วันศุกร์, เมษายน 21, 2560

กระบวนการรื้อถอนทำลายประวัติศาสตร์ความทรงจำเกี่ยวกับคณะราษฎร - ชวนอ่าน 'รื้อ ทุบ ทำลายแบบ “ข้าพเจ้าเป็นรอยะลิสต์”' + ศิลปินดัง ถาม คนไทยมีสิทธิอยู่ในที่เกิดและเติบโตหรือไม่ ?





รื้อ ทุบ ทำลายแบบ “ข้าพเจ้าเป็นรอยะลิสต์”


Mon, 2012-12-24 18:01
ที่มา ประชาไท

ธนาวิ โชติประดิษฐ


ครั้งหนึ่ง หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมชผู้ประกาศตนว่า "ข้าพเจ้าเป็นรอยะลิสต์" ได้เขียนสนับสนุนการรื้อโรงภาพยนตร์เฉลิมไทยที่สะพานผ่านฟ้า ถนนราชดำเนินกลางเพื่อสร้างลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์และเปิดมุมมองต่อโลหะปราสาทและวัดราชนัดดาที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ว่า

“ในยุค 50 ปีที่แล้วมานี้ [หมายถึงยุคคณะราษฎร พ.ศ. 2475-2490 - ผู้เขียน] ได้มีการสร้างตึกรามที่น่าเกลียดน่ากลัวเอาไว้ใน กทม. อีกมากพอสมควร เพราะฉะนั้น เมื่อเริ่มทุบทิ้งอะไรกันขึ้นแล้ว เราก็ควรจะรู้สึกมันมือ เที่ยวทุบตึกอื่นๆ ที่อยู่ผิดที่ผิดทาง และมีสถาปัตยกรรมอันไม่กลมกลืนกับสถาปัตยกรรมของกรุงเทพฯ” (คึกฤทธิ์ ปราโมช, ซอยสวนพลู, สยามรัฐรายวัน, 17 สิงหาคม 2532)

ความปรารถนาของคึกฤทธิ์ดูจะค่อยๆ กลายเป็นความจริงขึ้นมาทุกวัน เพราะนอกจากโรงภาพยนตร์เฉลิมไทยจะถูกทุบทิ้งไปในปี 2532 แล้ว การ “ทุบทิ้งอย่างมันมือ” สำหรับตึกอื่นๆ ที่ “อยู่ผิดที่ผิดทาง” ก็เกิดขึ้นอีกในรูปของแผนการรื้อกลุ่มอาคารศาลฎีกาที่ตั้งอยู่ใกล้ท้องสนามหลวง เป็นการรื้อทิ้งเพื่อสร้างกลุ่มอาคารใหม่แบบที่มี “ความเป็นไทย” ขึ้น โดยแบบอาคารใหม่ที่แสดงความเป็นไทยตามแบบฉบับสถาปัตยกรรมประเภทแสดงความเป็นไทยนั้นก็ทำอย่างง่ายๆ ด้วยการใส่ “หลังคาจั่ว” นั่นเอง

หลังคาจั่ว ลวดลายและองค์ประกอบในสถาปัตยกรรมแบบประเพณีที่อยู่ในแบบอาคารใหม่เป็นเครื่องแสดง “ฐานานุศักดิ์ในสถาปัตยกรรม” (ดูหนังสือเกี่ยวกับศิลปะ สถาปัตยกรรมสมัยคณะราษฎรของชาตรี ประกิตนนทการ) ชี้ให้เห็นว่าเป็นอาคารของชนชั้นสูง ยิ่งมีลวดลายวิจิตรบรรจงมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นของชนชั้นสูงขึ้นเท่านั้น

สถาปัตยกรรมสมัยคณะราษฎรได้ตัดทอนฐานานุศักดิ์ในสถาปัตยกรรมออกไปเพื่อนำเสนอความคิดเรื่องความเท่าเทียมโดยหันไปหารูปแบบสถาปัตยกรรมที่เรียบง่ายและมีหลังคาตัด กระบวนการรื้อกลุ่มอาคารศาลฎีกาเพื่อแทนที่ด้วยอาคารใหม่ (ที่มีลักษณะแบบเก่า) ที่เพิ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อราวต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมาจึงเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่คึกฤทธิ์อธิบายว่าเป็น

“[การ]ทำให้กรุงเทพมหานคร ราชธานีของเรานี้เป็นนครเห็นคนที่มีปัญญา รู้จักรักสวยรักงาม และมีสุนทรีย์ในการสร้างสรรค์ เพื่อแสดงให้ชาวโลกได้เห็นว่า เมืองไทยเรานั้นมีความเจริญและมีวัฒนธรรมอันสูงส่งมาเป็นเวลาช้านานแล้ว” (เล่มเดิม)

