บอกแล้วว่าฝีมือ สนช. ลิ่วล้อ คสช. ว่องไวปานกามนิตหนุ่ม
ชั่วโมงเดียวผ่านร่างกฎหมายการเงินให้แก่นาย ๓ วาระรวด เกือบหมื่นสองพันล้าน
เมื่อ ๒๐ เมษา ที่ประชุมสภานิติบัญญัติพิจารณา พ.ร.บ. โอนงบประมาณรายจ่ายประจำปี
๒๕๖๐ หลายกระทรวงเข้าไปใส่งบกลาง “รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น”
วงเงินทั้งสิ้นคราวนี้ ๑๑,๘๑๖,๕๑๒,๓๐๐ บาท
โดยมีกระทรวงหลักๆ ที่โดนโอนหนักกว่าเพื่อน ๓ แห่งคือ ศึกษาฯ มหาดไทย และสาธารณสุข
พันล้าน ห้าร้อยล้าน และสี่ร้อยล้านตามลำดับ ส่วนกลาโหมเบาะๆ แค่เกือบ ๕๖ ล้าน
งบกลางนี่เป็นที่รู้กันว่าเหมือนเงินสดติดกระเป๋าให้รัฐบาล
อยากควักจ่ายเมื่อไรได้ทันใจ รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารชอบใช้ สมัยสฤษดิ์
ธนะรัชต์ ใช้เป็นว่าเล่นจนกระฉอกไปชะโลมอ่างศิลาให้พวกอนุ ‘ขะม้าแดง’ ได้ชื่นฉ่ำกัน
แต่ในยุค คสช. นี่ ทั่นรองฯ ฝ่ายกฎหมาย วิษณุ เครืองาม
อธิบายว่า “จะทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น” และ “มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศมากขึ้น” ด้วย
ก็เอิ่ม
ไม่รู้เกี่ยวกับการแถลงของกระทรวงคลังหรือเปล่าที่ว่า ปีนี้ ๕
เดือนที่ผ่านมาจัดเก็บรายได้จากภาษีสรรพากรต่ำกว่าประมาณการไปหน่อย “จัดเก็บรายได้รวม ๖.๑๖ แสนล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ ๘.๔ พันล้านบาท หรือ ๑.๓%”
โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่มที่รู้จักกันในนาม ‘แว้ท’
ต่ำกว่าเป้า ๑.๐๘ หมื่นล้าน
คงทราบกันแล้วนะว่า ภาษีแว้ทนี้ เป็นรายได้หลักของรัฐบาล
มากกว่ารายได้ด้านอื่นๆ ที่พวกสลิ่มชาวกรุงในเมืองเคยหลงมโนผิดๆ ว่าภาษีเงินได้ส่วนบุคคลที่พวกตนจ่ายรายปีเป็นหลักใหญ่กว่า
เลยอ้างว่าชาวบ้านนอกเมืองรายได้น้อยไม่ควรได้สิทธิออกเสียงเท่าพวกตน
ผลงานของ สนช. แบบฉับไวอีกอย่างเป็นการผ่านร่างกฎหมายระเบียบบริหารราชการในพระองค์
ผ่านการลงมติในฐานะเรื่องด่วนที่ต้องแซงหน้านำขึ้นพิจารณาก่อน
พรบ.โอนเงินเข้างบกลาง พรบ.ยุทธศาสตร์ชาติ และ พรบ. ปฏิรูปประเทศ
กฎหมายเกี่ยวกับราชการในพระองค์นี้ ทั่นรองฯ วิษณุอีกน่ะแหละ
ขอให้เป็นการพิจารณาลับ ห้ามแถลงข่าว ห้ามเปิดเผยรายละเอียด แต่ก็แพร่งพรายออกมาหน่อยหนึ่งว่า
เป็นการปรับหน่วยงานของวังให้มีฐานะมั่นคงตามรัฐธรรมนูญ
โดยโอน ๖ หน่วยงานไปรวมกับสามหน่วยงานหลัก คือ
สำนักราชเลขาธิการพระราชวัง หน่วยบัญชาการรักษาความปลอดภัยแก่พระองค์
และสำนักองคมนตรี
“ซึ่งการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวได้ตั้งกรรมาธิการเต็มสภาและได้ผ่านความเห็นชอบ
๓ วาระรวด โดยใช้เวลา ๒ ชั่วโมง”
