วันพุธ, เมษายน 26, 2560

กลับไปอ่าน “ประชาธิปไตยครึ่งใบ”: มีอดีต แต่ไม่มีอนาคต - ประจักษ์ ก้องกีรติ





กลับไปอ่าน “ประชาธิปไตยครึ่งใบ”: มีอดีต แต่ไม่มีอนาคต


Prajak Kongkirati | Apr 25, 2017
ที่มา เวป 101 World

บทความนี้อยากจะพาผู้อ่านย้อนสำรวจคำและความคิดทางการเมืองอันหนึ่ง ซึ่งหลายคนอาจจะคุ้นหูหรือกระทั่งพูดกันติดปากอยู่แล้ว นั่นคือคำว่า “ประชาธิปไตยครึ่งใบ”

“ประชาธิปไตยครึ่งใบ” มีความหมายเช่นไร มีที่มาที่ไปอย่างไร และการเมืองไทยในยุคปัจจุบันเป็นการย้อนคืนกลับสู่ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบเช่นในอดีตหรือไม่

เหตุที่ทำให้นึกถึงคำนี้ เพราะในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ผมได้รับมอบหมายจากทางคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้จัดทำหนังสือรำลึกถึงชีวิตและผลงานของ ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน อดีตครูสอนหนังสือและอดีตคณบดีของคณะ ผู้สร้างผลงานและเกียรติประวัติไว้มากมาย

“อาจารย์ลิขิต” เป็นครูของคนจำนวนมาก เป็นหนึ่งในนักรัฐศาสตร์รุ่นบุกเบิกของไทยที่พัฒนาให้สาขาวิชานี้มีแนวคิดทฤษฎีที่ทันสมัย มีระเบียบวิธีวิจัยที่เป็นวิทยาศาสตร์ ทำให้การเรียนการสอนสิ่งที่เรียกว่า “การเมือง”​ หลุดพ้นไปจากการถูกครอบงำของวิธีการสอนแบบราชการที่มุ่งเน้นการกล่อมเกลาความคิดให้ผู้เรียนมีความคิดคล้อยตามรัฐและระบบราชการ เพื่อฝึกหัดผู้เรียนให้เป็น “ข้า” ที่ดีของรัฐ (สมัยก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 อาจารย์รัฐศาสตร์จำนวนมากมาจากข้าราชการกระทรวงมหาดไทย) อาจารย์ลิขิตและนักรัฐศาสตร์รุ่นบุกเบิกจำนวนหนึ่งช่วยปลดแอกการเรียนการสอนรัฐศาสตร์ให้มีลักษณะเป็นวิชาการที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ มุ่งให้นักศึกษาสามารถคิด ตั้งคำถาม และวิเคราะห์ปรากฏการณ์ทางการเมืองได้อย่างเป็นระบบ

แน่นอนว่าอาจารย์ลิขิตฝากผลงานทางวิชาการไว้มากมายนับไม่ถ้วน โดยเฉพาะตำราที่ชื่อ “วิวัฒนาการการเมืองการปกครองไทย” ที่ตีพิมพ์แล้ว 10 กว่าครั้ง แม้ว่าบางประเด็นในหนังสือเล่มนี้จะถูกโต้แย้งจากงานวิชาการอื่นๆ ของนักวิชาการรุ่นหลัง แต่ก็ยังถือว่าเป็นหนังสือที่ให้ภาพของพัฒนาการการเมืองไทยในมุมกว้างอย่างเป็นระบบที่สุด เหมาะสำหรับยุคสมัยปัจจุบันอย่างยิ่ง … ยุคสมัยที่ความรู้ทางประวัติศาสตร์ถูกลบเลือนและพร่ามัวสับสน


อ่าน “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” ผ่าน “ลิขิต ธีรเวคิน”

ในการกลับไปอ่านงานของอาจารย์ลิขิตรอบนี้ ชิ้นที่ทำให้ผมสะดุดใจมากที่สุดคือ บทความภาษาอังกฤษชื่อยาวเรื่อง “Demi-democracy and the Market Economy: The Case of Thailand” (1988) ในงานชิ้นนี้อาจารย์ลิขิตพยายามอธิบายระบอบที่เรียกว่า “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” ซึ่งในภาษาอังกฤษอาจารย์ใช้คำว่า demi-democracy และบางตอนในบทความก็ใช้คำว่า “halfway democracy” (ประชาธิปไตยครึ่งทาง) บทความเรื่องนี้ยังพัฒนาไปเป็นหนังสือขนาดยาวขึ้นซึ่งตีพิมพ์ในอีก 4 ปีต่อมา