อะไรคือสาเหตุที่ทำให้อาคารเหล่านี้ผิดที่ผิดทางและควรถูกทุบทิ้ง? จุดร่วมระหว่างโรงภาพยนตร์เฉลิมไทยและกลุ่มอาคารศาลฎีกาคือการเป็นสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นในสมัยคณะราษฎรและใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบสมัยใหม่ (Modern architecture) ในสายตาของคึกฤทธิ์ สิ่งก่อสร้างเหล่านี้ล้วนน่าเกลียดและไร้รสนิยม ดังที่ได้เคยกล่าวถึงศิลปกรรมในยุคนี้เอาไว้ว่า

“...ทีนี้สำหรับศิลปกรรมของไทยหลัง 2475 นั้น ถ้าจะพูดกันตามตรง พูดกันด้วยความรักชาติตามสมควร ก็จะต้องบอกว่าเป็นยุคของศิลปกรรมที่เสื่อมโทรมที่สุด คือ ไม่มีศิลปกรรมไทยเกิดขึ้นในยุคนี้... ผู้นำปฏิวัติก็เท่ากับนักเรียนนอก กลับมาจากฝรั่งเศส รสนิยมในทางศิลปะอะไรของท่านเหล่านั้นอยู่แค่คาเฟ่ริมถนนที่กรุงปารีส ภาพที่เห็นสวยงามก็ภาพโป๊...” (คึกฤทธิ์ ปราโมช, “ปาฐกถานำ ศิลปกรรมสมัยใหม่” ใน บันทึกการสัมมนาศิลปกรรมหลัง 2475, กรุงเทพฯ: สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์, 2528)

ศิลปกรรมของคณะราษฎรนั้น “ไม่ไทย” เอาเสียเลย ซ้ำยัง “ไม่มีรสนิยม" อีกด้วย ไม่เหมาะกับกรุงเทพมหานครของเราเลยแม้แต่นิดเดียว

ในเมื่อมัน “ไม่ไทย” ก็ไม่รู้จะเก็บไว้ทำไม จริงอยู่ว่าข้อเขียนของคึกฤทธิ์เพียงลำพังคงไม่เพียงพอที่จะให้ใครตัดสินใจทุบตึก และก็คงไม่มีใครเอาข้อเขียนของคึกฤทธิ์มากางดูก่อนเป็นแน่ ทว่า มุมมองเกี่ยวกับความเป็นไทยและศิลปะคณะราษฎรในฐานะสิ่งแปลกปลอมที่อยู่ในข้อเขียนของคึกฤทธิ์ และในวาทกรรมว่าด้วยความเป็นไทยที่เป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นคืนกลับของพลังอนุรักษ์นิยม/กษัตริย์นิยมที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระลอกตั้งแต่หลัง 2490 เป็นต้นมาต่างหากที่เป็นกรอบในการเลือกว่าอะไรไทย ไม่ไทย และอะไรต้องขจัดทิ้งเพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นไทย การเมืองของความเป็นไทยจึงสัมพันธ์กับการช่วงชิงกันทางอุดมการณ์ทางการเมืองโดยรวม และแน่นอนว่างานศิลปะ ตลอดจนสิ่งก่อสร้างต่างๆ โดยเฉพาะที่เป็นของรัฐหรือได้รับความสนับสนุนจากรัฐก็อยู่ในวงจรนี้ด้วย

สิ่งที่จะกำหนดว่าศิลปกรรมชิ้นไหนมีความเป็นไทยหรือไม่ก็อยู่ที่ตรงนี้เอง

หมายเหตุ

- กลุ่มอาคารศาลฎีกาเป็นสถาปัตยกรรมที่เริ่มสร้างขึ้นเมื่อปี 2482 ที่จอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นที่ระลึกถึงการที่ประเทศไทยได้รับเอกราชทางการศาลในปี 2481 นับเป็นเวลา 83 ปีหลังจากที่เสียไปในการทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่งในปี 2398

- กลุ่มอาคารศาลฎีกาสร้างขึ้นด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ (Modern architecture) ซึ่งเป็นรูปแบบเฉพาะอย่างหนึ่งที่พบในนวัตกรรมด้านงานสถาปัตยกรรมในสมัยคณะราษฎร การหันไปหาความเรียบง่ายของรูปแบบสมัยใหม่ของสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นในยุคนี้เป็นภาพตัวแทนของอุดมการณ์เรื่องความเท่าเทียมกันภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญ

- กลุ่มอาคารศาลฎีกาได้รับรางวัลอาคารควรค่าแก่การอนุรักษ์และรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยามเมื่อปี 2550 และ 2552 ตามลำดับ ในปี 2552 กรมศิลปากรได้ออกจดหมายระบุว่า ตึกกลุ่มนี้มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และเข้าข่ายเป็นโบราณสถานตามนิยามของ พ.ร.บ.โบราณสถาน (แต่ก็ยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานมาจนปัจจุบัน)

ooo

ศิลปินดังเทียบรื้อ’เฉลิมไทย’-ชุมชนป้อมมหากาฬ ถาม คนไทยมีสิทธิอยู่ในที่เกิดและเติบโตหรือไม่ ?






28 ก.ค. 59 เวลา: 19:52 น.
ที่มา มติชนออนไลน์


เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายประชา สุวีรานนท์ กราฟิกดีไซเนอร์ชื่อดัง และเจ้าของรางวัล “ศิลปาธร” สาขาเรขศิลป์ ประจำปี พ.ศ.2553 ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กประเด็นเกี่ยวเนื่องกับกรณี กทม.ไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬเพื่อสร้างสวนสาธารณะ ตามแผนแม่บทเมื่อราว 50 ปีที่แล้ว

นายประชาระบุถึงกรณีของศาลาเฉลิมไทย ซึ่งถูกรื้อด้วยเหตุผลที่ว่าสร้างขึ้นบดบังทัศนียภาพของโลหะปราสาท วัดราชนัดดาราม ซึ่งตนมองว่าการรักษาสิ่งหนึ่งไม่จำเป็นต้องทุบตึกขนาดใหญ่ทั้งหลัง นอกจากนี้ ศาลาเฉลิมไทยยังเป็นเหมือน “หัวแหวน” ของอาคารชุดราชดำเนินซึ่งตั้งอยู่บนถนนราชดำเนินกลาง และถือกันว่าเป็น “วัฒนธรรมใหม่” ตามแนวทางของคณะราษฎรและเป็นผลงานของจอมพล ป. พิบูลสงคราม อีกด้วย

นายประชายังระบุอีกว่า กรณีชุมชนป้อมมหากาฬ ซึ่งใครๆ ก็เรียกว่า “สลัม” อันหมายถึงผู้มีรายได้น้อยกว่าเรานั้น เป็นพื้นที่ที่มีผู้คนอยู่อาศัยมานาน หลายปีที่ผ่านมา มีความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ที่จะปรับปรุงชุมชนให้เป็นสถานที่ศึกษาและพิสูจน์ว่าคนกับโบราณสถานอยู่ร่วมกันได้หากมีการจัดการที่ดี และตั้งคำถามว่า หากกล่าวอย่างตรงไปตรงมา คนเหล่านี้คือคนไทย และมีสิทธิที่จะอยู่อาศัยอยู่ในที่ที่เขาเกิดและเติบโตมาหรือไม่?

ข้อความมีดังนี้

บ้านผมเคยอยู่แถวศาลาเฉลิมไทย มันเป็นโรงหนังที่อยู่ใกล้จนเดินไปได้ ในสมัยนั้น โรงหนังโรงนี้ไม่ใช่แค่ฉายหนังดี แต่มีความทันสมัยและหรูหราเหมือนพระราชวังด้วย มันเป็น a place to be seen จะไปทีไร ทุกคนในครอบครัวของเราจะแต่งตัวดีที่สุด แถมยังต้องเผื่อเวลาไปเดินโฉบฉายหน้าโรงอีกต่างหาก นอกจากนั้น ยังมีร้านขายข้าวโพดคั่ว ไอศกรีมป๊อปตราเป็ด (ซึ่งเอาโดนัลด์ดั๊กมาเป็นเครื่องหมายการค้า) และขนมต่างๆ ซึ่งเป็นไฮไลต์สำหรับเด็ก

เริ่มในช่วง พ.ศ.2490 เดิมเป็นโรงละคร ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นโรงภาพยนตร์ นอกจากหนังฟอร์มยักษ์หลายเรื่องที่เราดู ขนาดของโรงก็เป็นสิ่งสำคัญ กำแพงด้านข้างของโรงหนังเป็นคัตเอาต์ภาพยนตร์ที่ใหญ่มาก ซึ่งนอกจากจะเป็นที่แสดงฝีมือของนักวาดโปสเตอร์หนังชั้นนำของประเทศแล้ว ยังทำหน้าที่กระตุ้นความอยากดูให้มากขึ้น และเพิ่มความรู้สึกว่าสิ่งที่ดูนั้นใหญ่กว่าหนังจริงๆ หลายเท่า

