วันพุธ, เมษายน 26, 2560

ไปดูแลนลอร์ด 25 ตระกูลดัง นามสกุลไหนยึดทำเลใด บริเวณแนวรถไฟฟ้าตั้งแต่ สยาม - บางนา




ไปดูแลนลอร์ด 25 ตระกูลดัง นามสกุลไหนยึดทำเลใด บริเวณแนวรถไฟฟ้าตั้งแต่ สยาม - บางนา


ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
25 เม.ย 2560


ราคาที่ดินบอกขายตารางวาละ 2.5-3 ล้านบาท กลายเป็นตัวจุดพลุความสนใจว่าทำไมแพงได้ขนาดนั้น ประเด็นที่น่าสนใจมากกว่าภาวะราคาก็คือที่ดินแพงแสนแพงตกอยู่ในมือใครบ้าง "ประชาชาติธุรกิจ" สำรวจไพรมแอเรียโดยโฟกัสรถไฟฟ้าบีทีเอส ตั้งแต่สถานีสยามไปจนถึงสถานีบางนา พบว่า ตลอดระยะทาง 14 สถานีดังกล่าวมีตระกูลดังจับจองกรรมสิทธิ์ ทั้งเจ้าของมือแรกหรือซื้อขายเปลี่ยนมือก็ตาม โดยมีไม่ต่ำกว่า 10 ตระกูลใหญ่ลงทุนทำห้างสรรพสินค้าและโครงการรองรับไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่

สยาม-ชิดลม-เพลินจิตสุโค่ย

ทั้งนี้รถไฟฟ้าบีทีเอสเป็นรถไฟฟ้าสายสีเขียวของ"คีรีกาญจนพาสน์"โดยสำรวจจุดแรก สถานีสยาม รหัส CEN ซึ่งหมายถึงเซ็นเตอร์ เป็นที่ดินเช่าของ "จูตระกูล" กลุ่มสยามพิวรรธน์ร่วมทุนกับกลุ่มมาบุญครอง เป็นจุดเชื่อมใหญ่ของรถไฟลอยฟ้า เป็นตำนานทำเลไข่แดง ฟากตรงข้ามคือ สยามสแควร์ ที่ดินเช่าของจุฬาฯ

ถัดมาบริเวณแยกราชประสงค์ ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ของตระกูล "จิราธิวัฒน์" ฝั่งตรงข้ามที่ดินเอกชนมีกลุ่มเกษร พร็อพเพอร์ตี้ ตระกูล "ศรีวิกรม์" เป็นเจ้าของที่ดินตั้งแต่ยุคอดีตยันทำเลอโศก หัวมุมตรงข้ามติดจุดที่ 2 สถานีชิดลม มีโรงแรมของตระกูล "วัธนเวคิน" ขณะที่ห้างโซโก้เปลี่ยนมือเป็นของศรีวิกรม์ในปัจจุบัน

จุดที่ 3 สถานีเพลินจิต โดดเด่นสุดตอนนี้มีโครงการเซ็นทรัล เอ็มบาสซีของตระกูล จิราธิวัฒน์ ซึ่งซื้อที่ดินสถานทูตอังกฤษเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2549 เฉลี่ยตารางวาละ 9.5 แสนบาท และเป็นที่มาของจุดเริ่มต้นที่ดินตารางวาละ 1 ล้านบาทในอดีต ฝั่งตรงข้ามเป็นแบงก์กรุงศรีอยุธยาที่ทุบทิ้งสร้างใหม่ของ "กฤตย์ รัตนรักษ์" ถัดมามีโครงการปาร์ค เวนเชอร์ของ "เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี" ตรงกันข้ามเป็นห้างโฮมโปรของ "อัศวโภคิน" ทำเลเดียวกันจับจองโดยกลุ่ม "ธนากิจอำนวย" บิ๊กแบรนด์ที่รู้จักกันดีในนามโนเบิล ดีเวลลอปเมนท์

บางกอกแอร์ฯ-อัมพุชแจม

จุดที่ 4 สถานีนานา มีแปซิฟิค 1 กับ 2 โดย "นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ" เจ้าของโรงพยาบาลกรุงเทพและสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ที่ดินแปลงติดกันเป็นของคีรี กาญจนพาสน์ จุดที่ 5 สถานีอโศก เดินไปตามทางเชื่อมหรือสกายวอล์กเข้าตึกเทอร์มินัล 21 ของตระกูลอัศวโภคิน เป็นทำเลที่คึกคักไม่แพ้ย่านสยาม

