วันเสาร์, เมษายน 15, 2560

จาก “สถานกาแฟนรสิงห์” ถึง “หมุดคณะราษฎร”... นาทีปฏิวัติ ๒๔๗๕ : อยากรู้ “ย่ำรุ่ง” คือกี่โมง, พระยาพหลฯ ยืนอ่านประกาศตรงไหน, อ่านอะไรแน่?



นาทีปฏิวัติ ๒๔๗๕ : อยากรู้ “ย่ำรุ่ง” คือกี่โมง, พระยาพหลฯ ยืนอ่านประกาศตรงไหน, อ่านอะไรแน่?


ที่มา นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2555
โดย ปรามินทร์ เครือทอง
15 เมษายน พ.ศ.2560


กุหลาบ สายประดิษฐ์ เขียนเรื่อง “เบื้องหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕” ลงใน หนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนมิถุนายน ปี ๒๔๘๔ จำนวน ๑๖ ตอน โดยอาศัยข้อมูลส่วนหนึ่งจากการสัมภาษณ์ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง บวกกับตอนที่ ๑๗ เป็นการสัมภาษณ์ พลตรี พระประศาสน์พิทยายุทธ อีกหนึ่งตอน เมื่อมีการพิมพ์รวมเล่มครั้งแรกในปี ๒๔๙๐

เบื้องหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕ ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการปฏิบัติการยึดอำนาจของคณะผู้ก่อการฯเกือบจะทุกแง่มุม เรารู้แม้กระทั่งว่าคืนวันที่ ๒๓ มิถุนายน พระยาพหลฯ เข้านอนตอนตี ๒ และหลับสนิท แม้ว่าวันรุ่งขึ้นคือวันคอขาดบาดตายของตัวเองก็ตาม[1]

นอกจากนี้ยังได้บอกเล่าเหตุการณ์เบื้องหน้าเบื้องหลัง นับตั้งแต่ “ฝ่ายทหาร” มีแนวคิดในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แล้วลำดับเหตุการณ์เรื่อยมาสู่ขั้นตอนวางแผน จนกระทั่งถึงวัน “เอาจริง” ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕

แต่พอถึงวินาทีสำคัญที่สุดของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คือตอนที่พระยาพหลฯ ควักกระดาษออกมาอ่านประกาศยึดอำนาจปรากฏว่า เบื้องหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕ และหนังสือเล่มอื่นๆ ข้ามรายละเอียดตรงนี้ไปอย่างน่าเสียดาย

ไม่มีรายละเอียดเรื่องนี้ ไม่มีภาพถ่าย[2] ไม่มีคำบอกเล่าที่ชัดเจน ในวินาทีที่สยามเปลี่ยนแปลงการปกครอง

เลยไม่รู้ว่าวินาทีนั้นหรือก่อนหน้านั้น เกิดอะไรขึ้นบ้าง โดยเฉพาะตำแหน่ง “จุดยืน” ที่แท้จริงของพระยาพหลฯ ขณะอ่านประกาศยึดอำนาจอยู่ตรงไหน หันหน้าไปทางไหน เหล่าทหารยืนฟังอยู่ทางด้านไหนของลานพระบรมรูปทรงม้า อ่านประกาศเวลา “ย่ำรุ่ง” คือเวลากี่โมงกี่นาที และอ่านอะไร?

แม้จะไม่ใช่ “สาระสำคัญ” ทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย แต่ก็เป็นรายละเอียดที่ “อยากรู้” ได้เหมือนกัน

เวลา “ย่ำรุ่ง” คือกี่โมงกันแน่?

เพื่อค้นหาคำตอบนี้ เราจึงตามไปดูการปฏิบัติงานของฝ่ายทหาร และเริ่มจับเวลาตั้งแต่ฝ่ายทหารตื่นนอน ราวๆ ตี ๓ อาบน้ำแต่งตัว กินอาหารเช้า พร้อมออกปฏิบัติการยึดอำนาจ

ตี ๔ นายพันเอก พระยาทรงสุรเดชอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาทหาร กรมยุทธศึกษาทหารบก กับนายทหาร ๓ นาย พร้อมกันที่บ้านพระยาทรงฯ ซักซ้อมแผนการก่อนออกเดินทางไปยัง “ตำบลนัดพบ”[3]

ตี ๔ ครึ่ง นายพันโท พระประศาสน์ฯ ผู้อำนวยการแผนกโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ขับรถไปรับ นายพันเอก พระยาพหลฯ ที่บ้านบางซื่อ ก่อนจะเดินทางไปยังตำบลนัดพบ[4]

ตี ๕ พระยาทรงฯ มาถึงตำบลนัดพบที่ ๔ แยกตัดทางรถไฟ ห่างจากบ้านพระยาทรงฯ ที่บางซื่อ ประมาณ ๒๐๐ เมตร เพื่อพบกับคณะนายทหารผู้ร่วมก่อการฯ ฝ่ายทหาร

พระยาทรงฯ ในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายทหาร สั่งดำเนินการตามแผนทันที คือบุกยึดคลังอาวุธที่กรมทหารม้าที่ ๑ รักษาพระองค์ โดยต้องทำการก่อนเวลาเป่าแตรปลุกทหารเวลา ตี ๕ ครึ่ง

ตี ๕ ครึ่ง คณะผู้ก่อการบุกถึงกรมทหารม้าที่ ๑ รักษาพระองค์ พระยาพหลฯ นำกำลังเข้าตัดโซ่กุญแจคล้องคลังอาวุธ นำอาวุธปืนและหีบกระสุนออกมา พระประศาสน์ฯ เข้ายึดรถรบ รถยนต์หุ้มเกราะ และรถบรรทุก พร้อมกำลังทหารม้าเป็นผลสำเร็จ

ทั้งหมดเคลื่อนกองกำลังไปยัง กรมทหารปืนใหญ่ที่ ๑ รักษาพระองค์ อยู่ห่างกันประมาณ ๑๐ นาที มี นายพันเอก พระยาฤทธิ์อัคเนย์ เป็นผู้บังคับการกรม ซึ่งเตรียมการจัดกำลังทหารและอาวุธรออยู่ก่อนแล้วประมาณ ๑๕ นาที

เมื่อกองกำลังจากกรมทหารม้า เดินเท้ามาถึง กรมทหารปืนใหญ่ พระยาทรงฯ ออกคำสั่งให้ทหารจากกรมทหารม้า ขึ้นรถบรรทุกของกรมทหารปืนใหญ่ซึ่งจอดรออยู่แล้วโดยพลัน

ขณะนี้กองกำลังผสมของผู้ก่อการฯ ประกอบด้วย ทหารม้า ทหารปืนใหญ่ ที่มีทั้งกำลังทหาร และอาวุธยุทโธปกรณ์ หนักเบา มุ่งหน้าสู่ลานพระบรมรูปทรงม้า แต่ขณะผ่านกองพันทหารช่าง พระยาพหลฯ เพียงแค่ตะโกนเรียกและกวักมือ ทหารช่างที่กำลังฝึกอยู่หน้ากองพัน ก็กระโดดขึ้นรถตามมาด้วย โดยไม่ทราบวัตถุประสงค์ที่แท้จริง

