วันพฤหัสบดี, เมษายน 20, 2560

ธุรกิจที่บูมทุกวันนี้ คือ บริษัทอีแร้งที่คอยเก็บธุรกิจที่เจ๊ง - ธุรกิจรับซื้อหนี้ ‘แข่งดุ’




ธุรกิจรับซื้อหนี้ ‘แข่งดุ’


19 เมษายน 2560
โดย วรินทร์ ตริโน
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ


ธุรกิจ "รับซื้อหนี้" แข่งดุ แบงก์ "โละ" เอ็นพีแอล7หมื่นล.

แนวโน้มสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอล (NPL) ของธนาคารพาณิชย์ที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากที่ผ่านมา กลายเป็นโอกาสการเติบโตที่สำคัญของบรรดาบรรษัทบริหารสินทรัพย์ หรือ เอเอ็มซี (AMC) และนำมาซึ่งการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจรับซื้อหนี้เสียมาบริหาร

“นิยต มาศะวิสุทธิ์” รักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท หรือ แซม (SAM) ระบุว่า ปีนี้ยังเป็นอีกปีที่ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่มีนโยบายแบบ aggressive ในการตัดขายหนี้เสีย โดยปีที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์มีการขายหนี้ประมาณ 6-7 หมื่นล้านบาท ปีนี้ก็คาดว่าการขายหนี้จะไม่ต่ำกว่าปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามรูปแบบในการขายอาจจะเปลี่ยนไป จากเดิมที่มีการตัดขายล็อตใหญ่มูลค่าประมาณ 1 พันล้านบาทขึ้นไป แต่ปัจจุบันเริ่มเห็นมูลค่าที่ขายประมาณ 300-400 ล้านบาท เพื่อให้โอกาสเอเอ็มซีรายเล็กๆ เข้ามาได้ เนื่องจากปัจจุบันมีบริษัทเอเอ็มซีเกิดใหม่จำนวนมาก ล่าสุดในตลาดมีกว่า 40 แห่งแล้ว

นอกจากนี้ยังพบว่าธนาคารพาณิชย์มีการตัดขายหนี้เร็วขึ้น โดยหากมีนับเป็นเอ็นพีแอล หรือค้างชำระ 91 วันก็เริ่มมีการตัดขายแล้ว จากเดิมจะใช้เวลาหลังเป็นเอ็นพีแอลประมาณ 6 เดือน ถึง1 ปีก่อนถึงจะขายหนี้ก้อนนั้นออกมา

“การเข้ามาของเอเอ็มซีรายใหม่ๆ ทำให้แนวโน้มการแข่งขันในธุรกิจรับซื้อหนี้มาบริหารเพิ่มขึ้นตามไปด้วย แนวโน้มราคาที่ขายออกมาก็มีราคาเพิ่มขึ้นมากกว่าในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งในส่วนของแซมเองก็ต้องมีการปรับตัวเพื่อรับการแข่งขันด้วย”

เขากล่าวต่อว่า ในปี 2559 ที่ผ่านมา แม้ว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัว แต่ก็ทำผลงานได้สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ จนสามารถคืนเงินให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หรือกองทุนฟื้นฟูได้ 7.5 พันล้านบาท คิดเป็น 112%ของเป้าหมาย

สำหรับเป้าหมายการดำเนินงานในปีนี้ บริษัทมีเป้าหมายจะขายหนี้และมีเงินสดเข้ามาบริษัทประมาณ 1 หมื่นล้านบาท แยกเป็นเงินที่ได้จากการขายหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล ประมาณ 6 พันล้านบาท และสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ เอ็นพีเอ ประมาณ 4 พันล้านบาท

ทั้งนี้เงินสดที่ได้มากว่า 1 หมื่นล้านบาทนั้น บริษัทจะคืนให้กับกองทุนฟื้นฟูประมาณ 5 พันล้านบาท ส่วนอีก 5 พันล้านบาทจะเตรียมไว้สำหรับการซื้อเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มหนี้ในพอร์ต หลังจากการขายหนี้ที่ผ่านมาทำให้มูลหนี้ในพอร์ตปรับลดลงเรื่อย

