วันศุกร์, กันยายน 14, 2561

สาเหตุไทย 'น่าละอาย' เป็นหนึ่งใน ๓๘ ประเทศละเมิดสิทธิมนุษยชน ขึ้นบัญชีสหประชาชาติปีนี้


ทำไมหลายประเทศจึง น่าละอาย ในสายตาขององค์การสหประชาชาติ รายงานประจำปี ๒๕๖๑ โดยเลขาธิการ อันโตนิโอ กูแตร์เรส ที่ระบุว่า ๓๘ ประเทศทั่วโลกเปื้อนมลทินในปีนี้

มีถึง ๒๙ ประเทศที่เพิ่งถูกประณามเป็นครั้งแรก โดยเฉพาะหนึ่งในนั้นคือประเทศไทย ซึ่งเนื่องมาจากสองกรณีในการละเมิดสิทธิมนุษยชน

กรณีหนึ่งนั้นเป็นการข่มเหงก้าวร้าวและขู่ฆ่าต่อนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวเขาเผ่าลาฮู ไมตรี จำเริญสุขสกุล ทั้งนี้จากการเดินทางไปค้นหาข้อเท็จจริงในประเทศไทยของคณะตัวแทนพิเศษสหประชาชาติเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๐

คณะตัวแทนเสนอรายงานเมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๐ แสดงความกังวลต่อสถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยไว้แล้วในครั้งนั้น

ต่อมาในเดือนสิงหาคม ปีเดียวกัน มีการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อ น.ส.ศิริกาญจน์ เจริญศิริ (ทนายจูน) ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนในข้อหาให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ ซึ่งเชื่อได้ว่าเกี่ยวเนื่องกับการที่เธอให้ความร่วมมือกับหน่วยงานสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ
 
ก่อนหน้านั้นทนายจูนยังถูกตั้งข้อหาเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ จากการที่เธอเป็นทนายต่อสู้ให้กับนักกิจกรรมและนักศึกษาที่เรียกร้องให้รัฐบาลคณะรัฐประหารคืนประชาธิปไตยให้แก่ประชาชน

“มันเป็นแนวโน้มที่ก่อความรำคาญใจเป็นอย่างยิ่ง” รายงานประจำปีสหประชาชาติระบุในตอนหนึ่ง “จากการที่ (กรณีรัฐบาลทหารไทย เป็นอาทิ) ใช้ข้ออ้างเรื่องความมั่นคงของชาติ และยุทธศาสตร์ต่อต้านการก่อการร้าย มาเป็นเหตุผลเพื่อสกัดกั้นชุมชนและองค์การมหาชนเพื่อสังคม ได้ประสานงานกับสหประชาชาติ”

ผู้ช่วยเลขาธิการยูเอ็นด้านสิทธิมนุษยชน แอนดรูว์ กิลมัวร์ ซึ่งจะเป็นผู้แถลงรายงานประจำปีดังกล่าวนี้อย่างเป็นทางการต่อที่ประชุมสมัชชาสิทธิมนุษยชนในสัปดาห์หน้า (๑๙ กันยายน) กล่าวว่าตัวอย่างในการประพฤติละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐอย่างน่ารำคาญที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงจุดย่อยที่ปลายยอดภูเขาน้ำแข็ง

“เรายังได้เห็นการใช้กฎหมาย สิ่งกีดขวางทางการเมืองและระบบราชการ เพื่อที่จะข่มเหงและปิดปากองค์การมหาชนเพื่อสังคม”


นายกูแตร์เรสกล่าวในการแถลงรายงานเมื่อ ๑๒ กันยายนนี้ด้วยว่า “ทั้ง ๓๘ ประเทศมีการปฏิบัติที่ไม่ดีต่อนักสิทธิมนุษยชน หรือผู้ที่ให้ความร่วมมือกับกลุ่มสิทธิมนุษยชน

มีการเฝ้าระวัง การตั้งข้อหาในคดีอาญา และการลงโทษนักรณรงค์ในที่สาธารณะ มีการแก้แค้น ข่มขู่ คุกคาม หรือจับกุม บางกรณีถึงขั้นยัดข้อหาคดีอาญา...

โลกเป็นหนี้นักสิทธิมนุษยชนเหล่านี้  และว่าการลงโทษผู้ที่ให้ความร่วมมือกับสหประชาชาติ ถือเป็นการปฏิบัติที่น่าละอาย”

รายชื่อ ๒๙ ประเทศเพิ่งถูกขึ้นบัญชี น่าละอาย ของสหประชาชาติในปีนี้ได้แก่ “บาห์เรน แคเมอรูน จีน โคลอมเบีย คิวบา สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก จิบูตี อียิปต์ กัวเตมาลา กายอานา ฮอนดูรัส ฮังการี อินเดีย อิสราเอล คีร์กีสถาน มัลดีฟส์ มาลี โมร็อกโก เมียนมา ฟิลิปปินส์ รัสเซีย รวันดา ซาอุดีอาระเบีย ซูดานใต้ ไทย ตรินิแดดและโตเบโก ตุรกี เติร์กเมนิสถาน และเวเนซุเอลา”