วันศุกร์, เมษายน 28, 2560

ธปท.ปล่อยให้มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ข้อวิพากษ์ธปท.





ธปท.ปล่อยให้มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

26 เมษายน 2560
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

บทความพิเศษ

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้รับการยกย่องว่า เป็นเสาหลักที่ยืนตระหง่าน

คอยค้ำจุนและช่วยดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยมายาวนาน ยิ่งเวลาผ่านไป ความเชื่อมโยงของเศรษฐกิจโลก และปัญหาที่ตามมาก็ยิ่งขยายวงกว้าง ทำให้ธปท. มีภารกิจในการบริหารจัดการที่กว้างขวางขึ้น แต่ก็เหมือนคนที่ขึ้นไปยืนบนยอดเขา สามารถมองเห็นภาพที่ไกลขึ้น แต่กลับมองไม่เห็นต้นไม้ต้นหญ้าตรงเชิงเขา ว่าเหี่ยวเฉาโรยราไปเท่าไรแล้ว วันนี้ ผู้เขียนจึงขอวิพากษ์ธปท. ว่าหลงลืมละเลยประชาชนคนส่วนใหญ่ไปในเรื่องใดบ้าง

1. ดอกเบี้ยเงินกู้ ภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาไปทั่วโลก ทำให้ผู้คนยังไม่กล้าลงทุนเพิ่ม ประกอบกับประเทศมหาอำนาจใช้นโยบายอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของตน ทำให้อุปทานของเงินสดมีมาก กดดอกเบี้ยให้ลดต่ำเป็นประวัติการณ์

ท่ามกลางภาวะ ดอกเบี้ยเงินฝากของไทยที่ลดลงจาก 4.5% เมื่อ 10 ปีก่อน ลงมาเหลือ 1.5% ในวันนี้ แต่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้กลับปรับลดลงในอัตราที่น้อยมาก อัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้ารายย่อย (MRR)ลดลงจาก 8.5% ในปีพ.ศ.2550 ลงมาเป็น 8.0%ในวันนี้ หากเป็นวงเงินเบิกเกินบัญชี(โอ.ดี.) ได้ปรับลดลงจาก 10.5% มาเป็น 10.0%

ข้ออ้างมาตรฐานของธนาคารคือมีความเสี่ยงสูงขึ้น แต่ผู้เขียนอดสงสัยไม่ได้ว่า ลูกหนี้ที่ชำระดอกเบี้ยสม่ำเสมอไม่เคยมีหนี้เสียเลย ตลอดระยะเวลา 10-20 ปีที่ผ่านมา ทำไมต้องมาร่วมรับภาระจากการบริหารที่ผิดพลาดของธนาคาร ทำไมพวกเรายังต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่สูงทั้งๆ ที่ต้นทุนดอกเบี้ยถูกลง

2. ดอกเบี้ยบัตรเครดิต ดอกเบี้ยเงินฝากที่ลดลงจนแทบจะเป็นศูนย์อยู่แล้ว แต่เชื่อหรือไม่ว่าอัตราดอกเบี้ยของบัตรเครดิตไม่เคยปรับลดลงเลย อดีตอยู่ที่ 20% ผ่านมา 10 ปีก็ยังอยู่ที่ 20% ทำไมผู้คุมกฎอย่างธปท.จึงไม่เข้าใจ หรือว่าไม่ใส่ใจ

มีความพยายามที่จะอธิบายว่าสินเชื่อประเภทนี้มีความเสี่ยงสูง ไม่มีหลักประกัน ผู้เขียนไม่เข้าใจว่า ความเสี่ยงเมื่อ 10 ปีที่แล้วกับปัจจุบันต่างกันอย่างไร ความจริงด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน ธนาคารพาณิชย์น่าจะสามารถคัดกรองลูกค้าได้ดีขึ้น มีข้อมูลมากขึ้น จากการเชื่อมโยงของข้อมูลแหล่งต่างๆ เพียงแต่ที่ผ่านมา ธนาคารเลือกที่จะขยายธุรกิจด้วยการรับลูกค้าที่มีคุณภาพด้อยลงเข้ามาในพอร์ต ทำให้มีหนี้เสียเพิ่มขึ้น หากมีการคัดแยกลูกค้าชั้นดีออกมา ด้วยการให้รางวัล เช่นลูกค้าที่ไม่เคยผิดนัดชำระหนี้เลยในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา จะคิดดอกเบี้ยในอัตราพิเศษเพียง 10% ส่วนที่ผิดนัดให้คิด 15% หากต้องการได้ดอกเบี้ยอัตราพิเศษอีก ก็ต้องเริ่มรักษาเครดิตไปอีก 5 ปีเป็นต้น

