วันจันทร์, เมษายน 24, 2560

ค้านข้าราชการ ไม่ค้านทหาร... ฉบับเต็ม!ขรก.ตำแหน่งใดบ้างนั่งกก.รัฐวิสาหกิจ เสี่ยงขัดปย.ทับซ้อน-สตง.ชงบิ๊กตู่รื้อระบบ





ฉบับเต็ม!ขรก.ตำแหน่งใดบ้างนั่งกก.รัฐวิสาหกิจ เสี่ยงขัดปย.ทับซ้อน-สตง.ชงบิ๊กตู่รื้อระบบ


23 เมษายน 2560
ที่มา สำนักข่าวอิศรา

"..จากการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว ทำให้ข้าราชการระดับสูงที่เกษียณอายุสามารถเข้าไปดำรงตำแหน่งกรรมการรัฐวิสาหกิจได้ ซึ่งหากข้าราชการที่เกษียณเคยดำรงตำแหน่งในหน่วยงานซึ่งมีอำนาจหน้าที่ควบคุมกำกับดูแลนโยบายและด้านการปฏิบัติของรัฐวิสาหกิจรายสาขา (regulator) และตรวจสอบการปฏิบัติงานของรัฐวิสาหกิจให้เป็นไปตามกฎหมาย อาจส่งผลให้เกิดความเสี่ยงในด้านผลประโยชน์ทับซ้อนเนื่องจากข้าราชการดังกล่าวอาจยังมีอำนาจจากบทบาทหน้าที่ทางราชการเดิม และทราบข้อมูลภายในที่จะแสวงหาประโยชน์ให้ตนเองหรือพวกพ้อง.."


กรณีสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)ได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานประธานกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจเพื่อเสนอผลการศึกษาวิเคราะห์การดำรงตำแหน่งกรรมการรัฐวิสาหกิจของข้าราชการประจำ ระบุว่า อาจเกิดความเสี่ยงในการขัดกันของหน้าที่หรือผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ทั้งในส่วนข้าราชการระดับสูง รวมถึงกรณีข้าราชการระดับสูงที่เกษียณอายุราชการ ที่เคยกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจด้วย นั้น

(อ่านประกอบ : หวั่นหน้าที่ขัดผลปย.ทับซ้อน! สตง.ชงบิ๊กตู่ รื้อระบบขรก.นั่งกก.รัฐวิสาหกิจ)

ข้อมูลในรายงานผลการศึกษาวิเคราะห์กรณีนี้ ที่สาธารณชนยังไม่ได้รับทราบข้อมูลที่ชัดเจน คือ ข้าราชการตำแหน่งใดบ้าง? ที่ดำรงตำแหน่งกรรมการรัฐวิสาหกิจ และสตง.เห็นว่า อาจเกิดความเสี่ยงในการขัดกันของหน้าที่หรือผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ

ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลผลการศึกษาวิเคราะห์การดำรงตำแหน่งกรรมการรัฐวิสาหกิจของข้าราชการประจำฉบับเต็มมาเสนอ ณ ที่นี้

เรื่อง การศึกษาวิเคราะห์การดำรงตำแหน่งกรรมการรัฐวิสาหกิจของข้าราชการประจำ

กราบเรียน นายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ

สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้ศึกษาวิเคราะห์การดำรงตำแหน่งกรรมการรัฐวิสาหกิจของข้าราชการประจำ พบว่า การดำรงตำแหน่งกรรมการรัฐวิสาหกิจของข้าราชการประจำ อาจเกิดความเสี่ยงในการขัดกันของหน้าที่หรือผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐโดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้

1 การดำรงตำแหน่งกรรมการรัฐวิสาหกิจของข้าราชการประจำ อาจทำให้เกิดการขัดกันของหน้าที่หรือผลประโยชน์ทับซ้อน

1.1 การดำรงตำแหน่งกรรมการรัฐวิสาหกิจของข้าราชการระดับสูงในส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐซึ่งมีอำนาจหน้าที่ควบคุม กำกับดูแลด้านนโยบายและด้านการปฏิบัติการของรัฐวิสาหกิจรายสาขา

จากการวิเคราะห์ข้อมูลการดำรงตำแหน่งกรรมการในรัฐวิสาหกิจ พบว่า รัฐวิสาหกิจหลายแห่งมีข้าราชการระดับสูงที่ทำหน้าที่กำกับดูแลทั้งด้านสายการบังคับบัญชาและด้านบทบาทภารกิจเข้าไปดำรงตำแหน่งกรรมการในรัฐวิสาหกิจ เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธานกรรมการ และอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงานเป็นกรรมการ การไฟฟ้านครหลวง มีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานกรรมการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย มีอธิบดีกรมเจ้าท่าเป็นกรรมการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร มีผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นกรรมการ เป็นต้น

