“ทำไง หาเงินมาอุดหนุนให้ใช่ไหม ต้องการแบบนั้นเหรอ ก็เอาสิ
๓๐ บาทก็ยกเลิกไป เอามาจ่ายค่ายาง จ่ายค่าข้าว ให้มันชดเชยไป
เพราะผมมีเงินเท่านี้น่ะ”
แม้นว่าต้นสายปลายเหตุจะมาจากการที่ ‘สุเทือก’
ได้เวลาขยับศักดา เรียกร้องนายกฯ ลงมือซื้อยางช่วยชาวสวน จนทำให้ผู้ยิ่งใหญ่ปรี๊ดแตกก็ตาม
(หลังจากที่ศาลฎีกาพิพากษายืนให้จำคุก ‘กี้’ อริสมันต์ พงษ์เรืองรอง แกนนำเสื้อแดงเพิ่มอีกหนึ่งปีคดีอภิปรายบริภาษณ์อภิสิทธิ์สั่งทหารฆ่าประชาชน
และศาลอาญายกฟ้องสุเทพ เทือกสุบรรณ หมิ่นประมาทแกนนำ นปช. ‘เผาบ้านเผาเมือง’
ทว่า วิธีแก้ปัญหาเมื่อประชาชนสิ้นไร้ไม้ตอก ของผู้นำรัฐบาลทหารที่ปกครองประเทศมาสามปีไม่มีอะไรดี
นอกจากวางยุทธศาสตร์ยี่สิบปีไว้กดหัวชาวบ้าน หันเหรัฐชาติย้อนอดีตไปสู่ยุคก่อนประชาธิปไตย
เช่นนี้
ย่อมถึงเวลาประชาชีเลิกฟังพระเอก ‘ตูบไชยา’
ดารายี่เกวันศุกรเสียที หันไปฟังข้อมูลแท้จริงจากผู้รู้ เป็นแนวนำคลำทางไปยังอนาคตกันบ้าง
๒๓ เมษา ไทยพับลิก้า เสนอรายงานเจาะประเด็น ‘เศรษฐกิจไทยจะไปไหนต่อ’
ได้อย่างลึกซึ้งถึงแก่น ขอเชิญชวนเข้าไปอ่าน
หรือจะฟังสรุปจากคลิปก็ได้
ส่วนนี่เป็น ‘ชิมลาง’ มาให้อ่านแก้ปัญหาหลงทางเมื่อเจอข้อเขียนยาวๆ
ThaiPublica เขาชวน ดร.เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา
นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารโลกประจำประเทศไทยไปร่วม “วิเคราะห์การพัฒนาประเทศไทยอย่างเป็นระบบ”
ว่า “การกำหนดแผนยุทธศาสตร์
๒๐ ปีมาถูกทางหรือไม่ และอะไรคือสิ่งที่ประเทศนี้ต้องทำและอะไรคือสิ่งที่ต้องระวังที่สุด”
“ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว
การสูญเสียความได้เปรียบที่เคยมีในการแข่งขันให้กับประเทศเพื่อนบ้าน
การเมืองที่ขาดเสถียรภาพ และคุณภาพการศึกษาล้าหลัง”
ดร.เกียรติพงศ์ พูดถึงเศรษฐกิจภูมิภาคเพื่อนบ้านเรา ‘ซีแอลเอ็มวี’
หรือกัมพูชา ลาว มาเลเซีย และเวียตนาม ว่าขณะนี้โต ๖ เปอร์เซ็นต์
แต่ ‘พี่ไทย’ ได้แค่ ๓ ก็หืดขึ้นคอ
จนลุงตูบบอกว่าแลกกันมั้ย เอาข้าวกับยางกลับมา เอา ๓๐ บาททิ้งไป
สำหรับไทย “ช่วง ๕
ปีที่ผ่านมาการเติบโตชะลอตัวลงมาอยู่ที่ประมาณ
๓% ถ้าถามว่าโตเต็มศักยภาพคือเท่าไหร่
ก็อยู่ที่ ๓.๕% เพราะฉะนั้นเรายังไม่โตเต็มศักยภาพ
ปีหน้าเราน่าจะโตประมาณ ๓.๒% หรือ ๓ กว่า ก็ประมาณนี้”
“ถ้าเราโตประมาณ
๔-๕% ได้ในเวลา ๒๐ ปี เราน่าจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วได้”
ให้ความหวังลุงตูบน่ะนะ “ถ้าดูประเทศจีนเขาเพิ่งทำแผน
๒๐ ปี เรียกว่า New Drivers of Growth
ในอดีตจีนโตจาก
Export แต่ตอนนี้เขาเน้นเรื่องภายในประเทศ
เน้นเรื่องการบริโภคภายในประเทศ แล้วก็การเติบโตของเศรษฐกิจในต่างจังหวัด” ถ้าแบบไทยอะไรล่ะ
ยางเหรอ ข้าวเหรอ
อย่างนั้นลุงตูบบอกอีก (อันควรถูกอิฐ)
ต้องเอาเศรษฐกิจแบบเมืองมาแลก คือด้านรักษาพยาบาล เรื่อง ‘๓๐
บาท’ ที่เป็นโมเดลให้กับโลกด้านบริการทางแพทย์ ซึ่ง ดร.
