วันเสาร์, เมษายน 22, 2560

ระเบียงทัศน์: ปริศนาประชาธิปไตย กับ หมุดหมายที่หายไป (BBC Thai)



NICK NOSTITZ นักกิจกรรมนำดอกไม้มาวางเพื่อรำลึกในโอกาสสำคัญ
ระเบียงทัศน์: ปริศนาประชาธิปไตย กับ หมุดหมายที่หายไป


โดย โจนาธาน เฮดผู้สื่อข่าวบีบีซี - กรุงเทพฯ
21 เมษายน 2017

กว่า 80 ปีมาแล้ว ที่หมุดทองเหลือง ขนาดราวจานอาหาร ถูกฝังอยู่กับพื้นถนนด้านหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม ในสภาพสึกหรอจากการถูกรถแล่นทับนับครั้งไม่ถ้วน

นอกจากนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยบางคนที่จะนำดอกไม้มาวางในบางโอกาสแล้ว คนไทยน้อยคนนักที่รู้ว่ามีหมุดนี้อยู่

แต่หมุดนี้ ก็เป็นหนึ่งในอนุสรณ์เพียงไม่กี่ชิ้น ที่เป็นเครื่องหมายของช่วงเวลาอันสำคัญในประวัติศาสตร์ไทยการเมืองยุคใหม่ ที่เริ่มเมื่อ 24 มิถุนายน 2475

กลุ่มบุคคลที่เรียกตัวเองว่า คณะราษฎร โค่นอำนาจระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของกษัตริย์ ที่อยู่มา 700 ปี เพื่อริเริ่มระบอบการเมืองที่มีรัฐธรรมนูญ และรัฐบาลที่ผ่านการเลือกตั้งโดยประชาชน ซึ่งไม่ขึ้นกับพระมหากษัตริย์ ต่อมาอีก 4 ปีครึ่ง พระยาพหลพลพยุหเสนา หนึ่งในผู้นำคณะปฏิวิติครั้งนั้น และนายกรัฐมนตรีคนแรก ได้จัดพิธีเล็ก ๆ ขึ้น เพื่อฝังหมุดดังกล่าวตรงจุดที่เขาได้ประกาศเป็นครั้งแรกว่า ยุคสมัยแห่งการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้สิ้นสุดลง ข้อความบนหมุดนั้น จารึกว่า 'ณ ที่นี้ 24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ'

หมุดหมายที่แทบไม่มีคนรู้จัก มาเป็นข่าวดังไปทั่วโลก เมื่อช่วงต้นเดือน เม.ย. หลังจากที่ นักศึกษา 2 กลุ่มจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นสถาบันที่ก่อตั้งขึ้นโดยหนึ่งในบุคคลสำคัญของคณะราษฎร ได้รับมอบหมายจากอาจารย์ให้ไปศึกษาหมุดคณะราษฎร นักศึกษากลุ่มแรกที่ไปทำรายงานเมื่อวันที่ 2 เมษายน พบว่าหมุดคณะราษฎรยังคงอยู่เป็นปกติ ส่วนกลุ่มที่สองซึ่งเข้าไปดูเมื่อวันที่ 8 เมษายน พบว่าหมุดถูกเปลี่ยนไปแล้ว



BBC THAI หมุดใหม่ ถูกนำมาติดตั้งไว้ในช่วงต้นเดือนเมษายน


ที่จุดเดียวกันนี้ ปรากฎหมุดใหม่ ถูกฝังอยู่ในพื้นซีเมนต์อย่างเรียบร้อย และมีข้อความใหม่เขียนว่า 'ขอประเทศสยามจงเจริญยั่งยืนตลอดไป ประชาสุขสันต์หน้าใสเพื่อเป็นพลังของแผ่นดิน ความนับถือรักใคร่ในพระรัตนตรัยก็ดี ในรัฐของตนก็ดี ในวงศ์ตระกูลของตนก็ดี มีจิตซื่อตรงในพระราชาของตนก็ดี ย่อมเป็นเครื่องทำให้รัฐของตนเจริญยิ่ง' ซึ่งส่วนหนึ่งของข้อความนี้ เหมือนกับจารึกคาถาสุภาษิตบนตราดาราจักรี ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ประจำราชวงศ์ปัจจุบันของไทย

ไม่น่าแปลกใจว่า หลังตกเป็นข่าว นักรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย นักประวัติศาสตร์ และนักวิจารณ์ทางสื่อสังคมออนไลน์ ออกมาประท้วงกรณีนี้ ซึ่งดูเหมือนเป็นเรื่องความผิดต่อโปราณวัตถุที่ถือเป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ของไทย ไม่ใช่แค่เรื่องของพวกมือบอนทั่วไป