ซึ่งการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงดังกล่าว เป็นประธานกรรมการหรือกรรมการในรัฐวิสาหกิจ อาจทำให้เกิดการขัดกันระหว่างการทำหน้าที่ผู้บริหารระดับสูงของส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐซึ่งทำหน้าที่ในการออกนโยบาย ควบคุม กำกับดูแลการดำเนินกิจการต่างๆ ของรัฐวิสาหกิจ เพื่อดูแลรักษาผลประโยชน์สาธารณะ คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด กับ การทำหน้าที่ประธานกรรมการหรือกรรมการในรัฐวิสาหกิจ ซึ่งทำหน้าที่กำกับ ควบคุม ดูแลการบริหารกิจการ การตัดสินใจ การวางแผนนโยบาย และการวางแผนกลยุทธ์เพื่อบรรลุเป้าหมายของรัฐวิสาหกิจ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ที่ดีที่สุดขององค์กร และการแสวงหากำไรหรือประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ถือหุ้น ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักการและนโยบายการกำกับดูแลที่ดีในรัฐวิสาหกิจ และอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ

ทั้งนี้ มีสาเหตุสำคัญเนื่องจาก กฎหมายจัดตั้งรัฐวิสาหกิจกำหนดให้แต่งตั้งกรรมการโดยตำแหน่งหรือผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ ซึ่งเป็นข้าราชการที่มีหน้าที่กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการบัญชีและการเงินของรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2548 กำหนดให้ต้องมีผู้แทนกระทรวงการคลังเข้าไปเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ

นอกจากนี้พระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสําหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการรัฐวิสาหกิจไว้ตามมาตรา 5 โดยห้ามกรรมการไม่ให้เป็นผู้ถือหุ้นและไม่ให้ดำรงตำแหน่งใด ๆ ในรัฐวิสาหกิจรวมถึงบริษัทในเครือ แต่ไม่ได้ห้ามข้าราชการที่มีหน้าที่กำกับดูแลทั้งด้านสายการบังคับบัญชาและด้านบทบาทภารกิจเข้าไปดำรงตำแหน่งกรรมการในรัฐวิสาหกิจ

อย่างไรก็ตาม คณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้มีมติเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ปรับปรุงและจัดทำแนวทางปฏิบัติเรื่องกระบวนการสรรหากรรมการรัฐวิสาหกิจ รวมถึงการปรับปรุงรายชื่อกรรมการรัฐวิสาหกิจในระบบ director pool และให้กระทรวงเจ้าสังกัดพิจารณาแนวทางการปรับปรุงกฎหมายจัดตั้งในส่วนกรรมการโดยตำแหน่งที่ขัดหลักธรรมาภิบาลที่ดี (กรรมการรัฐวิสาหกิจต้องไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และไม่เป็นผู้กำกับดูแลรายการสาขา (regulator)) ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้กำหนดทักษะ ความรู้ ความเชี่ยวชาญของกรรมการรัฐวิสาหกิจ (Skill matrix) เพื่อปรับปรุงบัญชีรายชื่อกรรมการแล้ว ส่วนแนวทางการปรับปรุงกฎหมายจัดตั้งรัฐวิสาหกิจ กระทรวงเจ้าสังกัดแต่ละแห่งยังอยู่ระหว่างการพิจารณาทบทวน

1.2 การดำรงตำแหน่งกรรมการรัฐวิสาหกิจและบริษัทในเครือของรัฐวิสาหกิจของข้าราชการระดับสูงที่มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแล ตรวจสอบการปฏิบัติงานของรัฐวิสาหกิจให้เป็นไปตามกฎหมาย

เช่น ข้าราชการกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่ในการกำหนดนโยบายภาษีอากร กำกับดูแลผู้เสียภาษี ตรวจสอบผู้ประกอบการให้ดำเนินการเสียภาษีให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด โดยรักษาผลประโยชน์ของรัฐเป็นหลัก ส่วนรัฐวิสาหกิจและบริษัทในเครือเป็นองค์กรธุรกิจที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรสูงสุด และบริหารจัดการให้มีกำไรหลังหักภาษีมากที่สุด หากมีข้าราชการกรมสรรพากรเข้าไปดำรงตำแหน่งกรรมการในรัฐวิสาหกิจอาจเกิดการขัดกันของหน้าที่หรือผลประโยชน์ทับซ้อน