ขบวนทหารของกองกำลังของคณะผู้ก่อการฯ นำขบวนด้วย “ไอ้แอ้ด” รถถังขนาดเล็กจากกรมทหารม้า ตามด้วยรถบรรทุกทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ ปิดท้ายด้วยกองพันทหารช่าง[5] ใช้เส้นทางผ่านสะพานแดง ถนนพระราม ๕ เลี้ยวหน้าวัดเบญจมบพิตร เข้าถนนศรีอยุธยา มุ่งหน้าลานพระบรมรูปทรงม้า

๖ โมง ๕ นาที กองกำลังหลักถึงลานพระบรมรูปทรงม้า ช้ากว่าเวลานัดหมายหน่วยอื่น ๕ นาที[6]

ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า มีกองพันพาหนะทหารเรือ นำโดย นาวาตรี หลวงสินธุสงครามชัย ร.น. มาตรงตามเวลานัด ๖ โมงตรง นอกจากนี้ยังมีกำลังจากนักเรียนโรงเรียนนายร้อยทหารบก โดยมี นายพันโท พระเหี้ยมใจหาญ ผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยทหารบก กำกับมา ส่วนกองพันทหารราบที่ ๑๑ ของ นายพันตรี หลวงวีระโยธา ซึ่งกำลังฝึกทหารอยู่ที่ท้องสนามหลวงนั้น ถูกหลอกให้ตาม พระประศาสน์ฯ มาภายหลัง

“ทหารทั้งปวงที่มาชุมนุมอยู่ ณ ลานพระบรมรูปทรงม้าในวันนั้น ต่างได้มาโดยมิรู้ว่า กำลังมีการปฏิวัติเพื่อยึดอำนาจการปกครองจากพระราชาของตน”[7]

นอกจากนี้ยังมีความเคลื่อนไหวของฝ่ายพลเรือน ที่เริ่มกันตั้งแต่เที่ยงคืน เช่น การควบคุมหัวรถจักรรถไฟ การเฝ้าสังเกตการณ์ตามบ้านเจ้านายและบุคคลสำคัญ เพื่อ “ล็อก” ไม่ให้ติดต่อสังการใดๆ ได้ ซึ่งน่าจะเป็นหัวใจสำคัญ ที่ทำให้การก่อการครั้งนี้สำเร็จ โดยปราศจากการต่อต้าน

ทางด้านอื่นๆ มีการปฏิบัติงานในกลุ่มของหลวงโกวิทย์อภัยวงศ์ ทำหน้าที่ยึดกรมไปรษณีย์โทรเลข และตัดสายโทรศัพท์ ในเวลา ตี ๔ ตรง ส่วนหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ลอยเรืออยู่ในคลองวัดบวรนิเวศวิหาร เพื่อรอเวลาแจกใบปลิว “ประกาศคณะราษฎร” แก่ประชาชน ซึ่งหากทำการไม่สำเร็จก็จะนำใบปลิวนั้นทิ้งลงในน้ำทันที

เป็นอันว่ากองกำลังของคณะผู้ก่อการฯ มาชุมนุมพร้อมกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้า มีกำลังทหาร และอาวุธพร้อมรบ เป็นที่เรียบร้อยโดยตลอด เมื่อเวลา ๖ โมง ๕ นาที การประกาศยึดอำนาจขั้นสุดท้ายพร้อมแล้ว

แต่…“ครั้นแล้วพอได้เวลา ๗.๐๐ น. พ.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าของคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้อ่านประกาศยึดอำนาจเสียงสนั่นดังลั่น มีนายทหารของคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง ทั้งทหารบก ทหารเรือ กระจายกันคุมเชิงอยู่รอบๆ ในที่สุด เมื่อได้อ่านคำประกาศสุดสิ้นแล้ว ก็ได้เปล่งเสียงไชโยกึกก้อง แล้วก็นำขบวนเข้างัดพระทวารด้านหน้าของพระที่นั่งอนันตสมาคม จัดเป็นความสำเร็จเบื้องต้น ของคณะฝ่ายทหารที่ทำการยึดอำนาจ”[8]

เป็นอันว่า พระยาพหลฯ หัวหน้าคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง อ่านประกาศยึดอำนาจ เมื่อเวลา ๗ โมงตรง ตามบันทึกของ พลโท ประยูร ภมรมนตรี ซึ่งไปปฏิบัติการยึดสถานีโทรศัพท์กลาง วัดเลียบ ตั้งแต่ ตี ๔ แต่ใช้เวลาเพียง ๑๕ นาที ก็สำเร็จภารกิจ และเป็นไปได้ว่า พลโท ประยูร ภมรมนตรี อาจจะเดินทางไปสบทบกับคณะทหารที่ลานพระบรมรูปทรงม้า และ “อยู่ในเหตุการณ์” ที่ พระยาพหลฯ อ่านประกาศยึดอำนาจ เพราะเป็นผู้รับเสด็จ สมเด็จฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตที่พระที่นั่งอนันตสมาคม เวลา ๘ โมงตรง[9] และบันทึกของ พระยาฤทธิอัคเนย์ ก็ยืนยันว่า “พวกก่อการฝ่ายพลเรือนก็มีไปรวมอยู่ ณ ที่นั้นบ้าง”[10]

น่าเสียดายที่คณะทหาร “พกปืน” ไม่พกกล้อง เราจึงไม่มี “ช็อตเด็ด” ในวินาทีที่สำคัญที่สุดของสยามประเทศ ในขณะที่บันทึกของ “๔ ทหารเสือ” ก็ไม่ได้บรรยายถึงบรรยากาศและรายละเอียดขณะนั้น เราจึงไม่ทราบอยู่ดีว่า พระยาพหลฯ หยิบประกาศยึดอำนาจ ออกจากกระเป๋าหรือกระเป๋ากางเกง ขณะอ่านประกาศหันหน้าไปทางไหน พระบรมมหาราชวัง พระที่นั่งอนันตสมาคม สนามเสือป่า หรือพูดกับพระบรมรูปทรงม้า เพราะทั้งหมดนั้นคือ “สัญลักษณ์” แห่งระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ทั้งสิ้น

มีเพียง “ข้อสันนิษฐาน” ว่า พระยาพหลฯ น่าจะยืนอยู่ทางด้านซ้ายของพระบรมรูปทรงม้า อันเป็นตำแหน่งที่มีหมุดทองเหลืองของคณะราษฎรฝังอยู่กับข้อความ “๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เวลาย่ำรุ่ง ณ ที่นี้คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ”

ซึ่งก็ไม่รู้แน่ว่า “ณ ที่นี้” หมายถึง “จุด” ที่พระยาพหลฯ ยืนอยู่ หรือหมายถึง “บริเวณ” ลานพระบรมรูปทรงม้าทั้งหมด