จุดที่ 6 สถานีพร้อมพงษ์ โครงการล่าสุดคือ เอ็มควอเทียร์ของ "แอ๊ว-ศุภลักษณ์ อัมพุช" ซื้อที่ดินด้านหน้าเป็นตึกแถวจากตระกูล "ทีปสุวรรณ" และซื้อที่ดินด้านในของตระกูล "ภิรัชบุรี" แห่งไบเทค บางนา ทำเลย่านนี้แม้จะมีตระกูล "ลิปตพัลลภ" มาทำคอนโดฯไฮเอนด์ แต่เนื่องจากทำเลลึกเข้าไปในซอยสุขุมวิท 24 จึงไม่ได้หยิบมาโฟกัสด้วย

จุดที่ 7 สถานีทองหล่อ ดั้งเดิมที่ดินเป็นของกลุ่มวอเตอร์ฟอร์ดที่เคยเป็นยักษ์ใหญ่สมัยเรียลเอสเตตรุ่งเรืองในอดีต มีการเปลี่ยนมือหมดแล้ว มีกลุ่มโนเบิลฯ ของ ธนากิจอำนวย เปิดตัวคอนโดฯในเมือง มีคนมาเข้าคิวจองซื้อ จนทำให้ "ตัน ภาสกรนที" แห่งอิชิตันสงสัยมากว่าทำไมคนฮิตกันนัก มีเรื่องเล่าด้วยว่าบ้านเดี่ยวหลังหนึ่งในละแวกนั้นถึงกับปักป้ายไม่ขายที่ดินทำคอนโดฯ นายหน้าไม่ต้องมาติดต่อในขณะที่เพื่อนบ้านทยอยขายกันไปเยอะแล้ว

ทำเลเดียวกันยังมีคอนโดฯเดอะเครสท์โดยค่ายเอสซีแอสเสทคอร์ปอเรชั่นของตระกูล"ชินวัตร"

โอสถานุเคราะห์สงบนิ่ง


จุดที่ 8 สถานีเอกมัย ประวัติศาสตร์บูมมาด้วยโรงภาพยนตร์ของ "วิชา พูลวรลักษณ์" เจ้าของเครือโรงหนังเมเจอร์ และเจ้าของแมคโดนัลด์ ตรงข้ามเป็นสถานีขนส่งเอกมัยที่มีแผนย้ายออก ใกล้กันเป็นที่ดินของสภากาชาดไทย ทาง เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี คว้าสัญญาเช่าระยะยาวทำชื่อโครงการเกตเวย์ เอกมัย ชูคอนเซ็ปต์ให้เป็นแลนด์มาร์กเจแปน แต่ยังไม่บูมเท่าสยามกับเทอร์มินัล 21

จุดที่ 9 สถานีพระโขนง ตัวทำเลเรียบง่ายค่อนข้างคอนเทมโพรารี่หรือร่วมสมัย ฝั่งหนึ่งมีคอนโดฯ ค่ายเอพี (ไทยแลนด์) ของ "คุณตี๋-อนุพงษ์ อัศวโภคิน" มีซอยหนึ่งที่มีเสน่ห์น่าเดินมากเป็นของตระกูล "โอสถานุเคราะห์" ซึ่งมีการตัดขายที่ดินบางส่วนให้กับตระกูล "เตชะไกศรี" โดยขายให้กับ "ยิ่ง-สรพจน์" ลูกชายคนกลางของ "ยุภา เตชะไกรศรี" ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ผู้ก่อตั้งบริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเม้นท์ หรือ LPN ปัจจุบัน "ยิ่ง-สรพจน์" เป็นเจ้าของโครงการมหานคร คอนโด ที่ประกาศตัวว่าเป็นคอนโดฯ 6 ดาว

นอกจากนี้จุดตัดถนนพระราม 4 กับถนนสุขุมวิทมีคอนโดฯค่าย W พร็อพเพอร์ตี้ของ "วิชัย พูลวรลักษณ์" เคยทำโรงหนังด้วย ออกแบบให้เป็นแลนด์มาร์กของย่านพระโขนง

อ่อนนุชดงคอนโดฯ

จุดที่ 10 สถานีอ่อนนุช เดิมเป็นสถานีปลายทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว ตอนนี้ต่อขยายไปถึงสมุทรปราการ แต่กำลังจะเปิดใช้ถึงสถานีสำโรง นับเป็นย่านพักอาศัยในคอนโดฯแท้จริง โดยมีตึกสูงของอัศวโภคิน, ค่ายแสนสิริ, ค่าย LPN ฝั่งตรงข้ามมีห้างโลตัส อ่อนนุช เป็นที่ดินเช่าของตระกูล "บูรพชัยศรี" เจ้าของเมโทรแมชชินเนอรี่ และเจ้าของบ้านพักเลขที่ 5 โด่งดังมากในซอยปุณณวิถี