โดยการตรวจสอบข้อมูลการดำรงตำแหน่งกรรมการในรัฐวิสาหกิจและบริษัทในเครือ จำนวน 213 แห่ง พบว่า มีข้าราชการกรมสรรพากร จำนวน 6 คน เข้าไปดำรงตำแหน่งกรรมการในรัฐวิสาหกิจและบริษัทในเครือ จำนวน 11 แห่ง ได้แก่ 1. บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) 2. โรงงานไพ่ 3. บริษัท พีทีที เอ็นเนอร์ยี่รีซอร์สเซส จำกัด 4. บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด 5. บริษัท โรงแรมเอราวัณ จำกัด 6. บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) 7. ธนาคารออมสิน 8. บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด 9. บริษัท รักษาความปลอดภัย กรุงไทยธุรกิจบริการ จำกัด 10. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และ 11. องค์การตลาดเพื่อการเกษตรกร

1.3 การดำรงตำแหน่งกรรมการรัฐวิสาหกิจของข้าราชการระดับสูงที่เกษียณอายุราชการ ซึ่งเคยกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 หมวด 9 การขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม มาตรา 100 และมาตรา 101 ได้กำหนดห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปมีส่วนได้เสียในฐานะเป็นกรรมการในธุรกิจของเอกชนซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแล ควบคุม หรือตรวจสอบของหน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นสังกัดอยู่หรือปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งโดยสภาพของผลประโยชน์ของธุรกิจของเอกชนนั้นอาจขัดหรือแย้งต่อประโยชน์ส่วนรวมหรือประโยชน์ทางราชการ หรือผลกระทบต่อความมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้น ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวให้นำมาใช้บังคับผู้ซึ่งพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐมาแล้วยังไม่ถึง 2 ปีด้วย

อย่างไรก็ตาม บทบัญญัติดังกล่าวนั้น ไม่ได้ใช้บังคับกับเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกตำแหน่ง แต่ต้องเป็นไปตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) กำหนด ซึ่งปัจจุบันได้มีการกำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ต้องห้ามตามมาตราข้างต้นไว้ 4 ตำแหน่ง คือ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ผู้บริหารท้องถิ่น และรองผู้บริหารท้องถิ่น ประกอบกับคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีการวินิจฉัยตีความว่า “ธุรกิจเอกชน” ตามมาตรา 100 (4) ของบทบัญญัติดังกล่าว ตามเรื่องเสร็จที่ 368/2544 โดยหมายถึง ธุรกิจที่เอกชนเป็นเจ้าของ โดยไม่รวมถึงธุรกิจหรือกิจการใดที่ตามกฎหมายถือว่าเป็นรัฐวิสาหกิจ

จากการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวข้างต้นทำให้ข้าราชการระดับสูงที่เกษียณอายุสามารถเข้าไปดำรงตำแหน่งกรรมการรัฐวิสาหกิจได้ ซึ่งหากข้าราชการที่เกษียณเคยดำรงตำแหน่งในหน่วยงานซึ่งมีอำนาจหน้าที่ควบคุมกำกับดูแลนโยบายและด้านการปฏิบัติของรัฐวิสาหกิจรายสาขา (regulator) และตรวจสอบการปฏิบัติงานของรัฐวิสาหกิจให้เป็นไปตามกฎหมาย อาจส่งผลให้เกิดความเสี่ยงในด้านผลประโยชน์ทับซ้อนเนื่องจากข้าราชการดังกล่าวอาจยังมีอำนาจจากบทบาทหน้าที่ทางราชการเดิม และทราบข้อมูลภายในที่จะแสวงหาประโยชน์ให้ตนเองหรือพวกพ้อง

โดยจากการวิเคราะห์ข้อมูลรายชื่อกรรมการรัฐวิสาหกิจ พบว่า มีรัฐวิสาหกิจบางแห่งที่มีข้าราชการเกษียณอายุไปดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจที่เคยกำกับดูแล เช่น อดีตข้าราชการกรมสรรพสามิต ดำรงตำแหน่งกรรมการในโรงงานยาสูบ อดีตข้าราชการกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง ดำรงตำแหน่งกรรมการในธนาคารอาคารสงเคราะห์ เป็นต้น

2 กรรมการบริษัทในเครือของรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 และที่แก้ไขเพิ่มเติม อาจมีความเสี่ยงที่จะไปดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารระดับสูงของบริษัทในเครือ โดยตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสําหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 5 กำหนดลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการรัฐวิสาหกิจไว้ โดยไม่ให้เป็นผู้ถือหุ้นหรือดำรงตำแหน่งใดๆในรัฐวิสาหกิจ รวมถึงบริษัทในเครือ เว้นแต่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจนั้น

