้ เพื่อขัดขวางไม่ให้ระบบการเมืองปกติทำงานได้ เปิดทางให้มีการใช้อำนาจนอกรัฐธรรมนูญหรือรัฐประหาร จนเรียกได้ว่า “ร่วมสบคมคิด” กันเลยทีเดียว





สำหรับยุทธวิธีนั้นแม้จะดูคล้ายกับสมัชชาคนจน แต่เนื้อแท้แล้วกลับตรงข้าม ทั้งพันมิตรฯ และ กปปส. อ้าง “อารยะขัดขืน” มากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย แต่ไม่มีแกนนำคนใดยอมให้จับกุมเมื่อละเมิดกฎหมายในฐานะพลเมืองของรัฐ เพื่อปลุกมโนธรรมสำนึกของผู้คนในสังคมเลย

ยุทธวิธีหลักของกลุ่มพันธมิตรฯ และ กปปส. คือ ขัดขวางระบบการเมืองปกติเช่นกัน แต่มีขอบเขตกว้างขวางและเข้มข้นกว่า เช่น ยุทธศาสตร์ “หยุดการใช้อำนาจรัฐ” ของพันธมิตรฯ หรือ “Shutdown กรุงเทพฯ” ของ กปปส. ที่ขัดขวางชีวิตปกติของผู้คนเพื่อสร้างแรงกดดันรัฐบาล และมุ่งเผชิญหน้ากับฝ่ายต่างๆ ปฏิเสธการเจรจาประนีประนอมและแก้ไขปัญหาผ่านสถาบันการเมืองปกติทั้งหมด

เมื่อเผชิญหน้ากับความรุนแรงก็ไม่หลีกเลี่ยง ไม่ยอมแพ้ยอมถอย พร้อมโต้กลับด้วยความรุนแรง หรือเป็นฝ่ายรุกเสียเอง ไม่นับคำปราศรัยที่สร้างความเกลียดชัง ทำลายความเป็นมนุษย์และสร้างความเป็นปีศาจให้ฝ่ายตรงกันข้าม ข่มขู่คุกคามหรือประทุษร้าย ในนามของ “ความดี” ซึ่งเสมือนหนึ่งเตรียมอาวุธทางด้านจิตใจไว้พร้อมสำหรับการละเลงเลือดศัตรู ดังนั้น ความรุนแรงจึงไม่ผลของการตอบสนองต่อเหตุการณ์อย่างอัตโนมัติ แต่ถูกจัดเตรียมไว้ล่วงหน้าเป็นเวลานาน

ถึงที่สุดแล้ว นี่ไม่ใช่ขบวนการสันติวิธีอะไรเลย โวหาร “อหิงสู้” “สันติวิธีเชิงรุก” ที่ถูกผลิตขึ้นเพื่อสนับสนุนความรุนแรงนี้ นอกจากแสดงถึงการขาดความเข้าใจสันติวิธีเบื้องต้นของผู้ใช้แล้วยังสะท้อนความอ่อนแอของแวดวงวิชาการสันติวิธีไทย





เปรียบเทียบเป้าหมายและยุทธศาสตร์

สมัชชาคนจนถูกวิจารณ์ว่าต่อสู้เพื่อผลประโยชน์เฉพาะหน้า “เพื่อสมาชิก” แต่ก็ส่งผลให้ผู้เข้าร่วมเป็น “เป้าหมาย”ที่ต้องปกป้องรักษา มิใช่เครื่องมือเพื่อเป้าหมายที่สูงส่งอื่นใด ด้วยเป้าหมายจำกัดแบบนี้ ในระบบการเมืองที่เปิด เป็นประชาธิปไตยระดับหนึ่ง หากการเคลื่อนไหวถูกตอบโต้จากผู้กุมอำนาจรัฐก็จะอยู่ในขอบเขตที่จำกัด มียุทธวิธีหลักคือ ปฏิบัติการขัดขวางระบบการเมืองปกติเพื่อดึงดูดความสนใจของสาธารณชนและกดดันผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ยอมแพ้ยอมถอยในช่วงสถานการณ์หนึ่งๆ เพื่อรักษาชีวิตและความปลอดภัยของผู้เข้าร่วมและกลับมาต่อสู้เรียกร้องใหม่ได้ โดยถือรัฐบาลที่ตัวเองเรียกร้องเป็นคู่สนทนาต่อรอง หลีกเลี่ยงการเมืองแบบแย่งชิงอำนาจ และเคลื่อนไหวเรียกร้องในขอบเขตประชาธิปไตย