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องเวลา “ย่ำรุ่ง” ว่าหมายถึงเวลาที่เหล่าทหารกองผสมมาพร้อมกันตอน ๖ โมง ๕ นาที หรือเวลา ๗ โมงตรง ที่พระยาพหลฯ เริ่มอ่านประกาศยึดอำนาจ อันเป็นวินาทีแห่งการเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพราะ “ชาวโหร” เมืองไทย นิยมเอาเวลา ตี ๕ หรือ ๖ โมงตรงเป็นหลัก

แต่หากพิจารณาจากคำ “ย่ำรุ่ง” แล้ว คณะราษฎรอาจจะมีเจตนาที่จะสื่อถึง “แสงแรก” แห่งระบอบรัฐธรรมนูญ หรือ “ฟ้าใหม่” ที่อำนาจการปกครองเป็นของประชาชน ซึ่งน่าจะหมายถึงเวลาแห่งการชุมนุมโดยพร้อมเพรียงของทหารกองผสมเมื่อเวลา ๖ โมง ๕ นาที เพราะเวลา ๗ โมงเช้านั้น น่าจะเกินเวลา “ย่ำรุ่ง” ไปแล้ว

ดังนั้น เวลา “ย่ำรุ่ง” ที่ปรากฏในหมุดทองเหลืองของคณะราษฎร น่าจะหมายถึงเวลา ๖.๐๕ น. นั่นเอง

ยังข้อน่าสงสัยอีกข้อหนึ่งคือ เมื่อเวลา ๖ โมง ๕ นาที เหล่าทหารกองผสมมาชุมนุมพร้อมกันแล้ว เหตุใดพระยาพหลฯ ต้องรอจนถึง ๗ โมงตรง จึงเริ่มอ่านประกาศ

เกิดอะไรขึ้นในช่วงเวลาที่หายไป ๕๕ นาที

สงสัยคณะทหารรออะไร?

เหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นแน่ๆ หลังเวลา ๖ โมง ๕ นาที คือการจัดแถวทหาร จัดเตรียมอาวุธให้อยู่ในสภาพเตรียมพร้อม และวางแนวป้องกันการตอบโต้จากฝ่ายรัฐบาล ซึ่งก็คงต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า ๓๐ นาที

แต่สิ่งสำคัญกว่านั้นคือการ “รอ” ผลการปฏิบัติงานของทีม “จับตัวประกัน” ของพระประศาสน์ฯ

หลังจากเวลา ๖ โมง ๕ นาที รถเกราะปิดท้ายขบวนทหารของพระประศาสน์ฯ ที่เคลื่อนพลมาจากกรมทหารปืนใหญ่ มาถึงลานพระบรมรูปทรงม้า พระยาทรงฯ “ผู้อำนวยการฝ่ายทหาร” ก็มีคำสั่งทันที

“พระประศาสน์ฯ ไปจับกรมพระนครสวรรค์ฯ พระยาสีหราชเดโชชัย และพระยาเสนาสงคราม”[11]

สมเด็จฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เวลานั้นทรงมีอำนาจเป็น “เบอร์ ๒” ของประเทศ ขณะที่มีการปฏิวัติ ทรงเป็นผู้รักษาพระนคร เนื่องจาก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแปรพระราชฐานไปหัวหิน นอกจากนี้ยังทรงเป็น ประธานอภิรัฐมนตรี เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ ๑ รักษาพระองค์ และอื่นๆ ส่วน นายพลโท พระยาสีหราชเดโชชัย เวลานั้นเป็นเสนาธิการทหารบก “เสือร้ายที่สุดของทหาร” และ นายพลตรี พระยาเสนาสงคราม เป็นผู้บัญชาการกองพลที่ ๑ รักษาพระองค์

บุคคลทั้ง ๓ มีส่วนชี้เป็นชี้ตายในการปฏิวัติครั้งนี้อย่างยิ่ง เพราะเป็นผู้บังคับบัญชาหน่วยทหารในพระนครพระประศาสน์โดยใช้เวลาเจรจาต่อรองพอสมควร ก่อนจะควบคุมตัวสมเด็จฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ที่วังบางขุนพรหมมาได้ โดยไม่ให้เวลาเปลี่ยนเครื่องทรง จากนั้นก็มุ่งหน้าไปบ้านพระยาสีหราชเดโชชัย ใกล้วัดโพธิ แล้วก็ทำสำเร็จโดยไม่มีการขัดขืนต่อสู้แต่อย่างใด

ขาดแต่ พระยาเสนาสงคราม ซึ่งบ้านอยู่ไกลและนอกเส้นทางปฏิบัติงาน หากต้องเดินทางไปอาจจะทำให้กลับไปลานพระบรมรูปทรงม้าไม่ทันเวลานัดหมาย ซึ่งพระยาประศาสน์มีเวลาปฏิบัติการ “จับตัวประกัน” ทั้งหมดไม่เกิน ๑ ชั่วโมง

แต่สุดท้ายพระยาเสนาสงครามก็ถูก “ทีมสำรอง” ควบคุมตัวได้ แต่พระยาเสนาสงครามขัดขืนต่อสู้จึงถูกยิงบาดเจ็บต้องนำตัวส่งโรงพยาบาล นับเป็นคนเดียวในการก่อการครั้งนี้ที่ได้รับบาดเจ็บ

ภารกิจจับตัวประกันสำเร็จแล้ว พระประศาสน์ฯ ก็รีบมุ่งหน้าสู่ลานพระบรมรูปทรงม้า ตามแผนที่จะนำตัวประกันไปกักไว้ในพระอนันตสมาคม

“กรมพระนครสวรรค์ฯ และพระชายา ขึ้นไปบนพระที่นั่งอนันตสมาคม และรีบจัดที่ประทับอันสมควรถวาย แต่ควบคุมไว้อย่างเด็ดขาด เพื่อมิให้การนองเลือดมีขึ้นได้ เจ้าคุณพหลฯ ก็ประกาศเปลี่ยนการปกครองแผ่นดิน…”[12]

สรุปว่าเวลาที่หายไปราว ๕๕ นาทีนั้น คณะผู้ก่อการกำลังใจจดใจจ่ออยู่กับการ “จับตัวประกัน” ซึ่งถือว่าเป็นช่วง “อันตราย” มากที่สุดต่อแผนการก่อการครั้งนี้ และหากแผนการจับตัวประกันผิดพลาด ก็หนีไม่พ้นการนองเลือดอย่างแน่นอน

ระหว่าง “รอ” พระยาพหลฯ ทำอะไร?