แต่ตามพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว มาตรา 4 กำหนดให้รัฐวิสาหกิจ คือ (1) องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล หรือกิจการของรัฐตามกฎหมายที่จัดตั้งกิจการนั้น และหมายความรวมถึงหน่วยงานธุรกิจที่รัฐเป็นเจ้าของ แต่ไม่รวมถึงองค์การหรือกิจการที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะเพื่อสงเคราะห์หรือส่งเสริมกิจการใดๆ ที่ไม่ใช่ธุรกิจ (2) บริษัทจำกัดหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่กระทรวง ทบวง กรม หรือทบวงการเมืองที่มีฐานะเทียบเท่า และหรือรัฐวิสาหกิจตาม (1) มีทุนรวมอยู่ด้วยเกินร้อยละ 50 หรือ (3) บริษัทจำกัดหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่กระทรวง ทบวง กรม หรือรัฐวิสาหกิจตาม (1) หรือ (2) มีทุนรวมอยู่ด้วยถึงสองในสามซึ่งบริษัทในเครือของรัฐวิสาหกิจบางแห่งที่หน่วยงานรัฐมีทุนไม่ถึงสองในสาม จึงไม่มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติฯ ข้างต้นแต่มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งกำหนดมีความหมายของรัฐวิสาหกิจในมาตรา 4 คือ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ส่วนราชการและ/หรือรัฐวิสาหกิจมีทุนรวมอยู่ด้วยเกินกว่าร้อยละ 50

ดังนั้น บริษัทในเครือของรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 และที่แก้ไขเพิ่มเติม อาจมีความเสี่ยงที่กรรมการรัฐวิสาหกิจสามารถดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงบริษัทในเครือของรัฐวิสาหกิจได้ ทำให้ผู้กำกับดูแล ควบคุม และตรวจสอบกับผู้ปฏิบัติเป็นบุคคลเดียวกัน เกิดการขัดกันของหน้าที่หรือผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีและอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ

สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) พิจารณาแล้วเห็นว่าเพื่อป้องกันความเสียหายแก่รัฐ อันอาจเกิดจากการขัดกันของหน้าที่หรือผลประโยชน์ทับซ้อนจากการดำรงตำแหน่งกรรมการรัฐวิสาหกิจของข้าราชการประจำและให้การบริหารงานรัฐวิสาหกิจและบริษัทในเครือรัฐวิสาหกิจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล จึงมีข้อเสนอแนะเพื่อนายกรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ดำเนินการ ดังนี้

1 เร่งรัดและติดตามการดำเนินงานให้กระทรวงเจ้าสังกัดของรัฐวิสาหกิจพิจารณาแนวทางการปรับปรุงกฎหมายจัดตั้งในส่วนกรรมการโดยตำแหน่งที่ขัดหลักธรรมาภิบาลที่ดี ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558

2 ทบทวนหลักการและแนวทางการกำกับดูแลที่ดีในรัฐวิสาหกิจปี 2552 เพื่อประกอบการกำหนดคุณสมบัติของกรรมการรัฐวิสาหกิจ โดยพิจารณาให้ครอบคลุมถึงการดำรงตำแหน่งกรรมการรัฐวิสาหกิจของข้าราชการประจำที่มีหน้าที่กำกับดูแล ตรวจสอบการปฏิบัติงานของรัฐวิสาหกิจให้เป็นไปตามกฏหมายการกำหนดระยะเวลาในการเว้นวรรคการทำงานของข้าราชการเกษียณอายุที่จะไปดำรงตำแหน่งกรรมการในรัฐวิสาหกิจ (cool-off period) และการดำรงตำแหน่งผู้บริหารบริษัทในเครือรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ของกรรมการรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งใช้ประกอบการพิจารณาปรับปรุงและจัดทำแนวทางปฏิบัติเรื่องกระบวนการสรรหากรรมการรัฐวิสาหกิจ

ทั้งหมดนี่ คือ ผลการศึกษาวิเคราะห์ของ สตง. ซึ่งพบข้อมูลหลายส่วนที่มีความสำคัญอย่างมาก เกี่ยวกับปัญหาการดำรงตำแหน่งกรรมการรัฐวิสาหกิจของข้าราชการประจำ ที่อาจเกิดความเสี่ยงในการขัดกันของหน้าที่หรือผลประโยชน์ทับซ้อน และอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ

ส่วนพล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ในฐานประธานกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ จะพิจารณาตัดสินใจอย่างไรเกี่ยวกับข้อมูลเรื่องนี้ สาธารณชน โปรดจับตาดูกันต่อไปแบบห้ามกระพริบตาโดยเด็ดขาด!

หมายเหตุ : ภาพประกอบเรื่องจาก OKnation และ news.sanook.com