ก่อนหน้านี้ เมื่อปีที่ผ่านมา คนกลุ่มเล็ก ๆ ที่สนับสนุนราชวงศ์แบบสุดโต่ง ออกมาขู่ว่าจะถอนหมุดนี้ แต่ด้วยตำแหน่งที่ตั้งแล้ว ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ ที่พวกเขาจะกล้าทำตามคำขู่ หากปราศจากแรงสนับสนุนสำคัญของทางการ
เจตนาดูแคลน

คณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จงใจเลือกสถานที่นี้ สำหรับการประกาศในช่วงรุ่งสางของวันที่ 24 มิ.ย. 2475 เพราะสัญลักษณ์และสถานที่ล้วนมีนัยยะสำคัญในการเมืองเรื่องอำนาจของไทยเสมอมา พระที่นั่งอนันตสมาคม ประตูแห่งพลวัตเข้าสู่เขตดุสิต พื้นที่สร้างใหม่ในสมัยนั้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของไทย เพื่อให้เป็นศูนย์กลางแห่งพระราชอำนาจที่ทันสมัย ห่างจากพระราชวังต่างๆที่เปล่งประกายอยู่ริมแม่น้ำ อีกทั้งเป็นจุดสิ้นสุดของถนนราชดำเนิน ซึ่งเป็นทางเชื่อมต่อระหว่าง 2 เขตของกรุงเทพฯ และเป็นที่ตั้ง พระบรมรูปทรงม้า การที่หมุดทองเหลืองอันเล็ก ๆ ถูกฝังอยู่ถัดจากพระบรมรูปทรงม้า ถือเป็น เจตนาดูแคลนของรัฐบาล ที่ตั้งใจจะยับยั้งหรือแม้กระทั่งยุติพระราชอำนาจ



AFP/GETTY IMAGES หมุดคณะราษฎร ถูกฝังอยู่บนพื้นถนนใกล้กับพระบรมรูปทรงม้า


ทว่า ความตั้งใจของคณะราษฎรกลับไม่ปรากฎผลในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดลุยเดช ซึ่งถือเป็นห้วงแห่งการฟื้นฟูพระราชอำนาจและพระเกียรติยศ ให้กลับมาอยู่ในระดับที่ไม่เคยพบมาก่อนนับตั้งแต่การปกครองโดยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช

พระที่นั่งอนันตสมาคม ยังคงเป็นสัญลักษณ์ที่ทรงอำนาจแห่งสถานะของพระมหากษัตริย์ที่ทรงได้รับการยกย่องเทิดทูน และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ได้ทรงเลือกพระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นสถานที่จัดพระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญซึ่งบรรดานายพลผู้ปกครองประเทศให้ความเห็นชอบ พระราชพิธีฯ เมื่อวันที่ 6 เมษายน จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบเกือบครึ่งศตวรรษ

ภาพที่สื่อไทยเผยแพร่ มีนัยที่เชื่อได้ว่า หมุดคณะราษฎร ถูกเปลี่ยนในคืนก่อนหน้าพระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญ



นางณัฏฐา มหัทธนา (ซ้าย) และนายอภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธุ์ (ขวา) เป็นหนึ่งในกลุ่มนักรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย ที่ตั้งคำถามเรื่องหมุดคณะราษฎรที่หายไป


ส่วนปฏิกิริยาของทางการไทยต่อการโจรกรรมครั้งนี้ ก็ได้สร้างความสับสนให้แก่ประชาชน โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวปัดเป็นเรื่องไม่สำคัญ และตอบคำถามสื่อมวลชนว่า 'การทวงคืนจะได้ประโยชน์อะไร' นอกจากนี้ ได้เตือนว่า อย่าจัดการประท้วงเกี่ยวกับหมุดดังกล่าวด้วย

ตำรวจระบุว่า ไม่สามารถสืบสวนกรณีหมุดคณะราษฎรที่หายไปได้ เนื่องจากไม่รู้ว่าหมุดเป็นสมบัติของใคร ส่วนรองผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถึงกับพูดว่า หมุดคณะราษฎรถูกนำไปฝังอย่างผิดกฎหมายมาตั้งแต่ต้น แม้ว่ารัฐบาลในสมัยนั้นเป็นผู้ดำเนินการก็ตาม



BBC THAI


ตำรวจยังได้ควบคุมตัว นักเคลื่อนไหวรายหนึ่งที่ไปประท้วงยังจุดที่หมุดเคยฝังอยู่ และนักการเมืองฝ่ายค้าน ที่อ้างว่าหมุดคณะราษฏรเป็นสมบัติของชาติ และควรได้รับการปกป้องทางกฎหมาย ก็กำลังถูกดำเนินคดีตามพรบ.คอมพิวเตอร์