ผลก็คือ
เป็นการตอกย้ำว่าราชาธิปไตยได้ประดิษฐานมั่นคงทั้งในรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๙
และในกฎหมายลูก สำหรับการเปลี่ยนรัชกาล ในยุค คสช.กุมอำนาจตลอดช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่าน
อันทำให้ระบอบปกครองของไทยที่เรียกว่า ‘ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’
นั้นน่าจะมีความหมายแท้จริงว่า ‘ระบบรัฐธรรมนูญอันมีราชาธิปไตยเป็นสรณะ’
เสียยิ่งกว่า
การหายไปของหมุดคณะราษฎร และมีหมุดหน้าใสมาแทนที่ ได้รับการวิเคราะห์วิพากษ์ในบางภาคส่วนของประชากรว่า
เป็นการตัดไม้ข่มนามให้กับรัชกาลใหม่ และลบล้างอาถรรพ์ของการปฏิวัติ ๒๔๗๕ ซึ่งทำให้สถาบันกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ
ภาพพิธีการบวงสรวงบริเวณหน้าพระรูปทรงม้าเมื่อกลางดึกวันที่
๔ เมษายน ขณะเปลี่ยนผ่านเวลาหลังเที่ยงคืนเข้าสู่วันใหม่ที่ ๕ เมษายน
โดยบริเวณใกล้เคียงที่ตั้งหมุดเดิมของคณะราษฎรปกคลุมด้วยเต๊น สันนิษฐานว่ามีปฏิบัติการถอดหมุดออกอยู่ขณะนั้น
เป็นการยืนยันถึงช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านประเทศไทย จากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ
และเหนือการเมือง (แม้จะแทรกแซงได้ด้วยพระราชดำรัสส่วนพระองค์)
บัดนี้กำลังเข้าสู่การปกครองที่รัฐธรรมนูญมอบให้รัฐสภา อันเป็นส่วนผสมจากการสรรหาและเลือกตั้ง
เป็นผู้กำหนดรัฐบาล ที่จักต้องดำเนินนโยบายตามยุทธศาสตร์ซึ่งคณะทหาร คสช. ตราไว้
และองค์พระประมุขทรงมีเอกเทศในการบริหารจัดการสำนักราชวัง กองกำลังรักษาพระองค์
และราชกรณียกิจเกี่ยวกับรัฐ
อันรวมถึงการวีโต้ร่างกฎหมายด้วยการไม่พระราชทานคืนภายใน ๙๐ วัน
หรือทรงมีพระราชวินิจฉัยโดยตรงเป็นข้อแม้การลงพระปรมาภิไธย
ประชาชนไทยพร้อมไหมกับการย้อนยุคการปกครองไปสู่สถานะก่อนปี
๒๔๗๕ ด้วยการกลับไปหาแบบแผนดั้งเดิม เพื่อประชดค่านิยม (ประชาธิปไตย) ตะวันตก และเคลิบเคลิ้มกับกุศโลบายของตะวันออก
ในสังคมตะวันตกใช่ว่าจะละทิ้งของเก่าไปเสียหมด เขาชื่นชมและนำอดีตมาสู่ปัจจุบันผ่านศัพท์
๒ คำ คือ nostalgia กับ gentrification
คำแรกหมายถึงการ ‘รำลึก’ ความสุขและสิ่งประทับใจในอดีต
โดยไม่ต้องกลับไปใช้ชีวิตแบบนั้นเพราะมันเข้ากันไม่ได้กับปัจจุบัน ส่วนคำหลังเป็นการปรับปรุงของเก่าให้ทันสมัย
สวยงามและใช้การได้ดีกับสภาพปัจจุบัน โดยที่ไม่เปลี่ยนรูปพรรณจากเดิม
จะเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง
หรือปรับใช้ทั้งสองทางพร้อมกันก็ได้ แต่ไม่ใช่กลับไปหาของเดิมชนิดผ่าน time machine เพราะนั่นไว้เพื่อ ‘เล่น’
โดยนักแสดงเท่านั้น คนอื่นๆ แค่หาความสำราญจากการชม