อนึ่ง อาจมีบางคนโต้แย้งว่า การใช้บัตรเครดิตมีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวก จะได้ไม่ต้องพกเงิน จึงต้องจ่ายเต็มจำนวน ใครจ่ายไม่เต็ม ควรมีบทลงโทษด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูงเพื่อฝึกวินัยในการใช้เงิน ก็ขอตอบว่า คนที่คิดเช่นนั้นคงไม่เคยได้รู้สภาพที่เป็นจริงของสังคมเลย ว่าทุกวันนี้ประชาชนถูกผู้ประกอบการหรือแม้แต่รัฐบาลเอง กระตุ้นการบริโภคอยู่ตลอดเวลา โดยที่ตัวประชาชนเองก็ไม่ได้มีระบบการวางแผนการเงินที่ดีพอ บ่อยครั้งที่จำเป็นต้องใช้เงินฉุกเฉิน ลูกเจ็บป่วย คนในครอบครัวเกิดอุบัติเหตุ หาเงินมาไม่ทัน ก็ต้องใช้วงเงินในบัตรเครดิตประทังไปก่อน แล้วค่อยผ่อนชำระ 2-3 เดือน ลำพังดอกเบี้ย 10-12% ก็ถือว่าเป็นการลงโทษที่พอควรแล้วอย่าให้ถึง 20% เลย

อีกเรื่องที่อดจะกล่าวถึงไม่ได้คือ การคิดอัตราดอกเบี้ยคนที่ซื้อสินค้าด้วยบัตรเครดิตแล้วใช้วิธีผ่อนชำระ ธนาคารจะคิดดอกเบี้ยทันทีตั้งแต่วันที่มีการซื้อสินค้า ขณะที่ในต่างประเทศเขาจะเริ่มคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ถึงกำหนดชำระ เพราะถือว่าธนาคารได้รับค่าธรรมเนียมในการใช้บัตร 2-3% อยู่แล้ว จึงไม่ควรที่จะมาเบียดบังกับลูกค้าเพิ่มอีก หากเลยกำหนดที่ต้องชำระแล้ว เขายังไม่จ่าย จึงค่อยเริ่มคิดดอกเบี้ย แบบนี้ถึงจะยุติธรรม

3. อัตราแลกเปลี่ยนเงินต่างประเทศ สี่ห้าปีที่ผ่านมา คนไทยไปเที่ยวต่างประเทศกันมากขึ้น เทคโนโลยีทำให้คนอยากออกไปเปิดหูเปิดตาในต่างประเทศ แต่ท่านเชื่อหรือไม่ว่า อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่เป็นผู้ดำเนินธุรกิจนั้น ทำให้ท่านสะดุ้งได้

คนทั่วไปอาจจะไม่รู้เลย จนกว่าจะได้ไปใช้บริการด้วยตนเอง ขอยกตัวอย่างสกุลเงินของประเทศเพื่อนบ้าน เช่นฟิลิปปินส์,อินโดนีเซีย หรือไต้หวัน (ตามตาราง) หากท่านแลกเงินไปเที่ยวแล้วใช้ไม่หมด นำสกุลเงินเหล่านั้นกลับมาแลกคืนเป็นเงินบาทที่บูธของธนาคารใดธนาคารหนึ่ง ท่านอาจขาดทุน 30 - 40% ของต้นทุนเดิมที่แลกมา ขอย้ำว่าท่านไม่ได้อ่านผิดเพราะ ส่วนต่างของอัตราซื้อและขายเงินตราต่างประเทศของธนาคารไทยนั้นถ่างกว้างมาก