เป็นสิ่งก่อสร้างที่เป็นความภูมิใจแก่คนแถวนั้น แม้เมื่อย้ายออกมาแล้วก็ยังแวะกลับไปบ่อยๆ บ้านใหม่ของเราอยู่ชานเมืองซึ่งไกลจากเดิมมาก แต่การเดินทางกลับไปดูหนังที่นี่ไม่ใช่ปัญหา ครอบครัวเราถือว่าย่านราชดำเนินและบำรุงเมืองเป็นถิ่นของเรา

ราว พ.ศ.2532 มีการทุบโรงหนังนี้ด้วยข้ออ้างที่ว่าไปบดบังโลหะปราสาทวัดราชนัดดาฯ ซึ่งเป็นเรื่องน่าตกใจและเสียดายยิ่งกว่าการทุบศาลฎีกาที่สนามหลวงเมื่อปีที่แล้ว โลหะปราสาทวัดราชนัดดาฯนั้นงดงาม แต่ การจะรักษาสิ่งหนึ่งไม่เห็นจะเป็นเหตุให้ต้องทุบตึกขนาดใหญ่ทั้งหลังเลย

และนั่นเป็นยุคที่ผมโตพอจะรู้แล้วว่าศาลาเฉลิมไทยเป็นเหมือน “หัวแหวน” ของอาคารชุดราชดำเนินอันยาวเหยียดซึ่งตั้งอยู่บนถนนราชดำเนินกลาง และถือกันว่าเป็น “วัฒนธรรมใหม่” ตามแนวทางของคณะราษฎรและเป็นผลงานของจอมพล ป. พิบูลสงคราม

สิบปีก่อนหน้านั้นอาจจะเป็นจุดเริ่มของการวิพากษ์เกี่ยวกับสถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์น คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยให้ความเห็นไว้ว่าศาลาเฉลิมไทยเป็น “…โรงมหรสพและมีสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ซึ่งต่ำทรามกว่าวัดราชนัดดาเป็นอย่างยิ่ง…คณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่รับผิดชอบในการสร้างถนนราชดำเนินกลางขึ้นนั้น มิได้มีใจรักศิลปะหรือวัฒนธรรมไทยแต่อย่างใดเลย และออกจะไม่เห็นว่าพระพุทธศาสนาเป็นของสำคัญและจำเป็นอีกด้วย จึงสามารถทำกับวัดราชนัดดาได้ถึงเพียงนี้…”

และในทางตรงข้าม มีผู้คิดว่าการทุบโรงหนังหรือหัวแหวนอันนี้เป็นการ “แก้เคล็ด” หรือเอาชนะต่อการเปลี่ยนแปลง 2475 ในเชิงสัญลักษณ์นั่นเอง





ตอนนั้นโครงการปรับปรุงเกาะรัตนโกสินทร์ยังไม่ปรากฏเป็นรูปร่างใหญ่โตและผู้คนทั่วไปยังไม่ได้มีสำนึกมาก แต่หลักการที่ว่า “วัดและวัง” เท่านั้นที่เป็นพื้นที่สำคัญของเมือง ที่ดำเนินมาจนถึงทุกวันนี้ ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว เฉลิมไทยเป็นตัวอย่างของการทุบบ้านเรือนเพื่อเปิดทัศนียภาพ ซึ่งเป็นทรรศนะของนักวางผังเมืองในยุคก่อน ทุกวันนี้แม้คำว่าวัดวังจะถูกแทนที่ด้วยการท่องเที่ยว โบราณสถาน และสาธารณประโยชน์ แต่ยุทธศาสตร์การพัฒนาโบราณสถานด้วยการขับไล่ผู้คนออกไปซึ่งวางไว้กว่าเมื่อสี่สิบกว่าปีที่แล้ว ก็ยังดำเนินมาถึงวันนี้

ในปัจจุบัน ศาลาเฉลิมไทยกลายเป็นลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์หรือสวนสาธารณะที่ไม่มีคนเดิน โดยมีฉากหลังเป็นวัดราชนัดดาฯ ในทรรศนะของนักวางผังเมือง เมืองสร้างขึ้นโดยผู้นำซึ่งเป็นคนส่วนน้อย องค์ประกอบอื่นๆ เช่น ชาวบ้านหรือไพร่ล้วนไม่มีความหมาย วัดและวังยังเป็นสิ่งเดียวที่จะบอกเล่าประวัติศาสตร์ได้ ทั้งๆ ที่โลกได้หันมาให้ความสำคัญกับเรื่องราวของคนตัวเล็กตัวน้อย และการพัฒนาเมืองที่สอดคล้องกับชุมชนแล้ว

