ภาพที่ 1 อธิบายการเสียดินแดนของสยาม ตามแนวคิดของประวัติศาสตร์ชาตินิยมไทย (ภาพจาก: วิกิคอมมอนส์)
ประวัติศาสตร์กระแสหลัก ประวัติศาสตร์ที่ตายแล้ว ?
เมษายน 28, 2017
By france tuangchok jalikula
Franceja Wordpress
เราปฏิเสธไม่ได้เลยที่ประวัติศาสตร์เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตของเรา อย่างน้อยที่สุดในก็ในวัยเรียน ประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลักเป็นประวัติศาสตร์ที่ทุกคนคุ้นเคย ทั้งยังเชื่อและให้การยอมรับในวงกว้างอีกด้วย ในช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลักเหล่านี้เคยเป็นเครื่องมือในการสร้างรัฐชาติ การสร้างความชอบธรรม การส่งเสริมบารมีให้ผู้ปกครอง และสถาปนาอำนาจให้ผู้ปกครองใช้ในการปกครองอีกด้วย และในวันนี้ประวัติศาสตร์กระแสหลักของไทยก็ยังคงถูกใช้เป็นข้ออ้างและถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองอยู่
บทบาท เป้าหมาย และที่มาของประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลักในปัจจุบัน
ประวัติศาสตร์กระแสหลักไทยในปัจจุบัน / ประวัติศาสตร์ชาตินิยม บ้างก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง บ้างก็ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อสร้างความนิยมชมชอบ รวมทั้งที่กล่าวไปข้างต้นคือสร้างความชอบธรรม และสนองความต้องการของผู้ปกครอง ประวัติศาตร์แนวนี้มักปรากฎลักษณะ
1. ยกย่องเชิดชูบุคคล ผู้นำชาติ
2. ผูกขาดความชอบธรรมกับรัฐของตน หรือผู้นำรัฐของตน
3. รัฐอื่นด้อยกว่า รัฐ/ประวัติศาสตร์ของตนมีอารยะสูงสุด
4. ไม่มีด้านเสียของบุคคล/รัฐของตนในประวัติศาสตร์ (หรือมีน้อยมาก หรือไม่กล่าวถึงและถูกมองข้าม)
5. อิงกับศาสนาในกำกับของรัฐ
ซึ่งจากลักษณะข้างต้นนั้นนำไปสู่การสร้างวัฒนธรรมและธรรมเนียมประเพณีที่สอดคล้องกับประวัติศาสตร์ จนบางครั้งเกิดเป็นจารีตและประเพณีที่ไม่อาจแตะต้องได้ แม้มีหลักฐานและวิธีการที่โต้แย้ง/หักล้าง ได้ก็ตาม ประวัติศาตร์เหล่านี้แตกต่างกันไปตามสภาวะหรือสภาพของรัฐ ซึ่งสำหรับไทยแล้วนั้นประวัติศาสตร์เหล่านี้มักถูกกล่าวถึงในฐานะประวัติศาสตร์ชาตินิยม ซึ่งต้องการให้ผู้เสพเชื่อและทราบซื้งในประวัติศาสตร์ ส่งผลให้ความเป็นชาตินิยมเป็นที่นิยมมากยิ่งขึ้นด้วยการหนุนนำของประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลักนี้
การมีส่วนร่วมในประวัติศาสตร์กระแสหลักของชนชั้นทางสังคมยังส่งผลให้ลักษณะของประวัติศาสตร์กระแสหลักนี้ทรงพลังในการเชิดชูและยกย่องบุคคลอีกด้วย กล่าวคือ ประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลักนั้นถูกรับรองโดยรัฐ ผู้เชื่อและยึดถือประวัติศาสตร์ประเภทนี้นั้นเชื่อด้วยความสนิทใจในเนื้อประวัติศาสตร์ และทำให้ชนชั้นกลางระดับล่างถึงชนชั้นล่างไม่มีความเชื่อว่าตนจะมีค่าสูงส่งเพียงพอแก่การเขียนประวัติศาสตร์เหล่านั้นได้ (ซึ่งทำให้ชนชั้นดังกล่าวขาดความกระตือรือล้นในการแสวงหาสิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคทางสังคม) ทั้งยังเกื้อหนุนให้ชนชั้นสูงใช้เป็นข้ออ้างในการปกครอง ความเชื่อเหล่านี้ยิ่งหนุนนำวิถีประชา จารีต วัฒนธรรม และความเชื่อของคนในสังคมซึ่งสะท้อนผ่านสื่อสารมวลชนหลายแขนง จนแม้แต่สื่อเหล่านั้นเองก็อาจกลายเป็นสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมในเวลาต่อมาในฐานะของสื่อสะท้อนสังคม ฯลฯ ได้
เมื่อประวัติศาสตร์ถูกทำให้เป็นเรื่องราวที่มีข้อยุติ สิ้นสุด และไม่สามารถโต้แย้งได้แล้ว ประวัติศาสตร์จึงเป็นเรื่องของจารีต ประเพณีไทยอันดีงาม (รวมถึงอาจเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์) ซึ่งไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือโต้แย้งได้ เรียกอีกอย่างได้ว่า “เป็นของตายแล้ว” เมื่อประวัติศาสตร์ไม่สามารถถกเถียงและหาข้อโต้แย้งได้ ประวัติศาสตร์จึงเป็นเหมือนเรื่องราวที่ต้องจำ หรือมีเหตุผลในตัวที่ถูกทำให้ยุติแล้ว (หรืออาจถึงขั้นไม่มีเหตุผลหรือที่ไป-มา)
กระแสของประวัติศาสตร์กระแสหลักของไทยในปัจจุบันอาจแบ่งได้เป็น 2 ระลอกสำคัญคือ
1. ประวัติศาสตร์ชาตินิยมแนวกษัตริย์นิยม
2. ประวัติศาสตร์ชาตินิยมแนวผู้นำ (ผู้นำสามัญชน)
ข้อแตกต่างของของประวัติศาสตร์สองระลอกนั้นแตกต่างกันเพียงแค่เป้าหมายผู้ได้รับ credit หรือผลประโยชน์จากประวัติศาสตร์นั้นเป็นใคร แต่สิ่งที่เหมือนกันของทั้งสองแบบคือ เป็นประวัติศาสตร์แนวชาตินิยมอย่างที่กล่าวไปคือ ไม่มีประวัติศาสตร์สังคม ชนชั้นล่าง/ประชาชนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์
ประวัติศาสตร์อาจถูกใช้เป็นข้ออ้างทางวัฒนธรรมและมารยาทของกลุ่มชนชั้นสูง (มักถูกเสียดสีว่าคือกลุ่ม คนดี¹) เพื่อใช้อธิบายชี้แจงการกระทำของตนว่าชอบธรรมตามประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามที่อยู่บนพื้นฐานของความยิ่งใหญ่ทางประวัติศาสตร์ ลักษณะของประวัติศาสตร์เหล่านี้แม้ถูกสร้างขึ้นมาต่างคราวต่างวาระแต่สำหรับประวัติศาสตร์กระแสหลักของไทยนั้นกลับสามารถเข้ารวมกันอย่างเป็นปี่-ขลุ่ย และไม่มีข้อโต้แย้ง ซึ่งไม่แปลกเลยเพราะประวัติศาสตร์ต่างคราวต่างวาระนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของการห้ามโต้แย้ง ห้ามพูด เมื่อห้ามพูดและห้ามโต้แย้งแล้วประวัติศาสตร์เหล่านั้นก็ตายและไม่เกิดองค์ความู้ใหม่ ๆ เกี่ยวกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์
คำถามคือ ประวัติศาสตร์เหล่านี้จะมีจุดยืนในสังคมปัจจุบันอันใกล้และอนาคตไกลอย่างไร ? (อธิบายเพิ่มข้างล่าง) ในเมื่อยุคแห่งหลักความเสมอภาคของมนุษย์เป็นที่นิยมมาถึงแล้ว ยุคของอาณัติสวรรค์ เทวสิทธิ์ สมมติเทพ ล้าสมัยไปเสียแล้ว
เป้าหมายของการศึกษาประวัติศาสตร์คืออะไร ประวัติศาสตร์กระแสหลักในปัจจุบันตอบโจทย์เหล่านี้ ได้หรือไม่ ?
