วันศุกร์, เมษายน 28, 2560

การเมือง ร้อน แต่การปกครอง แช่แข็ง ‘ทางเลือกของทักษิณ-เพื่อไทย’ ปี2560 และสิ่งที่เพื่อไทยต้องระวัง





การเมือง ร้อน แต่การปกครอง แช่แข็ง ‘ทางเลือกของทักษิณ-เพื่อไทย’ ปี2560


โดย มุกดา สุวรรณชาติ
ที่มา มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 - 27 เมษายน 2560
คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
26 เมษายน พ.ศ.2560


บางคนในทีมวิเคราะห์คลุกคลีอยู่กับการต่อสู้ทางการเมืองก่อน 14 ตุลาคม 2516 จนถึงบัดนี้นับเป็นเวลาเกินกว่า 45 ปีแล้ว ได้ให้ความเห็นร่วมกันว่าการต่อสู้ทางการเมืองใน 10 ปีหลังซับซ้อนวุ่นวายและกระจายออกไปยังกลุ่มคนต่างๆ ในสังคมมากที่สุด

มีการดึงเอาสถาบันองค์กรและบุคคลที่มีชื่อเสียงเข้ามาร่วมมากที่สุด

สามารถดึงคนชั้นกลางและชั้นล่างเข้าร่วมมากที่สุด

สร้างความแตกแยกทางความคิดให้กับสังคมไทยมากที่สุด

ผลของการต่อสู้หลายหลายครั้งตลอด 10 ปีทำให้เปิดเผยธาตุแท้ ผลประโยชน์ที่ซ่อนเร้น ความต้องการทางการเมืองของคนและกลุ่มคนออกมาได้มากที่สุดเช่นกัน

10 ปีแห่งความยุ่งยากและวุ่นวายได้สะท้อนว่า

ที่จริงแล้วมีคนจำนวนมากมิได้ต้องการประชาธิปไตยแบบที่เผยแพร่มาจากต่างประเทศทั้งแบบอเมริกาหรือยุโรป

เวลาผ่านไปตั้งนานหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเกินกว่า 80 ปี แต่ความคิดที่ว่าคนไม่เท่าเทียมยังคงดำรงอยู่ในสังคม ระบบที่มองคนชั้นล่างเป็นข้าเป็นไพร่ยังดำรงอยู่จริง





สถานการณ์ร้อน เพราะมีไฟสุม…

1. การปกครองยังคงมีความมุ่งหมายที่จะให้อยู่ในมือของคนกลุ่มหนึ่งที่มีฐานะดี มีการศึกษาที่สูงกว่า การแต่งตั้งเลื่อนชั้นทางสังคมของคนบ้านนอกที่ผ่านสนามการเมืองยังไม่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป

ในโลกนี้แม้คนส่วนใหญ่ต้องการระบอบประชาธิปไตย แต่ก็มีคนบางกลุ่มต้องการใช้สิทธิ์มากกว่า ต้องการความเสมอภาคที่เหนือกว่า ต้องการความยุติธรรมที่ได้เปรียบ

คนกลุ่มนี้จึงต้องโฆษณาว่า พวกเขาดีกว่า เก่งกว่า ซื่อสัตย์กว่า เป็นสายเลือดผู้ดี ที่ไม่มีวันทำชั่ว เหมาะจะเป็นผู้ปกครองตลอดไป นอกจากการโฆษณา ก็ยังจะต้องมีกำลังและกฎหมายมาเสริม

2. แม้ปัจจุบันระบบการศึกษาขยายไปทั่ว คนนอกเมือง ในเมือง รุ่นใหม่ได้เรียนหนังสือ การจบปริญญาตรีเป็นเรื่องทั่วไปของคนยุคปัจจุบัน คนจบปริญญาโทก็มีหลายแสนคนแล้ว แต่การศึกษาตามระบบที่เรียนกันมาไม่ได้สร้างคนให้ฉลาด ต่อสู้เสียสละเพื่อสังคม