ผมคิดว่า ในบรรดางานวิชาการที่พยายามสร้างกรอบแนวคิดเรื่องประชาธิปไตยครึ่งใบในสังคมไทยนั้น งานของอาจารย์ลิขิตน่าจะโดดเด่นและเป็นระบบที่สุด

อาจารย์ลิขิตอธิบายว่าระบอบประชาธิปไตยคือระบอบการเมืองที่เป็นผลมาจากการปรับตัวของกองทัพไทยในช่วงหลังเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 2519 โดยกองทัพพยายามปรับรูปแบบการใช้อำนาจให้เข้ากับยุคสมัยที่สังคมเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ผลผลิตที่เป็นรูปธรรมของการปรับตัวนี้ก็คือรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2521 ซึ่งเปิดช่องให้ชนชั้นนำทหารและข้าราชการยังคงมีอำนาจครอบงำการเมืองอยู่มาก แต่ก็เปิดพื้นที่ให้ชนชั้นนำในภาคธุรกิจ การเมือง และชนชั้นกลางเข้ามามีส่วนแบ่งในอำนาจมากขึ้น พูดง่ายๆ คือ มันเป็นระบอบของการแชร์อำนาจ มิใช่ระบอบที่กองทัพผูกขาดรวมศูนย์อำนาจเพียงกลุ่มเดียวเหมือนในยุค 2500-2510

ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบยอมให้มีการเลือกตั้ง มีการจัดตั้งพรรคการเมืองลงแข่งขันกันภายใต้รัฐธรรมนูญที่ทหารกำหนด ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในบางระดับ แต่ชนชั้นนำจากกองทัพยังคงเป็นผู้ชี้ขาดและควบคุมทิศทางของการเมืองไทยผ่านตำแหน่งนายกฯ คนนอก ตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงสำคัญๆ ที่สงวนไว้ให้กับชนชั้นนำข้าราชการ และวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง รวมทั้งกลไกอื่นๆ อีกหลายประการ ช่วงนี้ก็คือช่วงที่ตรงกับรัฐบาลของพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ และพลเอก เปรม ติณสูลานนท์

ระบอบนี้ถึงที่สุดเป็นระบอบการเมืองแบบกึ่งปิดกึ่งเปิด ประชาธิปไตยเต็มใบก็ไม่ใช่ เผด็จการเต็มรูปก็ไม่เชิง ในบางจุดอาจารย์ลิขิตใช้คำว่ามันคือระบอบ “เผด็จการอ่อนๆ” (soft-authoritarianism)


ทำไมทหารต้องปรับตัว?
ทำไมถึงลงเอยที่ประชาธิปไตยครึ่งใบ?


งานของอาจารย์ลิขิตอธิบายไว้ว่า เพราะผู้นำกองทัพในยุคนั้นตระหนักรู้แก่ใจดีว่าบ้านเมืองเปลี่ยนไปแล้ว จนไม่อาจย้อนเวลากลับไปปกครองด้วยระบอบการปกครองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จเหมือนสมัยจอมพลสฤษดิ์-ถนอม-ประภาสได้ ดังที่รัฐบาลอำนาจนิยมพลเรือนของนายกฯธานินทร์ กรัยวิเชียร ที่ขึ้นสู่อำนาจหลัง 6 ตุลาคม 2519 และมีแนวนโยบายแบบอนุรักษ์นิยมสุดโต่ง ก็ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนและสังคมวงกว้าง จนต้องหลุดจากอำนาจไปในเวลาไม่ถึงปี

อาจารย์ลิขิตอธิบายว่า ความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่ทำให้ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบถือกำเนิดขึ้นและทำงานได้คือ

หนึ่ง เศรษฐกิจเจริญเติบโตเร็ว เกิดพลังภาคธุรกิจและชนชั้นกลาง ซึ่งเป็นพลังทางสังคมกลุ่มใหม่ที่เติบโตแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ และต้องการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง จนเป็นพลังที่กองทัพมิอาจปฏิเสธ