ภาพที่ 2 สื่อนำเสนอประวัติศาสตร์ชาตินิยม ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ที่ใช้ความรู้สึกของผู้เสพเป็นจุดขาย (ภาพ : จากวีดีโอ ประวัติศาสตร์การเสียดินแดน 14 ครั้งของไทย )
การศึกษาประวัติศาสตร์ถูกบรรจุให้อยู่ในการศึกษาขั้นพื้นฐาน นั่นหมายความว่านักเรียนในระบบ (ซึ่งคือประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ) ทุกคนต้องได้เรียน และการศึกษาประวัติศาสตร์เหล่านี้ถูกตีกรอบและตรวจสอบจากรัฐ ซึ่งเมื่อดูจากลักษณะของโรงเรียนและระบบการศึกษาไทยแล้วนั้น การถกเถียงและโต้แย้งในชั้นเรียนเกิดขึ้นได้น้อยมาก (แม้จะมีแนวโน้มมากขึ้นหรือเปิดกว้างขึ้นก็ตาม²) ประวัติศาสตร์จึงเป็นเรื่องของการยกย่องสรรเสริญ และเทพนิยาย และเป็นเรื่องน่าเบื่อสำหรับใครหลาย ๆ คนในที่สุด
หากพูดถึงลักษณะของคนไทยส่วนใหญ่ที่สนใจในประวัติศาสตร์อยู่บ้างแล้วนั้น ส่วนมากชื่นชอบและเทใจเชื่อในประวัติศาสตร์กระแสหลักและไม่ค่อยพบข้อคิดเห็นหรือข้อโต้แย้งในประวัติศาสตร์เหล่านั้นเลย
เป้าหมายของการศึกษาประวัติศาสตร์เป้าหมายที่สำคัญอย่างหนึ่งคือการศึกษาวิเคราะห์และค้นหาข้อเท็จจริงของอดีต อย่างเป็นระบบและมีเหตุผล (ปัจจุบันความมีเหตุผลมักถูกนิยามด้วยวิทยาศาสตร์; ส่งผลให้วิธีทางประวัติศาสตร์มีลักษณะคล้ายคลึงกับวิธีการทางวิทยาศาสตร์อีกด้วย)
ลักษณะของการศึกษาประวัติศาสตร์ของระบบการศึกษาไทยนั้นย้อนแย้งกับลักษณะที่สำคัญของการศึกษา/วิเคราะห์/เป้าหมายของการศึกษาประวัติศาสตร์อย่างหนึ่งคือ ประวัติศาสตร์กระแสหลักไม่สามารถตอบโจทย์ของการเปลี่ยนแปลงและบริบททางวัฒนธรรม ประเพณีและสิ่งแวดล้อมของตัวละครหรือเหตุการณ์ในอดีตได้ ยกตัวอย่างเช่น เรื่องราวสุดคราสสิก อย่างการเสียดินแดน หรือเรื่องวิกฤติการณ์ ร.ศ. 112 ที่ผู้เสพและชื่นชอบประวัติศาสตร์เหล่านี้มุ่งมองไปในทางเดียวกันคือ “ก่อให้เกิดความคับแค้นใจทางประวัติศาสตร์” ซึ่งลักษณะและสภาพเหล่านี้เองที่ปิดกั้นการศึกษาและปิดกั้นการตอบโจทย์สำคัญอันเป็นเป้าหมายของการศึกษาประวัติศาสตร์ คือผู้เสพไม่สามารถรับรู้หรือตั้งประเด็นสงสัยได้เลยว่า “บริบทประวัติศาสตร์ในมิติเวลานั้นเป็นอย่างไร” (หมายความว่าประวัติศาสตร์นั้นเมื่อเวลาเปลี่ยนบริบททางสังคมที่มองประวัติศาสตร์ย่อมเปลี่ยนแปลง) แต่เมื่อประวัติศาสตร์ “ถูกทำให้ตาย” การโต้เถียงเรื่องบริบทและสิ่งแวดล้อมก็ตายไปด้วย และอาจเรียกได้ว่าความรู้ใหม่ทางประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลักนั้น “ตายตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่ม”
ผลของประวัติศาตร์กระแสหลักในปัจจุบันต่อสังคมเสรีประชาธิปไตย
