วันพฤหัสบดี, เมษายน 20, 2560

เปิดโครงสร้างซูเปอร์บอร์ด ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี + ข้อสังเกตุจาก ILAW





เปิดโครงสร้างซูเปอร์บอร์ด ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี


By Phanaschai Kongsirikhan
20 เมษายน 2560 
ที่มา Voice TV

ร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ ได้กำหนดกลไกคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ (ซูเปอร์บอร์ด) มีนายกฯ-ผู้นำเหล่าทัพนั่งโดยตำแหน่ง จะต้องทำหน้าที่ผลักดันยุทธศาสตร์ชาติที่มีระยะเวลาไม่น้อยกว่า 20 ปี ขณะเดียวกันยังให้อำนาจ ส.ส.-ส.ว.ชง คณะกรรมการ ป.ป.ช.ฟันหน่วยงานรัฐไม่ทำตามยุทธศาสตร์ชาติ

ขั้นตอนจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ

รัฐธรรมนูญ มาตรา 65
ให้รัฐพึงจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาล ไม่น้อยกว่า 20 ปี






ยุทธศาสตร์ชาติ ประกอบด้วย

-วิสัยทัศน์พัฒนาประเทศ
-เป้าหมายพัฒนาประเทศระยะยาว
-ยุทธศาสตร์ด้านต่างๆ

คณะกรรมการดำเนินการจัดทำร่างยุทธศาสตร์เสร็จ เสนอคณะรัฐมนตรี แล้วเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับร่างยุทธศาสตร์ชาติ เมื่อสภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ชาติใน 60 วันนับแต่ได้รับร่าง และให้วุฒิสภาเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบภายใน 30 วัน

เมื่อร่างยุทธศาสตร์ชาติได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว ให้นายกฯนำขึ้นทูลเกล้าฯใน 20 วัน เพื่อมีพระบรมราชโองการประกาศใช้เป็นยุทธศาสตร์ชาติ

เมื่อมีพระบรมราชโองการประกาศใช้ยุทธศาสตร์ชาติแล้ว ให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติแต่ละด้านจัดทำแผนแม่บทเพื่อบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ เสนอต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี

ให้คณะกรรมการจัดให้มีการทบทวนยุทธศาสตร์ชาติทุก 5 ปี

โครงสร้าง คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ (ซูเปอร์บอร์ด)


1.นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ
2.ประธานสภาผู้แทนราษฎร รองประธานคนที่ 1
3.ประธานวุฒิสภา รองประธานคนที่ 2
4.รองนายกฯหรือรัฐมนตรีที่นายกฯมอบหมายเป็น รองประธานคนที่ 3
5.ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ประธานกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และประธานสมาคมธนาคารไทย รวม 13 คน เป็นกรรมการ
6.กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่ง ครม.แต่งตั้ง จากผู้มีความรู้ ประสบการณ์ความมั่นคง การเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน เป็นต้น ไม่เกิน 14 คน





คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ
อำนาจหน้าที่

จัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติ เสนอ คณะรัฐมนตรี กำหนดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติ เสนอความเห็นต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการดำเนยินการปฏิรูปประเทศ กำหนดการปฏูิรูปประเทศให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ

แต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ขึ้นคณะหนึ่งหรือหลายคณะ แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิ มีความเชี่ยวชาญในด้านนั้น ไม่เกิน 15 คน

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทำหน้าที่สำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ

บทเฉพาะกาล ให้อำนาจวุฒิสภาแตะเบรกรัฐบาลขัดยุทธศาสตร์ชาติ

ในวาระแรกเริ่ม (บทเฉพาะกาล) ให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านต่างๆจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติเบื้องต้นให้แล้วเสร็จใน 120 วันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง โดยให้ใช้ร่างยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปีที่คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 จัดทำขึ้นมาเป็นหลักจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติเบื้องต้น

ให้คณะกรรมการพิจารณาร่างยุทธศาสตร์ชาติ เสนอต่อคณะรัฐมนตรีใน 30 วัน ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาร่างยุทธศาสตร์ชาติ และเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ทำหน้าที่รัฐสภาใน 30 วันนับแต่ได้รับร่าง และให้ สนช.ให้ความเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ชาติให้แล้วเสร็จใน 30 วัน จากนั้นให้นายกรัฐมนตรีนำร่างยุทธศาสตร์ชาติที่ สนช.เห็นชอบขึ้นทูลเกล้าฯใน10วัน