เวลา ๕๕ นาที ในสถานการณ์ “ปฏิวัติ” ย่อไม่ใช่เวลาที่คณะผู้ก่อการ “หลับเอาแรง” แน่ บางท่านคงจะวุ่นวายในการตรวจความพร้อมของแนวป้องกัน ประชุมซักซ้อมแผนการ บางท่านอาจจะอยู่ในอาการ “ตื่นระทึก”

มีหลักฐานชี้ว่าระหว่าง “รอ” นั้น พระยาพหลฯ พักอยู่บริเวณหัวมุมสนามเสือป่า ด้านซ้ายมือของพระบรมรูปทรงม้า อันเป็น “สถานกาแฟนรสิงห์”

“แต่ในระหว่างบรรยากาศของความขมุกขมัวนั้นเอง นายพันเอกร่างอ้วนอุ้ยอ้าย ดำจ้ำม่ำ ในเครื่องแบบทหารปืนใหญ่รักษาพระองค์ สวมท๊อปบู๊ทและเหน็บคอลท์รีวอลเวอร์ที่บั้นเอว ก็ก้าวออกมาจากร่มเงาของต้นโศก ที่กำลังมีดอกงามบานสพรั่งอยู่หน้า ‘กาแฟนรสิงห์’ ใบโศกยังมีหยาดเม็ดฝนเกาะอยู่จากพระพิรุณเมื่อราตรีที่แล้ว”[13]

“สถานกาแฟนรสิงห์” ที่พักรอของพระยาพหลฯ อยู่บริเวณหัวมุมสนามเสือป่า ด้านซ้ายของพระบรมรูปทรงม้า ตั้งขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อให้เป็นที่จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม อยู่ในสังกัดกรมมหรสพ ซึ่งใช้ตรา “นรสิงห์” เป็นตราประจำกรม มาเป็นชื่อและตราประจำร้าน

“สถานกาแฟนรสิงห์ ซึ่งรัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ตั้งขึ้นเป็นที่จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนในยามว่าง ตัวอาคารปลูกสร้างงดงามมาก สถานที่สะอาดโอ่โถง มีสนามหญ้าตั้งโต๊ะเก้าอี้เต็มไปหมด เครื่องใช้สอยต่างๆ เช่น จาน ชาม ช้อนส้อม แก้วน้ำ ถ้วยชา ผ้าปูโต๊ะ มีตรานรสิงห์สีเขียวประทับอยู่ทุกชิ้น ล้วนแต่สั่งมาจากต่างประเทศทั้งสิ้น โดยมากฝรั่งนิยมชมชอบไปพักผ่อนกันมาก”[14]

“สถานกาแฟนรสิงห์” เป็นที่พบปะชุมนุมของ “คนมีระดับ” ในสมัยนั้น รวมถึงหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ที่อย่างน้อยครั้งหนึ่งเคยใช้เป็นที่นัดพบกับ นายร้อยโท ประยูร ภมรมนตรี ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองเล็กน้อย เพื่อแนะนำหลวงอรรถกิจกำจร น้องชายหลวงประดิษฐ์มนูธรรมให้รู้จัก เพื่อเข้าร่วมเป็นผู้ก่อการฯ

แต่ “สถานกาแฟนรสิงห์” ในระยะแรกต้องประสบกับการขาดทุนอย่างหนัก เนื่องจาก “ผู้มีฐานะดี” มักนิยม “เซ็นเชื่อ” ด้วยลายมือที่อ่านไม่ออก จึงไม่สามารถตามเก็บเงินได้

ต่อมาจึงมีการแต่งตั้ง พระเจนดุริยางค์ หัวหน้ากองดนตรีฝรั่งหลวง สังกัดกรมมหรสพ เป็นผู้อำนวยการ และมี ขุนพิสิฐนนทเดช หัวหน้าแผนกบัญชีและพัสดุ เป็นผู้จัดการร้าน กิจการจึงกลับมาเจริญรุ่งเรืองอีกครั้งด้วยนโยบายวางป้าย “จ่ายสด” ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษทุกโต๊ะ

ในวันเสาร์และอาทิตย์ ช่วงเวลา ๕ โมงเย็น ถึง ๑ ทุ่ม “สถานกาแฟนรสิงห์” จะมีการบรรเลงเพลงโดยพระเจนดุริยางค์เป็นผู้อำนวยการเพลง เป็นร้านอาหารแห่งแรกในสยามที่เปิดการเต้นรำและมีเบียร์สดจากเยอรมันจำหน่าย ด้านอาหารเน้นอาหารฝรั่ง ส่วนขนมหวานรับมาจากวังเจ้านาย มีไอศกรีมผลิตจากน้ำกลั่นจากต่างประเทศเท่านั้น

ช่วงรุ่งเรืองของ “สถานกาแฟนรสิงห์” โดยเฉพาะในวันที่เปิดการเต้นรำ จะมีรถยนต์มากถึง ๒๐๐ คัน จอดเต็มลานตั้งแต่หน้าร้านไปจนถึงหน้าพระบรมรูปทรงม้า ถึงกับมีคนกล่าวว่า “ถ้าผู้ใดไม่เคยไปต่างประเทศ ถ้าได้ไปที่กาแฟนรสิงห์นี้แล้ว ก็เหมือนไปต่างประเทศ”

สุดท้ายหลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กรมมหรสพถูกยุบ “สถานกาแฟนรสิงห์” ถูกโอนให้กรมรถไฟ ขุนพิสิฐนนทเดชไม่รับเป็นผู้จัดการต่อ ไม่นานก็ต้องเลิกกิจการกลายเป็นตำนานไป

แต่ขณะเกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง “สถานกาแฟนรสิงห์” ยังไม่ได้เลิกกิจการ ส่วนขุนพิสิฐนนทเดช ผู้จัดการร้าน ก็ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อการฯ แต่อย่างใด เพราะขณะนั้นไปรับราชการเป็นพะทำมะรง สังกัดกรมพลำภังค์ อยู่ต่างจังหวัด[15]

ดังนั้นขณะเวลา “ย่ำรุ่ง” ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน “สถานกาแฟนรสิงห์” ยังไม่เปิดร้าน คณะผู้ก่อการฯ จึงไม่สามารถเข้าไปนั่ง “จิบกาแฟ” ขณะรอทีมจับตัวประกัน เพียงแต่อาศัยร่มไม้โศกหน้าร้านเป็นที่รอ ซึ่งไม่เป็นปัญหาอะไรเพราะพระยาพหลฯ ได้จิบโกโก้ร้อนมาแล้วหนึ่งถ้วยก่อนออกจากบ้าน

จาก “สถานกาแฟนรสิงห์” ถึง “หมุดคณะราษฎร”

“การก้าวออกมาจากร่มเงาของต้นโศกที่มืดครึ้มอยู่ในขณะนั้น เขาได้ก้าวออกมาปรากฏตนท่ามกลางแถวทหาร พร้อมด้วยการอ่านแถลงการณ์ยืดยาว ซึ่งสรุปแล้ว คือการประกาศยึดอำนาจการปกครอง จากพระมหากษัตริย์พระองค์นั้นโดยสิ้นเชิง”[16]

หนังสือ ๑๐๐ ปี พระยาพหลฯ ได้ให้รายละเอียด บรรยากาศ และอารมณ์ เพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย แต่ไม่ได้อ้างอิงหลักฐานว่าได้มาจากที่ใด