หากจะมีใครออกมาแก้ตัวแทนว่า สกุลเงินต่างประเทศที่ยกมานั้นมีความผันผวนสูง ก็ขอตอบว่า แล้วทำไมบริษัทรับแลกเปลี่ยนเงินตรารายใหญ่ของไทยรายหนึ่งที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ เขาจึงกำหนดส่วนต่างของสกุลเงินประเทศนั้นๆเพียง 3- 4% เท่านั้น นี่เป็นประจักษ์พยานว่าธนาคารพาณิชย์เป็นเสือนอนกิน ที่ไม่ได้ใช้ฝีมือในการบริหารเลย อาศัยผูกขาดธุรกิจมายาวนาน จนแข่งขันไม่เป็น หาก ธปท.ยังคอยปกป้อง ไม่ส่งเสริมให้เอกชนรายใหม่ๆเข้ามาแข่งขัน คนที่เสียหายก็คือประชาชน รวมถึงนักท่องเที่ยวที่จะก่นด่าระบบการเงินของไทย ว่าล้าหลังและเอาเปรียบสิ้นดี

4. ธนาคารยัดเยียดประกันชีวิต โดยหลักการ การที่ธนาคารเปิดช่องทางจำหน่ายประกันชีวิตเพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชนนั้น ถือเป็นสิ่งที่ดี แต่การขายประกันชีวิตของธนาคารมักไม่มีการบริการหลังการขาย จึงเสมือนได้ค่านายหน้ามาฟรี ทำให้หลายธนาคารมุ่งความสนใจมาหารายได้ในช่องทางนี้ เพื่อชดเชยกับรายได้จากดอกเบี้ยที่ลดลง ธนาคารหลายแห่งกำหนดให้การขายประกันชีวิตเป็นหนึ่งในตัววัดผลการทำงาน(KPI) ของพนักงานทุกคน ไม่ว่าจะมีใบอนุญาตนายหน้าประกันชีวิตหรือไม่ก็ตาม ทำให้เกิดเสียงบ่นกันอื้ออึงว่า ลูกค้าถูกพนักงานธนาคารยัดเยียดให้ซื้อประกันชีวิตเพื่อแลกกับการได้ใช้บริการจากธนาคาร รวมทั้งยังมีการหลอกว่า เป็นการฝากเงิน ซึ่งที่ผ่านมามีการร้องเรียนจากประชาชนมากมายทั้งผ่าน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) แต่แทบไม่พบการลงโทษในประเด็นที่เกี่ยวกับการยัดเยียด หรือหลอกขายประกันชีวิตเลย ส่วนใหญ่มักจบลงด้วยการยอมความ

ที่สำคัญคือธปท.ปล่อยให้ธนาคารพาณิชย์ใช้ข้อมูลภายในของลูกค้าในเรื่องจำนวนเงินฝาก แล้วให้พนักงานฝ่ายขายนำไปใช้ในการขายประกันชีวิต หรือนำไปใช้ในการต่อรองการทำธุรกรรมต่างๆ ถือว่าเป็นการผิดจรรยาบรรณ โดยปัจจุบัน สถาบันการเงินในต่างประเทศเริ่มเข้มงวดการใช้ข้อมูลข้ามแผนกกัน เพราะถือเป็นความลับของส่วนตัวลูกค้า

5. ค่าธรรมเนียมโอนเงิน มีการพูดกันมานานแล้วว่าค่าธรรมเนียมในการโอนเงินของไทยนั้นค่อนข้างแพง เช่น ชาวบ้านทั่วไปหากไปโอนเงินในวงเงินระหว่าง 500-2000 บาท ธนาคารจะคิดค่าธรรมเนียม 25 บาทหรือคิดเป็นเฉลี่ย 2.5% มีการพูดกันว่าถ้ามีการนำเทคโนโลยีทางการเงินหรือฟินเทคมาใช้ ค่าธรรมเนียมอาจลดลงมาเหลือ 10 บาทหรือไม่เกิน 1%

ช่วงที่ผ่านมา มีการป่าวประกาศจากธนาคารพาณิชย์ว่าหากมาเปิดบัญชีพร้อมเพย์ที่ธนาคาร ต่อไปไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการโอนเงินแล้ว ถ้าการโอนเงินนั้นไม่เกิน 5000 บาท แต่กลายเป็นตลกร้าย เพราะหลังจากที่เราสมัครไปแล้ว หากเราโอนเงินไปให้เพื่อนหรือชำระค่าสินค้าตามเลขบัญชีที่เขาแจ้งมา เรายังต้องเสียค่าธรรมเนียม 25 บาทเหมือนเดิม สรุปคือบัญชีพร้อมเพย์ไม่ได้ยกเว้นค่าธรรมเนียมให้กับผู้โอน ผู้ที่จะได้รับการยกเว้นคือผู้ที่โอนเข้าบัญชีพร้อมเพย์ของเราต่างหาก