สอง การที่สงครามการต่อสู้ระหว่างรัฐไทยกับพรรคคอมมิวนิสต์คลี่คลายลงในช่วงกลางทศวรรษ 2520 ทำให้ภัยคุกคามเรื่องความมั่นคงหมดไป ดังนั้น ชนชั้นนำราชการของไทยจึงรู้สึกปลอดภัยพอที่จะให้มีประชาธิปไตยแบบรัฐสภาและเปิดให้มีการมีส่วนร่วมจากประชาชนในบางระดับ

สาม ปัจจัยที่สำคัญที่สุด – ปัจจัยภายในกองทัพเอง ผู้นำทหารหลายคน “ปรับเปลี่ยนทัศนคติ” ของตนเองหันมายอมรับประชาธิปไตยแบบรัฐสภา มองว่าประชาธิปไตยไม่ใช่ระบอบการเมืองที่ชั่วร้าย แต่เป็นระบอบการเมืองแบบปรกติที่เปิดให้ทุกฝ่ายได้แชร์อำนาจกัน พร้อมกับเห็นว่าการรัฐประหารไม่ใช่ทางออก

อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนทัศนคติที่จะแชร์อำนาจกับกลุ่มอื่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะผู้นำกองทัพหันมาสมาทานอุดมการณ์ประชาธิปไตยอย่างลึกซึ้งแต่อย่างใด แต่อาจารย์ลิขิตใช้คำว่า มันเกิดขึ้นเพราะผู้นำกองทัพในยุคนั้นมีลักษณะ “ปฏิบัตินิยม” มองโลกตามความเป็นจริง มิได้มีลักษณะสุดโต่ง จึงอ่านสถานการณ์ออก ไม่ฝืนกระแสสังคม และรู้ว่าต้องปรับตัว

อาจารย์ลิขิตสรุปจบไว้อย่างน่าคิดว่า จุดแข็งของระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ (หรืออีกด้านหนึ่งของเหรียญก็คือระบอบเผด็จการแบบครึ่งใบนั่นเอง) คือการสร้างความสงบและเสถียรภาพทางการเมือง แต่มันล้มเหลวในด้านอื่นๆ ระบอบนี้จึงมิอาจจัดว่าเป็นระบอบการเมืองที่ดี

หากวัดจากเกณฑ์หลักสองประการของระบอบการเมืองที่ดี คือ ประสิทธิภาพในการตอบสนองปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน กับการสร้างการมีส่วนร่วมทางการเมืองของพลเมืองอย่างแข็งขัน ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบให้ผลอย่างครึ่งๆ กลางๆ คือไม่โดดเด่นทั้งด้านประสิทธิภาพการทำงาน และไม่โดดเด่นทั้งในด้านการให้สิทธิเสรีภาพกับประชาชน


การเมืองไทยยุคหลังรัฐธรรมนูญ 2560
ทวนเข็มนาฬิกากลับสู่ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบอีกครั้ง
หรือถอยหลังไปไกลกว่านั้นอีก?


อ่าน “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” ของอาจารย์ลิขิตจนจบก็ได้ประเด็นมานั่งคิดต่ออีกหลายเรื่องทีเดียว

หลายคนตั้งข้อสังเกตว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่เพิ่งประกาศใช้ไปเมื่อวันที่ 6 เมษายนที่ผ่านมานั้น เป็นการรื้อฟื้นโมเดลของระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบกลับขึ้นมาใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการมีนายกฯ คนนอก มีวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งซึ่งมีอำนาจในการโหวตเลือกนายกฯ การสร้างระบบพรรคการเมืองที่อ่อนแอ การให้อำนาจกับรัฐราชการรวมศูนย์ ฯลฯ

แน่นอนว่า หากมองจากประเด็นเหล่านั้นก็มีความคลับคล้ายคลับคลา แต่ผมอยากจะชวนให้คิดว่าระบอบการเมืองหลังรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2560 นั้นจะไม่เหมือนกับระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบสมัยรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2521 ในหลายประการด้วยกัน

หนึ่ง กลไกองค์กรอิสระ อำนาจของฝ่ายตุลาการ รวมทั้งปรากฏการณ์ “ตุลาการภิวัตน์” เป็นกลไกใหม่ที่ไม่มีในช่วงประชาธิปไตยครึ่งใบของรัฐบาลพลเอก เปรม ติณสูลานนท์

