วันพฤหัสบดี, เมษายน 27, 2560

บังคับให้เสียค่าสมาชิกพรรค ระวังขัดรัฐธรรมนูญ :ชำนาญ จันทร์เรือง

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐

 มาตรา ๒๗ บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครอง
ตามกฎหมายเท่าเทียมกัน...
การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล...ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม...จะกระทำมิได้”

“มาตรา ๔๕ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันจัดตั้งพรรคการเมือง ตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามที่กฎหมายบัญญัติ

กฎหมายตามวรรคหนึ่ง อย่างน้อยต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการบริหารพรรคการเมือง ซึ่งต้องกำหนดให้เป็นไปโดยเปิดเผยและตรวจสอบได้ เปิดโอกาสให้สมาชิกมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในการกำหนดนโยบายและการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง
และกำหนดมาตรการให้สามารถดำเนินการโดยอิสระ ไม่ถูกครอบงำหรือชี้นำโดยบุคคลซึ่งมิได้เป็นสมาชิกของพรรคการเมืองนั้น รวมทั้งมาตรการกำกับดูแลมิให้สมาชิกของพรรคการเมืองกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง”

พลันที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฯ เข้าสู่สภานิติบัญญัติและได้ผ่านวาระแรกซึ่งเป็นวาระของการรับหลักการไปด้วยเสียงท่วมท้นในสภา ๑๗๕ ต่อ ๐ โดยมีเงื่อนไขที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ตามมาอย่างอื้ออึง ทั้งจากพรรคการเมืองและนักวิชาการ

ซึ่งเงื่อนไขที่ว่านั้นก็เช่น ให้คนที่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองต้องจ่ายเงินบำรุงพรรคไม่น้อยกว่า ๑๐๐ บาทต่อปีหรือไม่เกิน ๒,๐๐๐ บาทตลอดชีพ, ผู้ขอยื่นจดทะเบียนตั้งพรรคการเมืองจะต้องจ่ายเงินลงขันตั้งกองทุนประเดิม ๑ ล้านบาท, ต้องหาสมาชิกพรรคไม่ต่ำกว่า ๕,๐๐๐ คนภายใน ๑ ปี, ต้องหาสมาชิกเพิ่มให้เกิน ๑๐,๐๐๐ คน ภายใน ๔ ปี ฯลฯ

ในภาพรวมทั้งฉบับถูกวิจารณ์ว่าเป็นการกีดกันการจัดตั้งพรรคการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคขนาดเล็กอย่างชัดเจน หรือแม้แต่พรรคขนาดใหญ่ก็มีความยากลำบากที่จะสามารถปฏิบัติตามได้ จึงเป็นที่สงสัยว่าวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ส่งเสริมหรือทำลายพรรคการเมืองกันแน่

พรรคการเมืองคืออะไร

พรรคการเมือง (political party) มีรากศัพท์มาจากภาษาละตินว่า Par (คำเดียวกันกับที่ใช้ในสนามกอล์ฟนั่นแหล่ะครับ) ซึ่งแปลว่า ส่วน พรรคการเมืองจึงหมายถึงส่วนของประชากรภายในประเทศ ซึ่งก็คือการที่แยกประชากรออกเป็นส่วนๆ ตามความคิดเห็นและประโยชน์ได้เสียทางการเมือง

พรรคการเมืองถือว่าเป็นสถาบันทางการเมืองที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบการเมืองในระบอบประชาธิปไตย เพราะพรรคการเมืองเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่ประกอบไปด้วยบุคคลจำนวนมาก ที่มีภารกิจไปสู่จุดมุ่งหมายเดียวกัน

พรรคการเมืองเป็นสื่อกลางที่จะเชื่อมโยงระหว่างประชาชนกับรัฐบาล ถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะชักนำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง

พรรคการเมืองจึงเป็นผู้ที่รวบรวมผลประโยชน์ของประชาชนมาเขียนไว้ในนโยบายของพรรคตน ประชาชนคนใดเห็นพ้องกับนโยบายของพรรคการเมืองใด ก็จะเข้าไปมีส่วนร่วมในพรรคการเมืองนั้น ทั้งการสมัครเข้าไปเป็นสมาชิกพรรคด้วยตนเอง หรือการเลือกสมาชิกของพรรคการเมืองนั้นเข้าไปทำหน้าที่แทนตนในรัฐสภา

จากหลักการดังกล่าวข้างต้นเมื่อนำมาประกอบเข้ากับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๔๕ ที่บัญญัติว่าบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันจัดตั้งพรรคการเมืองตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแล้ว จะเห็นได้ว่าเนื้อของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ ฉบับที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญเสนอต่อ สนช.นี้ ขัดหลักการทางวิชาการและหลักการสำคัญในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน

เพราะเป็นการจำกัดเสรีภาพของบุคคลในการรวมกันจัดตั้งพรรคการเมือง เนื่องจากเป็นการยากที่จะสามารถรวบรวมเงินค่าสมาชิกจากทุกคนได้ จริงอยู่เงิน ๑๐๐ บาทอาจจะดูไม่มากนัก แต่ค่าใช้จ่ายในการติดตามอาจจะมากกว่ามูลค่า ๑๐๐ บาทด้วยซ้ำไป และถือได้ว่าเป็นการสร้างอุปสรรคและเลือกปฏิบัติต่อผู้ที่สนใจจะเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองที่ตนเองชื่นชอบ