กรณี สนช.สิ้นสุดลงก่อนที่ ครม.เสนอร่างยุทธศาสตร์ชาติ ให้เสนอร่างยุทธศาสตร์ชาติต่อวุฒิสภาใน30 วันเพื่อให้วุฒิสภาเห็นชอบร่างให้เสร็จใน 30 วัน กรณี สนช.สิ้นสุดลงก่อนให้ความเห็นชอบให้ วุฒิสภาเห็นชอบตามเวลาที่เหลืออยู่





ในบทเฉพาะกาล กำหนดให้ในระหว่างอายุ 5 ปีของวุฒิสภาแต่งตั้งจาก คสช. 250 คน กรณีมีการดำเนินการของหน่วยงานรัฐไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติแจ้งให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและวุฒิสภาทราบ และให้วุฒิสภาซึ่งมีอำนาจติดตามและเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ กรณีวุฒิสภาเห็นว่าการดำเนินการของ ครม.เป็นการปฏิบัติหน้าที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ให้วุฒิสภาเสนอเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย หรือการดำเนินการของครม.ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติส่งเรื่องให้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ดำเนินการโดยเร็ว

ส.ส.-ส.ว.ชง คณะกรรมการ ป.ป.ช.ฟันหน่วยงานรัฐไม่ทำตามยุทธศาสตร์ชาติ

ในการติดตามผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติให้หน่วยงานรัฐรายงานดำเนินการต่อสำนักงานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และให้สำนักงานทำรายงานสรุปผลดำเนินการประจำปีต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะรัฐมนตรี หน่วยงานของรัฐ และรัฐสภาทราบใน 90 วัน

กรณีสภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภาพิจารณารายงานแล้วเห็นว่าหน่วยงานของรัฐไม่ดำเนินการ โดยไม่มีเหตุสมควร ให้สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา มีมติส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาดำเนินการกับหัวหน้าหน่วยงานรัฐนั้น และกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติข้อกล่าวหามีมูลให้ผู่้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหานั้นสั่งให้ผู้นั้นพักราชการหรือพักงาน หรือสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน หรือสั่งให้พ้นตำแหน่ง

ในกรณีความปรากฎต่อคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติว่า การดำเนินการใดของหน่วยงานของรัฐไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติหรือแผนแม่บท ให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ แจ้งให้หน่วยงานของรัฐนั้นทราบ และให้หน่วยงานรัฐนั้นแก้ไขปรับปรุงและแจ้งให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติทราบใน 60 วันนับแต่ได้รับแจ้ง

กรณีหน่วยงานของรัฐไม่ดำเนินการปรับปรุงหรือไม่แจ้งดำเนินการให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติในเวลาที่กำหนด ให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติรายงานให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีทราบและสั่งการ ในกรณีหน่วยงานของรัฐไม่ดำเนินการแก้ไขหรือปรับปรุงในเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าหัวหน้าหน่วยงานของรัฐนั้นจงใจปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจขัดต่อกฎหมาย ให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ แจ้งคณะกรรมการ ป.ป.ช.ทราบเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่

นอกจากนี้ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ (ซูเปอร์บอร์ด) ซึ่งมีผู้นำเหล่าทัพและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติอยู่นั้นยังนั่งในตำแหน่ง ส.ว.แต่งตั้ง 250 คนที่มาจากการสรรหาโดย คสช. โดยอัตโนมัติด้วย





สนช.196 เสียงโหวตรับหลักการ

โดยล่าสุดวันนี้ (20 เม.ย.) ที่ประชุม สนช.มีมติ 195 เสียงรับหลักการร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ งดออกเสียง 3 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 33 คน กรอบเวลาทำงาน 60 วัน นัดประชุมคณะกรรมาธิการนัดแรกในวันที่ 21 เม.ย. เวลา 08.30 น.

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า กฎหมายฉบับนี้พ่วงเป็นพวงเดียวกันกับ ร่างพ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ เป็นพี่น้องกัน กฎหมายยุทธศาสตร์ชาติเปรียบเป็นพี่ ใหญ่กว่า สำคัญกว่าเพราะรัฐธรรมนูญใหม่กำหนดไว้ว่า ครม.ต้องจัดทำกฎหมายนี้เพื่อวางเป้าหมาย เป็นแผนที่เกี่ยวกับความมั่นคง
ooo


ข้อสังเกตุจาก ILAW ต่อ พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ

ที่มา ILAW

ร่าง พ.ร.บ. การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติฯ) นั้นจัดทำขึ้นตาม มาตรา 65 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ที่ได้บัญญัติให้รัฐทำกรอบยุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาลเพื่อใช้เป็นกรอบในการพัฒนาด้านต่างๆ ในการจัดทำกรอบยุทธศาสตร์ชาตินั้น จึงต้องอาศัยกฎหมายนี้กำหนดวิธีการจัดทำ ผู้มีหน้าที่จัดทำ และกรอบเวลา

ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ประกอบด้วย 3 หมวด คือ หมวดยุทธศาสตร์ชาติ หมวดคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และหมวดการติดตาม การตรวจสอบ และการประเมินผล รวมทั้งบทเฉพาะกาล
...