เกียรติพงศ์พูดไว้ต่างกรรมต่างเจตนาเกี่ยวกับภาคบริการของไทยว่า
“การท่องเที่ยว
ร้านอาหาร โรงแรม แพทย์ Wellness
and Medical Hub หรือคมนาคม หรือธุรกิจค้าปลีก การศึกษา ฯลฯ
ซึ่งหลายสิ่งพวกนี้ก็อยู่ในแผน ๒๐ ปี”
แต่ก็ยัง “มีกำแพงล้อมค่อนข้างเยอะ” อย่างเช่น “ภาคบริการไม่เคยได้เปิดเลย
ถูกปิดมาเป็นเวลา ๑๐
กว่าปี
เพราะฉะนั้น ในช่วงเวลา ๑๐
ปีที่ผ่านมาก็เลยไม่ได้แปลกใจว่าทำไมสัดส่วนภาคบริการไม่ได้เปลี่ยน
จะหดด้วยซ้ำไป”
รวมทั้ง “ภาควิชาชีพยังไม่ได้เปิดอย่างแท้จริง
เรื่องนี้อาจจะกระทบเป้าหมายไทย ที่จะเป็นศูนย์การแพทย์ เรื่อง Wellness and Medical Hub”
ดร.เกียรติพงศ์อ้างถึง “จากการทำสำรวจของธนาคารโลกทั่วโลก
โดยวัดเรื่องการเปิดเสรีภาคบริการทั่วโลก สำหรับในอาเซียน
ก็พบว่าของไทยอยู่ในอันดับที่
๓ ตามหลังจากอินโดนีเซีย มาเลเซีย หมายถึงสองประเทศนี้ปิดมากกว่าไทย
ส่วนไทยนั้นอยู่ลำดับที่ ๓
แต่ที่แปลกใจที่สุด
คือ ถ้ามาดูว่าเราตามหลังใครจะพบว่าเราตามหลัง ลาว พม่า เขมร และสิงคโปร์
คือสิงคโปร์ผมไม่แปลกใจ แต่แปลกใจตรงที่ ลาว พม่า นำเราไปแล้ว”
ปัญหาของไทยอยู่ที่
“เราเป็นสังคมสูงวัย” ดร.เกียรติพงศ์ว่างั้น
แต่ไม่ได้หมายถึงสูงวัยเพราะอยู่นานอย่างลุงตูบ ป๋าตือ และปู่มีชัยหรอกนะ
“ในบริบทที่ไทยกำลังเป็นสังคมสูงอายุ
เรามีเวลาน้อยลงทุกวันที่จะทำสิ่งระยะยาว ควรจะเริ่มวันนี้...
ถ้าดูสัดส่วนแรงงานไทยที่รอบปีนี้ก็เริ่มขยายตัวเป็น
๐% ไม่ขยายแล้ว
ผมเดาว่าเรามีเวลาประมาณ ๑๕-๒๐ ปี”
มิน่าลุงตูบถึงกำหนดเวลายุทธศาสตร์ไว้ขนาดนั้น
“เราก็คงโตในระดับ
๓% ไปเรื่อยๆ อย่างช้าๆ
ค่อยเป็นค่อยไป หรืออาจจะต่ำกว่านั้นด้วยซ้ำไป เพราะว่า อย่างที่บอก
เรากำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุ
สัดส่วนแรงงานก็จะลดลง ถ้าแรงงานนั้นไม่สามารถทำงานได้เก่งขึ้น GDP ไทยก็จะเริ่มชะลอลง
แล้วก็ในที่สุดก็อาจจะหดด้วยซ้ำไป”
ดร.เกียรติพงศ์เผยว่าธนาคารโลกเสนอให้ประเทศไทยจัดการปรับเปลี่ยนแก้ไขใน
๓ เรื่องด้วยกัน คือการศึกษา การลงทุนภาครัฐ และภาคบริการ
ในเรื่องการศึกษา
“สำหรับไทย
ถ้าเกิดเราวัดผลโดยคะแนน PISA
Score ซึ่งเป็นการสอบเด็กอายุ ๑๕ ปี ในหลายประเทศ จะพบว่าของเรายังตามหลังประเทศเวียดนามประมาณปีกว่า
ข้อนี้ก็สะท้อนว่า
มองไปข้างหน้าแรงงานไทยอาจจะไม่มีทักษะ ที่อาจจะแข่งกับเพื่อนบ้านได้แล้ว”
อีกสิ่งหนึ่งที่ธนาคารโลกพบจากการทำ
Enterprise Survey “สิ่งที่เราพบสำหรับประเทศไทยก็คือเรื่องไม่สามารถหาแรงงานที่มีทักษะ
ซึ่งอุปสรรคนี้เรายังไม่ค่อยเห็นอย่างชัดเจนในประเทศเพื่อนบ้าน”
ด้านการลงทุนภาครัฐนั้นน่าจะเป็นจุดแข็งของความพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย
“แต่ประเด็นของไทยคือรูปแบบการลงทุนมากกว่า
ว่าจะทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ
ทำอย่างไรให้แบบขับเคลื่อนให้โครงการพวกนี้สำเร็จในระยะยาว ซึ่งยากกว่า”
“ภาคบริการที่จริงเป็นภาคค่อนข้างใหญ่ใน
GDP ไทย
ประมาณเกือบ ๕๐% ถ้าไปดูประเทศที่พัฒนาแล้วจะสังเกตว่าภาคบริการใหญ่มาก ประมาณ ๗๐-๘๐% ในยุโรปแล้วก็อเมริกา
ของไทยถือว่าอยู่ประมาณปานกลาง
แต่ที่แปลก
ถ้าดูช่วงใน ๑๐
ปีที่ผ่านมา
สัดส่วนมันเริ่มลดอย่างต่อเนื่อง สวนทางเพื่อนบ้านเราที่เขาเพิ่มอย่างต่อเนื่อง”
หากเข้าไปอ่าน และ/หรือฟังทั้งหมด
จะพบว่านักเศรษฐศาสตร์ธนาคารโลกผู้นี้เสนอ ‘แนว’ ทางออกทางแก้ไว้แทบทุกประเด็น
ส่วนว่าจะลงรายละเอียดเจาะจงอย่างไรเป็นเรื่องของฝ่ายดำเนินการจัดทำ
“มีหลายประเด็นของแผนฯ
๒๐ ปีของรัฐบาลที่ทับซ้อนกับที่ธนาคารโลกคิดว่าต้องทำ...จากประสบการณ์ของธนาคารโลกพบว่า
ที่เราได้ช่วยหลายประเทศในการขับเคลื่อนแผน
สิ่งที่ยากไม่ใช่การเขียนแผน
แต่คือการขับเคลื่อนแผน ขับเคลื่อนแผนได้ดีคือต้องมีการจัดลำดับความสำคัญ”
การลงทุนภาครัฐเป็นสิ่งที่สำคัญ
เพราะถ้าดูในช่วงที่ผ่านมาเป็นเวลา ๑๐
ปีจะพบว่า
ไม่ค่อยมีการลงทุนภาครัฐเทียบกับก่อนหน้านั้นที่มีการลงทุนค่อนข้างเยอะ...
ช่วงหลังชะลอลงเพราะว่ามีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ทางธนาคารโลกมองว่าเรื่องการเมืองไม่ใช่เรื่องหลัก
เรื่องหลักก็คือว่าระบบการบริหาร การลงทุนภาครัฐเริ่มมีปัญหา”
ปัญหาที่ ดร.เกียรติพงศ์ไม่ได้พูดถึง ส่วนหนึ่งหนีไม่พ้นการที่จะต้องซื้อเรือดำน้ำ
รถถัง และตั้งโรงงานผลิตยุทโธปกรณ์นั่นละ