“เดิมทีบริษัทจะมีการซื้อหนี้เพิ่มเข้ามาปีละประมาณ 1-3 พันล้านบาท แต่ปีนี้ทางกองทุนฟื้นฟูฯได้อนุมัติให้บริษัทสามารถซื้อหนี้เพิ่มได้ ปีนี้จึงมีแผนจะซื้อหนี้เพิ่ม 5 พันล้านบาท อย่างไรก็ตามตามแผนระยะยาวที่ได้เสนอกองทุนฟื้นฟูไป บริษัทจะซื้อหนี้ประมาณปีละ 5-6 พันล้านบาท ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ซึ่งหมายความว่าสามารถซื้อได้สูงสุดถึงปีละ 6 พันล้านบาท”

สำหรับผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ บริษัทสามารถเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ เอ็นพีแอลคิดเป็นภาระหนี้ตามบัญชีได้แล้ว 8.6 พันล้านบาท และ สามารถจำหน่ายเอ็นพีเอ ได้กว่า 975.81 ล้านบาท โดยได้รับชำระเป็นเงินสดแล้วจำนวน 1,446 ล้านบาท

นอกจากนี้เดินหน้าประมูลซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพได้แล้ว 3 พอร์ต คิดเป็นเงินประมาณ 1 พันล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเอ็นพีแอล ประเภทสินเชื่อเคหะ (Housing Loan) และ ยังคงจะเข้าร่วมประมูลซื้อเอ็นพีแอล จากสถาบันการเงินต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายการเข้าประมูลซื้ออีก 4 พันล้านบาท ภายในไตรมาส 3 ของปีนี้

โดย ณ สิ้นไตรมาสแรกปีนี้ บริษัทมีสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ หรือเอ็นพีแอลภาระหนี้ตามบัญชีจำนวน 3.59 แสนล้านบาท จำนวนลูกหนี้ 1.91 หมื่นราย และทรัพย์สินรอการขาย หรือเอ็นพีเอ จำนวน 3.8 พันรายการ มูลค่ารวมกว่า 2.19 หมื่นล้านบาท โดยตลอดระยะเวลาที่ตั้งบริษัทขึ้นมากว่า 17ปีจนถึงปัจจุบัน บริษัทสามารถขายหนี้และคืนเงินให้กองทุนฟื้นฟูได้แล้วประมาณ 2.4 แสนล้านบาท

การบริหารจัดการหนี้เอ็นพีแอลนั้น บริษัท ยังคงเน้นการให้โอกาสลูกหนี้เข้ามาติดต่อ และ เจรจาปรับโครงสร้างหนี้ตามความสามารถด้วยการให้คำปรึกษา และ ช่วยเหลือให้ลูกหนี้ได้ข้อยุติและปฏิบัติตามสัญญาเพื่อให้ลูกหนี้สามารถดำเนินธุรกิจ และ ประกอบอาชีพได้ตามปกติ

นอกจากนี้ ยังคงยึดมั่นในบทบาทของความเป็นหน่วยงานรัฐที่สนับสนุนนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินในรูปแบบต่างๆ ด้วยความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ หรือจีทูจี เหมือนเช่นทุกปีที่ผ่านมาเช่น งานร่วมใจไกล่เกลี่ยกับกรมบังคับคดี เป็นต้น

ล่าสุดได้มีการลงนามความร่วมมือกับทางบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในการสนับสนุนความมั่นคงทางด้านพลังงาน โดยหากบริษัทมีที่ดินที่มีศักยภาพในการตั้งปั๊มน้ำมันชุมชน หรือสนับสนุนยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางด้านพลังงานได้ ก็จะเสนอขายให้กับทางบริษัทปตท.ก่อน

นอกจากนี้บริษัทยังมีแผนเข้าไปรับจ้างบริหารหนี้ให้กับบรรษัทบริหารสินทรัพย์ของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือไอแอม ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อรับโอนหนี้เสียจากไอแบงก์ไปบริหาร ซึ่งอยู่ระหว่างรอหลักการจากทางภาครัฐ ขณะเดียวกันก็เตรียมพร้อมสำหรับการเข้าไปช่วยติดตามและเจรจาหนี้ส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันให้กับธนาคารพาณิชย์ตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทั้งหนี้บุคคลและหนี้บัตรเครดิต เป็นต้น

ooo

เรื่องเกี่ยวเนื่อง...


