วันพุธ, เมษายน 26, 2560

เปิดโครงการซื้ออาวุธยุค คสช. ที่หลายคนอาจไม่รู้ - BBC Thai



LILLIAN SUWANRUMPHA/AFP/GETTY IMAGES


เปิดโครงการซื้ออาวุธยุค คสช. ที่หลายคนอาจไม่รู้


ที่มา BBC Thai

บีบีซีไทย ตรวจสอบโครงการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ตลอด 3 ปีของ คสช. ที่หลายคนอาจไม่เคยรู้ เพราะเป็น "เรื่องลับ" ตามคำอธิบายของ พล.อ.ประวิตร

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม อ้างว่า การจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์เป็นเรื่องทางยุทธวิธี ที่ใช้เอกสารลับในการพิจารณา ซึ่งไม่มีรัฐบาลไหนเปิดเผยกัน

ทั้งที่กว่า 3 ปีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจเข้ามาบริหารประเทศ มีหนึ่งในข้ออ้างสำคัญ นั่นคือการสร้างความโปร่งใสแก้ไขปัญหาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยมีการออกมาตรการมากมายเพื่อสร้างความโปร่งใส ให้หน่วยงานราชการต่าง ๆ เปิดเผยข้อมูลมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นข้อตกลงคุณธรรม หรือ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่

แต่พอเป็นการจัดซื้อของกองทัพ กลับไม่มีความเปลี่ยนแปลงใด ๆ โดยมักระบุว่าเป็น "เรื่องลับ" เพราะเกี่ยวข้องกับ "ความมั่นคง"


GUANG NIU/POOL/GETTY IMAGES


การจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ในยุค คสช. ที่ผ่านมา สาธารณชนก็มักจะได้รับข้อมูลผ่านการตรวจสอบของสื่อมวลชน

บีบีซีไทย ตรวจสอบมติ ครม. ย้อนหลังนับตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 - ปัจจุบัน พบว่าได้อนุมัติวาระที่กระทรวงกลาโหมเสนอรวมทั้งสิ้น 127 วาระ แต่ไม่มีวาระใดที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์


MADAREE TOHLALA/AFP/GETTY IMAGES


อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจสอบย้อนไปถึงหน่วยงานต้นสังกัดในเหล่าทัพต่าง ๆ ซึ่งถูกบังคับตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 103/7 ให้ต้องเปิดเผย "ราคากลาง" โครงการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมดที่ใช้งบประมาณของแผ่นดิน ก็พบว่า มีการตั้งโครงการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ที่ใช้งบประมาณสูงและน่าสนใจ อย่างน้อย 9 โครงการ ประกอบด้วย

กองทัพบก

ปี 2558 โครงการจัดซื้อรถถังหลัก VT-4 จากจีน ไม่ระบุจำนวน รวมมูลค่า 4,985 ล้านบาท

ปี 2559 โครงการจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ Mi7VS จากรัสเซีย จำนวน 2 ลำ รวมมูลค่า 1,698 ล้านบาท

ปี 2559 โครงการจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์จากรัสเซีย ไม่ระบุรุ่น จำนวน 4 ลำ รวมมูลค่า 3,385 ล้านบาท

ปี 2560 โครงการจัดซื้อรถถังหลัก VT-4 จากจีน ไม่ระบุจำนวน รวมมูลค่า 2,017 ล้านบาท



PORNCHAI KITTIWONGSAKUL/AFP/GETTY IMAGES


กองทัพเรือ

ปี 2558 โครงการจัดซื้อเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง ไม่ระบุรุ่นและจำนวน มูลค่า 2,850 ล้านบาท

ปี 2558 โครงการจัดซื้อเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง ไม่ระบุรุ่น จำนวน 4 ลำ รวมมูลค่า 490 ล้านบาท

ปี 2559 โครงการจัดซื้อเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง ไม่ระบุรุ่น จำนวน 5 ลำ รวมมูลค่า 627 ล้านบาท

ปี 2560 โครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ S26T จากจีน จำนวน 1 ลำ มูลค่า 13,500 ล้านบาท

กองทัพอากาศ

ปี 2560 โครงการจัดซื้อเครื่องบินฝึกนักบินขับไล่เบื้องต้นจากเกาหลีใต้ จำนวน 8 ลำ รวมมูลค่า 8,997 ล้านบาท

เหล่านี้คือข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับโครงการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ในยุครัฐบาล คสช. ซึ่งบางโครงการจำเป็นจะต้องให้ที่ประชุม ครม. อนุมัติ แต่ก็ยากที่ตรวจสอบได้ว่ามีการอนุมัติไปแล้วหรือไม่ เนื่องจากใช้ "เอกสารลับ"



ROYAL THAI GOVERNMENT


ยกเว้นแต่บางโครงการที่สื่อมวลชนตรวจสอบพบ จนผู้เกี่ยวข้องต้องออกมายอมรับ อย่างโครงการจัดซื้อรถถัง VT-4 จากจีนทั้งสองล็อต หรือโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ S26T จากจีน ล่าสุด

ทั้งนี้ ยังมีอีกสิ่งที่น่าสนใจก็คือ รัฐบาลนี้หันไปซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากจีนและรัสเซียหลายโครงการ ภายหลัง "มหามิตร" เก่าอย่างสหรัฐอเมริกาหรือหลายประเทศในยุโรปต่างลดระดับความสัมพันธ์ ภายหลังการรัฐประหารโดย คสช. เมื่อปี 2557