ความเป็นประชาธิปไตยของไทยนั้นแม้จะดำเนินมาอย่างลุ่ม ๆ ดอน ๆ แต่ความกระหายและโหยหาของเสรีชน ประชาชนคนไทยนั้นก็มิอาจสวนกระแสโลกได้ ค่านิยมของโลกยุคใหม่ โลกแห่งเสรีภาพและความเป็นปัจเจกนำไปสู่ความเชื่อมั่นในตนเองของประชาชน การเป็นผู้สร้างเองแทนที่จะเป็นเพียงผู้รับ ความเชื่อและการไหลบ่าทางวัฒนธรรมตะวันตก ซึ่งเป็นกลุ่มชนชาติริเริ่มวัฒนธรรมแนวคิดเสรีภาพนี้ ประวัติศาสตร์กระแสหลักในปัจจุบันนี้จะยืน ณ จุดใด ? ประวัติศาสตร์กระแสหลักทั้งสองกระแสล้วนแล้วแต่ไม่สามารถตอบโจทย์สังคมยุคใหม่ได้ และในเมื่อมันไม่ทันสมัยถึงเวลาแล้วหรือไม่ ? ที่สังคมควรจะหันมามองประวัติศาสตร์กระแสรองที่ล้วนแล้วแต่จุดประกายความคิด (ทั้งยังสร้างชื่อด้วยจุดขายที่โดดเด่น ; กล่าวคือการขัดกับประวัติศาสตร์กระแสหลัก)
คนยุคใหม่ คนยุคโลกาภิวัฒน์ต้องการอะไร ? คำถามนี้คงยังตอบไม่ได้หากยังไม่ตอบคำถามที่ว่า ประวัติศาสตร์ในโลกเสรีประชาธิปไตยเน้นอะไร ต้องการอะไร ? ; นี่คงเป็นคำถามที่ตามกระแสของโลกยุคปัจจุบัน คำตอบคือประวัติศาสตร์ของโลกยุคใหม่นี้คือ “การศึกษาคุณค่าของข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์” ซึ่งตอบโจทย์การใช้เหตุผลในบริบทการมองโลกของคนในยุคของเรา (ยุคหลังปี 1990s-2000s) ซึ่งหากเราตามกระแสของโลกไม่ทัน ก็ไม่ต่างจากการปิดกั้นตัวเองจากโลกภายนอก (ซึ่งแน่นอนมันคงไม่เลวร้ายขนาดทำให้เราไปเก็บผลไม้ในป่า ล่าสัตว์กิน) ซึ่งส่งผลให้เราไม่สามารถก้าวทันและเป็นผู้มีปากเสียงในโลกยุคใหม่นี้ได้
หากเรายังคงให้ประวัติศาสตร์ไทยที่เป็นที่ยอมรับดำเนินอยู่อย่างนี้ต่อไปท่ามกลางกระแสโลกที่เปลี่ยนไปนี้ คนในสังคมที่มีความคิดก้าวหน้าหรือผู้ที่เชื่อในความจริงที่ว่า “โลกได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว” หรือแม้แต่คนธรรมดาสามัญทั่วไป จะทิ้งห่างตนเองออกจากประวัติศาสตร์ไทย เพราะประวัติศาสตร์ไทยนั้นเป็นได้เพียงคัมภีร์ ลัทธิ หรือศาสนาที่ไม่มีความเชื่อมโยงใด ๆ กับตัวพวกเขาเท่านั้น
ผลด้านลบของประวัติศาสตร์กระแสหลักในปัจจุบันที่เห็นได้ชัดสุดคือ เป็นการริดรอนและบั่นทอนความกล้าวิพากษ์วิจารณ์ประวัติศาสตร์ด้วยเหตุผลทางวิชาการ ซึ่งปรากฎเด่นชัดในกรณี ส. ศิวลักษณ์ หมิ่นพระนเรศวร ³ หรือการนำมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองหรือเครื่องมือกำจัดฝ่ายตรงข้ามซึ่งปรากฎเด่นชัดในกรณี โพสต์หมิ่น ‘เจ้าแม่จามเทวี’ ซึ่งล้วนแล้วแต่เกิดจากความไม่รู้ทางประวัติศาสตร์ การถือว่าประวัติศาสตร์เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และมิอาจจับต้องได้
แล้วทำอย่างไรให้ประวัติศาสตร์ไทยไม่ตาย ไม่น่าเบื่อจากสังคมไทย และตอบโจทย์และสร้างความเข้าใจต่อข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ?