ศาลาเฉลิมไทยอยู่ในบริเวณเดียวกับชุมชนป้อมมหากาฬ ผมเคยอยู่ในชุมชนชาวจีนบนถนนบริพัตร ซึ่งเป็นตึกแถวที่หันหน้าหน้าเข้าวัดสระเกศ หรืออยู่อีกฝั่งของคลองโอ่งอ่างซึ่งเป็นคลองเดียวกับที่ผ่านป้อมมหากาฬแต่หันหลังให้ เพราะนั่นเป็นยุคที่บ้านเรือนหันหน้าไปหาถนนแล้ว

อยู่ที่ไหนแล้วก็ไม่อยากย้ายออกไปที่อื่น ตลอดแปดสิบปีที่ผ่านมา ญาติคนหนึ่งซึ่งเคยอยู่บ้านเดียวกันกับเราก็ยังอยู่แถวนั้น ซึ่งแปลว่าเช่าเขาอยู่ ท่านย้ายบ้านมาแล้ว 3 ครั้ง แต่ที่สำคัญคือ บ้านทั้ง 3 หลังนั้นล้วนอยู่บนฝั่งคลองสายเดียวกันทั้งสิ้น

ชุมชนป้อมมหากาฬจะมีรากเหง้ามาแต่ต้นรัตนโกสินทร์หรือไม่ ผมไม่รู้ เพราะในยุคพัฒนา ใครๆ ก็เรียกบริเวณนี้ว่า “สลัม” ซึ่งความหมายเป็นเพียงกลุ่มบ้านไม้และที่อยู่ของผู้มีรายได้น้อย (กว่าเรา) รู้แต่ว่าเขาอยู่กันมานาน สำหรับผู้ใหญ่ ป้อมนี้เป็นแหล่งเลี้ยงไก่ชน แต่สำหรับเด็ก พอถึงงานวัดภูเขาทอง ซึ่งตอนนั้นอาจจะเป็นงานประจำปีที่ใหญ่ที่สุดของกรุงเทพฯ เรารู้แต่เพียงว่าจะหาพลุและดอกไม้ไฟได้จากที่นี่ได้เสมอ

ตอนนี้เกิดประเด็นไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ และกรุงเทพมหานครตั้งใจจะรื้อถอนให้ได้ในช่วงต้นเดือนสิงหาคมนี้ โดยอ้างว่าเพื่อเวนคืนพื้นที่นำไปจัดสร้างสวนสาธารณะและแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ ซึ่งคนในชุมชนต่อต้านอย่างเต็มที่

คนในชุมชนร่วมมือกับนักวิชาการและสถาปนิกรุ่นใหม่ ปรับพื้นที่ลานกลางแจ้งและตรอกเก่าเป็น “พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต” เพื่อแสดงให้เห็นว่าประชาชนสามารถอยู่ร่วมกับโบราณสถานได้ หากมีการจัดการที่ดี โดยจัดแสดงภูมิปัญญาท้องถิ่น สถาปัตยกรรมบ้านไม้อายุนับร้อยปี และให้คนในชุมชนเป็นมัคคุเทศก์บอกเล่าประวัติศาสตร์ชุมชนรอบพระนคร

นอกจากนั้น หลายปีที่ผ่านมา ก็มีความพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะปรับชุมชนให้เป็นสถานที่เพื่อการศึกษาและรำลึกอดีต ทั้งนี้เพื่อบอกว่าตนเองมีรากเหง้าความเป็นไทย และที่สำคัญกว่านั้นคือเพื่อพิสูจน์ว่า คนกับโบราณสถานนั้นอยู่ด้วยกันได้

ถ้ายอมรับว่าคนจีนและไทยไม่ได้แยกกัน และคำว่าสลัมก็ไม่ได้มีความหมายในเชิงลบอีกต่อไป คำถามคือชุมชนและวิถีชีวิตแบบนี้เหมาะแก่การอยู่ร่วมกับโบราณสถานหรือป้อมเก่าได้หรือไม่?

พูดให้ตรงไปตรงมาก็คือ เขาเป็นคนไทยและมีสิทธิที่จะอยู่อาศัย อยู่ในที่ที่เขาเกิดและเติบโตมาหรือไม่?


ooo

ชวนอ่านเพิ่ม

หมุดหน้าใสคือความอ่อนหัดทางการเมืองของอนุรักษ์นิยม ชาตรี ประกิตนนทการ
ที่มา ประชาไท