วันศุกร์, เมษายน 28, 2560

อ.หริรักษ์ สูตะบุตร โพสต์ แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของเราเป็นแผนยุทธศาสตร์ที่ไม่มียุทธศาสตร์ ทำไมถึงกล่าวเช่นนั้น... ชวนอ่าน...




ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

...

ที่มา FB


Harirak Sutabutr

วันนี้ขอพักเรื่องอาหารการกินไว้ชั่วคราว และขอกลับมาให้ความสนใจเรื่องบ้านเรื่องเมืองกันอีกครั้งนะครับ หลังจากที่ว่างเว้นจากการแสดงความคิดเห็นไปนานกว่า 2 ปี ที่จำเป็นต้องหันกลับมาวิจารณ์เรื่องบ้านเมืองครั้งนี้ไม่ใช่เพราะเรื่องเรือดำน้ำนะครับ แต่เป็นเพราะ แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ผ่านการพิจารณาอนุมัติจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติไปหมาดๆนี่แหละครับ พอได้เห็นตัวแผนแล้วก็อดไม่ได้ที่ต้องวิจารณ์ เพราะไม่แน่ใจว่าคนจัดทำแผนจะเข้าใจความหมายของคำว่า ยุทธศาสตร์หรือกลยุทธ์(strategy)หรือไม่ ยิ่งไปดูรายชื่อคณะกรรมการชุดใหญ่ที่กำกับดูแลแผน ที่มีท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีผบ เหล่าทัพ และท่านผู้ใหญ่อีกมากมายเป็นกรรมการ ก็น่าเชื่อได้ว่า คณะกรรมการเหล่านี้ส่วนใหญ่คงไม่มีความเข้าใจดีพอเกี่ยวกับคำว่า “ยุทธศาสตร์”

แผนยุทธศ่าสตร์ชาติ 20 ปีที่ว่านี้เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงรัฐธรรมนูญที่มีกำหนดไว้ให้มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติ จากนั้นเป็นการประเมินสภาพแวดล้อมภายในและภายนอก ตามรูปแบบของแผนที่ดี คือประเมินจุดอ่อน จุดแข็งของประเทศ และประเมินสภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และเทคโนโลยี มีตัวเลขให้ดูมากมาย จากนั้นยังได้พูดถึงประเทศคู่แข่งว่ามียุทธศาสตร์อย่างไร เช่น ประเทศมาเลเซีย บรูไน เวียดนาม ไต้หวัน แล้วจึงกำหนดวิศัยทัศน์หรือ vision เป็น
“ ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”
การกำหนดวิสัยทัศน์แบบนี้นับว่ายังดีกว่าวิสัยทัศน์สมัยก่อนมาก วิสัยทัศน์คือ สิ่งที่เราเห็นก่อนที่มันจะเกิดขึ้น ในที่นี้คือภาพที่เราต้องการเห็นประเทศเราที่จะเป็นในอนาคต ดังนั้นวิสัยทัศน์ต้องสั้นและชัดเจน วิสัยทัศน์ของหน่วยราชการเมื่อ7-8 ปีที่แล้วมักยาวประมาณ 2 หน้ากระดาษเอ 4 วิสัยทัศน์ในแผยยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จึงถือว่าใช้ได้

จากนั้นในแผนระบุต่อว่า เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ จึงได้กำหนดกรอบแนวทางยุทธศาสตร์ชาติไว้ 6 ด้านคือ

1. ด้านความมั่นคง
2. ด้านการสร้่างความสามารถในการแข่งขัน
3. ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน
4. ด้านการสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม
5. ด้านการสร้่างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
6. ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ

ใน “กรอบยุทธศาสตร์” แต่ละด้านก็มีการระบุแนวทางปฏิบัติกว้่างๆไว้ เช่น ในด้านการสร้่างความสามารถในการแข่งขัน ระบุไว้ข้อหนึ่งว่า ส่งเสริมการค้า การลงทุน พัฒนาสู่ชาติการค้า เป็นต้น