ส่วนนักรณรงค์อีก 2 คนที่ไปยื่นเรื่องร้องเรียนกับตำรวจ ก็ได้รับคำเตือนว่า ไม่ให้ไปที่หมุด โดยถูกพาไปยังศาลาว่าการกรุงเทพฯ แล้วแจ้งว่ากล้องวงจรปิด 11 ตัวในบริเวณนั้น ถูกถอดออกไปเพียงไม่กี่วันก่อนหมุดจะถูกเปลี่ยน

นอกจากนี้ ยังได้มีการนำรั้วมากั้นรอบหมุดใหม่ เพื่อป้องกันคนไปถ่ายรูป จนกระทั่งต่อมาตำรวจรู้สึกว่ากีดขวางการจราจร จึงได้เคลื่อนย้ายรั้วออกไป



หมุดใหม่ มีตำรวจไทยเฝ้าดู ในขณะที่บีบีซี เดินทางไปทำรายงานข่าว
ประเด็นแห่งการถกเถียง


เนื่องจากเหตุการณ์ในปี 2475 เป็นช่วงเวลาสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย จึงกลายเป็นหัวข้อที่ถกเถียงระหว่างกลุ่มการเมืองหลัก ๆ ของประเทศ ซึ่งแต่ละฝ่าย ต่างก็พยายามใช้เหตุการณ์ดังกล่าว มาส่งเสริมความชอบธรรมของตน

ภาษาบางส่วนที่คณะราษฎรใช้ในสมัยนั้น มีเนื้อหาวิจารณ์พระมหากษัตริย์อย่างแข็งกร้าว ซึ่งแทบจะนำมาเผยแพร่ไม่ได้ ภายใต้การตีความของรัฐบาลทหาร ตามกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในปัจจุบัน

แต่ภายในเวลาไม่นาน คณะราษฎรก็ตัดสินใจว่า ระบอบการปกครองใหม่ ยังจำเป็นต้องอาศัยพระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้มีท่าทีอ่อนลงในการจำกัดพระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งร่างขึ้นเสร็จสิ้นช่วงปลายปี 2475 ความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายที่ยังคงตึงเครียด ประกอบกับการลุกขึ้นต่อสู้ของผู้สนับสนุนพระมหากษัตริย์เมื่อปี 2476 ที่ล้มเหลว ได้นำไปสู่การสละราชบัลลังก์ในอีก 2 ปีต่อมา


WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ให้ผู้สื่อข่าวเข้าไปถ่ายภาพหมุดใหม่ที่ถูกสับเปลี่ยนมาแทนหมุดคณะราษฎร


ความพยายามเปลี่ยนประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตย ที่มาพร้อมกับความวุ่นวายในช่วงเริ่มต้น เป็นโอกาสที่ผู้สนับสนุนพระมหากษัตริย์ อ้างว่าทรงมีพระเมตตา ส่วนทางฝ่ายนักการเมืองก็อ้างว่า ประชาธิปไตยต้องมาจากเจตจำนงของประชาชน

ในหลายแง่มุม ความวุ่นวายทางการเมืองของไทย สะท้อนให้เห็นถึง ข้อถกเถียงถึงต้นกำเนิดที่แท้จริงของความชอบธรรมทางการเมืองในประเทศที่ยังไม่ได้ข้อสรุป

ดังนั้นไม่ว่า ใครจะเป็นผู้เปลี่ยนหมุดซึ่งมีความหมายถึง 'รัฐธรรมนูญของประชาชน' ฉบับแรกก็ตาม เขาได้สื่อถึง หรือได้ปรับสมดุลเชิงสัญลักษณ์ บนลานหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคมด้วย

การตอบเลี่ยงประเด็นของรัฐบาลและตำรวจ แสดงให้เห็นว่า นี่เป็นเรื่องที่อ่อนไหว ซึ่งพวกเขาไม่เต็มใจเข้าไปหาความจริง และยังประกาศชัดเจนว่า จะไม่ปล่อยให้ใครอื่น มาสอบสวนหาชิ้นส่วนของประวัติศาสตร์ที่หายไปด้วย

...

ไม่มีภาพวงจรปิดคนเปลี่ยนหมุดคณะราษฎร
หมุดคณะราษฎรที่หายไป สะท้อนปัญหาอะไรในสังคม


เรื่องเกี่ยวข้อง...

The mystery of the missing brass plaque
BBC News

3 คำถามที่ยังไม่ได้คำตอบ หลังจากหมุดคณะราษฎรถูกถอด
บีบีซีไทย