วันศุกร์, เมษายน 28, 2560
มึน! แรงงานไทยหนี้ท่วมหัว สูงสุดรอบ 8 ปี วอนรัฐเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 410 บาท ใน 3 ปีข้างหน้า
มึน! แรงงานไทยหนี้ท่วมหัว สูงสุดรอบ 8 ปี วอนรัฐเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 410 บาท ใน 3 ปีข้างหน้า
ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
27 เม.ย 2560
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ผลการสำรวจสถานภาพแรงงานไทยที่มีรายได้ต่ำกว่าเดือนละ 15,000 บาท จำนวน 1,258 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 27 เม.ย. ที่ผ่านมา พบว่ากว่า 97% ของแรงงานไทยยังมีภาระหนี้ และก่อหนี้เฉลี่ยครัวเรือนละ 131,479 บาท เพิ่มขึ้น 10.43% จากปีก่อนหน้าที่ 119,061 บาท นับว่าสูงสุดในรอบ 8 ปี
ส่วนหนึ่งมากจากมีหนี้สะสมตั้งแต่ 3 ปีที่ผ่านมา จากภาวะเศรษฐกิจโลกแย่ โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจของประเทศในปีที่ผ่านมา มีปัญหามาก และไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบ 50 ปี เช่น ราคาสินค้าเกษตรหลัก 6 ตัว ยางพารา น้ำมันปาล์ม ข้าว ตกต่ำพร้อมกัน, ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยลดลงเหลือ 35 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ทำให้การส่งออกลดลง ส่งผลต่อรายได้ครัวเรือนไม่เพิ่มขึ้น
และอีกส่วนหนึ่งเนื่องจากยังต้องใช้จ่ายมากกว่าหรือเท่ากับรายได้ เพราะมีรายได้เท่าเดิม แต่ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น รวมทั้งดอกเบี้ยสูงขึ้น ทำให้มีหนี้สินเพิ่ม แต่อย่างไรก็ดี หนี้ที่สูงนี้ ไม่น่าเป็นห่วง เพราะเป็นการก่อหนี้เพื่อซื้อทรัพย์สินคงทน เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ที่อยู่อาศัยเพิ่มสูงขึ้น จากเดิมที่เป็นการกู้เพื่อใช้จ่ายทั่วไปเป็นหลัก
ทั้งนี้ เป็นที่น่ายินดีว่าหนี้เหล่านี้เข้ามาเป็นหนี้ในระบบเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้สัดส่วนหนี้นอกระบบลดลง โดยเป็นหนี้ที่อยู่ในระบบ 46.4% จากปีก่อนที่มีสัดส่วน 39.38% เป็นการเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 4 ปี
ขณะที่หนี้นอกระบบนั้นมีสัดส่วน 53.6% ลดลงจากปีก่อนหน้าที่มีสัดส่วน 60.62% ถือว่าลดลงสูงสุดในรอบ 4 ปีเช่นกัน โดยมีภาระรวมการผ่อนเฉลี่ยเดือนละ 5,080.48 บาท ลดลงจากปีก่อนที่ผ่อน 8,114.31 บาท โดยผ่อนหนี้ในระบบลดลงเหลือเดือนละ 5,587.28 บาท จากปีก่อนที่ผ่อนเดือนละ 5,889.53 บาท ขณะที่หนี้นอกระบบก็ลดลงเช่นกัน หรือผ่อนเดือนละ 5,244.88 บาท จากปีก่อนที่สูงถึง 9,657.78 บาท และมีความสามารถในการผ่อนชำระดีขึ้นกว่าปีก่อนที่มีปัญหาการผ่อน 83.5% ลดเหลือเพียง 78.6% รวมทั้งมีอัตราการออมเพิ่มขึ้น จากปีก่อนเพียง 39.4% เป็น 62.6% ในปีนี้
"ปีที่แล้วธุรกิจท่องเที่ยวดี ทำให้แรงงานบางกลุ่มมีรายได้ดีขึ้น และเริ่มรับรู้ว่าเศรษฐกิจดีขึ้น ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น จึงก่อหนี้มากขึ้น แต่เป็นสินทรัพย์คงทน ทั้งรถ บ้าน สูงสุดในรอบ 4 ปี และขณะนี้พร้อมที่จะจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น จากความมั่นใจว่าโอกาสการตกงานมีน้อยลง หรือน้อยที่สุดในรอบ 5 ปี แม้ว่าโอกาสในการหางานใหม่ๆ หรือหารายได้พิเศษจะยังไม่โดดเด่นก็ตาม แต่ถือเป็นสัญญาณในทางบวกที่ดี ที่แรงงานมั่นใจว่าชีวิตเขามั่นคงขึ้น"
แต่อย่างไรก็ดี ปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ยังคงมีสูง ซึ่งแรงงานส่วนใหญ่ 78.6% เคยผิดนัดชำระหนี้ เนื่องจากรายได้ไม่เพิ่มขึ้น แต่ค่าใช้จ่ายและราคาสินค้าสูงขึ้น จนหมุนเงินไม่ทัน ดังนั้นจึงต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือด้วยการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 410 บาท ภายใน 3 ปี พร้อมทั้งควบคุมราสินค้า และช่วยเหลือเรื่องค่าครองชีพให้สอดคล้องกับรายได้ โดยเฉพาะค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายประจำวัน แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ช่วยเหลือผู้ว่างงาน ดูแลประกันสังคม และค่ารักษาพยาบาล ลดดอกเบี้ยเงินกู้ และให้เงินช่วยเหลือด้านสวัสดิการ เป็นต้น ขณะเดียวกันแรงงานก็พร้อมที่จะปรับฝีมือแรงงานตัวเองให้ดีขึ้น เพื่อให้ได้รายได้ที่สูงขึ้นตามไปด้วย
โดยมีแรงงานเพียง 3% เท่านั้นที่ไม่มีการก่อหนี้ ด้วยการประหยัดให้มากขึ้น โดยซื้อสินค้าเท่าที่จำเป็น แต่ก็มีบางส่วนที่มีรายได้สูงขึ้น และมีรายได้เสริมด้วย รวมทั้งห่วงใยเรื่องการตกงานน้อยลงมากที่สุดในรอบ 5 ปี แต่อย่างไรก็ดี ขณะนี้อัตราการว่างงานยังอยู่ 1.3% และคาดว่าจะขึ้นไปสูงสุดกลางปีนี้ถึง 1.5% แต่จากนั้น ก็จะถอยกลับมา และสิ้นปีนี้ไม่ควรเกิน 1%
นายธนวรรธน์กล่าวว่า สำหรับวันแรงงานในปีนี้ โดยภาพรวมบรรยากาศยังเป็นไปอย่างคึกคัก ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา โดยในช่วงวันหยุดแรงงาน จะไปสังสรรค์มากที่สุด มีการใช้จ่าย 1,879.54 บาท รองลงมาคือไปท่องเที่ยว ใช้จ่ายเฉลี่ยคนละ 1,850.98 บาท ทานอาหารนอกบ้าน 612.57 บาท ทำบุญ 759.43 บาท ดูหนัง 531.15 บาท กลับบ้านต่างจังหวัด 1,328.82 บาท ซื้อของ 1,074.14 บาท