ไม่ได้บอกเลยนะครับว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่ดี เป็นสิ่งทีดี เพียงแต่ว่ามันไม่ใช่ยุทธศาสตร์ หรือที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า strategy หรืออีกนัยหนึ่ง ผมกำลังบอกว่า แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของเราเป็นแผนยุทธศาสตร์ที่ไม่มียุทธศาสตร์ ทำไมถึงกล่าวเช่นนั้น ไม่น่าแปลกใจเลยครับ เราลองมาดูผู้ที่ถือได้ว่าเป็นบิดาของยุทธศาสตร์ Michael E. Porter พูดถึงยุทธศาสตร์ดูบ้าง Porter บอกว่า จากที่เขาได้ทำงานร่วมกับบริษัทต่างๆทั่วโลก เขาพบว่าในขณะที่บริษัทต้องการยุทธศาสตร์ แต่บริษัทส่วนใหญ่กลับไม่มียุทธศาสตร์ นั่นเป็นเพราะว่าบริษัทเหล่านี้มีมุมมองที่ผิดเกี่ยวกับการแข่งขัน บริษัทเหล่านี้มองว่าต้องแข่งขันเพื่อเป็นบริษัทที่ดีที่สุด แต่ในโลกธุรกิจ ไม่มีคำว่า ดีที่สุด แต่ขึ้นอยู่กับเรากำลังตอบสนองความต้องการแบบไหน รถ BMW เป็นรถที่ดีที่สุดหรือไม่ คำตอบคือเป็นรถที่ดี แต่ก็ไม่ใข่ดีที่สุด BMW ตอบสนองความต้องการแบบหนึ่ง ในขณะที่ โตโยต้า ก็ตอบสนองความต้องการอีกแบบหนึ่งของลูกค้าอีกกลุ่ม ดังนั้นจึงไม่มีคำว่า “ดีที่สุด” แทนที่จะพยายามทำให้บริษัทเป็นบริษัทที่ดีที่สุด เราต้องทำให้บริษัทเป็นบริษัทที่เป็นหนึ่งหรือ unique นั่นคือแตกต่าง และได้เปรียบคู่แข่ง สามารถตอบสนองในสิ่งที่คู่แข่งทำไม่ได้
สาระสำคัญของคำว่ายุทธศาสตร์จึงอยู่ที่การเลือกที่ไม่ทำบางอย่างเพื่อทำบางอย่าง Porter ได้ให้แนวทางในการกำหนดยุทธศาสตร์ ซึ่งยุทธศาสตร์ที่ว่านี้เลือกกำหนดได้เพียงหนึ่งยุทธศาสตร์ต่อหนึ่งธุรกิจ ยุทธศาสตร์ที่ว่ามีดังนี้ 

1. เป็นผู้นำด้านต้นทุน(Overall cost leadership)หรือการแข่งขันด้วยต้นทุนต่ำ
2. สร้่างความแตกต่าง(Differentiation)
3. เลือกเน้น(Focus)นั่นคือการเลือกเน้นกลุ่มเป้าหมายกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือเลือกเน้นที่จะตอบสนองความต้องการแบบใดแบบหนึ่ง

นั่นคือความเห็นของ Michael E. Porter คราวนี้ลองมาดูความเห็นของ Dr. W. Chan Kim เจ้าของทฤษฎี “ Blue Ocean Strategy” อันลือลั่นดูบ้าง ผมขออนุญาตถอดและสรุปความส่วนหนึ่งจากหนังสือ “ Blue Ocean Strategy “ เป็นภาษาไทยดังนี้
“ ให้นึกถึงแผนยุทธศาสตร์ทั่วๆไป ที่มักจะเริ่มด้วยการบรรยายถึงสภาพอุตสาหกรรม(industry) และสภาพการแข่งขันในอุตสาหกรรมนั้นๆอย่างยืดยาว จากนั้นพูดถึงวิธีการเพิ่มส่วนแบ่งตลาด(market share) หรือการลดต้นทุน ตามด้วยเป้าประสงค์( goals ) และสิ่งที่จะทำโน่นทำนี่เต็มไปหมด ตรงนี้ก็จะมีรูป มีกร๊าฟ ตัวเลขจาก excel ที่มากเกินความจำเป็น จุดสุดท้ายของกระบวนการจัดทำแผนนี้ก็คือ การได้มาซึ่งเอกสารปึ๊งใหญ่ ที่ได้จากการเลือกสรรข้อมูลได้จากหน่วยงานต่างๆมาผสมกัน ผู้จัดทำแผนใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำข้อมูล ทำตัวเลข แทนที่จะใช้เวลาคิดเรื่องและพัฒนาภาพที่ชัดเจนว่าจะแยกตัวเองออกจากแข่งขันได้อย่างไร ไม่น่าแปลกใจว่าทำไมมีแผนยุทธศาสตร์น้อยยิ่งกว่าน้อยที่จะนำไปสู่การสร้าง “ Blue Ocean Strategy” ผู้บริหาร( executives) จะมึนงงไปกับความฟุ้งของข้อมูลที่ไร้ค่า มีพนักงานน้อยมากที่จะเข้าใจความหมายของคำว่า ยุทธศาสตร์(strategy) และเมื่อมองให้ลึกลงไปก็จะพบว่าแผนยุทธศาสตร์ส่วนใหญ่เหล่านี้ไม่ได้มีุทธศาสตร์แต่อย่างใด มีแต่บุฟเฟ่ต์ของแทคติคส์ ที่ในตัวของมันมีความหมาย แต่ทั้งหมดไม่ได้นำไปสู่ทิศทางที่ชัดเจนและเป็นหนึ่ง ที่จะทำให้สามารถแยกตัวออกจากการแข่งขันได้ การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ที่ถูกต้องจึงต้องเน้นที่ภาพใหญ่ ไม่ใช่เน้นที่ตัวเลข”

