วันพุธ, เมษายน 26, 2560

ที่ดีเลย์ พรบ. 'ล้วง-ดัก-สืบ' ทางอินเตอร์เน็ต ทำให้ได้เห็นเจอรมันนีร้อนจัด

ขอบคุณการ์ตูน 'ไข่แมว'
ข่าวพ่อฆ่าลูกอ่อนวัย ๑๑ เดือนที่ภูเก็ต ถ่ายทอดสดทางเฟชบุ๊คไล้ฟ์แล้วผูกคอตายตาม พรึ่บไปทั่วโลกวันนี้ (๒๖ เมษา) พร้อมถ้อยแถลงของโฆษกเฟชบุ๊ค

ว่าเป็นเรื่อง “น่าสยอง เนื้อหาเช่นนี้ไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะปรากฏบนเฟชบุ๊ค จึงได้ถูกถอดออกไปแล้ว”

หนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์คไทมส์รายงานด้วยว่า “หลังจากที่สำนักข่าวสายหลักได้แพร่ภาพวิดีโอ (๔ นาฑี) นั้นแล้ว คณะกรรมการโทรคมนาคมจึงได้ออกแถลงการณ์ห้ามกระทำการดังกล่าว อ้างว่าจะก่อให้เกิดการเลียนแบบ”


แต่ในวันเดียวกันนี้เองเลขาธิการ กสทช. ออกมาแถลงข่าวหลังจากที่ได้นัดประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่ตัวแทนผู้ให้บริการเครือข่ายอินเตอร์เน็ตและระบบเกตเวย์นานาชาติ เกี่ยวกับประเด็นเนื้อหาอันไม่สมควรจากสื่อ

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ แจ้งว่า “แม้จะมีการร่วมมือกันอย่างดีในตลอดสองปีที่ผ่านมาระหว่างผู้ให้บริการกับรัฐบาล แต่ว่ายังไม่พอ ทางการต้องการเห็นผลมากกว่านี้ในเดือนหน้า”

ทั่นเลขาฯ กรุณาให้รายละเอียดด้วยว่าสิ่งที่คณะกรรมการต้องการจะเห็นทันใจ มีสามอย่างได้แก่ หนึ่งผู้ให้บริการต้องทำการบล็อคหรือปิดกั้นเนื้อหาที่มีคำสั่งห้ามจากศาล ทันที หรือเมื่อใดที่พนักงานของตนได้พบเนื้อความเช่นนั้น

สอง ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตและเกตเวย์ ต้องแจ้ง กสทช. และกระทรวงดิจิทัล ทันควัน ถ้าไม่สามารถบล้อคเนื้อหาอันไม่ชอบนั้นได้เนื่องจากมีหลักแหล่งอยู่ในต่างประเทศ เพื่อที่กระทรวงฯ และคณะกรรมการฯ จะได้ขอความร่วมมือจากสถานทูตหรือกระทรวงต่างประเทศให้ช่วยจัดการให้

สุดท้าย กสทช. และกระทรวงดีอี จะซักซ้อมกับผู้ให้บริการฯ อีกทีว่าควรจะทำอย่างไรกับเนื้อหาไม่ต้องประสงค์ทางออนไลน์หรือการแพร่ภาพวิดีโอสดผ่านทางเซิฟเวอร์หรือแค็คช์ของผู้ให้บริการในประเทศ


จากนั้นทั่นเลขาฯ ลงลึกด้วยตัวอย่างของต้องห้ามออนไลน์ แตะไม่ได้ก็คือ สามชายที่ถูกแบน อันมี สศจ. ปชพ. และ อมม. บอกว่าสามคนนี้โดนประกาศ ‘Wanted’ ในข้อหา ๑๑๒

สรุปว่าสิ่งที่ทางการโทรคมนาคมไทยภายใต้ คสช. ออกมาเต้น (ไม่รู้ครั้งที่เท่าไหร่) บีบให้ผู้บริการต่อเชื่อมอินเตอร์เน็ตทำตามสั่งนั่นเป็นการ “บล้อคเว็บเพจที่ส่งเสริมกิจกรรมผิดกฎหมาย และละเมิด กม. อาญามาตรา ๑๑๒” เท่านั้น

ส่วนว่า กิจกรรมผิดกฎหมายที่ห้ามเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ตจริงๆ แล้วมีอะไรบ้าง นอกเหนือจาก ม.๑๑๒ ต้องรอ พรบ.การเข้าถึงพยานหลักฐาน ที่จะให้อำนาจตำรวจ “ล้วงความลับ ดักฟังข้อมูล สืบคดี” ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเสียก่อน

กฎหมายฉบับนี้เพิ่งผ่านความเห็นชอบคณะรัฐมนตรี คสช. แล้ว แต่ดึงไว้หน่อยให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญใหม่ ที่กำหนดให้ต้องผ่านการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ นี่ตามความเห็นนายวิษณุ เครืองาม ทั่นรองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย คสช.

ที่จริง กสทช. ได้เริ่มกระบวนการกำกับและควบคุมกิจกรรมออนไลน์ทางอินเตอร์เน็ตไปก่อนบ้างแล้ว หลังจากผลการประชุม กสทช. วาระพิเศษเมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน

มีมติเห็นควรให้บริการธุรกิจโอเวอร์เดอะท็อป (OTT) หรือกิจการแพร่ภาพและเสียงบนโครงข่ายอื่น ให้เป็นกิจการที่อยู่ภายใต้กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์”

“ผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามถึงตัวอย่างของ OTT ว่า เป็นในลักษณะการออกอากาศทาง Facebook Live Youtube / You Tube live หรือ Line TV ใช่หรือไม่”

พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. ขอยังไม่ตอบ รอให้ “ที่ประชุมจะมีมติในคำจำกัดความออกมาอย่างเป็นทางการเสียก่อน”


เดาเอาว่าที่ ดีเลย์ชลอ พรบ. ล้วง-ดัก-สืบทางอินเตอร์เน็ต เพื่อจะได้บวกเนื้อหา สยดสยอง แบบคนบ้าฆ่าลูกเข้าไปด้วย นอกเหนือจากที่เน้น ม.๑๑๒ ของเจตนาเดิม
เรื่องสยองของไทยที่ภูเก็ตเลยกลายเป็นอุปสรรคไม่ให้ภาพอากาศร้อนจัดที่พาสดอร์ฟ เจอรมันนี ถูกบล็อคไปด้วย