ไปไม่รอด! “แสนสิริ” ขึ้นป้ายขายทิ้งโครงการคอนโดฯ ยักษ์โคราช 2,500 ล้าน แบบขาดทุนยับ (ชมคลิป)





ที่มา ผู้จัดการออนไลน์
19 เมษายน 2560

ไปไม่รอด! แสนสิริ ขึ้นป้ายประกาศขาย โครงการเดอะเบส ไฮท์-โคราช คอนโดมิเนียมขนาดใหญ่ระดับพรีเมียม มูลค่า 2,500 ล้านบาท ถ.มิตรภาพ อ.เมือง จ.นครราชสีมา วันนี้ ( 19 เม.ย.)

ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ไปไม่รอด “แสนสิริ” ขึ้นป้ายประกาศขายทิ้งโครงการ“ เดอะเบสไฮท์โคราช” คอนโดฯ ยักษ์ใหญ่ระดับพรีเมียม 2,500 ล้านบาท แบบขาดทุนยับ ตอกฝาโลงฝันผุดตึกสูงสุดเมืองย่าโม แต่ยังโอ่โครงการบ้านเดี่ยวขายดีเชื่อมั่นแบรนด์ ด้านนายกอสังหาฯ โคราชชี้แนวราบยังไปได้สวย ขณะแนวดิ่งไซส์เล็กอยู่ได้ยังมีตลาดเล่น และยักษ์ใหญ่ถอนตัวทำตลาดเกิดภาวะสมดุล





วันนี้ (19 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มว่า ที่บริเวณด้านหน้าโครงการเดอะเบส ไฮท์-โคราช ถ.มิตรภาพ อ.เมือง จ.นครราชสีมา คอนโดมิเนียมขนาดใหญ่ระดับพรีเมียม มูลค่า 2,500 ล้านบาท ของบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ได้มีการติดป้ายประกาศขายด้วยตัวหนังสือขนาดใหญ่ระบุข้อความว่า “ขาย/ให้เช่า ที่ดินแปลงนี้ 11-1-88.7 ไร่ PLUS+ 02-6887555 plus.co.th” ไว้บริเวณซุ้มประตูทางเข้าออกด้านหน้าโครงการ

ผู้สื่อข่าวได้เข้าไปสอบถาม พบมีเพียงเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจำนวน 1 คน ประจำอยู่ในป้อมยามคอยเฝ้าดูแลอยู่บริเวณด้านหน้าประตูทางเข้าออกโครงการเท่านั้น ส่วนสภาพภายในโครงการที่ได้ดำเนินก่อสร้างในส่วนถนน สำนักงานขายและงานก่อสร้างฐานรากเสร็จเรียบร้อยแล้วนั้นถูกทิ้งร้างปล่อยให้หญ้าขึ้นรกรุงรังและไม่พบมีการก่อสร้างใดๆ เพิ่มเติมอีก

สำหรับโครงการเดอะเบส ไฮท์-โคราช เปิดตัวขายอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2556 ช่วงแรกดูเหมือนมีการทุ่มทุนโหมเดินหน้าโครงการอย่างเต็มที่ แต่จากนั้นไม่นานกลับมีกระแสข่าวลือสะพัดเกี่ยวกับการคืนเงินจองให้ลูกค้าและข่าวชะลอการก่อสร้างโครงการออกมาเป็นระยะๆ เนื่องจากยอดขายไม่เป็นไปตามเป้าหมาย กระทั่งล่าสุดโครงการเดินหน้าต่อไปไม่ไหวจึงตัดสินใจขึ้นป้ายประกาศขายทิ้งโครงการดังกล่าว