เมื่อดูแผนยุทธศาสต์ชาติ 20 ปี ที่ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญ้ติแล้วพบว่า แผนยุทธศาสตร์ชาตินี้ มีลักษณะเหมือนอย่างที่ Dr. W. Chan Kim บรรยายไว้ทุกประการ ประเด็นสำคัญคือเป็นแผนยุทธศาสตร์ที่ไม่มียุทธศาสตร์ ไม่มีทิศทางที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่ง(unique) และได้เปรียบประเทศคู่แข่ง มีแต่จะทำโน่นทำนี่ 6 ด้าน ไม่มีทิศทางว่าจะทำโน่นทำนี่เพื่ออะไร นอกจากเพื่อความ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เพื่อให้เห็นภาพผมขอยกตัวอย่างการกำหนดยุทศาสตร์ดังนี้

หากเรากำหนดยุทธศาสตร์ชาติว่า เลือกเน้นการสร้างความแตกต่างให้กับภาคการเกษตร และการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นจุดแข็งของประเทศ เมื่อกำนหนดเช่นนี้ เราจะทราบเลยว่า เราต้องทำอะไรบ้าง เพื่อสร้างความแตกต่างให้ภาคการเกษตรและการท่องเที่ยว เช่น แผนการพัฒนาคน รัฐต้องทุ่มงบประมาณการพัฒนาคนไปในเรื่องการเกษตร และ Food Science และ Food Technology ต้องให้ทุนการศึกษาในเรื่องนี้ให้มาก เหมือนอย่างที่ประเทศเกาหลีใต้ให้ทุนปริญญาเอกกว่าร้อยทุน เพื่อให้กลับมาทำวิจัยเรื่อง กิมจิ เรื่องการท่องเที่ยว ต้องรีบทุ่มงบประมาณปรับปรุงสถานที่่ท่องเที่ยวทุกแห่งให้สะอาด เป็นระเบียบ ทันสมัย ปลอดภัย แทนที่จะเอาแต่ทุ่มเงินโปรโมทการท่องเที่ยว ไม่ใช่ปล่อยตามยถากรรมให้เป็นหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนพัฒนาระบบอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวให้ทันสมัย เป็นต้น

การกำหนดยุทธศาสตร์ที่ถูกต้องทำให้มีทิศทางที่ชัดเจนว่าประเทศจะไปทางไหน เพราะเรามีทรัพยากรจำกัด ไม่สามารถทำทุกอย่างไปเสียทั้งหมดได้ แต่แผนยุทธศ่าสตร์ชาติ 20 กลับไม่มีทิศทาง จะทำไปเสียทั้งหมด ภาคการเกษตร อย่างไรก็เป็นจุดแข็งของประเทศ กลับไม่เน้น ไม่มีพูดถึงเลยในแผนยุทธศาสตร์ชาติ ไปมีพูดถึงในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแต่ละฉบับ ซึ่งเป็นแผนระดับรองลงมา

จะเห็นว่าผมไม่ได้วิจารณ์แผนยุทธศาตร์ชาติ 20 ปี เหมือนอย่างที่คนส่วนใหญ่วิจารณ์ว่า 20 ปียาวไปเพราะโลกเปลี่ยนตลอดเวลา เพราะหากกำหนดยุทธศาสตร์ที่ถูกต้อง 20 ก็ยังไม่เปลี่ยนครับ เช่น การเกษตรกรรมกับการท่องเที่ยว ถามว่าอีก 20 ปี สองเรื่องนี้จะมีความสำคัญน้อยลงต่อประเทศไทยไหมครับ ผมไม่ทราบว่ารัฐบาลใช้เงินไปเท่าใดในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แต่บอกได้คำเดียวว่า เสียดายเงินจริงๆครับ อยากให้ทุกๆท่านที่ได้อ่าน ช่วยกันแชร์นะครับ ขอบตุณครับ