การที่จะอ้างเหตุผลว่าสมาชิกเสียเงินแล้วจะได้มีความรู้สึกเป็นเจ้าของ นั้นฟังไม่ขึ้นแต่อย่างใด เพราะความรู้สึกในการเป็นเจ้าของมีได้หลายวิธีไม่จำเพาะเพียงแต่การเสียเงินค่าบำรุงเท่านั้น และยิ่งไปสร้างข้อจำกัดว่าผู้ขอยื่นจดทะเบียนตั้งพรรคการเมืองจะต้องจ่ายเงินลงขันตั้งกองทุนประเดิม ๑ ล้านบาทนั้น เป็นการกีดกันคนจนอย่างเห็นได้ชัด

มิหนำซ้ำกลับมองเห็นว่า อาจจะเป็นเจตนาที่จะจับผิดหรือทำลายพรรคการเมืองด้วยซ้ำไป หากสมาชิกชำระเงินที่ไม่ได้เป็นของตนเองซึ่งอาจจะด้วยวิธีการใดก็ตาม เช่น พรรคออกให้, สมาชิกพรรคคนอื่นออกให้ ฯลฯ โอกาสที่พรรคการเมืองจะถูกลงโทษจึงเป็นไปได้สูง ที่สำคัญเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๗ ที่ว่าด้วยเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม อีกเช่นกัน

กรรมการร่างรัฐธรรมนูญเสนอร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเองจะขัดรัฐธรรมนูญได้อย่างไร

ดูเผินๆก็น่าจะเป็นเช่นนั้น แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะตามระบบกฎหมายไทยและรัฐธรรมนูญปัจจุบันองค์กรที่มีอำนาจวินิจฉัยว่ากฎหมายใดในระดับร่าง พ.ร.บ.หรือ พ.ร.บ.ขึ้นไป จะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ มิใช่อำนาจของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญหรือ กรธ. นะครับ

ที่สำคัญหากเรายังไม่ลืมตอนที่มีการส่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญหลังการลงประชามติจาก กรธ.ไปศาลรัฐธรรมนูญ มีการส่งกันกลับไปกลับมาตั้งหลายรอบ จนมีการเปรยๆ ว่าเห็นทีจะมีการเอาคืนกันบ้างเสียแล้วกระมัง

มิหนำซ้ำศาลรัฐธรรมนูญยังมีคำวินิจฉัยที่ ๖/๒๕๕๙ ลว.๒๘ ก.ย.๕๙ ให้ กรธ.ปรับแก้บทเฉพาะกาลเพื่อให้สอดคล้องกับคำถามพ่วงประชามติ ในเรื่องการขอยกเว้นใช้ข้อบังคับในการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีนอกบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอ จากเดิมที่ กรธ.ระบุให้เฉพาะ ส.ส. จำนวนกึ่งหนึ่งเท่านั้นมีสิทธิเป็นผู้เสนอของดใช้ข้อบังคับ ก็ให้ปรับแก้มาเป็นสมาชิกรัฐสภาทั้งสอง กอปรกับเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกาศใช้แล้วดูเหมือนว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหลายคนจะขาดคุณสมบัติเอาเสียด้วย หาก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้

อย่างไรก็ตามด้วยเหตุจำกัดของเวลาที่ สนช.จะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน ๖๐ วัน หากมีการแก้ไขก็จะต้องตั้งกรรมการร่วมระหว่าง สนช. กับ กรธ. หรือหากกฎหมายฉบับนี้ตกไปก็ต้องนับหนึ่งใหม่

ผมจึงคิดว่าน่าจะมีทางออกในเรื่องนี้หากไม่อยากให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ตกไป ไม่ว่าจะเป็นในชั้นของ สนช.หรือศาลรัฐธรรมนูญ ผมจึงขอเสนอว่าน่าจะแบ่งประเภทของสมาชิกพรรคเป็นหลายประเภท อาจจะเป็นประเภทที่ต้องเสียค่าบำรุง หรือเป็นประเภทที่ไม่ต้องเสียค่าบำรุงแต่เป็นสมาชิกด้วยคุณสมบัติอื่น ซึ่งมีทางออกอีกเยอะแยะ

ส่วนในเรื่องอื่นๆ เอาให้พอดีๆ ก็แล้วกัน อย่าทำให้ถูกมองว่าเจตนาที่จะ ทำหมันพรรคการเมืองตั้งแต่ยังไม่ได้เกิดเลยครับ เพราะแทนที่จะได้ภาคภูมิใจว่าเมื่อรัฐธรรมนูญผ่านถือว่าใช้หนี้แผ่นดินแล้ว จะกลายเป็นติดหนี้แผ่นดินจนไม่อาจชดใช้ได้ ไปเสียน่ะ
----------------

หมายเหตุ  ปรับปรุงจากการเผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ ๒๖ เม.ย. ๕๙