วันอาทิตย์, เมษายน 30, 2560

มีหลักฐานว่าทหารในหลายที่ในโลกโกง... ทหารที่ทำรัฐประหารต้านโกงก็โกง





ทหารที่ไหนโกง? โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์


ที่มา มติชนออนไลน์
15 ธันวาคม พ.ศ. 2558


คําตอบง่ายๆ คือ มีหลักฐานว่าทหารในหลายที่ในโลกโกงครับ ส่วนทหารไทยอันนี้ผมไม่ทราบจริงๆ

อยากจะนำตัวอย่างทหารที่โกงมาให้เห็นสักสามประเทศ/กลุ่มพื้นที่ในโลกให้เห็นว่า เวลาเขาโกงเขาโกงอย่างไร และเสียหายแค่ไหน

1.ทหารจีนโกง: ได้รับการยืนยันจากสำนักข่าวซินหัว ซึ่งเป็นสำนักข่าวของรัฐบาลจีนเองว่า ในปีนี้มีกรณีอื้อฉาวใหญ่มากเรื่องมีบุคคลชั้นสูงในกองทัพโกง จนเกิดการจัดการและเรื่องราวมากมาย ที่เกี่ยวเนื่องกับการเมืองด้วย

ในรายงานของนิตยสาร The Diplomat ที่อ้างอิงมาจากสำนักข่าวซินหัว (With Latest Ouster, China Steps Up Fight Against Corruption: 31 July 2015) ได้รายงานว่า มีการขับ หลิงจิงหัว คนสนิทของอดีตประธานาธิบดี หูจิงเถ่า ออกจากพรรค และสืบวันต่อมาก็ขับ นายพล เกาโบเซียว (Gua Boxiong) ซึ่งเป็นรองประธานคณะกรรมาธิการทหารกลาง (Central Military Commission) ในช่วง 2002 ถึง 2012 และทั้งสองคนนี้กำลังถูกสอบสวนเรื่องการคอร์รัปชั่น

เรื่องใหญ่ก็มาจากว่า ลูกของนายพลเกานั้นติดโผนายพล 14 คน ที่กำลังถูกสอบสวนเรื่องคอร์รัปชั่น ซึ่งถ้าลูกทำแบบนี้ก็เป็นสัญญาณที่พ่อจะโดนด้วย

การขับนายพลเกาออกจากพรรค เป็นการตัดสินใจของคณะกรมการเมือง หรือคณะผู้ตัดสินใจหลักของพรรค ภายหลังจากได้รับรายงานในเรื่องของการสอบสวนมาจากกรรมาธิการทหารว่า นายพลเกากระทำการขัดวินัยทหาร และสร้างความเสียหายให้แก่องค์กร โดยเฉพาะข้อกล่าวหาที่ว่านายพลเการับสินบน และหาประโยชน์จากการแต่งตั้งตำแหน่งต่างๆ ภายใต้อำนาจของตน

เรื่องราวยังกับสึนามิพัดกระหน่ำกองทัพจีน เพราะนายพลซู (Xu Caihou) ซึ่งมีตำแหน่งเท่ากับนายพลเกา (2004-2012) และเป็นมือไม้ของยุคสี จิ้นผิงอีกคนก็โดนขับออกจากพรรค แต่ได้เสียชีวิตเสียก่อนจะมีการดำเนินคดี ดังนั้น ว่าง่ายๆ ก็คือนายพลที่มีอำนาจสูงสุดในยุคที่แล้วคือ นายพลเกา และนายพลซู ถูกกล่าวหาและขับออกจากพรรคและกองทัพด้วยข้อหาคอร์รัปชั่น และการผิดวินัยทหาร

เหตุการณ์ที่นายพลเกาโดนดำเนินคดี เกิดขึ้นหลังจากไม่กี่วันที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ออกแถลงถึงการเอาจริงเอาจังในการจัดการคอร์รัปชั่น และกลับไปสู่ประเพณีที่ดีงามของการเป็นกองทัพแดง ที่ทำงานภายใต้ร่มธงของพรรคคอมมิวนิสต์ เช่นเดียวกับยุคปฏิวัติ