คนส่วนใหญ่ยังถูกหลอกได้ง่ายๆ ไม่ว่าจะเรียนแค่ ป.6 ม.3 หรือจบปริญญาเอก

พลังฝ่ายก้าวหน้าพัฒนาตามการเปลี่ยนแปลงของโลก ที่การสื่อสารพัฒนาเร็วมาก แต่พลังฝ่ายล้าหลัง ก็ยังมุ่งที่จะรักษาอำนาจและผลประโยชน์ของตนโดยไม่สนใจผลกระทบต่อส่วนรวม

ผู้มีอำนาจของกลุ่มนี้ตัดสินใจผิดพลาดหลายครั้งซ้อน ยิ่งแก้ยิ่งผิด ความขัดแย้งยิ่งขยาย จากบางคนไปสู่บางกลุ่ม และสุดท้ายขยายไปทั่วประเทศ





3. ตั้งแต่ปี 2549-2560 สรุปว่าคนที่ยึดอำนาจคุมได้เกือบหมด ยกเว้นประชาชน เพราะประชาชนดื้อตาใส นิ่งแต่ดื้อ เพียงรอจังหวะพอมีเลือกตั้งใหม่ก็สนับสนุนพรรคเดิม

แต่ผู้อยู่เบื้องหลังและกลุ่มอำนาจเก่าก็ไม่ยอมแพ้ ทั้งดื้อและด้าน จึงใช้ทุกอำนาจเท่าที่มีอยู่ออกมาชิงอำนาจกลับ ปี 2553 และ 2557 แต่ไม่เข้าใจชีวิตประชาชน และไม่ได้ใจประชาชน

ตัวอย่างชัดเจน กรณีการใช้รถกระบะ…สงกรานต์ปีนี้ไม่มีเรื่องขันสีแดง แต่มีเรื่องรถกระบะ เรื่องนี้เหมือนสงครามชนชั้นกลุ่มคนชั้นล่าง ไม่ว่าคนเสื้อแดง หรือเหลือง รู้สึกได้ว่าคนที่ออกกฎหมายคือคนรวยที่จะซื้อรถใดๆ สักกี่สิบคันก็ได้

แต่พวกเขาทั้งหมู่บ้านสามารถซื้อรถกระบะได้เพียง 1 คันหรือ 2 คันเท่านั้น และจะต้องใช้ร่วมกันต้องพึ่งพาอาศัยกัน


ความปลอดภัย การบาดเจ็บเสียชีวิตพอเข้าใจ แต่คนที่ออกกฎหมายไม่เข้าใจชีวิตพวกเขา ถ้าเขาทำตามกฎหมายที่ออกมา พวกเขาจะเสียชีวิตก่อนที่มีอุบัติเหตุ เพราะจะไม่สามารถขนคนป่วยมาโรงพยาบาลได้ จะทำมาหากินไม่ได้ จะเดินทางไม่ได้





โลกทุกวันนี้พวกเขาไม่สามารถอยู่ในหมู่บ้านปลูกผักกินแบบเก่าได้แล้ว มองอย่างนี้พวกเขายิ่งเข้าใจว่าคนที่ออกกฎหมายไม่ใช่ตัวแทนและไม่มีวันทำอะไรให้พวกเขาได้

กรณีรถกระบะปลุกพวกไทยเฉยไม่ว่าใส่เสื้อสีใดให้ลุกขึ้นมาต่อสู้พิทักษ์สิทธิตนเอง คำว่ากฎหมายไม่อาจมาใช้บังคับพวกเขาได้เพราะพวกเขามองว่ากฎหมายนั้นไม่ถูกต้อง และนี่จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนมองเห็นความหมายของกฎหมายในแง่ของความเป็นจริง

4. เรื่องการปกครอง…ทุกครั้งจะมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยหวังว่าจะได้ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ แต่ไม่มีทางเป็นจริงได้ ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นของประชาชน และไม่ได้ร่างโดยประชาชน ที่ออกมาจึงไม่ใช่เพื่อประชาชน ที่หวังว่าจะได้ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ยังต้องรอไปก่อน

แต่ที่ชาวบ้านอยากได้ด่วน แล้วไปแช่แข็งไว้ คือการเลือกตั้งท้องถิ่น

5. แรงกดดันจากอำนาจตามรัฐธรรมนูญและนอกรัฐธรรมนูญจะทำให้กลุ่มนิยมประชาธิปไตยแตกออก ทั้งการจัดตั้ง และแนวทางการต่อสู้ พวกที่แตกไปจะไปตั้งกลุ่ม ตั้งพรรค หรือไปอยู่พรรคอื่น เป็นเรื่องปกติ เพราะหลายคนก็อยากอยู่ฝ่ายรัฐบาล จะมีคนแยกไปเดินแนวทางการต่อสู้ที่รุนแรง แต่คง ยังมีจำนวนน้อย





พรรคเพื่อไทย

พรรคดั้งเดิมคือพรรคไทยรักไทยเป็นพรรคการเมืองที่เดินแนวทางรัฐสภา จึงไม่ได้ตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น ไม่ได้คิดต่อสู้ด้วยกำลัง นักการเมืองยอมสงบนิ่ง ยอมถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง ยอมให้ยุบพรรค ยอมใช้รัฐธรรมนูญใหม่ ผ่านจนมาถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ในนามเพื่อไทย ก็ยังยืนหลักการเดิม ดังนั้น พวกเขาต้องยอมใช้ รธน. 2560 และก็ต้องเลือกตั้ง

ภายในพรรคเพื่อไทยก็ยังมีคนประเมินกันไว้ว่า แม้เลือกแบบใหม่ ก็จะได้ ส.ส. เกินครึ่ง แต่คนนอกก็บอกนั่นเป็นความเพ้อฝัน

ส่วนฝ่ายตรงข้ามประเมินออกมาแล้วก็พบว่าพรรคเพื่อไทยจะชนะเป็นที่หนึ่ง แต่พวกเขาก็มั่นใจว่าเพื่อไทยได้ไม่ถึงครึ่ง และตามโครงสร้างรัฐธรรมนูญซึ่งต้องพึ่งพาเสียง ส.ว. 250 คน พรรคเพื่อไทยจึงแทบหมดโอกาสที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาล

โรดแม็ปของ คสช. จึงเดินหน้าต่อไปเรื่อย

สภาพภายในพรรคเพื่อไทยคิดว่าไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงอะไรไปมาก การเปลี่ยนหัวหน้าพรรคไม่ว่าจะเป็นใคร ชายหรือหญิงก็เพียงปรับให้เข้ากับสถานการณ์และพร้อมจะเข้าร่วมแสดงทุกรูปแบบในละครเรื่องใหม่ ชื่อว่าประชาธิปไตย 70/30 ส.ส.เก่าที่หวังจะได้เป็น ส.ส. อีกครั้ง เตรียมการหาเสียงไว้แล้ว

สิ่งที่เพื่อไทยต้องระวังคือ ท่าทีต่อการเข้าร่วมแสดงการปรองดอง เพราะเมื่อชาวบ้านก็มองออกว่ามันปรองดองกันไม่ได้ ในเมื่อมีคนขยายความขัดแย้งไปเรื่อยๆ การยอมมากไปก็เสื่อม





ทักษิณและเพื่อไทย น่าจะมีข้อสรุปดังนี้

1. กลุ่มอำนาจเก่า จะเปลี่ยนถ่ายอำนาจตามระบบ 2560 โดยกันเพื่อไทยออกจากวงจรอำนาจ

2. กระบวนการยุติธรรมเปลี่ยนไปแล้ว ไม่สามารถกำหนดมาตรฐานได้ พวกเขาต้องตั้งรับแรงกดดันทางกฎหมาย

3. ฝ่ายตรงข้ามเหนือกว่าทั้งกำลังและกฎหมาย ตาม รธน. 2560

4. ยุทธศาสตร์ของฝ่ายตรงข้ามคือ ลดบทบาททักษิณ จึงไม่ยอมหยุดโจมตี





แต่สิ่งที่ทักษิณและเพื่อไทยจะทำ คือ


1. ต้องมีพรรคการเมืองเพื่อการต่อสู้ในสภา ใช้ ส.ส.พรรคเพื่อไทย

2. การต่อสู้นอกสภา ยังต้องใช้ นปช.คนเสื้อแดงกับพลังมวลชนที่ต้องการความยุติธรรมสู้กับอำนาจนอกระบบ

3. การต่อสู้ทางสื่อ ใช้ทุกรูปแบบของสื่อทุกชนิด

4. ถึงวันนี้ อย่าฝันว่าทักษิณจะกลับมาเป็นเหยื่อง่ายๆ การต่อสู้ในเวทีต่างประเทศ ใช้ตัวของทักษิณ, แนวร่วมคนไทยและคนต่างประเทศ

ภายใต้รัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ คือ 2540…2550…2560..มหาเศรษฐีและอดีตนายกฯ อย่างทักษิณจะต้องมาร่วมชะตากรรมและต่อสู้ร่วมกับนักการเมือง และพวกไพร่เสื้อแดง จำเป็นต้องสู้จนได้ประชาธิปไตย เพราะถ้าทำไม่สำเร็จทุกคนจะต้องรับผลของการพ่ายแพ้ร่วมกัน

แต่ในทุกเส้นทางมีทางแยก เมื่อมาถึงทางแยกก็มีคนที่ตัดสินใจแยกทางกันนั้นจริงๆ แล้วมีแต่ส่วนหัวขบวน มวลชนส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นคนเสื้อแดงหรือ นปช. ก็ยังใช้ชีวิตตามแบบปกติ

หัวขบวนเสื้อแดงที่เป็นฮาร์ดคอร์มีทั้งคนที่ขับรถกระบะธรรมดาและมีแบบที่ขับรถขับเคลื่อน 4 ล้อ ก็สามารถแยกออกจากทางหลวงลาดยาง ลงข้างทางลุยไปตามทางลูกรังและเรียกร้องให้คนเสื้อแดงตามเข้าไป
แต่คนส่วนใหญ่คงจะวิ่งไปตามทางเรียบแบบที่อดีตนายกฯ ทักษิณและพรรคเพื่อไทยซึ่งขับรถเก๋งไป





นปช. หัวกระบวนนั้นไม่ต้องพูดถึง พวกเขาขับรถทางเรียบตามพรรคเพื่อไทยไปอยู่แล้ว ดังนั้น เวลานี้จึงจะมีกลุ่มคนเล็กๆ ที่แยกตัวออกไปคนเสื้อแดงที่นิยมก็จะส่งเสียงเชียร์ส่งกำลังใจ แต่ยังไม่ขับรถตามไปตามทางที่ขรุขระนั้น พวกเขาคิดว่ารอสถานการณ์ไปก่อน แต่ถ้าสถานการณ์ครั้งหน้าเส้นทางที่ราบเรียบเกิดมีปัญหา เช่น สะพานขาด เชื่อว่ารถจำนวนมากก็ต้องเลี้ยวลงข้างทางหาทางลัดทางอ้อมไปตามธรรมชาติ

ย่างก้าวของทักษิณจากนี้ไปจึงมีความหมายทุกก้าว แม้ยังมีเวลาเดินหมากอีกหลายตา มีเวลาทำงานการเมืองถึงอีก 10 ปี ยังมีทรัพย์สินมากมาย ดูเหมือนเขาอยากจะพักตามวัย

เมื่อศัตรูพยายามลากลงสนามการต่อสู้ ตอนนี้ที่ต้องปกป้อง คือศักดิ์ศรีความเป็นคนของตนเอง