วันเสาร์, เมษายน 29, 2560

ชวนอ่านรายงาน "หมุดไม่มีเจ้าของกับมือที่มองไม่เห็น" - ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน



นิสิตนักศึกษา 3 สถาบัน เดินทางไปแจ้งความเรื่องหมุดคณะราษฎรหายไป (ภาพจาก Banrasdr Photo)

หมุดไม่มีเจ้าของกับมือที่มองไม่เห็น


By admin no.5
เมษายน 28, 2017
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

“เขาขอให้ผมเพลาเรื่องนี้ลงไป เพราะมันไม่ใช่เรื่องเล็กๆ แต่มี invisible hands (มือที่มองไม่เห็น) อยู่เยอะ นี่คือคำที่เขาพูด” ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวประชาไท หลังเขาถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร จากกรณีที่จะไปร้องเรียนเรื่องหมุดคณะราษฎรหายไป และมีหมุดหน้าใสมาอยู่แทนที่

14 เม.ย. 2560 เป็นวันที่เริ่มมีข่าวในโซเชียลมีเดียว่า ‘หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ’ หรือที่เข้าใจโดยทั่วไปว่าคือ ‘หมุดคณะราษฎร’ ที่เคยอยู่บริเวณลานพระราชวังดุสิต ใกล้กับพระบรมรูปทรงม้าหายไป และถูกแทนที่ด้วยหมุดอันใหม่ที่มีข้อความว่า “ขอประเทศสยามจงเจริญยั่งยืนตลอดไป ประชาสุขสันต์หน้าใสเพื่อเป็นพลังของแผ่นดิน ความนับถือรักใคร่ในพระรัตนตรัยก็ดี ในรัฐของตนก็ดี ในวงศ์ตระกูลของตนก็ดี มีจิตซื่อตรงในพระราชาของตนก็ดี ย่อมเป็นเครื่องทำให้รัฐของตนเจริญยิ่ง” ซึ่งเป็นข้อความที่อ้างอิงถึงพระคาถาบนตรา ดาราจักรี ของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นมหาจักรีบรมราชวงศ์ ทำให้มีกระแสทวงถามถึงหมุดคณะราษฎรที่หายไป และวิพากษ์วิจารณ์ถึงการมาแทนที่ของหมุดใหม่ หรือที่เรียกกันว่า ‘หมุดหน้าใส’

เชือดไก่ให้เรื่องเงียบ
เริ่มจาก 16 เม.ย. 2560 ‘เสี่ยไก่’ วัฒนา เมืองสุข อดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊ก ใจความว่า หมุดของคณะราษฎรเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของการอภิวัฒน์สยาม เมื่อ 24 มิ.ย. 2475 ผู้นำหมุดออกไปมีความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืน ส่วนข้อความบนหมุดใหม่ ผู้ทำมีความผิดฐานปลอมเอกสารราชการ ตามมาตรา 265 เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงต้องดำเนินคดีและไปขุดเอาหมุดที่ทำปลอมออกมาเพื่อเป็นของกลางในคดีอาญา



วัฒนา เมืองสุข (ภาพจาก iLaw)


ผลสะเทือนจากโพสต์ของวัฒนา ทำให้ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีวัฒนา เมืองสุข ในวันที่ 18 เม.ย. 2560 ฐานนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กรณีโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ระบุว่า หมุดคณะราษฎรที่ติดตั้งที่ลานพระบรมรูปทรงม้าเป็นโบราณวัตถุ ให้คนไทยเรียกร้องทวงคืน ซึ่งเป็นเท็จ

กลางดึกคืนเดียวกันกับที่มีการแจ้งความวัฒนา เพจเฟซบุ๊กกลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร ก็เผยแพร่ข้อมูลว่า หมุดคณะราษฎรไม่ใช่โบราณวัตถุตามกฎหมาย ก่อนที่จะมีประชาชนแสดงความเห็นคัดค้านนับพัน กระทั่งเพจดังกล่าวลบโพสต์ไป ตามรายงานข่าวของมติชนออนไลน์ ขณะที่เนชั่นทีวีรายงานว่า กรมศิลปากรยังคงเผยแพร่ว่าหมุดคณะราษฎรไม่ใช่โบราณวัตถุ อยู่บนเว็บไซต์ของกรมศิลปากรเอง