แหล่งข่าววงการอสังหาริมทรัพย์โคราชระบุว่า แสนสิริยอมขายโครงการนี้แบบขาดทุนยับจากที่ทุ่มเงินซื้อที่ดินแปลงนี้มาสูงลิ่วถึงตารางวาละ 100,000 บาท แต่พบว่าขณะนี้มีการเสนอราคาขายให้กลุ่มทุนต่างๆ เพียงตารางวาละ 80,000-95,000 บาทเท่านั้น ทั้งที่แสนสิริได้ลงทุนเฉพาะในส่วนงานก่อสร้างของโครงการคอนโดมิเนียมแห่งไปแล้วไม่ต่ำกว่า 90 ล้านบาท หากขายในราคาดังกล่าวถือว่ายอมขาดทุนอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 140 ล้านบาท เพื่อขายทิ้งโครงการไปทั้งหมด





ตอกปิดฝาโลง โครงการเดอะเบส ไฮท์-โคราช ฝันผุดตึกสูงสุดของเมืองโคราช

ทั้งนี้ โครงการเดอะ เบส ไฮท์-โคราช มีมูลค่าประมาณ 2,500 ล้านบาท เป็นคอนโดมิเนียมความสูง 25 ชั้น จำนวน 1,134 ยูนิต เมื่อสร้างเสร็จจะเป็นอาคารสูงที่สุดใน จ.นครราชสีมา สามารถมองเห็นทัศนียภาพอันสวยงามของเมืองได้โดยรอบ ตั้งอยู่บนพื้นที่ประมาณ 6 ไร่ ริมถนนมิตรภาพ อ.เมือง จ.นครราชสีมา มีจุดเด่นในด้านทำเลที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง ใกล้ศูนย์การค้าชั้นนำ มีพื้นที่ส่วนกลางขนาดใหญ่กว่า 6,000 ตารางเมตร (ตร.ม.)

มีสระว่ายน้ำความยาวขนาดโอลิมปิกเปิดรับทัศนียภาพนอกอาคาร Sky Access Garden สวนบนชั้น Roof Top เปิดรับมุมมองจากระดับความสูง 25 ชั้น สัมผัสวิวใจกลางเมืองโคราชได้ถึง 360 องศา ห้องโถงต้อนรับ Triple Volume สูงเปิดโล่งถึง 3 ชั้น และห้องออกกำลังกายพร้อมอุปกรณ์มาตรฐาน พื้นที่จอดรถ และจักรยาน พร้อมอินเทอร์เน็ตไร้สายและมีระบบความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง ออกแบบโครงการให้มีลักษณะเปรียบเสมือนประตูสู่ภาคอีสาน Sky Porch ส่วนพักผ่อนลอยฟ้า พร้อมช่องเจาะเปิดโล่งพื้นที่ระหว่างชั้นอาคาร

โดยอาคารประกอบด้วยห้องชุดพักอาศัย 2 รูปแบบ คือ แบบ 1 ห้องนอน 1 ห้องน้ำ ขนาดพื้นที่ใช้สอย 29.50-31.50 ตารางเมตร และแบบ 2 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ ขนาดพื้นที่ใช้สอย 60.50-61.25 ตารางเมตร ซึ่งมีดีไซน์พิเศษกับ Bay Window หน้าต่างบานใหญ่

“เดอะ เบส ไฮท์-โคราช” เปิดการขายอย่างเป็นทางการ (Pre-Sale) ในวันที่ 5-6 ตุลาคม 2556 ที่ Sales Gallery แสนสิริ ถ.มิตรภาพ อ.เมือง จ.นครราชสีมา ส่วนราคาขายอยู่ที่ ตารางเมตรละประมาณ 55,000-70,000 บาท ในช่วง Pre -Saleราคา เริ่มต้นที่ 1.59 ล้านบาท โดยมีกำหนดก่อสร้างโครงการในปี 2557 กำหนดแล้วเสร็จปี 2559





แสนสิริหนีไปเล่นอสังหาฯ แนวราบ โอ่ไปได้สวย

ด้านนายเมธา อังวัฒนพานิช รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายงานพัฒนาธุรกิจและพัฒนาโครงการแนวราบ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงโครงการของแสนสิริในจังหวัดนครราชสีมาว่า แสนสิริมีโครงการบ้านเดี่ยว “สราญสิริ โคราช” ตั้งอยู่บนพื้นที่ 59 ไร่ มูลค่าโครงการ 1,200 ล้านบาท เป็นบ้านเดี่ยว 2 ชั้นได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า มียอดขายไปแล้วกว่า 150 ล้านบาท หรือขายไปได้ถึง 70% ของการเปิดเฟสแรก ทั้งนี้ เพราะลูกค้าชื่นชอบในการดีไซน์ที่มีเอกลักษณ์สง่างามไม่ซ้ำใคร หยิบนำเอาความเป็นท้องถิ่นโคราชมาออกแบบโมเดิร์นได้อย่างลงตัว และทำเลศักยภาพบนถนนเลี่ยงเมืองนครราชสีมา (บายพาส) ซึ่งเป็นเส้นทางเข้าออกประตูอีสานสายหลัก

โครงการตั้งอยู่บนถนนเลี่ยงเมืองนครราชสีมาที่ไม่ต้องเจอกับรถติด ที่สำคัญยังเป็นทำเลที่น้ำไม่ท่วม เดินทางเข้าออกตัวเมืองได้สะดวกเพียบพร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก ทั้งคลับเฮาส์ส่วนตัวที่มีต้นไม้ล้อมรอบ สระว่ายน้ำ ฟิตเนส ห้องออกกำลังกาย และพื้นที่พักผ่อนขนาดใหญ่ สวนส่วนกลางพื้นที่ถึง 2 ไร่ ซึ่งตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนโคราช จึงทำให้ได้รับการตอบรับจากลูกค้าที่เชื่อมั่นและไว้วางใจในแบรนด์ของแสนสิริซึ่งนับว่าน่าพอใจอย่างมาก

สำหรับตลาดบ้านเดี่ยวในโคราชคาดว่ายังคงมีดีมานด์ต่อเนื่องจากผู้บริโภค โดยเฉพาะระดับราคาที่ 3 ล้านบาท ในทำเลนอกเมืองนับเป็นทำเลใหม่ที่น่าจับตา เพราะมีความต้องการที่อยู่อาศัยจำนวนมากจากผู้ที่ต้องการหลีกหนีการจราจรติดขัดในตัวเมือง จึงทำให้ความต้องการที่อยู่อาศัยขยายไปสู่นอกเมืองแทนที่จะกระจุกตัวอยู่แค่ในเมือง

“ยังมองว่าโคราชเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพสูง คาดว่าจะเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญทางภาคอีสาน รับอานิสงส์จาก การเปิดศูนย์การค้าขนาดใหญ่ รวมถึงในอนาคตที่จะมีโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-แก่งคอย-นครราชสีมา และมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา จะผลักดันความต้องการที่อยู่อาศัยสูงขึ้นและหนุนให้โคราชเติบโตอีกในอนาคต” นายเมธากล่าว





นายกฯ อสังหาโคราชชี้คอนโดฯ ยักษ์เจ๊ง ไซส์เล็กยังอยู่ได้

ทางด้านนายวีรพล จงเจริญใจ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยถึงภาพรวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของจังหวัดนครราชสีมา ว่าในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมาอาจมียอดขายที่ไม่เติบโตมากนัก แต่หากมองภาพรวมด้านเศรษฐกิจของ จ.นครราชสีมา ที่ยังคงมีการลงทุนของกลุ่มค้าปลีกขนาดใหญ่ และเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาล ส่งผลให้ยังมีการเคลื่อนไหวเม็ดเงินลงทุนมากกว่าจังหวัดอื่นๆ ในภูมิภาคหรือหากได้รับผลกระทบก็ค่อนข้างน้อยมาก