กรอบเวลา 1 ปีเต็ม จัดทำและพิจารณายุทธศาสตร์ชาติ

ตามที่มาตรา 275 ของรัฐธรรมนูญ ระบุไว้ว่า ให้คณะรัฐมนตรีจัดให้มีกฎหมายตามมาตรา 65 วรรคสอง ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ และดําเนินการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่กฎหมายดังกล่าวใช้บังคับ

ในมาตรา 28 ของ ร่างพ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติฯ จึงระบุไว้ว่า เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามกำหนดเวลาที่บัญญัติไว้ในมาตรา 275 ของรัฐธรรมนูญ จึงกำหนดขั้นตอนและกรอบเวลาการทำงานให้

1) ให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงวุฒิให้เสร็จภายใน 30 วัน หลังจาก พ.ร.บ. นี้ประกาศใช้
2) ให้คณะกรรมการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติภายใน 30 วันหลังจากวันที่ได้รับการแต่งตั้ง
3) ให้ถือว่า การรับฟังความเห็นเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 นั้นเป็นการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์ชาติแล้ว แต่อาจจะมีการรับฟังความเห็นเพิ่มเติมได้
4) ให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติใช้ร่างยุทธศาสตร์ 20 ปี เป็นหลักในการจัดทำร่างยุทธศาสตร์เบื้องต้น โดยมีกรอบเวลาทั้งหมด 120 วัน รวมทั้งให้นำข้อเสนอแนะ หรือข้อคิดเห็นจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) มาประกอบการพิจารณา

รวมแล้ว หากร่างพ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติฯ ประกาศใช้เมื่อใด ก็จะใช้เวลาอีกประมาณ 30+30+120 = 180 วัน ก็จะได้เห็นร่างยุทธศาสตร์ชาติเบื้องต้น

เมื่อมีร่างยุทธศาสตร์ชาติเบื้องต้นแล้ว ให้จัดรับฟังความคิดเห็นภายใน 30 วัน และให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติแก้ไขพิ่มเติมให้สอดคล้องกับการรับฟังความคิดเห็นภายใน 45 วัน หลังจากนั้นก็ต้องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน คณะรัฐมนตรีต้องพิจารณาและเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ภายใน 30 วัน สนช. ต้องลงมติเห็นชอบภายใน 30 วัน จากนั้นให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯภายใน 10 วัน

รวมแล้ว มีขั้นตอนการพิจารณา ประมาณ 30+45+30+30+30+10 = 175 วัน

รวมขั้นตอนทั้งการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติ การพิจารณาและประกาศใช้ จะใช้เวลาประมาณ 12 เดือน

แต่ถ้าหาก สนช. สิ้นสุดลงก่อนพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อร่างยุทธศาสตร์ชาติแล้วเสร็จ เนื่องจากมีการเลือกตั้งและมีสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว ร่างพ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติฯ กลับไม่ได้ให้สภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งทำหน้าที่พิจารณาเห็นชอบ แต่กลับให้คณะรัฐมนตรีเสนอร่างต่อให้วุฒิสภา ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของ คสช. พิจารณาแทน

ข้อสังเกต ร่าง พ.ร.บ. ยุทธศาสตร์ชาติ เตรียม "ลักไก่" ไม่เปิดรับฟังความคิดเห็น

ข้อสังเกตประการที่หนึ่ง ร่างพ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติฯ กำหนดให้ วางกรอบระยะเวลาของยุทธศาสตร์ชาตินานถึง 20 ปี เป็นการวางแผนที่ยาวนานเกินไปอาจทำให้ยุทธศาสตร์ชาติไม่สอดคล้องกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

หากเรามองย้อนไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว นับจากวันที่รัฐธรรมนูญ ปี 2540 บังคับใช้ คงยากที่จะคาดการณ์อนาคตได้ว่า เมื่อผ่านไปเพียง 9 ปี พ.ศ. 2549 จะเกิดการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือน และเกิดขึ้นซึ้้าอีกในปี 2557 หรือยากที่จะเตรียมวางแผนการได้ว่า ประชาชนจะแบ่งออกเป็นขั้วการเมืองเสื้อเหลือง เสื้อแดง