20 เม.ย. 2560 มติชนออนไลน์รายงานว่า วัฒนาเดินทางไปพบพนักงานสอบสวนที่ ปอท. พร้อมรับทราบข้อกล่าวหา ก่อนได้รับการปล่อยตัวโดยไม่ต้องใช้หลักประกัน และวัฒนายังคงโพสต์ยืนยันในวันต่อมาว่า หมุดของคณะราษฎรเป็นโบราณวัตถุที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์

ร้องเรียนเรื่องหมุดหาย แถมแพ็คเกจท่องเที่ยวค่ายทหาร

ในวันเดียวกับที่วัฒนาเริ่มออกมาโพสต์ถึงเรื่องหมุดคณะราษฎรที่หายไป ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า พริษฐ์ รัตนกุลเสรีเริงฤทธิ์ เหลนชายหลวงเสรีเริงฤทธิ์ หนึ่งในสมาชิกคณะราษฎร และนิสิตนักศึกษาจาก 3 สถาบัน เดินทางมาลงบันทึกประจำวันที่ สน.ดุสิต ในช่วงบ่ายวันที่ 16 เม.ย. 2560 ขอให้ตามหาหมุดคณะราษฎรที่หายไป

ต่อมา 17 เม.ย. 2560 พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. ออกมาให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวต่อกรณีที่ พริษฐ์ และนิสิตนักศึกษาไปลงบันทึกประจำวัน ขอให้ตามหาหมุดคณะราษฎรที่หายไปว่า หากไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ เจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถติดตามให้ได้

18 เม.ย. 2560 สำนักข่าวเนชั่นรายงานว่า ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เดินทางไปยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขอให้มีการสอบสวนการเปลี่ยนแปลงหมุดคณะราษฎร และนำหมุดกลับมาประดิษฐานที่เดิม ผ่านศูนย์รับเรื่องร้องเรียนทำเนียบรัฐบาล แต่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารประมาณ 6-7 นาย ควบคุมตัวจากศูนย์บริการประชาชน ไปยังกองบัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ก่อนได้รับการปล่อยตัวหลังถูกควบคุมตัวนานกว่า 10 ชั่วโมง

ในเย็นวันนั้น ยังมีรายงานข่าวอีกว่า บริเวณหมุดที่ถูกนำมาเปลี่ยนแทนหมุดคณะราษฎรมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยสังเกตการณ์กว่า 10 นาย โดยห้ามไม่ให้ประชาชนเข้าไปถ่ายรูปกับหมุดใหม่ ส่วนคนที่ถ่ายไปแล้วถูกขอให้ลบทิ้ง โดยอ้างว่ามีคำสั่งห้ามถ่ายรูปตัวหมุด หรือรูปคู่เห็นหมุดดังกล่าว หากฝ่าฝืนก็จะถูกควบคุมตัวทันที

19 เม.ย. 2560 อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ และณัฏฐา มหัทธนา นักกิจกรรมประชาธิปไตย เดินทางไป สน.ดุสิต เพื่อแจ้งความกรณีหมุดคณะราษฎรที่ทั้งคู่เห็นว่าเป็นโบราณวัตถุหายไป และติดต่อขอดูภาพกล้องวงจรปิดบริเวณดังกล่าว แต่ทางกรุงเทพมหานครแจ้งว่า กล้องวงจรปิดที่เคยอยู่บริเวณดังกล่าวถูกถอดออกเนื่องจากการปรับเปลี่ยนสัญญาณไฟจราจรตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม และยังไม่ถูกติดตั้งกลับไปจนถึงปัจจุบัน



ณัฏฐาและอภิสิทธิ์แจ้งความกรณีหมุดคณะราษฎรหายไป (ภาพจาก Banrasdr Photo)


นอกจากนี้ อภิสิทธิ์ยังเล่าอีกว่า หลังจากประกาศลงเฟซบุ๊กว่าจะไปแจ้งความที่ สน.ดุสิต ก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจโทรศัพท์มาเตือนว่าอันตราย ห้ามไปที่หมุดหน้าใส และอาจจะมีการ ‘อุ้ม’ เพื่อไม่ให้อภิสิทธิ์ไปแจ้งความในวันรุ่งขึ้น

ด้าน พล.ต.อ.ศรีวราห์ ออกมาให้สัมภาษณ์อีกครั้ง เตือนกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวมารวมตัวว่า ให้ดูสถานที่ที่เคลื่อนไหวด้วยว่าเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ หากละเมิดกฎหมายต้องถูกดำเนินคดี และหากเข้าข่ายยุยงปลุกปั่นก่อให้เกิดความวุ่นวายทางฝ่ายทหารฝ่ายความมั่นคงจับตาดูอยู่ และหากพบว่ามีความพยายามยุยงปลุกปั่นทางทหารจะส่งมาให้ตำรวจดำเนินคดี

20 เม.ย. 2560 บุญสิน หยกทิพย์ ฝ่ายประสานงานชมรมธรรมาธิปไตยแห่งชาติ เดินทางเข้าแจ้งความร้องทุกข์ที่ สน.ดุสิต เพื่อลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน ให้ช่วยติดตามหมุดคณะราษฎรที่หายไป ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจสอบปากคำ มีทหารควบคุมตัวบุญสินไปที่ มณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) ปัจจุบันไม่มีข้อมูลว่าได้รับการปล่อยตัวแล้วหรือไม่

24 เม.ย. 2560 เอกชัย หงส์กังวาน นักกิจกรรมและอดีตผู้ต้องขังคดีการเมืองโพสต์เฟซบุ๊กว่ามีชาย 8 คน อ้างว่ามาจาก สน.ลาดพร้าว ขอให้เขายกเลิกการเดินทางไปทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นคำร้องเกี่ยวกับหมุดใหม่ หรือ ‘หมุดหน้าใส’

ประชาไทรายงานว่า ข้อเสนอของเอกชัย คือ ขอให้รัฐบาลประกาศเจ้าของหมุดใหม่ทางสื่อสารมวลชนทุกช่องทางเป็นเวลา 7 วัน หากยังไม่มีผู้แสดงตัวเป็นเจ้าของ ขอให้รัฐบาลขุดหมุดใหม่ออกไปเก็บไว้ยังที่เหมาะสมก่อนเพื่อรอเจ้าของมารับคืนภายหลัง

25 เม.ย. 2560 เอกชัยเดินทางไปทำเนียบรัฐบาลแต่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจล้อมจับ โดยอ้างว่าจะพาไป สน.ลาดพร้าว แต่กลับถูกนำตัวไปที่ มทบ.11 ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวในเวลาประมาณ 16.30 น. โดยต้องลงชื่อในเงื่อนไขการปล่อยตัวของ คสช. ว่าจะไม่เดินทางออกนอกประเทศก่อนได้รับอนุญาต และไม่เคลื่อนไหวทางการเมืองอีก หากฝ่าฝืนเงื่อนไขดังกล่าวจะถูกดำเนินคดี



ภาพขณะเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวเอกชัย หงส์กังวานไป มทบ.11


‘หมุด’ ที่พูดอะไรออกไปไม่ได้สักอย่าง

19 เม.ย. 2560 ขณะที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร มีเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง ขอให้งดจัดกิจกรรม “วิพากษ์ การให้เช่าที่ดิน 99 ปี ผลประโยชน์ของไทยหรือผลประโยชน์ของใคร ?” เนื่องจากเข้าใจผิดว่าจะพูดเกี่ยวกับหมุดคณะราษฎร อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้มูลนิธิสืบนาคะเสถียรจัดกิจกรรมเรื่องการให้เช่าที่ดินด้วย เพราะเห็นว่าอาจกระทบต่อความมั่นคง

25 เม.ย. 2560 ชลธิชา แจ้งเร็ว นักศึกษาและนักกิจกรรมขบวนการประชาธิปไตยใหม่ โพสต์เฟซบุ๊กว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจมาพบที่มหาวิทยาลัย เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับกิจกรรมเสวนาทางวิชาการ โดยขอไม่ให้พูดเกี่ยวกับหมุดหน้าใสในงานดังกล่าว เพราะอาจถูกโยงไปเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ได้