อย่างไรก็ตาม คาดว่าในไตรมาสที่ 2-3 ของปีนี้ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะเติบโตมากขึ้นประมาณร้อยละ 5 เพราะเริ่มเห็นการฟื้นตัวที่ชัดเจน ตลาดโคราชมีข้อดีคือจะไม่สวิงแรงมากนัก นั่นหมายถึงว่า ช่วงดีไม่ได้หวือหวามาก ช่วงขาลงจึงไม่ได้ตกลงมากจนเกินไป ทำให้มีความเสถียรสูง

สำหรับโครงการใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในปีนี้ ส่วนใหญ่เป็นแนวราบที่มีโครงการผุดขึ้นใหม่ แต่ไม่มากนัก ส่วนหนึ่งเนื่องจากมีการเร่งขออนุญาตการสร้างโครงการให้ทันก่อนการแก้ไขผังเมืองในปี 2557-2558 และมีบ้างในปี 2559 จนมาถึงปี 2560 ที่มีการประกาศใช้ผังเมืองใหม่แล้ว ทำให้บางพื้นที่ไม่สามารถจัดสรรที่ดินได้ ถือเป็นโอกาสทองของผู้บริโภค เพราะผู้ประกอบการมีสต๊อกอยู่ในมือมากและต้องการระบายสต๊อกในภาวะดอกเบี้ยที่ยังต่ำ ประกอบกับมีการแข่งขันจัดรายการโปรโมชันจำนวนมากจึงเป็นโอกาสที่ดีของผู้บริโภค





ส่วนอสังหาฯ แนวดิ่งหรือคอนโดมิเนียมนั้น ล่าสุดผู้เล่นรายใหญ่อย่างโครงการเดอะเบส ไฮท์-โคราช ของ แสนสิริ ได้ถอยตัวออกไปจากตลาดเมืองโคราช ซึ่งก่อนหน้านั้น ในตลาดมีคอนโดมิเนียมรอขายประมาณ 3,000 หน่วย เฉพาะโครงการของแสนสิริ มีมากกว่า 1,000 หน่วย เมื่อรายใหญ่ถอยออกไปทำให้ดีมานด์กับซัพพลายเกิดภาวะสมดุล การซื้อขายจึงเป็นการซื้อจริง สร้างจริง โอนจริง ไม่เหมือนจังหวัดอื่นๆ ที่เป็นเมืองท่องเที่ยวที่เกิดภาวะโอเวอร์ซัปพลายขึ้น

“ในต่างจากจังหวัดนั้น ที่ดินสำหรับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยังมีเหลืออยู่อีกมากในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในแนวราบ ส่วนตลาดแนวดิ่งหรือคอนโดมิเนียม นั้นเป็นกลุ่มเฉพาะซึ่งตลาดไม่ใหญ่นัก ฉะนั้นการขึ้นโครงการครั้งเดียวระดับกว่า 1,000 กว่ายูนิต ถือว่ามันใหญ่มาก และเมื่อเจ้าของโครงการเห็นว่ายอดขายไม่ดี จึงรับตัดสินใจถอยเร็วดีกว่า จึงเกิดเป็นภาพว่าคอนโดฯ ขนาดใหญ่ในเมืองใหญ่ภูมิภาคอีสาน ไม่ว่าจะเป็นขอนแก่น อุดรธานี หรือโคราช ล้วนไปต่อไม่ได้ แต่คอนโดไซต์เล็กยังพอไปได้ เพราะมันไม่ใช่ตลาดหลัก” นายวีรพลกล่าว



นายเมธา อังวัฒนพานิช รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายงานพัฒนาธุรกิจและพัฒนาโครงการแนวราบ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน)




โครงการบ้านเดี่ยว “สราญสิริ โคราช” ของ แสนสิริ



นายวีรพล จงเจริญใจ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ จ.นครราชสีมา