วันอาทิตย์, เมษายน 30, 2560

โคลัมเบียเคยประสบปัญหาไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบขนานใหญ่ สุดท้าย ด้วยแรงกดดันมหาศาลจากประชาชน สสร.จึงเกิด ทำรัฐธรรมนูญใหม่ 1991 ที่ใช้อยู่จนถึงทุกวันนี้ กรณีโคลัมเบียบอกอะไรกับเรา?





โคลัมเบียประสบปัญหาไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบขนานใหญ่ เพราะ รัฐธรรนูญ 1886 บังคับว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้โดยให้รัฐสภาตราเป็นกฎหมายเท่านั้น จะแก้ทั้งฉบับก็ไม่ได้ จะให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญมาทำใหม่ทั้งฉบับก็ไม่ได้

รัฐสภาเองพยายามทดลองทำหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการแก้ รธน เพื่อเปิดช่องประชามติเปลี่ยน รธน ทั้งฉบับ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ รธน เพื่อให้สภาร่างรัฐธรรมนูญมาทำใหม่ทั้งฉบับ ไม่ว่าจะเป็นแก้รายมาตราหลายๆมาตราในเรื่องสำคัญๆ ทั้งหมดนี้ ศาลขวางตลอด

ในขณะที่ สภาพการณ์เวลานั้น ก็มีความขัดแย้งรุนแรง ทั้งกรณีสงครามกองโจรกลุ่มต่างๆ เช่น FARC กลุ่มมาเฟียค้ายาเสพย์ติด มีการยึดศาล จับผู้พิพากษาเป็นตัวประกัน ตายเป็นเบือ มีระเบิดคาร์บอมบ์ มีการลอบฆ่านักการเมืองที่เป็นตัวเต็งประธานาธิบดี โคลัมเบียต้องอยู่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินถึง 37 ปี ฯลฯ

ขบวนการนักศึกษาทนสภาพเช่นนี้ไม่ไหว จึงเริ่มรวมตัวชุมนุม มีอาจารย์มหาวิทยาลัยเข้าร่วม เริ่มต้นที่คณะนิติศาสตร์ และขยายตัวออกไป พวกเขาพยายามคิดหาวิธีการจะทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับได้อย่างไร

เมื่อขบวนการขยายขึ้น คนยอมรับขึ้น สุดท้าย ก็ตัดสินใจจัด "ประชามติ" กันเอง โดยตั้งคำถามว่า "ข้าพเจ้า ขอลงมติเพื่อประเทศโคลัมเบีย ให้มีการเลือกสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อทำรัฐธรรมนูญใหม่"

ผลปรากฏว่า มีคนเห็นด้วย 3,100,000

เมื่อประชาชนแสดงออกด้วยจำนวนขนาดนี้ ประธานาธิบดีจึงต้องหาทางตอบสนอง

ประธานาธิบดีทราบดีว่า ไม่ว่าจะออกกฎหมายแก้ รธน อย่างไร ศาลก็จะขวางอยู่ดี

สุดท้าย ประธานาธิบดี ใช้วิธีการ "ประกาศกฎอัยการศึก" เพื่อจัดให้มีการออกเสียงประชามติในประเด็นที่ว่า "เห็นด้วยกับการจัดให้มีการเลือกตั้ง สสร มาทำรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่" โดยให้ลงคะแนนพร้อมกันในวันเลือกตั้งประธานาธิบดีไปเลย

3 วันก่อนลงคะแนน สายตาทุกคู่จับจ้องไปที่ศาล รอลุ้นว่าศาลจะวินิจฉัยขวางไม่ให้มีประชามตินี้หรือไม่

สุดท้าย ด้วยแรงกดดันมหาศาลเช่นนี้ ศาลตัดสินว่า ทำได้

ผลประชามติ 5 ล้านกว่า คิดเป็นร้อยละ 88 เห็นด้วยให้มีการเลือกตั้ง สสร

จากนั้นก็เลือก สสร ทำรัฐธรรมนูญใหม่ กลายเป็นรัฐธรรมนูญ 1991 ที่ใช้อยู่จนถึงทุกวันนี้

กรณีโคลัมเบียบอกอะไรกับเรา?

แม้ระบบรัฐธรรมนูญจะ "ปิดล้อม" จนไม่อาจเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ได้ แต่สุดท้ายมันก็เปลี่ยนแปลงได้อยู่ดี ถ้า "ประชาชน" ต้องการเปลี่ยน

อยู่ที่ว่า เราจะรณรงค์ทำให้ "ประชาชน" ปรากฏขึ้น จนกดดันให้ ระบบกลไกของพวกเขาต้องยอมถอยได้หรือไม่




Piyabutr Saengkanokkul