https://www.facebook.com/morngyai/videos/1277926152303945/
ooo
เรื่องเกี่นวข้อง...
ooo
ตอบทุกคำถามในโพสต์เดียวจบ #Allaboutหมุด
ประเด็นโบราณวัตถุ พฤติกรรมประหลาดของผู้มีอำนาจ กล้อง11ตัว ฯลฯ
พร้อมคำถามสุดท้าย "จะสู้ไปทำไม?"
1. หมุดคณะราษฎรถือเป็นโบราณวัตถุตามกฎหมายมั้ย? ประชาชนทั่วไปแจ้งความได้หรือไม่
หมุดคณะราษฎร (ชื่อทางการ"หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ") ถือเป็น “โบราณวัตถุ” ตามมาตรา4 ในพรบ.โบราณสถาน โบราณวัตถุฯ หมายความว่า "สังหาริมทรัพย์ที่เป็นของโบราณไม่ว่าจะเป็นสิ่งประดิษฐ์หรือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรือที่เป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของโบราณสถาน ซากมนุษย์หรือซากสัตว์ ซึ่งโดยอายุหรือโดยลักษณะแห่งการประดิษฐ์หรือโดยหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของสังหาริมทรัพย์นั้น เป็นประโยชน์ในทางศิลป ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี" ผู้ที่ลักไปจึงมีความผิดตามมาตรา 31 ที่ระบุว่า “ผู้ใดเก็บได้ซึ่งโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุที่ซ่อนหรือฝังหรือทอดทิ้งโดยพฤติการณ์ซึ่งไม่มีผู้ใดสามารถอ้างว่าเป็นเจ้าของได้ และเบียดบังเอาโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุนั้นเป็นของตนหรือของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิดเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินเจ็ดแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” นี่คือข้อกฎหมายสำหรับโบราณวัตถุที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ส่วนโบราณวัตถุที่ขึ้นทะเบียนแล้ว โทษจำคุกสูงสุดจะหนักกว่านี้ 3 ปี ตามมาตรา 33
เหตุผลสนับสนุนเพิ่มเติมทางวิชาการเพื่อยืนยันว่าโดยลักษณะแห่งการประดิษฐ์และหลักฐานทางประวัติศาสตร์ หมุดนี้มีฐานะโบราณวัตถุและเป็นประโยชน์ในทางประวัติศาสตร์ตามพรบ.นี้ก็คือ หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ ได้ถูกประดิษฐ์โดยกระทรวงมหาดไทยและประดิษฐานอย่างเป็นทางการในพิธีฝังหมุดโดยนายกรัฐมนตรี พระยาพหลพลพยุหเสนา ในวันที่ 10 ธันวาคม 2479 โดยมีส่วนหนึ่งของคำแถลงในพิธีว่า
"เพื่อเปนเครื่องป้องกันการหลงลืมและเปนอนุสสรณ์สืบต่อไปภายภาคหน้า ข้าพเจ้าได้ปรารภกับท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในการที่จะจัดให้มีหมุดที่ระลึกนี้ ฉะนั้นท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจึ่งได้จัดทำขึ้น หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญนี้ทำด้วยโลหะสำฤทธิ์ และจะได้ประดิษฐานไว้ณจุดที่ข้าพเจ้า ผู้ได้รับแต่งตั้งแลมอบหมายจากพวกพี่น้องผู้ร่วมก่อการณ์ทั้งหลายให้เปนผู้นำ และได้ยืนกล่าวประกาศอิสสระเสรี เพื่อปลุกใจเพื่อนร่วมตายทั้งหลาย และได้สั่งการเด็ดขาดในการที่จะดำเนินการต่อไป โดยวางกำหนดโทษอย่างหนักไว้ ถ้าผู้ใดขัดขืนคำสั่งหรือละเมิดวินัยในการกระทำหน้าที่ ซึ่งเกี่ยวแก่การเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น.
ฉะนั้น หมุดที่จะวางลงณที่นี้จึ่งเรียกว่า “หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ” ในมงคลสมัยซึ่งเปนปีที่ ๕ แห่งการพระราชทานรัฐธรรมนูญ ฉะบับถาวรนี้ นับว่าเปนมงคลฤกษ์ ข้าพเจ้าขอถือโอกาสวางหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ ณ ที่นี้ ขอให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม จงสถิตย์เสถียรอยู่คู่กับประเทศชาติชั่วกัลปาวสาน เทอญ”
ไม่ว่าใครจะมีความเห็นเกี่ยวกับตัวบุคคลหรือคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองอย่างไร ปฏิเสธไม่ได้ว่าหมุดนี้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญในฐานะโบราณวัตถุ และตามกฎหมายผู้ที่ลักไปก็ถือเป็นอาญาแผ่นดิน ประชาชนทั่วไปมีสิทธิแจ้งความกล่าวโทษ และเจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่สืบสวนหาผู้กระทำความผิด
2. ทำไมรองผบ.ตร.จึงบอกว่าหมุดคณะราษฎรไม่ใช่โบราณวัตถุและขู่ประชาชนที่ไปแจ้งความ อธิบดีกรมศิลปากรเดินหนีทันทีที่นักข่าวตั้งคำถาม นายกรัฐมนตรีขอให้ทุกคนหยุดพูดเรื่องนี้ ผู้ว่ากทม.บอกไม่รู้เรื่องเพราะเกิดไม่ทันหมุด คสช.ขออย่าไปถามหากล้องวงจรปิด และคุณศรีสุวรรณถึงกับถูกทหารอุ้มไปก่อนยื่นเรื่องร้องเรียนที่ศูนย์ร้องทุกข์ประชาชน?