“ครั้นถึงเวลาย่ำรุ่งเศษ นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ในเครื่องแบบยศตำแหน่งจเรทหารปืนใหญ่ ก็ก้าวจากใต้ต้นโศกด้านสนามเสือป่า ซึ่งยืนรออยู่ท่ามกลางนายทหารผู้ใหญ่ด้วยกัน ไปปรากฏตัวเบื้องหน้าแถวทหาร โดยมีผู้บอกทำความเคารพแล้ว ก็คลี่กระดาษออกมาอ่านด้วยเสียงอันดัง แต่มิได้ขึ้นต้นแบบทักทหารเหล่านั้นเลย เพราะฝ่ายพลเรือนเขียนให้อย่างนั้น”[17]

นักหนังสือพิมพ์ทั้งสองท่านที่เขียนเล่าเหตุการณ์ “วันปฏิวัติ” นี้อาจจะไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์จริง แต่อาศัยคำบอกเล่าและการสัมภาษณ์เป็นพื้น จึงอาจมีการ “เติมสีสัน” เข้าไปเจือปนบางส่วน

ต่างจากบทสัมภาษณ์ของ พระยาฤทธิอัคเนย์ ผู้อยู่ในเหตุกาณ์ตอนนั้น มีรายละเอียดชัดเจนเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย

“เมื่อเห็นกำลังทหารหน่วยต่างๆ พากันพรั่งพร้อมสมความมุ่งหมายแล้ว พระยาพหลฯ ก็เริ่มดำเนินงานตามแผนทันที โดยเรียกประชุมบรรดาผู้บังคับบัญชาทางทหารทั้งหมด ให้ไปประชุมพร้อมกันที่กลางลานพระบรมรูปทรงม้า เบื้องหน้าอนุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราช ทหารที่มารวมกันอยู่ ณ ที่นั้น ต่างก็พากันยืนล้อมเป็นรูปครึ่งวงกลม เบื้องหน้าพระยาพหลฯ นายทหารเหล่านี้มีอยู่มากด้วยกันที่คิดว่ามาเพื่อฝึกฝนยุทธวิธี กับมีนายทหารผู้ก่อการที่ทราบเรื่องดีแล้วแทรกกระจายอยู่ทั่วไป พวกก่อการฝ่ายพลเรือนก็มีไปรวมอยู่ ณ ที่นั้นบ้าง เบื้องหลังพระยาพหลฯ มีนายทหารเสือของคณะปฏิวัติกับบุคคลชั้นหัวหน้าสำคัญ ได้แก่ พระยาทรงฯ พระยาฤทธิฯ พระยาประศาสน์ฯ ยืนคุมเชิงอยู่ห่างๆ ครั้นแล้ว พระยาพหลฯ ก็อ่านประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครอง ท่ามกลางนายทหารเหล่านั้น”[18]

หากจินตนาการตาม “คำให้การ” ของพระยาฤทธิอัคเนย์แล้ว ดูเหมือนว่า พระยาพหลฯ จะอ่านประกาศยึดอำนาจ ทางด้าน “หัวม้า” เพราะเป็น “เบื้องหน้าอนุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราช” โดยมีกองทหารล้อมเป็นรูปครึ่งวงกลมอยู่ด้านหน้าพระยาพหลฯ ด้านหลังเป็น “๓ ทหารเสือ” ซึ่งมีพระยาฤทธิอัคเนย์ผู้บอกเล่าเหตุการณ์รวมอยู่ด้วย

ส่วนพระยาพหลฯ จะหันหน้าเข้าพระบรมรูปทรงม้า โดยมีกองทหารเข้าแถวชิดอยู่กับอนุสาวรีย์ หรือพระยาพหลฯ จะหันหน้าออก โดยยืนชิดกับอนุสาวรีย์นั้น และมีคณะทหารอยู่ถัดออกไปด้านนอกหรือไม่นั้น ไม่ปรากฏใน “คำให้การ”

ปัญหาก็คือ หากพระยาพหลฯ ไปยืนอ่านประกาศด้าน “หัวม้า” แล้ว เหตุใด “หมุดคณะราษฎร” ซึ่งเชื่อกันว่าเป็น “จุด” ที่พระยาพหลฯ ยืนอ่านประกาศยึดอำนาจ จึงถูกฝังไว้ทางด้าน “ซ้ายมือ” ของพระบรมรูปทรงม้า?

อีกทั้งยังมีคำจารึกยืนยันเป็นมั่นเหมาะว่า “ณ ที่นี้ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ เพื่อความเจริญของชาติ”

เป็นไปได้หรือไม่ว่า “ณ ที่นี้” อาจหมายถึง “บริเวณ” ลานพระบรมรูปทรงม้าทั้งหมด ซึ่งต่างจากคำว่า “ณ จุดนี้”

หรือความทรงจำของพระยาฤทธิอัคเนย์คลาดเคลื่อน หรือหมุดทองเหลืองของคณะราษฎร ถูกย้าย!?

โชคยังดีที่พระยาพหลฯ ราวกับจะรู้ว่า วันหนึ่งคนจะลืม และมาถกเถียงหา “จุดกำเนิด” ของรัฐธรรมนูญในกาลข้างหน้า

พระยาพหลฯ จึงตกลงใจที่จะสร้าง “หมุดกำเนิดรัฐธรรมนูญ”[19] ฝังไว้ ณ จุดที่ท่านได้ยืนอ่านประกาศยึดอำนาจ เมื่อเวลาเช้าของวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ อันเป็นจุดเริ่มต้นของรัฐธรรมนูญแห่งประเทศสยาม

จุดประสงค์เพื่อเตือนความทรงจำของคณะผู้ก่อการฯ เอง ที่อาจจะลืมเลือนไป หรือผู้ก่อการฯ บางคน ที่วันนั้นไปปฏิบัติงานที่อื่น ไม่ได้อยู่ร่วมในเหตุการณ์ขณะพระยาพหลฯ อ่านประกาศยึดอำนาจ รวมทั้งเพื่อความทรงจำของประชาชนชาวสยามทั้งปวง

“ข้าพเจ้าเชื่อว่าบางท่านคงจะจำได้แต่เพียงเลือนๆ ส่วนบางท่านที่ต้องถูกใช้ไปทำหน้าที่อื่นๆ ที่ห่างไกลออกไป ก็คงจะไม่ทราบ ว่าจุดนั้นอยู่แห่งใดแน่

ข้าพเจ้าเห็นว่า พวกเราชาวสยามไม่ควรจะหลงลืมที่สำคัญอันนี้เสียเลย, เพราะเป็นที่กำเนิดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร์สยาม ซึ่งเสมือนดังว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ ทั้งเป็นมิ่งขวัญของประชาชาติด้วย…”[20]


หมุดกำเนิดรัฐธรรมนูญ

พระยาพหลฯ ยังได้เดินทางไปเป็นประธานทำพิธีฝังหมุดทองเหลืองนี้ด้วยตัวเอง

พิธีฝังหมุดที่พระลานพระบรมรูปทรงม้า[21]


๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๙

เวลาเช้า เจ้าหน้าที่จะได้เตรียมการจัดตั้งปรำและฉัตรเบญจา อาสนสงฆ์ไว้พร้อมสรรพ

เวลาบ่าย ๑๔.๓๐ นาฬิกา พระสงฆ์วัดเบ็ญจมบพิตรมีพระธรรมโกศาจารย์เป็นประธาน รวม ๙ รูป พร้อมกัน ณ อาสนสงฆ์ที่เตรียมไว้ เมื่อนายกรัฐมนตรีมายังโรงพิธี เจ้าพนักงานสังฆการีอาราธนาศีล พระสงฆ์ให้ศีล แล้วเจริญพระปริตต์ตามสมควร เสร็จแล้วพรมน้ำมนตร์และเจิมหมุดที่หลุม ครั้นแล้วนายกรัฐมนตรี เริ่มจับหมุดฝังเป็นปฐมฤกษ์ พระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถาจบแล้ว นายกรัฐมนตรีประเคนเครื่องไทยธรรม พระสงฆ์อนุโมทนา แล้วเสร็จพิธี

น่าเสียดายที่เอกสารของพระยาพหลฯ ก็ยังไม่ให้ความชัดเจนอยู่ดี เพราะร่างสุนทรพจน์ของพระยาพหลฯ ที่ใช้กล่าวในวันพิธีฝัง “หมุดกำเนิดรัฐธรรมนูญ” แม้จะยืนยันว่า “จุด” ที่จะฝังหมุดนั้นเป็นจุดเดียวกับที่ยืนอ่านประกาศยึดอำนาจ แต่ก็ไม่ได้บอก “พิกัด” ชัดเจนไว้ในเอกสารว่า “จุด” นั้น อยู่ตำแหน่งไหนในลานพระบรมรูปทรงม้า เนื่องจากสุนทรพจน์นั้นใช้กล่าวก่อนจะทำพิธีฝังหมุด ซึ่งทุกคนในที่นั้นย่อมเห็นด้วยตาอยู่เอง จึงไม่จำเป็นต้องบอกซ้ำอีก




หมุดกำเนิดรัฐธรรมนูญ

พระยาพหลฯ ยังได้เดินทางไปเป็นประธานทำพิธีฝังหมุดทองเหลืองนี้ด้วยตัวเอง

พิธีฝังหมุดที่พระลานพระบรมรูปทรงม้า[21]

๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๙

เวลาเช้า เจ้าหน้าที่จะได้เตรียมการจัดตั้งปรำและฉัตรเบญจา อาสนสงฆ์ไว้พร้อมสรรพ

เวลาบ่าย ๑๔.๓๐ นาฬิกา พระสงฆ์วัดเบ็ญจมบพิตรมีพระธรรมโกศาจารย์เป็นประธาน รวม ๙ รูป พร้อมกัน ณ อาสนสงฆ์ที่เตรียมไว้ เมื่อนายกรัฐมนตรีมายังโรงพิธี เจ้าพนักงานสังฆการีอาราธนาศีล พระสงฆ์ให้ศีล แล้วเจริญพระปริตต์ตามสมควร เสร็จแล้วพรมน้ำมนตร์และเจิมหมุดที่หลุม ครั้นแล้วนายกรัฐมนตรี เริ่มจับหมุดฝังเป็นปฐมฤกษ์ พระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถาจบแล้ว นายกรัฐมนตรีประเคนเครื่องไทยธรรม พระสงฆ์อนุโมทนา แล้วเสร็จพิธี

น่าเสียดายที่เอกสารของพระยาพหลฯ ก็ยังไม่ให้ความชัดเจนอยู่ดี เพราะร่างสุนทรพจน์ของพระยาพหลฯ ที่ใช้กล่าวในวันพิธีฝัง “หมุดกำเนิดรัฐธรรมนูญ” แม้จะยืนยันว่า “จุด” ที่จะฝังหมุดนั้นเป็นจุดเดียวกับที่ยืนอ่านประกาศยึดอำนาจ แต่ก็ไม่ได้บอก “พิกัด” ชัดเจนไว้ในเอกสารว่า “จุด” นั้น อยู่ตำแหน่งไหนในลานพระบรมรูปทรงม้า เนื่องจากสุนทรพจน์นั้นใช้กล่าวก่อนจะทำพิธีฝังหมุด ซึ่งทุกคนในที่นั้นย่อมเห็นด้วยตาอยู่เอง จึงไม่จำเป็นต้องบอกซ้ำอีกเอกสารพิมพ์ดีดจากแฟ้มพระยาพหลฯ เรื่อง “พิธีฝังหมุดที่พระลานพระบรมรูปทรงม้า” เก็บรักษาไว้ที่ ศูนย์การทหารปืนใหญ่ ลพบุรี

อย่างไรก็ดี ตลอดเวลาหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง มักจะมีข่าวเรื่อง “หมุดกำเนิดรัฐธรรมนูญ” นี้ ถูกแงะไปเก็บบ้าง ถูกย้ายที่แก้เคล็ดบ้าง แต่ก็ขาดหลักฐานยืนยันว่า ย้ายจากไหนไปไหน แล้วนำกลับมาไว้ตำแหน่งเดิม “แป๊ะๆ” เลยหรือไม่

เนื่องจาก “พิกัด” ที่แท้จริงไม่มี หลักฐานการเคลื่อนย้ายยังไม่ชัด จึงต้องถือ “เสมือนว่า” ณ “จุดยืน” ที่พระยาพหลฯ อ่านประกาศยึดอำนาจ หรือจุดที่ฝัง “หมุดกำเนิดรัฐธรรมนูญ” ยังคง “แน่นิ่ง” อยู่ที่เดิม ไม่ได้มีการ “เปลี่ยนแปลง” เลยในช่วงเวลา ๘๐ ปีมานี้

พระยาพหลฯ ไม่ได้อ่านประกาศคณะราษฎร?