พันธมิตรฯ และ กปปส. เป็นองค์กรมวลชนขนาดใหญ่ระดับชาติ นอกจากอ้างว่ามีเป้าหมายเพื่อ “ส่วนรวม” อันสูงส่ง โค่นล้มรัฐบาลเพื่อสร้างสิ่งใหม่แล้ว ยุทธวิธีก็แตกต่างกัน กล่าวคือ สมัชชาคนจนใช้การขัดขวางท้าทายระบบการเมืองอย่างจำกัดเพื่อทำให้ความขัดแย้งเข้มข้นขึ้น (conflict intensification) ซึ่งจะส่งผลต่อการเข้าใจปัญหาความขัดแย้งที่เกี่ยวข้องในระดับโครงสร้างและการกดดันต่อรอง แต่กลุ่มพันธมิตร กปปส. ใช้ยุทธวิธีนี้เพื่อยกระดับความขัดแย้ง (conflict escalation) และใช้เงื่อนไขการปราบปรามทำการตอบโต้กลับให้ความรุนแรงบานปลายออกไป และโค่นล้มรัฐบาลที่เป็นศัตรูของตนในที่สุด

เมื่อเผชิญหน้ากับขบวนการแบบนี้ รัฐบาลไม่มีทางเลือกนัก หากไม่ยอมแพ้ทำตามข้อเรียกร้อง ซึ่งเป็นไปได้ยากเพราะมี “อำนาจรัฐ” เป็นเดิมพันและผู้เกี่ยวข้องมีจำนวนมาก ก็ต้องใช้กำลังยุติการเคลื่อนไหว ซึ่งมีความเสี่ยงต่อทั้งสองฝ่าย รัฐบาลเสี่ยงต่อการสูญเสียความชอบธรรม ผู้เข้าร่วมเสี่ยงต่อการบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ขบวนการแบบนี้จึงดูจะไม่ใส่ใจกับชีวิตเลือดเนื้อของผู้คนในขบวนการ มุ่งแต่จะโค่นล้มรัฐบาลโดยไม่คำนึงถึงผลร้ายแห่งความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นตามมา

ทั้งเป้าหมาย ลักษณะองค์กร ยุทธวิธี และความเข้าใจต่อฝ่ายตรงกันข้ามนี้ ส่งผลต่อความโน้มเอียงขององค์ประชาสังคมว่าจะอารยะหรือไม่ อย่างไร และทำให้สมัชชาคนจนแตกต่างกับ พันธมิตร และ กปปส.

ในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา ประชาสังคมไทยมีส่วนสำคัญต่อความเลวร้ายทางการเมืองที่เป็นอยู่ รวมทั้งความถดถอยของประชาธิปไตย จนยากที่จะปฏิเสธได้ การปล่อยให้ผู้นำขบวนการอนารยะนี้ มีหน้ามีตาที่ทางในประชาสังคมราวกับไม่เคยเกิดอะไรขึ้น ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด

หากมุ่งจะสร้างสังคมอารยะ อันดับแรก ต้องร่วมกันทัดทานขบวนการหรือแนวโน้มอนารยะที่ดำรงอยู่นี้เสีย อย่างน้อยก็ด้วยวัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์ ชี้ให้เห็นถึงความเสียหายในช่วงที่ผ่านมาและบทบาทของพวกเขา ทั้งต่อพวกเขาเอง-แม้คาดหวังความเปลี่ยนแปลงได้ยากเต็มที-และสาธารณะชนโดยรวม เพื่อให้ตระหนักถึงปัญหา สร้างความรู้และประสบการณ์ให้คนรุ่นหลัง และสอง ร่วมกันสร้างประชาสังคมที่ “มองคนอื่นในฐานะเพื่อนพลเมืองร่วมสังคมที่มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน ในแง่ของสิทธิและหน้าที่ในฐานะของสมาชิกของประชาสังคม” (ตามข้อเสนอ การเมืองแบบอารยะ ของ เอ็ดเวิร์ด ชิลส์)