ถาม-ตอบ เรื่องกฎหมายควบคุมสื่อ
28 เมษายน 2560
ที่มา สำนักพิมพ์อิศรา
หมายเหตุ:นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์เเห่งชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ถาม-ตอบ เรื่อง กฎหมายควบคุมสื่อ ที่สื่อมวลชนออกมาคัดค้านกันอยู่ในปัจจุบัน
มีคำถามเกี่ยวกับการรณรงค์คัดค้านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ... ที่กำลังมีการผลักดันผ่านสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ในขณะนี้ มากมายหลายประเด็น จึงอยากใช้พื้นที่นี้ ทำความเข้าใจกับเพื่อนพ้องน้องพี่ ทั้งในและนอกวงการสื่อมวลชน ดังต่อไปนี้...
1) กฎหมายนี้ มีเนื้อหาควบคุมสื่ออย่างไร ทำไมต้องออกมาคัดค้าน ?
ตอบ: กฎหมายนี้ ให้มีการจัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ โดยให้มีตัวแทนจากภาครัฐหรือหน่วยราชการเข้าไปเป็นกรรมการด้วย ขณะที่ตัวแทนที่มาจากภาคสื่อมวลชนเดิมก็สุ่มเสี่ยงต่อการครอบงำโดยผู้มีอำนาจทางการเมืองในแต่ละยุคสมัย พูดง่ายๆ คือ สภานี้ สามารถถูกการเมืองแทรกแซงได้โดยง่าย
นอกจากว่าสภานี้ จะถูกแทรกแซงได้โดยง่ายแล้ว ยังจะมีอำนาจในการลงโทษ(ปรับ 5 หมื่น-1.5 แสนบาท)สื่อมวลชนที่ (ถูกกล่าวหาว่า) ละเมิดจริยธรรมวิชาชีพ ซึ่งประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยทั่วโลก เขาใช้วิธีให้สื่อกำกับดูแลกันเองในด้านจริยธรรมและการลงโทษจะใช้วิธีการลงโทษทางสังคมแทนที่จะใช้การลงโทษทางกฎหมาย
ยิ่งกว่านั้น สภานี้ ยังมีอำนาจในการออกและเพิกถอนใบประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนกับคนทำสื่อทั้งหลาย ซึ่งในทางสากลแล้ว การออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ จะใช้กับวิชาชีพที่ต้องผ่านการศึกษาอบรมมาโดยเฉพาะ เช่น แพทย์ พยาบาล วิศวกร ทนายความ เป็นต้น
ในขณะที่วิชาชีพสื่อมวลชน เป็นวิชาชีพที่เปิดกว้างให้ทุกคนสามารถเข้ามาประกอบวิชาชีพนี้ได้ เนื่องจากต้องการคนที่มีความคิดและทักษะความรู้ที่หลากหลาย แต่ก็ต้องทำงานภายใต้กรอบจริยธรรมวิชาชีพที่สภาวิชาชีพที่เป็นอิสระ (ไม่ได้ตั้งขึ้นตามกฎหมาย) เป็นผู้กำหนด การกำหนดให้คนทำสื่อต้องขอใบอนุญาต จึงเป็นแนวคิดที่ผิดหลักการเสรีภาพสื่อโดยสิ้นเชิง
2) ที่ผ่านมา สื่อมวลชน ควบคุมกันเองไม่ได้จริงหรือ?
ตอบ: การควบคุมกันเองของสื่อมวลชน คือ การควบคุมกันเองทางจริยธรรม เนื่องจากมีกฎหมายที่ควบคุมการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนมากมายอยู่แล้ว เช่น กฎหมายหมิ่นประมาท กฎหมายคุ้มครองเด็ก กฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เป็นต้น ดังนั้น การควบคุมกันเองทางจริยธรรมที่เน้นการลงโทษทางสังคม จึงต้องอาศัยองค์ประกอบสำคัญ 3 ส่วนคือ องค์กรสื่อมวลชน องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนและประชาชนผู้บริโภคสื่อ หากทั้ง 3 ส่วนมีความตื่นตัว (เช่น ในประเทศประชาธิปไตยทั้งหลาย) การกำกับดูแลกันเองของสื่อมวลชนก็จะมีประสิทธิภาพ
สำหรับประเทศไทยนั้น องค์ประกอบทั้ง 3 ส่วนนี้ กำลังมีการปรับตัวไปสู่แนวทางที่พัฒนามากขึ้น การแก้ปัญหาด้วยความเชื่อว่า สื่อมวลชนควบคุมกันเองไม่ได้แล้วใช้วิธีออกกฎหมายลักษณะนี้ออกมา จึงเป็นวิธีการที่ล้าหลัง ไม่ทันกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกเป็นอย่างยิ่ง
3) แล้ววิชาชีพสื่อมวลชนจะมีหลักประกันอะไร ที่จะกำกับดูแลกันเองด้านจริยธรรม?
ตอบ: ปัจจุบันองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ไม่ว่าจะเป็นสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ฯลฯ ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการกำกับดูแลด้านจริยธรรมของสมาชิก ได้ทำงานร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดกับนักวิชาการสื่อสารมวลชน (ผู้ตระหนักถึงความสำคัญของเสรีภาพสื่อ) และองค์กรที่ทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในการเพิ่มกลไกการกำกับดูแลกันเองให้มีความเข้มข้นมากขึ้นมาตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปีมาแล้ว แต่อาจไม่ทันใจกับบางท่านที่อยากจะเห็นการกำกับดูแลโดยกฎหมาย แต่ลืมคำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมา โดยเฉพาะผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสารของประชาชน...
ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี
ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