จึงแทบพูดได้ว่าการโอนเงินส่วนใหญ่ทุกวันนี้ หากไม่ใช่บัญชีที่โอนกันเป็นประจำ เช่นพ่อแม่โอนให้ลูก แต่เป็นการโอนระหว่างเพื่อนหรือโอนชำระค่าสินค้า เรามักไม่ถามว่ามีบัญชีพร้อมเพย์หรือไม่ เมื่อเขาให้หมายเลขบัญชีมา เราก็โอนตามนั้น ทำให้ 70-80% ของค่าธรรมเนียมส่วนใหญ่ยังตกถึงมือธนาคารเต็มเม็ดเต็มหน่วย

ปัจจุบันนี้ ต้นทุนของธนาคารลดลงมากด้วยการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการบริหารเงินระหว่างสาขาและจังหวัด ลูกค้าก็ร่วมมือด้วยการใช้โทรศัพท์มือถือในการโอนเงิน แต่ค่าธรรมเนียม กลับไม่ลดลง ถามว่าถ้าธปท.ไม่เข้ามาดูแล แล้วจะให้ใครเข้ามาทำ

ธปท. องค์กรของใคร คนเราไม่ว่าจะประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงมากสักเพียงใด แต่ถ้าขาดความใส่ใจในความเป็นอยู่ของคนในบ้าน ปล่อยให้พวกเขาถูกเอารัดเอาเปรียบ เราก็ยากที่จะเรียกว่าเป็นผู้สำเร็จที่แท้จริงได้

ในห้วงหลายสิบปีที่ผ่านมาผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยมักเป็นคนที่มาจากภาคธุรกิจเสียส่วนใหญ่ จึงมีความเข้าอกเข้าใจในการทำธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ที่มีความยากลำบากในการทำธุรกิจมากขึ้น เนื่องจากรายได้จากดอกเบี้ยลดลงเพราะบริษัทใหญ่ๆ เขาไม่นิยมใช้เงินกู้จากธนาคารแล้ว แต่ใช้วิธีขายหุ้นกู้ของตนแทน ทำให้ธนาคารต้องหาช่องทางใหม่ๆ ประกอบกับในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา มีวิกฤตเศรษฐกิจเกิดขึ้นหลายครั้ง ธปท.จึงเป็นห่วงในเสถียรภาพของธนาคารพาณิชย์มากเป็นพิเศษ และคอยอุ้มชูเรื่อยมา

หลายปีที่ผ่านมา ผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ไทย ต่างแสดงกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ท่ามกลางความทุกข์ยากของประชาชน มันไม่สมควรที่จะนำเงินในกระเป๋าของประชาชนโดยเฉพาะผู้ขัดสนไปจุนเจือธนาคารอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เหมือนเอาอาหารไปเลี้ยงคนอ้วนที่กินไม่เคยอิ่ม

แต่ผู้เขียนเชื่อว่าเรายังมีความหวังอยู่ เพราะผู้ว่าการธปท.คนปัจจุบันมาจากสายนักวิชาการ มีแนวความคิดที่จะปรับปรุงหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องสิทธิ์ของผู้บริโภคที่ควรได้รับการปกป้อง และหวังว่าท่านจะแก้ปัญหาข้างต้นด้วยความถูกต้องและเป็นธรรมมากขึ้น

ศาตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย อดีตประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เคยกล่าวไว้ว่า “สิ่งที่ถูกต้อง คือถูกต้อง แม้ไม่มีใครทำสิ่งนั้น สิ่งที่ผิด คือผิด แม้ทุกคนทำสิ่งนั้น”

ที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ได้สมคบกันกำหนดราคาที่ไม่เป็นธรรมมานานแล้ว และประชาชนอย่างพวกเราไม่สมควรที่จะอดทนอีกต่อไป