ผู้เขียนเชื่อว่าการเปิดกว้างทางความคิดและเปลี่ยนระบบคิดด้วยความเชื่อที่ว่า “ความรู้เชื่อมโยงกันหมด” จะเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญสำหรับการเรียนรู้ประวัติศาสตร์กระแสหลัก แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในการรักษาประวัติศาสตร์กระแสหลักนี้ไว้ คือการนำประวัติศาสตร์กระแสรองเข้ามาเป็นหัวข้อถกเถียงอย่างเต็มที่ในชั้นเรียน การศึกษาประวัติศาสตร์ควรเป็นไปอย่างมีเหตุผล และอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ซึ่งหากไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว ความเป็นโลกาภิวัฒน์จะพรากประวัติศาสตร์กระแสหลักเหล่านี้ไปจากสังคม และประชาชนผู้ไม่มีส่วนร่วมทางประวัติศาสตร์เท่านั้นเอง
ตวงโชค ชาลีกุล
28 เมษายน 2560
กรุงเทพมหานคร, ประเทศไทย
หมายเหตุ : ประวัติศาสตร์กระแสหลัก ให้หมายถึงประวัติศาสตร์กระแสหลักในปัจจุบัน และบางย่อหน้าอาจรวมถึงประวัติศาสตร์ชาตินิยมด้วย
เชิงอรรถ
¹ ประชาธิปไตยคนดี, คือ อุดมการณ์ทางการเมืองแบบประชาธิปไตยแขนงหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่าหากผู้นำเป็นคนดีประเทศชาติก็จะเจริญรุ่งเรืองและเป็นปกติสุข ผู้ที่มีอุดมการณ์เช่นนี้จึงมักเพรียกหาบุคคลที่ถึงพร้อมด้วยคุณธรรมจริยธรรมอันประเสริฐดีงาม และยอมทำทุกวิถีทางเพื่อให้บุคคลนั้นได้อำนาจปกครองประเทศ ไม่ว่าการกระทำนั้นจะขัดหลักการประชาธิปไตยหรือไม่ก็ตาม ทั้งนี้ การกำหนดว่าใครคือคนดีและอะไรคือความดีงามเป็นเรื่องอัตวิสัยและมักขึ้นอยู่กับบุคคลเพียงไม่กี่คนเท่านั้น
² ทางออกการเรียนการสอนของไทย, “การถกเถียงในชั้นเรียน การโต้แย้งและเอาชนะกันด้วยขอมูล ฟังเสียงและความเห็นจากทุกคน รู้แพ้รู้ชนะด้วยเหตุด้วยผล เป็นหัวใจขอการศึกษารูปแบบใหม่ เป็นกระบวนการสร้างปัญญา ที่จะนำไปสู่การคิดนอกกรอบ สู่ความคิดสร้างสรรค์ และสู่การพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ และอีกประเด็นที่เป็นหัวใจสำคัญของการเรียนรู้แบบใหม่นี้คือ ครูได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กับนักเรียนผ่านการถกเถียงและข้อมูลใหม่ๆ ที่มีจำนวนมหาศาลที่นักเรียนต่างคนต่างไปค้นคว้ามาแลกเปลี่ยนกัน อย่างไรก็ตาม … ” [ชี้ให้เห็นว่ารัฐมีความกระตือรือล้น และรับรู้ปัญหาของระบบการเรียนการสอนในชั้นเรียน ; ผู้เขียน]
³ ดูเพิ่มได้ที่นี่
อ้างอิง
ชัยพงษ์ สำเนียง. ประวัติศาสตร์ — การสร้างประวัติศาสตร์ชาตินิยม ท้องถิ่นนิยม ท้องถิ่นชาตินิยม. สืบค้นเมื่อ 27 เมษายน 2560. จาก: http://www.siamintelligence.com/history-of-nationalism-and-localism-on-thai-identity/
สายชล สัตยานุรักษ์. การสราง “ความเปนไทย” กระแสหลัก และ “ความจริง” ที่ “ความเปนไทย” สราง. สืบค้นเมื่อ 27 เมษายน 2560. จาก: http://www.fringer.org/wp-content/writings/thainess.pdf
ธงชัย วินิจจะกูล . (2544) ประวัติศาสตร์ไทยแบบราชาชาตินิยม จากยุคอาณานิคมอำพรางสู่ราชาชาตินิยม ใหม่หรือลัทธิเสด็จพ่อของกระฎุมพีไทยในปัจจุบัน. ศิลปวัฒนธรรม, 23(1).