กลไกและองค์กรเหล่านี้จะมีอำนาจบทบาทหน้าที่เพิ่มสูงขึ้นในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2560 ในการกำกับควบคุมการทำงานของระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนจะทำงานได้ลำบาก ไร้เสถียรภาพ และถูกถอดถอนได้ง่ายยิ่งกว่าภายใต้ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบในอดีต

สอง รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2521 เป็นผลผลิตของการประนีประนอมและความพยายามปรับตัวที่จะแชร์อำนาจเพราะตระหนักว่าสังคมไทยพัฒนาไปมากแล้ว จึงมิอาจฝืนกระแสการเปลี่ยนแปลง ยอมเปิดพื้นที่ให้พลังทางสังคมใหม่ๆ เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น

ในทางตรงกันข้าม รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2560 กลับมิได้ถูกออกแบบบนฐานคิดแบบเดียวกัน ทว่าถูกออกแบบจากฐานคิดของความไม่ไว้วางใจประชาชน (ระบบเลือกตั้งแบบใหม่ที่ไม่สะท้อนเจตนารมณ์ประชาชนและลดทอนอำนาจในการจัดตั้งรัฐบาลของประชาชน) และพรรคการเมือง (การทำให้พรรคการเมืองตั้งยาก แต่ถูกยุบได้ง่าย)

ฐานคิดในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมองว่าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยังไม่พร้อมและไม่มีวิจารณญาณในการตัดสินใจทางการเมือง จึงมุ่งออกแบบกติกาทางการเมืองที่จะหยุดยั้งกระแสความเปลี่ยนแปลงทางสังคม นอกจากนั้น ยังมองว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนได้ท้าทายสถานะและอำนาจของชนชั้นนำ จึงมุ่งทวนเข็มนาฬิกากลับไปสู่ยุคของการเมืองแบบชนชั้นนำและรัฐราชการรวมศูนย์อีกครั้ง

ทั้งที่หากพิจารณาตามความเป็นจริงแล้ว สังคมไทยใน พ.ศ. ปัจจุบันยิ่งมีความซับซ้อนและมีพลวัตทางเศรษฐกิจสังคมสูงกว่าในช่วงทศวรรษ 2520 หลายสิบเท่า พลังของภาคธุรกิจ พรรคการเมือง และภาคประชาสังคมเติบโตและแตกต่างหลากหลายอย่างสูง จนน่าตั้งคำถามว่าโมเดลที่ให้ชนชั้นนำในระบบราชการ (ซึ่งในยุคปัจจุบันยิ่งขาดความเป็นเอกภาพ ความเป็นมืออาชีพ และประสิทธิภาพเสียยิ่งกว่าในยุคทศวรรษ 2520) มีอำนาจเป็นผู้ชี้นำควบคุมสังคมจะยังคงเป็นโมเดลที่ใช้ได้ในโลกยุคปัจจุบันอีกหรือไม่

เราอาจจะกล่าวโดยสรุปได้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2560 มุ่งหมายที่จะสร้างระบอบการเมืองที่มีความเป็นประชาธิปไตยในระดับที่น้อยลงกว่าโมเดล “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” ในทศวรรษ 2520 เสียอีก ทั้งที่เศรษฐกิจสังคมไทยพัฒนาไปมากกว่าเดิมอย่างมิอาจเปรียบเทียบกันได้

ในยุคที่สังคมเศรษฐกิจเดินหน้าสู่ยุค 4.0 แต่การเมืองไทยกลับกำลังเดินหน้าไปสู่โมเดลทางการเมืองแบบ 1.0 ที่ชนชั้นนำในระบบราชการผูกขาดรวมศูนย์อำนาจอยู่กับตัวเอง มากกว่าจะปรับตัวไปในทิศทางที่ยอมแบ่งปันอำนาจและเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมทางการเมืองให้กับพลังทางสังคมอื่นๆ

การเมืองไทยจึงถอยหลังไปไกลกว่ายุคประชาธิปไตยครึ่งใบ และดูเหมือนว่าเราจะไม่มีชนชั้นนำที่เป็น “นักปฏิบัตินิยม” ซึ่งรู้เท่าทัน ยอมรับความเปลี่ยนแปลง และเข้าใจโลกและสังคมตามความเป็นจริงอีกแล้ว

หนทางข้างหน้าของการเมืองไทยจึงขรุขระ มืดมน และเคว้งคว้างยิ่งนัก