จะเห็นว่าในช่วงระยะ 20 ปี อาจมีเหตุการณ์สำคัญๆ เกิดขึ้นหลายอย่างซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านนโยบายการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม จึงเป็นการยากที่จะวางแผนยุทธศาสตร์ได้ล่วงหน้ายาวนานถึง 20 ปี โดยเฉพาะในบริบททางการเมืองของสังคมไทยที่ยังมีความขัดแย้งและไม่แน่นอน การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ถึงแม้ว่าจะมีการทบทวนกรอบกันทุกๆ 5 ปีก็ตาม แต่หากเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่การทบทวนอาจจะไม่เพียงพอ แต่อาจจะต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างสังคมกันเสียใหม่เพื่อรองรับปัญหาที่อาจเกิดขึ้น

ข้อสังเกตประการที่สอง
ยุทธศาสตร์ชาติที่จะจัดทำขึ้นนี้ อย่างไรเสียก็จะอยู่ในมือของ คสช. เอง แม้ว่าขั้นตอนการจัดทำและการพิจารณาเห็นชอบจะมีรายละเอียดซับซ้อน และมีหลายหน่วยงานที่เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่จะเกี่ยวข้องโดยตรง ก็มีหัวหน้า คสช. นั่งเป็นประธาน โดยรัฐบาล คสช. ยังเป็นผู้แต่งตั้งกรรมการทั้งหลาย รวมทั้งส่งผู้นำเหล่าทัพมานั่งเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง

แม้ว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติจะต้องส่งร่างยุทธศาสตร์ชาติให้ คณะรัฐมนตรีพิจารณา แต่จริงๆ แล้ว "หัวโต๊ะ" ของ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะรัฐมนตรีก็เป็นคนเดียวกัน และรองนายกรัฐมนตรีก็ยังเป็นรองประธานกรรมการยุทธศาสตร์ชาติด้วย เมื่อต้องส่งร่างยุทธศาสตร์ชาติให้ สนช. พิจารณา สนช. ก็ล้วนมาจากการแต่งตั้งของ คสช. ทั้งหมด รวมทั้งหาก สนช. หมดหน้าที่ไปแล้ว ร่างกฎหมายนี้ก็ยังให้วุฒิสภาซึ่งมาจากการแต่งตั้งของ คสช. ทำหน้าที่แทน โดยไม่ให้สภาผู้แทนราษฎรเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

ข้อสังเกตประการที่สาม ในบทเฉพาะกาลได้กำหนดให้นำร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อ 30 มิถุนายน 2558 มาเป็นกรอบในการดำเนินงานจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ เท่ากับว่า ร่างยุทธศาสตร์ชาติที่ว่านี้ มีการจัดทำไว้ล่วงหน้าอยู่ก่อนแล้ว โดยที่ประชาชนไม่เคยเห็นมาก่อน ซึ่งจัดทำขึ้นก่อนที่จะมีการร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ และก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เสียด้วยซ้ำ ดังนั้นการร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้จึงไม่ใช่เพียงกฎหมายที่จะนำไปสู่การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ แต่เป็นการร่างขึ้นมาเพื่อรับรองกระบวนการจัดทำยุทธศาสตร์ที่เกิดขึ้นไปแล้วก่อนหน้านี้ ให้สมบูรณ์และมีผลทางกฎหมาย

ข้อสังเกตประการที่สี่ การกำหนดให้กระบวนการรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 8 นั้นเสร็จสิ้นตั้งแต่ 30 มิถุนายน 2558 เท่ากับว่าได้มีการจัดทำกระบวนการรับฟังคิดเห็นก่อนที่ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้จะผ่านสภาและประกาศใช้ การเขียนเช่นนี้เป็นการเปิดช่องให้ "ลักไก่" ไม่ต้องจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นอีก และเป็นวิธีการหลีกเลี่ยงการรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้ว่า กฎหมายทุกฉบับจะต้องมีกระบวนการรับฟังความเห็นก่อนประกาศใช้

ข้อสังเกตประการสุดท้าย ในบทเฉพาะกาลไม่ได้มีบัญญัติไว้ว่า หากร่างยุทธศาสตร์ชาติไม่ได้รับความเห็นชอบโดยวุฒิสภาแล้วจะมีขั้นตอนอย่างไรต่อ และจะใช้เวลาเท่าไร ซึ่งวุฒิสภาที่จะทำหน้าที่ให้ความเห็นชอบก็มาจากการแต่งตั้ง โดย คสช. ทั้งหมดอยู่แล้ว ดังนั้นอนาคตยุทธศาสตร์ชาติจะเดินหน้าได้หรือไม่ ก็ยังอยู่ในมือของ คสช. นั่นเอง

ไฟล์แนบ

draft_country_strategy_bill.PDF

Draft_20_Year_Country_Strategy.pdf


เรื่องที่เกี่ยวข้อง: