มาแล้ว ยุทธศาสตร์ชาติตามบงการ คสช. มาก่อนพิมพ์เขียวปฏิรูป
มาไล่เรี่ยกับกฎหมายกรรมการเลือกตั้ง
เจอสกัดด่านแรกจากฝ่ายการเมืองอดีตพรรคฝ่ายค้าน
บอกว่า “ต่อไปรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะทำงานยากมากขึ้นเพราะถูกตีกรอบ”
นายนิพิฏฐ์
อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ความรู้สึกไวกว่าหัวหน้าและพรรคคู่แข่ง
มองไม่เห็นอนาคตการเมืองหลังเลือกตั้ง เลยประชดว่า
“อยากให้
สนช.ล้มร่างกฎหมายเลือกตั้ง เพื่อที่จะให้รัฐบาลนี้อยู่ต่อได้อีก ๕-๑๐ ปี
เพื่อที่สังคมไทยจะได้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง ว่าคนในสังคมต้องการจะเลือกระบอบการปกครองแบบใด”
ถึงตอนนี้ก็คงจะล้มยากเสียแล้ว
ในเมื่อ สนช. กำลังเดินเครื่องเต็มสปีดเพื่อผ่านกฎหมายลูกๆ เหล่า พ.ร.ป. ทั้งหลาย
แม้ยังไม่ถึงคิว กม.เลือกตั้ง ก็รับหลักการ กม.ว่าด้วยคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.)
กันไปแล้ว
(ดูรายงานข่าว
‘บีบีซีไทย’
เรื่องเพิ่มจำนวน ‘เสือ’ กกต. เป็น ๗ แต่ ๒ ใน ๕ ที่มีอยู่ปัจจุบันอาจ ‘ปิ๋ว’
เพราะคุณสมบัติขาดแคลนตาม กม. ใหม่ http://www.bbc.com/thai/thailand-39670002)
ที่จริงนายนิพิฏฐ์คงรู้อยู่แล้วว่าระบอบปกครองจะเป็นแบบใด
ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ ไม่ใช่ประชาธิปไตย ไม่ใช่เผด็จการทหาร
แต่เป็นระบอบรัฐธรรมนูญของ คสช. ภายใต้เศวตฉัตร
รัฐธรรมนูญ คสช. มาตรา ๖๕
ก่อให้เกิดกฎหมายฉบับวิเศษที่เรียกว่าแผนแม่บท ‘ยุทธศาสตร์ชาติ’ ซึ่งนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เชิดชูให้ “เป็นกฎหมายที่เหนือกว่าทุกฉบับ
มีผลผูกพันกับทุกองค์กร” ใครไม่ปฏิบัติตามมีโทษ
“ในสถานเบาจะตักเตือนหน่วยงานที่ฝ่าฝืนให้ปรับปรุงแก้ไข
แต่ถ้ายังไม่นำพา ให้ส่งเรื่องไปที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
(ป.ป.ช.)
หาก
ป.ป.ช.ชี้ว่ากระทำผิดจริง จงใจฝ่าฝืน
ให้ดำเนินการตามกฎหมายต่อหัวหน้าส่วนราชการที่ฝ่าฝืนได้”
ความวิเศษของแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาตินี้ ประการหนึ่งอยู่ที่มาตรา
๒๙ ที่ระบุว่า “ถ้ามติคณะรัฐมนตรี
รวมถึงชุดที่จะมาทำหน้าที่หลังการเลือกตั้ง
ไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติหรือแผนแม่บท ให้วุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช.
(ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๖๙)
ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
เมื่อศาลฯ วินิจฉัยแล้วเห็นว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติส่งเรื่องไปยัง
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเพื่อตรวจสอบภายใน ๖๐ วัน”
ถอดความนัยได้ว่า คณะรัฐมนตรีของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
ถูกฝ่ายการเมืองที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ควบคุมหมด แม้องค์กรอิสระอย่างศาลรัฐธรรมนูญและ
ปปช. ก็เนื้อนาของ คสช. เพราะวุฒิสภาที่ คสช.แต่งตั้งเป็นผู้รับรอง
นอกเหนือจากกำหนดยุทธศาสตร์ล่วงหน้าเป็นเวลายาวนานมาก ๒๐ ปี
(สมัยนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกพระราชทานที่พยายามจะกำหนดแม่บทขั้นตอนจัดระเบียบการปกครองใหม่แต่ไปไม่รอด
ก็ยังใช้เวลาแค่ ๑๒ ปี) แล้ว
“ยุทธศาสตร์ชาติที่จะจัดทำขึ้นนี้
อย่างไรเสียก็จะอยู่ในมือของ คสช. เอง แม้ว่าขั้นตอนการจัดทำและการพิจารณาเห็นชอบจะมีรายละเอียดซับซ้อนและมีหลายหน่วยงานที่เข้ามาเกี่ยวข้อง
แต่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่จะเกี่ยวข้องโดยตรงก็มีหัวหน้า
คสช. นั่งเป็นประธาน โดยรัฐบาล คสช. ยังเป็นผู้แต่งตั้งกรรมการทั้งหลาย
รวมทั้งส่งผู้นำเหล่าทัพมานั่งเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง”
ข้อนี้แหละที่นายนิพิฏฐ์คัดค้าน เนื่องจาก “ใช้ความมั่นคงทางทหารมาคุมความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
และความมั่นคงทางการเมือง...
และคนที่พิจารณาร่างกฎหมายนี้ก็เป็นคนที่เขาตั้งมาเอง
ผลจึงออกมาเช่นนี้ ทั้งที่มิตินี้มันล้าหลังที่สุด แต่ก็ทำอะไรไม่ได้
เพราะมิตินี้เขาคิดมาให้แล้วว่า คนในสังคมไม่ต้องคิดอะไรมากแค่ทำตามที่เขาสั่งก็พอ”
นอกจากนี้
‘ไอลอว์’ ได้ตั้งข้อสังเกตุด้วยว่า “ร่างยุทธศาสตร์ชาติที่ว่านี้ มีการจัดทำไว้ล่วงหน้าอยู่ก่อนแล้ว
โดยที่ประชาชนไม่เคยเห็นมาก่อน ซึ่งจัดทำขึ้นก่อนที่จะมีการร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้
และก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๖๐
เสียด้วยซ้ำ”
อีกทั้งการรับฟังความเห็นประชาชนเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์
ตามมาตรา ๘ ของ พรบ. นายวิษณุบอกว่าได้ทำไปแล้วเมื่อ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๘ โน่น
“เช่นนี้เป็นการเปิดช่องให้
‘ลักไก่’ ไม่ต้องจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นอีก
และเป็นวิธีการหลีกเลี่ยงการรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา ๗๗ ของรัฐธรรมนูญ”
“รวมขั้นตอนทั้งการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติ
การพิจารณาและประกาศใช้ จะใช้เวลาประมาณ ๑๒ เดือน
แต่ถ้าหาก
สนช. สิ้นสุดลงก่อนพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อร่างยุทธศาสตร์ชาติแล้วเสร็จ
เนื่องจากมีการเลือกตั้งและมีสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว
ร่างพ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติฯ
กลับไม่ได้ให้สภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งทำหน้าที่พิจารณาเห็นชอบ
แต่กลับให้คณะรัฐมนตรีเสนอร่างต่อ ให้วุฒิสภาซึ่งมาจากการแต่งตั้งของ คสช.
พิจารณาแทน”
นี่แหละขอรับ พระเดชพระคุณ รัฐธรรมนูญ คสช.
ว่าประดุจดังมหาโจรปล้นประชาธิปไตย (แบบเดียวกับหมุดหมายไพร่ฟ้าหน้าใส) แล้ว พวก
พ.ร.ป. ลูกๆ นี่ยิ่งกว่าทะโมนไม่ว่าน้อยหรือใหญ่