ปัญหาสุดท้าย ที่ไม่ได้เป็นข้อถกเถียงใหญ่โต แต่เอกสารชั้นหลังๆ มักจะ “เชื่อว่า” เมื่อเวลา “ย่ำรุ่ง” นั้น พระยาพหลฯ ได้อ่าน “ประกาศคณะราษฎร” ต่อหน้าเหล่าทหารกองผสม ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า

ซึ่งที่จริงบรรดา “คำให้การ” หรือบทสัมภาษณ์ของ “๔ ทหารเสือ” ก็ไม่ได้บอกเลยว่าสิ่งที่ พระยาพหลฯ ยืนอ่านขณะนั้นคือ “ประกาศคณะราษฎร” (ฉบับที่พิมพ์แจกประชาชนโดยหลวงประดิษฐ์มนูธรรม)

บทสัมภาษณ์ของพระยาพหลฯ ผู้อ่านประกาศยึดอำนาจ ที่เรียบเรียงโดย กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ตอนนั้นว่า “เมื่อได้จัดการชุมนุมกำลังทหารในพระนคร และเชิญเสด็จเจ้านายมากักตัวไว้เป็นประกันสำเร็จลุล่วงตามอุบายและแผนการแล้ว พระยาพหลฯ ก็ประกาศวัตถุประสงค์ของการปฎิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตย”[22]

บันทึกของพระยาทรงฯ ก็ไม่ได้ยืนยันว่าเป็น “ประกาศคณะราษฎร” เช่นกัน “ผู้อำนวยการฝ่ายทหาร ได้ต้อนทหารทั้งหมดเข้าประตูรั้วเหล็กของพระที่นั่งอนันต์ฯ ภายหลังที่พระยาพหลฯ ได้อ่านคำประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครอง และได้ถูกตะโกนแต่งตั้งขณะนั้นเป็นต้นไป”[23]

คำสัมภาษณ์ของพระฤทธิอัคเนย์ก็ตรงกับพระยาพหลฯ และพระยาทรงฯ “ครั้นแล้ว พระยาพหลฯ ก็อ่านประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครอง ท่ามกลางนายทหารเหล่านั้น”[24]

สุดท้ายคือบันทึกของพระประศาสน์ฯ ก็เช่นเดียวกับพระยาพหลฯ พระยาทรงฯ และพระยาฤทธิอัคเนย์ “เจ้าคุณพหลฯ ก็ประกาศเปลี่ยนการปกครองแผ่นดิน”[25]

เมื่อเป็นเช่นนี้ คำถามคือ “ย่ำรุ่ง” ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ พระยาพหลฯ อ่านอะไร? หลักฐานที่น่าสนใจชิ้นหนึ่งที่ให้ความชัดเจนในเรื่องนี้คือหนังสือเรื่อง ทหารเรือปฏิวัติ ของ นายหนหวย ซึ่งได้ข้อมูลมาจากการสัมภาษณ์ผู้ก่อการฯ ฝ่ายทหารเรือเป็นหลัก ได้กล่าวว่า “ที่นี้ พระยาพหลฯ พระยาทรงฯ สองสหายก็พากันร่างคำแถลงการณ์ขึ้นเพื่อประกาศแทนคำสมมุติในการฝึก คำแถลงการณ์นี้ได้เขียนเป็นภาษาเยอรมันคำแถลงการณ์ฉบับนี้ไม่ใช่ฉบับที่พิมพ์แจกจ่ายแก่ประชาชน”[26]

เหตุที่ต้องเขียนคำแถลงการณ์นี้เป็นภาษาเยอรมัน น่าจะเพื่อป้องกันการมีหลักฐานมัดตัวหากถูกจับ และเข้าใจการการ “แทรก” คำสมมุติในการฝึก คือการกำหนดรูปแบบการฝึก การแบ่งฝ่ายรุกรับ ก็น่าจะเป็นการอำพราง “เนื้อหา” ในคำประกาศ (เช่นเดียวกับ “คำประกาศคณะราษฎร” ก็มีการอำพรางด้วยการพิมพ์ “แทรก” อยู่ในเนื้อหาอื่นๆ ก่อนจะตัดเนื้อหานั้นทิ้ง เหลือแต่คำประกาศ)

เพราะเมื่อถึงเวลาที่พระยาพหลฯ อ่านประกาศจริงๆ ก็เหลือเฉพาะ เนื้อหาเรื่องการยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครอง และการกำชับกำลังพลในที่นั้นให้เชื่อฟังแต่โดยดี โดยควักคำประกาศออกมาจากกระเป๋าเสื้อ อ่านด้วยเสียงสนั่นดังลั่นลานพระบรมรูปทรงม้า

“แถลงการณ์ภาษาเยอรมันแต่อ่านเป็นภาษาไทย ของพระยาพหลฯ ฉบับนั้น มีใจความสำคัญแต่เพียงว่าบัดนี้คณะราษฎร, ทหาร, พลเรือน ได้ทำการยึดอำนาจการปกครองไว้แล้วโดยเด็ดขาด เพื่อลบล้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชอันเก่าแก่ลง และสถาปนาระบอบประชาธิปไตยขึ้นตามแบบอารยะชาติทั้งหลาย ขอให้นายทหารที่มิได้เกี่ยวข้องกับการปฏิวัติอยู่ในความสงบอย่าทำการขัดขวาง และออกจากลานพระรูปฯ ไปไม่ได้จนกว่าจะได้สั่งให้กลับไป หากจะพอใจให้ความร่วมมือสนับสนุนแก่คณะราษฏร ซึ่งยึดอำนาจการปกครองก็ยินดียิ่ง ทั้งนี้เพื่อความเจริญของชาติบ้านเมือง”[27]

ซึ่งเรื่องนี้ก็สอดคล้องต้องกัน กับร่างสุนทรพจน์ของพระยาพหลฯ ในวันพิธีฝัง “หมุดกำเนิดรัฐธรรมนูญ” เช่นเดียวกัน

“ณ จุดที่ข้าพเจ้าได้รับอุปโลกน์จากพวกพี่น้องผู้ร่วมก่อการให้เป็นผู้นำ และที่นั้นข้าพเจ้าได้ยืนกล่าวสุนทรพจน์ เพื่อปลุกใจเพื่อนที่เคยร่วมตายทั้งหลาย และได้สั่งการอย่างเด็ดขาดในการที่จะดำเนินการต่อไป และได้กำหนดโทษไว้อย่างหนัก ถ้าผู้ใดขัดขืนคำสั่งและละเมิดวินัยในการกระทำหน้าที่ ซึ่งเกี่ยวแก่การเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น”[28]

จึงน่าจะเป็นที่แน่นอนว่า วันนั้น พระยาพหลฯ ไม่ได้อ่าน “ประกาศคณะราษฎร” แต่เป็นแถลงการณ์ยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีการปลุกใจ และสั่งการควบคุมทหารให้ปฏิบัติตามคำสั่งอย่างเด็ดขาด

สรุป

ในวันยึดอำนาจการปกครอง ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ กองทหารผสมมาชุมนุมพร้อมกันเวลา “ย่ำรุ่ง” ๖.๐๕ น. จากนั้นเวลาประมาณ ๗.๐๐ น. พระยาพหลฯ ก้าวมายืนอยู่ ณ จุดที่ฝัง “หมุดกำเนิดรัฐธรรมนูญ” ในลานพระบรมรูปทรงม้า ท่ามกลางเหล่าทหารกองผสม เพื่ออ่านแถลงการณ์ยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครอง และปลุกใจเพื่อนทหารที่มาชุมนุมอยู่ที่นั้น

เมื่อกล่าวจบคณะผู้ก่อการฝ่ายทหารก็นำทหารเปล่งเสียงขึ้น ๓ ครั้ง ไชโย, ไชโย, ไชโย

ปัจจุบัน “สถานกาแฟนรสิงห์” อันเป็น “ก้าวแรก” ของรัฐธรรมนูญ ได้เลิกกิจการไปแล้ว คณะราษฎรรุ่นก่อตั้งก็ไม่เหลือแล้ว หลัก ๖ ประการในคำประกาศคณะราษฏร ก็เหลือเป็นเพียงอนุสาวรีย์ สิ่งที่เหลืออยู่มีเพียง “จุดยืน” ของรัฐธรรมนูญที่หลายคน “ไม่รู้จัก” ซึ่งถูกฝังสนิทอยู่ “เบื้องล่าง” พระบรมรูปทรงม้า ที่ยังคงมีผู้ “เซ่นไหว้” ไม่เสื่อมคลาย.
เชิงอรรถ

[1] กุหลาบ สายประดิษฐ์, เบื้องหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕, กรุงเทพฯ : โครงการกำแพงประวัติศาสตร์, ๒๕๔๑, น. ๗๕.