ทำไมเรื่องการต่อต้านการคอร์รัปชั่นในจีนถึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ โดยเฉพาะในประเด็นของการคอร์รัปชั่นในกองทัพ? คำตอบก็คือผู้นำทางการเมืองของจีนเห็นว่า การคอร์รัปชั่นนั้นเป็นการท้าทายต่อความมั่นคงของชาติ โดยเฉพาะในกรณีการคอร์รัปชั่นในกองทัพนั้น มันยิ่งเป็นการที่ยักยอกเอางบประมาณไปเข้ากระเป๋านายพลบางคน และเป็นการไปสัญญิงสัญญากับพวกนายทหารที่มีปัจจัยมากกว่าพวกที่มีความสามารถในการเลื่อนขั้น และในภาพรวมแล้วทำให้เกิดปัญหาในวินัยของทหาร

นอกจากนั้นแล้วการคอร์รัปชั่นในหมู่ทหารยังสร้างปัญหาที่ตามมาที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การทำให้เกิดการสร้างเครือข่ายความภักดีกับนายทหารบางคนเป็นพิเศษ แทนที่จะทำให้ทหารภักดีต่อการนำของพรรค ดังนั้นการต่อต้านการคอร์รัปชั่นในกองทัพเป็นเรื่องที่สำคัญมากของจีน ไม่ใช่เฉพาะเรื่องของความมั่นคงแห่งชาติ แต่ยังหมายถึงการจัดความสัมพันธ์ระหว่างพรรคกับกองทัพด้วย เพราะในระบอบคอมมิวนิสต์ พรรคจะต้องอยู่เหนือกองทัพ

โฆษกกระทรวงกลาโหมของจีนยืนยันว่า การรณรงค์ต่อต้านการคอร์รัปชั่นในกองทัพเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะเป็นการขจัดความสกปรกออกจากสิ่งแวดล้อมของทหาร และจะช่วยให้ทหารมีความสามารถมากขึ้น และที่สำคัญนี่คือภารกิจที่สำคัญลำดับแรกของกองทัพนั่นก็คือ การปรับปรุงเรื่องของอุดมการณ์ให้ชัดเจนขึ้น

2.ทหารตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือโกง: ข้อมูลชุดนี้มาจากองค์กรที่รณรงค์เรื่องความโปร่งใสของโลก นั่นก็คือ Transparency International (29 October 2015 - Mideast and North African Military Corruption "Critical") ที่ชี้ให้เห็นการคอร์รัปชั่นอย่างมโหฬารของประเทศในตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ

อย่างไรก็ดี ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ที่ว่าการคอร์รัปชั่นไม่ได้กระทำได้ง่ายๆ หากปราศจากการช่วยเหลือของ อเมริกา อังกฤษ เยอรมนี และรัสเซีย ซึ่งประเทศเหล่านี้ได้ขายอาวุธให้กับประเทศในภูมิภาคดังกล่าว โดยปราศจากการควบคุมตรวจสอบที่ดี และนอกเหนือจากการขายอาวุธเหล่านี้จะทำให้เกิดการคอร์รัปชั่นแล้ว ยังทำให้ความขัดแย้งในภูมิภาคทวีความรุนแรงมากขึ้น และทำให้ทหารแต่ละกลุ่มแตกแยกกัน รวมทั้งเร่งให้เกิดบรรดาขบวนการต่อต้านหัวรุนแรง ที่ลุกขึ้นสู้กับรัฐบาลด้วย

เรื่องที่น่าสนใจก็คือในข้อมูลขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาตินี้ ได้ชี้ว่าระดับของการคอร์รัปชั่นมีสูง และเป็นไปในทิศทางเดียวกับการใช้จ่ายด้านการทหาร และการขาดการตรวจสอบการจัดการด้านงบประมาณ โดยเฉพาะในแง่ของการนำเอางบประมาณทหารไปใช้ตามความต้องการที่แท้จริงในทางยุทธศาสตร์ มีอยู่หลายกรณีที่อาวุธนั้นถูกนำไปซื้อขายต่อและลักลอบข้ามแดน รวมไปถึงความรุนแรงและความชอบธรรมของรัฐบาลที่ลดลง

องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาตินี้เรียกร้องให้ประเทศผู้ค้าอาวุธให้กับประเทศเหล่านี้ควรจะตรวจสอบรัฐบาลในประเทศให้ดี อาทิ กรณีของตะวันออกกลาง ข้อมูลชี้ว่างบประมาณในพื้นที่นี้ในแง่ของงบลับมีมากกว่าหนึ่งในสี่ของงบลับทั่วโลก และการคอร์รัปชั่นเช่นนี้จะส่งผลให้ความมั่นคงในระดับนานาชาติมีความเสี่ยงมากขึ้น ประเด็นที่สำคัญในเรื่องนี้ไม่ใช่อยู่ที่แค่ปริมาณเงิน เพราะในพื้นที่ตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ แม้ว่าจะใช้เงินด้านการทหารเพียงร้อยละ 7.6 แต่เมื่อมองว่างบพวกนี้เป็นงบลับ พวกเขาใช้งบทหารเป็นงบลับมากกว่าถึงหนึ่งในสี่ของงบลับของโลกดังที่ได้กล่าวไปแล้ว

อย่างในกรณีของอียิปต์ งบประมาณทหารเป็นงบลับมาโดยตลอด

นอกจากนั้นแล้ว ข้อมูลที่น่าสนใจก็คือในประเทศตะวันออกกลางในช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา ได้เพิ่มงบประมาณด้านอาวุธถึงร้อยละ 71 และประเด็นในเรื่องของงบลับนี้ที่สำคัญก็คือ มันจะไม่ผ่านการตรวจสอบของสภาผู้แทนราษฎรเอาเสียเลย เว้นแต่ประเทศเล็กๆ ที่ยังต้องผ่านกระบวนการนิติบัญญัติ ได้แก่ จอร์แดน และตูนิเซีย

ที่จะลืมเสียไม่ได้ก็คือ อเมริกาและประเทศในยุโรปที่ได้กล่าวถึงไปแล้ว เป็นผู้ให้การสนับสนุนเรื่องอาวุธกับประเทศในตะวันกลางเป็นอย่างมาก และทำให้บางประเทศในตะวันกลางเอาเงินมาแลกซื้ออาวุธอย่างมโหฬาร เช่นซาอุดีอาระเบีย และอาจเกิดกรณีที่ทหารในประเทศเหล่านั้นยังไม่มีความพร้อมจะใช้อาวุธ หรือกระทั่งการที่ประเทศที่ได้รับการสนับสนุนทางด้านการเงินและอาวุธจากอเมริกาอย่างเยเมน ยังพยายามที่จะหล่อเลี้ยงความขัดแย้งและภัยคุกคามเอาไว้ เพื่อขอการสนับสนุนเพิ่มเติมมาเรื่อยๆ และสิ่งนี้เป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่ปัญหาภายในเยเมนเองในช่วงที่ผ่านมา

นอกจากนั้นสิ่งที่สำคัญก็คือการปล้นอาวุธหรือยึดอาวุธไปใช้เมื่อฝ่ายต่อต้านสามารถที่จะควบคุมสถานการณ์ได้ ดังในกรณีเยเมนและในกรณีอื่นๆ ก็คือ หากรัฐบาลไม่มีความชอบธรรมในสายตาประชาชนแล้ว แต่เงินและอาวุธยังถูกส่งหรือขายให้รัฐบาลเหล่านี้ ก็จะยิ่งเติมเชื้อไฟแห่งความไม่พอใจของประชาชนที่จะลุกฮือขึ้นมาต้านรัฐบาลเหล่านั้นมากขึ้น

3.ทหารที่ทำรัฐประหารต้านโกงก็โกง: มีรายงานการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์การเมืองของอาจารย์ท่านหนึ่ง (รายงานยังอยู่ในขั้นตอนที่ยังไม่ได้เปิดเผย/ตีพิมพ์) ท่านชี้ให้เห็นถึงประเทศแห่งหนึ่งที่ขอสงวนชื่อเอาไว้ โดยท่านชี้ว่าแม้ว่ากองทัพจะอ้างว่าจะทำรัฐประหารเพื่อต้านโกง แต่เอาเข้าจริงกองทัพไม่ได้ต้านคอร์รัปชั่นอย่างจริงๆ จังๆ มิหนำซ้ำยิ่งอยู่ในอำนาจในฐานะคณะรัฐประหารแล้ว ก็จะยิ่งทำให้สถานการณ์ด้านการคอร์รัปชั่นเลวร้ายไปอีก ผ่านการเข้าไปแทรกแซงงบประมาณด้านการทหาร ด้วยการสร้างสถานการณ์การลวงตาประชาชนโดยส่งคนของตัวเองเข้าไปนั่งในตำแหน่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดงบประมาณและใช้อำนาจ นักวิชาการท่านนี้เชื่อว่าการสร้างความบิดเบือนในแง่ของงบประมาณอันเนื่องมาจากการเข้ามาแทรกแซงของกองทัพนี้นำไปสู่ความขัดแย้งแข่งขันของอำนาจทางการเมือง และทรัพยากรทางเศรษฐกิจ และทำให้การคอร์รัปชั่นนั้นดำเนินต่อไป

มีเหตุผลที่น่าสนใจสักสองประการที่ทำให้กองทัพถูกตั้งคำถามว่าเกี่ยวพันกับการคอร์รัปชั่นไหม หนึ่งคือในทางการศึกษาเรื่ององค์กร เราจะพบว่าองค์กรทหารต้องการการตัดสินใจที่รวดเร็ว และบางทีก็จะชินกับการที่ผู้บังคับบัญชาจะกล่าวว่า ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งในวันนี้คำกล่าวเหล่านี้ไม่ได้ดูแมน หรือดูนักเลง แต่สะท้อนให้เห็นถึงการใช้อำนาจแบบเปลือยๆ หรือการพิสูจน์ให้เห็นว่า คนเหล่านี้ไม่ได้ต้องการการตรวจสอบ แต่เป็นการท้าทายว่าทั่นกล้าตรวจสอบข้าพเจ้าหรือเปล่า

ในประการต่อมา บางทีงบประมาณด้านความมั่นคงเอาเข้าจริงแล้วก็วัดยากว่าแค่ไหนคือความมั่นคง ถ้าเทียบกับเรื่องที่ง่ายกว่านี้เช่นการเข้าถึงน้ำสะอาด หรือไฟฟ้า หรือการรู้หนังสือ ดังนั้นก็เป็นเรื่องน่าเห็นใจเวลากองทัพจะต้องแบกรับในเรื่องของความมั่นคง และในเรื่องที่จะต้องถูกตรวจสอบ

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการทางรัฐศาสตร์ได้ชี้ว่าในการพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างทหารและพลเรือน เราควรจะพิจารณาในพื้นที่สัก 5 พื้นที่ นั่นก็คือ

1.ในเรื่องของการเลือกสรรชนชั้นนำหรือพรรคพวกของตนเข้าไปดำรงตำแหน่งหลักๆ

2.การผลักดันนโยบายสาธารณะบางอย่างออกมา

3.ความมั่นคงภายในประเทศ เช่น จะต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายอย่างไร และจัดการกับภัยพิบัติอย่างไร

4.การป้องกันประเทศ ซึ่งจำต้องมีการมีส่วนร่วมของพลเมืองด้วย เพื่อให้หลักประกันว่าจะเป็นไปตามที่ประชาชนคาดหวัง

5.การจัดองค์กรของทหารให้บรรลุ 4 ภารกิจที่ได้กล่าวถึงไปแล้ว (อ้างจาก Democracy under Stress - Civil-Military Relations in South and Southeast Asia by Aurel Croissant and Davis Kuekn, 2010)

กล่าวคือ ถ้าพลเรือนเข้มแข็ง พื้นที่ 5 ปริมณฑลนี้ก็จะอยู่ในการควบคุมของพลเรือน แต่ถ้าทหารเข้มแข็งกว่า ทหารก็จะกำหนดเอง

สําหรับในกรณีของการคอร์รัปชั่นในกองทัพนั้น โดยหลักใหญ่ใจความทั่วโลก เขาพิจารณาจากการที่ว่า หากกองทัพมีงบประมาณที่สูง หรือมีการจัดซื้ออาวุธในปริมาณ ทั้งนี้ เพราะหากพิจารณาว่างบประมาณในการสร้างความมั่นคงของประเทศนั้นเป็นงบประมาณที่ถูกผูกขาดโดยกองทัพ ก็ย่อมจะเชื่อแน่ว่าจะขาดแคลนการตรวจสอบจากภายนอก เพราะกองทัพนั้นผูกขาดสินค้าสาธารณะชิ้นนี้ และก็มีความเป็นไปได้ที่จะทำให้เกิดการตั้งคำถามกับประสิทธิภาพในการใช้จ่ายงบประมาณ เพราะขาดซึ่งการแข่งขัน และเนื่องจากความลับเป็นส่วนหนึ่งของความมั่นคง ดังนั้นในแง่ของงบประมาณทหารแล้ว ก็ยิ่งยากที่จะถูกตรวจสอบ เพราะการเปิดเผยทั้งหมดอาจกระทบความมั่นคงได้

นักวิชาการทางเศรษฐศาสตร์ชี้ว่าลักษณะพิเศษของงบประมาณกองทัพนั้นไม่เหมือนกับงบประมาณด้านอื่น เช่นการศึกษา ซึ่งว่าง่ายๆ ยิ่งมีมากก็ยิ่งดี เพราะมีการแข่งขัน ยิ่งต้องขับเคี่ยวเพื่อให้ได้คุณภาพ จะมาปิดเป็นงบลับไม่ได้ ตรงนี้พูดตรงๆ ก็น่าเห็นใจกองทัพที่จะต้องเผชิญกับแรงกดดันในเรื่องการใช้งบประมาณ และก็คงเข้าใจว่าทำไมทหารอาวุโสหลายท่านถึงพยายามจะพร่ำสอนว่าโตไปอย่าโกง ราวกับว่ารู้ว่ากองทัพนั้นมีบาปกำเนิดบางอย่างอยู่ในตัวเอง

แต่ความเสียใจอาจจะต้องมีขีดจำกัดของมันบ้าง หากเมื่อพิจารณาว่าทหารในบางประเทศนั้นอาจจะมีอำนาจเหนือสถาบันทางการเลือกตั้ง และสามารถที่จะมีชัยชนะเหนือสถาบันการเลือกตั้งในการกล่าวหาว่ามีแต่นักการเมืองที่โกงและไร้ประสิทธิภาพ และสามารถใช้ศักยภาพในการทำรัฐประหารของตนในการแบ่งปันอำนาจกับสถาบันการเมืองอื่นๆ ได้

และเมื่อเกิดการรัฐประหารแล้ว อำนาจในการบริหารและนิติบัญญัติก็จะอยู่ในมือของกองทัพ และด้วยการสร้างสถาบันของการทำรัฐประหารที่มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน สถาบันตุลาการก็ย่อมไม่กล้าหือ ดังนั้น การเพิ่มงบประมาณด้านความมั่นคงตามภารกิจที่กองทัพได้เสนอเอาไว้จึงไม่ถูกตั้งคำถาม เพราะพวกเขาได้วางพรรคพวกของตัวเองไว้ในโครงสร้างสถาบันต่างๆ ไว้แล้ว

จากการวิเคราะห์ย้อนหลังไปสิบกว่าปี พบว่าในประเทศแห่งหนึ่ง มีการเพิ่มขึ้นของงบประมาณทหารในช่วงหลังการทำรัฐประหาร และทำให้การตรวจสอบการคอร์รัปชั่นเป็นไปได้ยากขึ้น เมื่ออิงกับฐานข้อมูลในระดับนานาชาติ

หมายเหตุ ข้อมูลนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหารครั้งล่าสุดในประเทศไทยแต่อย่างใด

ยืนยันได้แค่ว่าทหารไทยจะโกงหรือไม่อันนี้ผมไม่ทราบจริงๆ ครับ