วันพุธ, กันยายน 19, 2561

กับคนเดือนตุลา ณัฐวุฒิ รุ่งวงษ์ รำพึงถึง '๑๖ ตุลา' ใช่ เขียนไม่ผิด ๑๖ ตุลา

เมื่อเดือนตุลาใกล้จะมาถึง มาฟังคนคุ้นๆ รำพึงถึงอดีตที่มีทั้ง ยากจะลืม และยิ่งต้องจำ...จาก

ณัฐวุฒิ รุ่งวงษ์ added 3 new photos.


คนยุค 16 ตุลา...? -ในระยะใกล้ๆนี้ผมได้มีโอกาสพบสนทนากับพี่ๆ คนเดือนตุลา เลยมีโอกาสสอบถามกันตามธรรมเนียม
ก่อนที่น้าหว่อง คาราวาน มงคล อุทก จะถึงแก่กรรมในวัย 67 ปีไปไม่นาน ผมได้ตั้งข้อสังเกตุกับน้าหว่องว่า ทำไมคนเดือนตุลาจึงได้แยกสายไป 2 ทาง กล่าวคือพวกผ่านเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 มีแนวโน้มจะมีทัศนะไปทางเสื้อเหลือง ส่วนพวกผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 มีแนวโน้มเป็นพวกเสื้อแดง?
น้าหว่องว่า ข้อสังเกตนี้น่าสนใจ และชี้ว่า "พวกผ่าน 6 ตุลา 2519 เขาปักใจว่าทางผู้ใหญ่ในบ้านเมืองทำร้่ายเขาในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 แต่อย่างพวกผมผ่าน 14 ตุลา 2516 มา ไม่ได้รู้สึกว่าถูกทำร้าย เวลาเดินขบวน 14 ตุลาก็มีริ้วขบวนพระฉายาลักษณ์...แม้แต่ภายหลังเข้าป่าไปแล้ว ก็ไม่ได้พูดกันอะไรมากในบางเรื่อง"

ส่วนน้าหงา คาราวาน สุรชัย จันทิมาธร วัย 70 ปีบอกว่า ถึงทัศนะนโยบายต่างกัน แต่ก็ยังมองเห็นความเป็นมนุษย์กันอยู่ อย่างบ้านของน้าหงาก็อยู่ในหมู่บ้านเดียวกับ ดร. สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตผู่นำนักศึกษายุค 6 ตุลา 2519 ตอนนี้ลี้ภัยในต่างประเทศ ชอบเลี้ยงหมาเหมือนกัน เคยฝากให้กันและกันดูแลหมา ตามประสาคนรักหมาเหมือนกัน แม้ทัศนะทางการเมืองไปคนละเรื่องกัน
น้าหงาว่า หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 มา เจ้าของบ้านนั้นไม่อยู่ ไปต่างประเทศ บ้านนั้นเงียบร้าง คนก็ไม่อยู่ หมาก็ไม่มี ตอนอาจารย์สมศักดิ์ออกจากเมืองไทยหลังรัฐประหารไปไม่นาน ยังเห็นภรรยามาเฝ้าบ้านอยู่ ต่อมาวันหนึ่งได้ยินเสียงภรรยาของดร.สมศักดิ์ร้องไห้ดังลั่น มาทราบว่า เพราะความเศร้าเสียใจที่หมาตาย..
ตอนนี้อาจารย์สมศักดิ์ก็มาล้ม ฟังว่าเป็นอัมพาต ก็น่าเห็นใจในฐานะคนคุ้นเคยกัน
ผมถามว่า บก. เครางาม สุชาติ สวัสดิ์ศรี คอยเขียนถึงน้าอยู่เป็นระยะๆ เรื่องจุดยืนทัศนะทางการเมือง ทำไมเงียบๆ ไม่ออกมาอธิบายชี้แจง หรือตอบไปบ้าง?
น้าบอกว่า ได้อ่านตลอดที่เขียนมาถึง แต่ก็ให้ผ่านไป ต้องอ่านแบบขำๆ แล้วข้ามไป ไม่คิดโต้ตอบอะไร?
...
ก่อนนี้ซักเดือนก่อน ผมได้สนทนากับ ดร.ธงชัย วินิจกูล วัย 61 ปี อดีตผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ตอนนี้เกษียณอายุจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน USA มาเป็นนักวิชาการสถาบันพัฒนาเศรษฐกิจ JETRO ประเทศญี่ปุ่น โดยขอเวลาทำงานหนังสือเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เป็นหลัก
อาจารย์ธงชัยกล่าวถึง อะไรที่เรียกกันรวมๆ ว่า ”ปรากฏการณ์ 16 ตุลาในสังคมไทย” (ผมเขียนไม่ผิดหรอกครับ 16 ตุลา...)
อาจารย์ธงชัยอธิบายว่า ปรากฎการณ์ที่มักเรียกกันว่า "เหตุการณ์ 16 ตุลาคม" นั้น ในความรับรู้ของคนรุ่นหลัง หรือแม้แต่คนที่ทันร่วมสมัย แต่บิดเบี้ยวผิดเพี้ยนไป
นั้นก็คือ คนไทยมีความทรงจำสับสนปนเป ระหว่างเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 กับ 6 ตุลาคม 2519 โดยมักจะลำดับเรื่องว่า นักศึกษาเป็นพระเอกมาขับไล่รัฐบาลเผด็จการทรราชย์ แล้วโดนปราบปรามเข่นฆ่า ในตอนท้ายในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงออกมายุติเหตุการณ์วิปโยคให้สงบลง
"โดยที่เรื่อง 16 ตุลานี้ ทุกฝ่ายก็เป็นพระเอกกันหมด เนื้อเรื่องของเหตุการณ์ 16 ตุลานี้มีทหารเป็นผู้ร้ายอยู่ฝ่ายเดียว.." อาจารย์ธงชัยกล่าว
....
คนรุ่นพี่เราๆ ที่เรียกกันว่าคนเดือนตุลานี่ก็อายุอานามกันตามสมควร อย่างอาจารย์ธงชัย อาจารย์สมศักดิ์ 61 ปี บางคนก็ล้มป่วย ยังดีที่บางคนอย่างอาจารย์ธงชัยยังสบายดี...คนรุ่น 14 ตุลาอย่างน้าหว่องวัย 67 เพิ่งจากไป คนวัย 70 อย่างน้าหงายังอยู่ร้องเพลง เล่าเรื่องให้เราฟัง
ซึ่งเอาไปเอามามันก็ไหลมาบรรจบกันตรงเหตุการณ์ 16 ตุลานี่แหละ จะได้ Happy Ending แบบไทยๆ



(หมายเหตุ ณัฐวุฒิ รุ่งวงษ์ เป็นหัวหน้าผู้บริหารหลักของบริษัท ต้นธาร -ที่ปรึกษาการลงทุนและหลักทรัพย์ -https://www.facebook.com/natsetcall?hc_ref=ARTvE

เคยทำงานสื่ออย่างช่ำชองทั้งในกระแสหลักและทางเลือก ปัจจุบันมุ่งมั่นช่วย 'นักเล่นหุ้น' ให้ร่ำให้รวยไม่ว่าสภาพเศรษฐกิจ/การเมืองจะเป็นอย่างไร อนาคตทุกอย่างหวังได้ถึงจะไม่แน่ แต่เวล่ำเวลายังมีอีกนาน)