กฎหมายมันเบลอหรือเธอไม่ชัดเจน

จนถึง 28 เม.ย. 2560 มีคนถูกดำเนินคดีจากการใช้เสรีภาพการแสดงออกเรื่องหมุดแล้ว 1 คน คือ วัฒนา เมืองสุข ที่โพสต์ว่าหมุดคณะราษฎรเป็นโบราณวัตถุ อีก 3 คนถูกควบคุมตัวไปไว้ในค่ายทหาร หลังจากพยายามร้องเรียนเรื่องหมุดโดยใช้ช่องทางตามกฎหมาย และมีกิจกรรมเสวนาที่ถูกแทรกแซงเนื่องจากเรื่องหมุดคณะราษฎรอีก 2 กิจกรรม

อย่างไรก็ตาม มาตรการที่รัฐนำมาใช้เพื่อทำให้เรื่องหมุดหน้าใสไม่เป็นที่พูดถึง ยังมีข้อถกเถียงทางกฎหมาย โดยฝ่ายรัฐที่ออกมาให้ข้อมูลแย้งกับความเข้าใจของประชาชนทั่วไป เช่น ตกลงแล้วหมุดคณะราษฎรเป็นโบราณวัตถุหรือไม่ ประชาชนทั่วไปสามารถร้องทุกข์กล่าวโทษเรื่องที่หมุดคณะราษฎรหายไปได้หรือไม่ เป็นต้น แต่ในบางกรณีก็เป็นการใช้อำนาจที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย โดยเฉพาะการควบคุมตัวบุคคลในค่ายทหาร

บุคคลที่ถูกควบคุมตัวจากการไปร้องเรียนเรื่องหมุดคณะราษฎรทั้งสามคน ได้แก่ ศรีสุวรรณ จรรยา, บุญสิน หยกทิพย์, และเอกชัย หงส์กังวาน ล้วนแต่พยายามใช้ช่องทางตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นยื่นเรื่องร้องเรียนผ่านศูนย์บริการประชาชนที่ทำเนียบรัฐบาล หรือร้องทุกข์กล่าวโทษที่สถานีตำรวจ แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่รัฐควบคุมตัวไปไว้ในค่ายทหารโดยไม่มีกฎหมายใดรองรับ แม้กระทั่งคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ก็ให้อำนาจทหารควบคุมตัวบุคคลเฉพาะที่สงสัยว่าจะกระทำความผิดใน 4 ฐานความผิด ได้แก่ ความผิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ ความผิดเกี่ยวกับอาวุธ และความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งของ คสช. เท่านั้น

การควบคุมตัวดังกล่าวเป็นการควบคุมตัวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อพันธกรณีในข้อ 9 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งรับรองว่า “บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพและความปลอดภัยของร่างกาย บุคคลจะถูกจับกุมหรือควบคุมโดยอำเภอใจมิได้” ทั้งนี้ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตามกติกาดังกล่าว แต่ยังมีการควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเนื่องมาจากการใช้สิทธิในเสรีภาพในการเเสดงออกอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่สภาวะเสี่ยงต่อการปฏิบัติที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงหรือเเม้กระทั่งการบังคับบุคคลให้สูญหาย โดยเฉพาะในกรณีของบุญสินที่ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับชะตากรรมของเขาหลังการถูกควบคุมตัวโดยทหาร

นอกจากนี้ การที่รัฐไม่ได้สอบสวนหรือสามารถให้ข้อมูลที่สร้างความกระจ่างแก่ประชาชน แล้วยังห้ามพูดคุยถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องหมุดคณะราษฎรและหมุดหน้าใส ทำให้เรื่องราวเกี่ยวกับหมุดที่หายไปเต็มไปด้วยข่าวลือกระซิบกระซาบกันเซ็งเซ่อยู่ในสังคม พร้อมกับเสรีภาพในการแสดงออกที่ถูกกดต่ำลงทุกที ส่วนการใช้ช่องทางตามกฎหมายเพื่อค้นหาความชัดเจนในเรื่องนี้ กลับเป็นหนทางที่นำชีวิตไปสู่ความไม่มั่นคงปลอดภัย

สุดท้ายเรื่องของหมุดคณะราษฎรก็อาจจะเงียบหายไปในสายหมอกแห่งความหวาดกลัว