[2] ตอนสายของวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ มีการถ่าย “หนังเงียบ” ความยาวประมาณ ๓,๐๐๐ ฟุตโดยบริษัทภาพยนตร์ศรีกรุง ชุดหนึ่งเก็บไว้ในเมืองไทย อีก ๒ ชุดส่งให้บริษัทหนังในอเมริกา แต่ไม่มีผู้ซื้อ “คุปเดต้าต์เมืองไทยไม่เห็นมียิงกันสักหน่อย บริษัทไม่เอา” ส่วนชุดที่อยู่ในเมืองไทยนั้นไม่ทราบหายสาบสูญไปไหน (กาญจนาคพันธ์, คอคิดขอเขียน ชุดที่ ๓, กรุงเทพฯ : รวมสาส์น, ๒๕๑๔, น. ๒๐๑.)

[3] นรนิติ เศรษฐบุตร ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (ชำระความ), บันทึกพระยาทรงสุรเดช เมื่อวันปฏิวัติ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕, กรุงเทพฯ : แพร่พิทยา, ๒๕๒๗, น. ๔๓.

[4] พันเอก (พิเศษ) สมพงษ์ พิศาลสารกิจ, เปิดบันทึกชีวิต…พระประศาสน์พิทยายุทธ, กรุงเทพฯ : แพรวสำนักพิมพ์, ๒๕๔๕, น. ๕๙.

[5] พลโท ประยูร ภมรมนตรี, บันทึกเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕, กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์เฟื่องนคร, ๒๕๑๗, น. ๒๑.

[6] บันทึกพระยาทรงสุรเดช, อ้างแล้ว, น. ๕๐

[7] กุหลาบ สายประดิษฐ์, อ้างแล้ว, น. ๗๘.

[8] พลโท ประยูร ภมรมนตรี, อ้างแล้ว, น, ๑๙.

[9] พลโท ประยูร ภมรมนตรี, ชีวิต ๕ แผ่นดินของข้าพเจ้า, กรุงเทพฯ : บรรณกิจ, ๒๕๑๘, น. ๑๖๗. แต่ที่จริงน่าจะเป็นเวลา ๗.๐๐ น. มากกว่าเพราะพระประศาสน์ฯ ผู้ที่ไป “จับตัวประกัน” กลับมาพร้อมกับกรมพระนครสวรรค์ และพระยาสีหราชเดโชชัย ก่อนเวลา ๗.๐๐ น. แล้ว เพราะเมื่อพระยาประศาสน์ฯ กลับมาไม่นาน พระยาพหลฯ ก็อ่านประกาศคณะราษฎร

[10] เสทื้อน ศุภโสภณ, ชีวิตทางการเมืองของ พ.อ. พระยาฤทธิอัคเนย์, กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์วัชรินทร์, ๒๕๑๔, น. ๔๑.

[11] พันเอก (พิเศษ) สมพงษ์ พิศาลสารกิจ, อ้างแล้ว, น. ๗๑.

[12] เรื่องเดียวกัน, น. ๘๘.

[13] เสลา เรขะรุจิ, “คณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕” ใน บันทึกเชิงประวัติศาสตร์ ๔๓ ปี เมื่อมวลชนเป็นใหญ่ในสยาม, กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ประชาชน, ๒๕๑๘, น. ๔๗.

[14] ขุนพิสิฐนนทเดช (บุญมี มกรเสน), บันทึกความจำ ชีวประวัติ ของขุนพิสิฐนนทเดช, กรุงเทพฯ : ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ ขุนพิสิฐนนทเดช, ๒๕๒๑, น. ๒๓.

[15] ขุนพิสิฐนนทเดช ย้ายมาเป็นสารวัตรควบคุมเรือนจำมหันตโทษ ดูแลนักโทษการเมืองรุ่น ๒๔๗๖ “กบฏบวรเดช” และต่อมาเป็นเสรีไทย สร้างสนามบินลับ ที่คลองไผ่ โคราช

[16] เสลา เรขะรุจิ, อ้างแล้ว, น. ๔๘.

[17] นเรศ นโรปกรณ์, ๑๐๐ ปี พระยาพหลฯ, กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, ๒๕๓๑, น. ๑๓๕.

[18] เสทื้อน ศุภโสภณ, อ้างแล้ว, น. ๔๑.

[19] “หมุดกำเนิดรัฐธรรมนูญ” คือชื่ออย่างเป็นทางการ ปรากฏในร่างสุนทรพจน์ เมื่อวันพิธีฝังหมุด “หมุดกำเนิดรัฐธรรมนูญ” สร้างขึ้นโดยกรมโยธาเทศบาล ทำด้วยโลหะสัมฤทธิ์ จากข้อเสนอแนะของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

[20] ต้นฉบับลายมือจากแฟ้มพระยาพหลฯ เรื่อง “ร่างสุนทรพจน์กล่าวในที่ประชุมคณะผู้ก่อการณ์ ในการวางหมุดกำเนิดรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ เวลาบ่าย ๑๔.๓๐” , ศูนย์การทหารปืนใหญ่ ลพบุรี

[21] เอกสารพิมพ์ดีดจากแฟ้มพระยาพหลฯ เรื่อง “พิธีฝังหมุดที่พระลานพระบรมรูปทรงม้า” , ศูนย์การทหารปืนใหญ่ ลพบุรี

[22] กุหลาบ สายประดิษฐ์, อ้างแล้ว, น. ๘๔.

[23] บันทึกพระยาทรงฯ, อ้างแล้ว, น. ๕๑.

[24] เสทื้อน ศุภโสภณ, อ้างแล้ว, น. ๔๑.

[25] พันเอก (พิเศษ) สมพงษ์ พิศาลสารกิจ, อ้างแล้ว, น. ๘๘.

[26] นายหนหวย, ทหารเรือปฏิวัติ, กรุงเทพฯ : วัชรินทร์การพิมพ์, ๒๕๒๑, น. ๙๙.

[27] เรื่องเดียวกัน, น. ๑๓๔.

[28] ต้นฉบับลายมือจากแฟ้มพระยาพหลฯ