วันอาทิตย์, เมษายน 30, 2560

ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี มีประชุมมอบเอกสารละเมิดสิทธิมนุษยชนในไทย ให้กับกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ

ริชาร์ด สายโสมอน พอล โพรค็อป และเชาว์ ซื่อแท้
ขณะที่ในประเทศไทยฮือฮากันขนานใหญ่ว่า รัฐบาลทหารกำลังจะออกกฎหมายจำกัดเสรีภาพและควบคุมการทำงานของสื่อมวลชน ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี มีการประชุมเรื่องสิทธิมนุษยชนของประชาชนในประเทศเอเซียตะวันออกเฉียงใต้สองแห่ง คือลาวกับไทย

จัดขึ้นที่อาคารเรย์เบิร์นของสภาคองเกรสสหรัฐ โดยมีสมาชิกสภาผู้แทน ม้าร์คเวย์น มุลลิน พรรครีพับลิกัน แห่งโอกลาโฮม่า เขต ๒ เป็นผู้อุปถัมภ์ และขบวนการประชาธิปไตยของคนลาวรุ่นใหม่ กับ เร็ดยูเอสเอ-ขบวนการเสียงไทยนานาชาติ ร่วมกันเป็นผู้จัด (ดร.ริชาร์ด สายโสมอน และ เชาว์ ซื่อแท้)
สมาชิกสภาม้าร์คเวย์น มุลลิน ในการพบกับประชาชนที่เมืองทุลซ่า เมื่อ ๑๗ เมษายน นี้
การประชุมประสพความสำเร็จสมดังความมุ่งหมาย คือนอกจากได้อ่านแถลงการณ์ และแสดงปาฐกถาถึงปัญหาสิทธิมนุษยชนในแต่ละประเทศของผู้จัด ต่อผู้ร่วมงานประมาณ ๕๐ คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวลาวที่อาศัยอยู่ในสหรัฐแล้ว

(อ่านรายละเอียดแถลงการณ์ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/RedUSAThaiVoiceInternational/posts/1500549543296973)

ยังได้มอบเอกสารเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนให้กับเจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศสหรัฐ (นายพอล โพรค็อป แห่งแผนกกิจการเอเซียตะวันออกและแปซิฟิค) ไว้ประกบกับเอกสารทางการจากรัฐบาลของแต่ละประเทศ ที่ล้วนแต่ ไม่เป็น ประชาธิปไตย ด้วยกันทั้งคู่

เอกสารแถลงการณ์ (ในที่นี้ขอกล่าวถึงเฉพาะกรณีไทย) ระบุถึงการไม่มีเสรีภาพในการพูดและแสดงออกในประเทศไทย กระบวนการยุติธรรมไทยไร้มาตรฐาน รัฐบาลใช้อำนาจเผด็จการ (ม.๔๔) ก้าวก่ายศาสนจักร และกฎหมายกำกับเรื่องคอมพิวเตอร์ริดรอนสิทธิส่วนบุคคลมีบทลงโทษรุนแรง เป็นต้น

การปาฐกถาของผู้ร่วมประชุมท่านหนึ่ง คุณแอนน์ นอร์แมน ในฐานะผู้อำนวยการบริหารของภาคีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชน (TAHR) ได้กล่าวถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยเป็นตัวอย่าง ๓ กรณี
แอนน์ นอร์แมน
กรณีแรกคือการจับกุมและทรมาน น.ส.กริชสุดา คุณะแสน เพราะเธอเป็นนักกิจกรรมโดดเด่นของฝ่ายเสื้อแดงก่อนการรัฐประหาร แล้วมีการนำตัวเธอไปออกรายการโทรทัศน์บังคับให้พูดว่าได้รับการปฏิบัติอย่างดีระหว่างถูกควบคุมตัว จนเมื่อเธอสามารถหนีออกนอกประเทศได้แล้วความจึงแตกว่าเธอ จากนั้นคณะรัฐประหารก็ยัดข้อหาส้องสุมกำลังอาวุธเพื่อก่อการร้ายให้แก่เธอ

อีกกรณีคือ นายชัยภูมิ ป่าแส หนุ่มชาวบ้านชายแดนเชื้อสายลาหุเกิดในประเทศไทย ถูกทหารยิงตายขณะวิ่งหนีการทำร้ายของทหารที่พยายามจะยัดข้อหาค้ายาเสพติดให้

นายชัยภูมิเป็นนักกิจกรรมเพื่อชาวเผ่า เขาเป็นนักดนตรี เป็นศิลปินถ่ายทำภาพยนตร์สารคดีสั้น ที่สื่อออนไลน์ว้อยซ์ทีวีรายงานจากคำให้การชาวบ้านที่เห็นเหตุการณ์ว่าเขาถูกยิงจากข้างหลัง ทำให้สื่อนั้นถูกสั่งระงับเสนอรายการเป็นเวลา ๗ วัน

ครั้งมีการเรียกร้องให้นำภาพวิดีโอจากกล้องวงจรปิดมาเปิดเผยเพื่อพิสูจน์ความจริงดังข้ออ้างของทางการที่กล่าวหานายชัยภูมิว่าพยายามขว้างระเบิดใส่เจ้าหน้าที่ ทางการทหารกลับไม่ยอมปล่อยคลิปจนบัดนี้ อ้างว่าไว้ตรวจสอบเสียก่อน

กรณีที่สาม เรื่องของ ไผ่ ดาวดิน (ชื่อจริง จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา) นักศึกษากฎหมายใกล้จบปีสุดท้าย ถูกคุมขังมาเป็นเวลาหลายเดือนแล้วในข้อหาเผยแพร่คลิปวิดีโอของบีบีซีไทยรายงานพระราชประวัติของกษัตริย์ไทยพระองค์ใหม่ (อย่างครอบคลุมหลายแง่มุม เฉกเช่นสื่อตะวันตกจำนวนมากทำกัน ทั้งจากอังกฤษและเยอรมนี)

ไผ่ถูกปฏิเสธการขอประกันเพื่อปล่อยตัวชั่วคราวจำนวนไม่ต่ำกว่า ๗ ครั้ง ด้วยข้ออ้างจากศาลว่าเขาหยามหมิ่นอำนาจรัฐ

แอนน์ นอร์แมน เปรียบเทียบกรณีของไผ่กับ โรซ่า พ้าร์ค นักต่อสู้เพื่อสิทธิชนผิวดำอเมริกันในอดีต “การปกครองที่ดีไม่ใช่การสรรหาคนดีมาเป็นผู้ปกครอง” เธอกล่าวสรุปในตอนหนึ่ง

“คนดีกลายเป็นคนชั่วได้ การปกครองที่ดีนั้นเกี่ยวกับสถาบันทั้งหลายนั่นต่างหาก”

(https://www.facebook.com/notes/ann-norman/thailands-orwellian-nightmare-three-cases/10155387498323586/)