จุดที่ 11 สถานีบางจาก เจ้าของเดิมเป็นคุณนายไม่ทราบชื่อขายตลาด เจ้าของใหม่ทุบตลาดทิ้ง กำลังรอดูว่าจะพัฒนาโครงการรูปแบบใดระหว่างคอนโดฯ หรือตลาดสดแนวใหม่ ฝั่งตรงข้ามมีคอนโดฯของตระกูล "ปัญญาสกุลวงศ์" จุดนี้มีทางด่วนสุขุมวิท 62 ตัดมาเชื่อมการเดินทาง มีโรงเรียนสมถวิล ของ "คุณยายสมถวิล สังขะทรัพย์" ผู้ล่วงลับ ต้นตระกูลของกระเบื้องอาร์ซีไอ ซึ่งตระกูลนี้ดองกับอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ "บัญญัติ บรรทัดฐาน" ที่ดินในซอยนี้ยังเป็นของตระกูล "กฤดากร" ด้วย โดยมีบ้านข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ รวมถึงบ้านเจ้าของบริษัท พี.อาร์. "จีน่า เอกชัย"

บูรพชัยศรี-กฤดากรปักหมุด

จุดที่ 12 สถานีปุณณวิถี ของตระกูลบูรพชัยศรี น่าจับตาที่ปากซอยมีการรื้อตึกแถวหมดแล้ว ทำเลสวยมาก ว่ากันว่าเป็นของบริษัทมหาชนที่เตรียมเกษียณ กำลังดูทิศทางลม ขณะที่ตึกแถวสองฝั่งเจ้าของคือกลุ่ม "กิมจั๊ว" ทำเนยอลาวรี่ ตอนนี้รีแบรนด์แล้ว คุณพ่อไปซื้อบ้าน 40 ล้านของ แสนสิริ ย่านบางนา ยังมีสุขุมวิท 64 มีคอนโดฯหมื่นยูนิตในซอยเดียวกัน มีโรงเรียนนานาชาติแองโกลของสิงคโปร์

จุดที่ 13 สถานีอุดมสุข จับจองโดยดีเวลอปเปอร์คนรุ่นหลัง ๆ เด่นสุดคือ "โก้-ชานนท์ เรืองกฤตยา" ค่าย อนันดา ดีเวลอปเมนท์ แต่จริง ๆ แบรนด์ที่มาก่อนคือ ค่ายศุภาลัยของตระกูล "ตั้งมติธรรม" ฝั่งตรงข้ามมีคอนโดฯเซ็นทริกของตระกูล ชินวัตร โดยแลนด์ลอร์ดอย่างบูรพชัยศรียังมีที่ดินรอขายให้กับผู้สนใจ

มีข้อมูลแถมว่าถ้าลงรถไฟฟ้าสถานีอุดมสุขฝั่งขวามีสำนักงานใหญ่รถยนต์ฮอนด้าเขาจึงเรียกว่า"ซอยฮอนด้า"นั่นเอง

โครงการใหม่หลบเข้าซอย

จุดที่14 สถานีบางนาตระกูล อัมพุช ไล่ซื้อตึกแถว โดยรวบรวมพื้นที่ได้ 100 ไร่ นำมาทุบทิ้งเพื่อสร้างห้างสรรพสินค้าที่จะเป็นแลนด์มาร์กใหม่ให้กับทำเลสี่แยกบางนา พื้นที่ 6.5 แสนตารางเมตร ลงทุน 2 หมื่นล้านบาท ใช้ชื่อห้าง "แบงค็อก มอลล์" อยู่ตรงข้ามไบเทคบางนาของตระกูลภิรัชบุรี โดยอีกหัวมุมหนึ่งมีคอนโดฯเดอะโคสต์ บางนา ของ "เหรียญชัย ลิขิตพฤกษ์" ดีลเลอร์รถเบนซ์

เบ็ดเสร็จ 14 สถานี 15 กิโลเมตร มีไม่น้อยกว่า 14-15 ตระกูลดัง แลนด์แบงก์ริมถนน-ติดรถไฟฟ้าเริ่มหาไม่ได้ จึงจะเห็นการพัฒนาคอนโดฯ ขยับทำเลเข้าไปในซอยมากขึ้น โดยมีรถไฟฟ้าเป็นแม่เหล็กดึงดูดสำคัญ