นี่เป็นคำถามที่ยิ่งใหญ่กว่ารายละเอียดในคดีหมุดหาย เพราะเรื่องหมุดถูกขโมยนั้นเรียบง่ายตรงไปตรงมาในแง่ข้อกฎหมายไม่มีประเด็นที่ต้องถกเถียงเลย เด็กปีหนึ่งก็ตอบได้ แต่พฤติกรรมของผู้มีอำนาจที่พยายามบิดเบือนกฎหมาย ปัดความรับผิดชอบ และข่มขู่คุกคามประชาชนผู้ร้องเรียนต่างหาก ที่ผิดปกติ เราไม่อาจตอบคำถามนี้แทนท่านได้ แต่เราขอเรียกร้องความซื่อตรงต่อหน้าที่ วิชาชีพ สติและความกล้าหาญของทุกคนกลับมา เพื่อไม่ให้ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมถูกทำร้ายไปมากกว่านี้
3. ทำไมไม่มีภาพจากกล้องวงจรปิด?
กล้องวงจรปิดทั้ง 11 ตัวของกรุงเทพมหานครที่ครอบคลุมบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าและถนนหน้าสำนักพระราชวัง ซึ่งเป็นจุดติดตั้งหมุด ถูกถอดออกไปพร้อมสัญญาณไฟจราจรเพื่อการปรับปรุงสัญญาณไฟจราจรตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม จึงทำให้เราไม่สามารถดูภาพในช่วงระหว่างวันที่ 2-8 เมษายน (ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่มีคนเห็นหมุดเก่าอยู่ และวันแรกที่มีคนเห็นหมุดใหม่)
อย่างไรก็ดี ตำแหน่งติดตั้งหมุดอยู่ที่ถนนหน้าสำนักพระราชวัง และข้างพระบรมรูปทรงม้า ซึ่งเป็นจุดที่มีเจ้าหน้าที่ทหารเข้าเวรยามรักษาความปลอดภัยหนาแน่นตลอดเวลา จึงน่าจะมีเจ้าหน้าที่เป็นพยานบุคคลได้ และบริเวณทางเข้าสำนักพระราชวังอาจมีกล้องวงจรปิดของสำนักพระราชวังเอง เพื่อใช้ตรวจดูความเรียบร้อยของถนนหน้าทางเข้า ที่อาจยังใช้การได้ ในส่วนนี้คงเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการสืบสวนตามกระบวนการต่อไป
4. ทำไมต้องซีเรียสกับเรื่องหมุดอันเดียวหาย?
นอกจากความสำคัญของตัวหมุดเองในทางประวัติศาสตร์ดังที่กล่าวในข้อ 1 และการที่เหตุนี้เกิดกับพื้นที่ที่มีความสำคัญและควรปลอดภัยสูงสุดดังระบุในข้อ 3 แล้ว ประเด็นที่สำคัญที่สุดคือความกังวลต่อการบิดพลิ้วในหลักนิติธรรมซ้ำแล้วซ้ำเล่าของผู้มีอำนาจตามที่เกิดขึ้นในข้อ 2
การทวงหมุด จึงแยกกันไม่ได้กับการทวงความเป็นธรรมและความเคารพในกติกาบ้านเมือง ซึ่งทุกคนน่าจะเห็นตรงกันว่าเป็นเรื่องใหญ่จริงๆและจะส่งผลต่อไปในระยะยาวกับเรื่องอื่นๆในอนาคตของประเทศเรา
5. จะสู้ไปทำไม ไม่กลัวหรือ?
เราสื่อสารกันเพื่อบรรทัดฐานที่ดีงามในสังคม บรรทัดฐานนี้เราจะใช้ร่วมกันต่อไปในทุกเรื่อง ใครหลายคนอาจจะเบื่อเรื่องหมุดก็ได้ แต่เราต้องไม่เบื่อเรื่องหลักนิติธรรม เพราะขาดสิ่งนี้ไปก็จะมีแต่กลียุค และนั่นไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวกว่าหรือ.
ที่มา FB
Bow Nuttaa Mahattana