วันพุธ, กันยายน 05, 2561

‘พวงทอง’ คอนเฟิร์ม กอ.รมน. เป็น ‘พ่อง’ ของทุกองค์กร



“การดำรงอยู่ของ กอ.รมน. คือการให้อำนาจของทหารเหนือหน่วยงานทั้งหลายแหล่ ซึ่งอันนี้มันผิดหลักของสังคมประชาธิปไตยเต็มที่ ทหารควรจะต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลและนโยบายของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง”

เป็นตอนหนึ่งในคำสัมภาษณ์ของ พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันอยู่ระหว่างทำงานวิจัยที่สถาบันเย้นชิง-มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ผู้ที่มีงานเขียนวิจัยล่าสุดเกี่ยวกับบทบาทของ กอ.รมน. ต่อการเมืองการปกครองไทย ในยุคหลังจากสงครามกองโจรกับพรรคคอมมิวนิสต์

อจ.พวงทองเป็นนักวิชาการที่ให้สัมภาษณ์ในชุดรายงานวิชาการ Thailand Unsettled’ ตอนแรก ที่สำนักพิมพ์ประชาไทและนิวแมนดาล่า (ของสำนักศึกษากิจการเอเซียแปซิฟิค มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย) ร่วมกันนำเสนอ


ต่อคำถามที่ว่าบทบาทของ กอ.รมน. หรือกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ที่เพิ่มอย่างมากมายในสมัยการปกครองของรัฐบาล คสช.ที่มาจากการรัฐประหารปี ๒๕๕๗ อจ.พวงทองชี้ว่า

กฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงถูกนำมาใช้ในการ “เข้าไปควบคุมความคิดทางการเมือง การเคลื่อนไหวของประชาชน...รัฐไทยยังพยายามทำแบบนี้อยู่ ยังพยายามจัดตั้งมวลชน เขาไม่เชื่อการปล่อยประชาชนเป็นพลเมืองอิสระ แต่เขามองว่าประชาชนเป็นพลังสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเจตนารมณ์และอุดมการณ์ทางการเมืองของรัฐ”

และที่ชั่วร้าย (คำของผู้เขียน) “การดำรงอยู่ของ กอ.รมน. ภายใต้กฎหมายความมั่นคงนี้ ทำให้ทหารสามารถสั่งการหน่วยงานราชการต่างๆ ได้” อจ.พวงทอง ตั้งข้อสังเกตุด้วยว่า ข้ออ้างที่ว่านายกรัฐมนตรีที่ (ถ้า) มาจากการเลือกตั้ง ได้เป็นผู้อำนวยการ กอ.รมน.โดยตำแหน่ง

(กฎหมายความมั่นคงดังกล่าว ก็คือ “พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑ ที่ออกในสมัยพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ทำให้ กอ.รมน. ดำรงอยู่เป็นองค์กรถาวรที่มีกฎหมายระดับพระราชบัญญัติรองรับ

และยังทำให้กลไก กอ.รมน. หรือกลไกของกองทัพยังมีอำนาจเข้าไปใช้ประโยชน์จากหน่วยราชการทั้งหมดได้” https://prachatai.com/journal/2018/09/78567)

“มันเป็นภาพลวงตา...ถ้าไปดูตำแหน่งสำคัญทั้งหลายแหล่ใน กอ.รมน. ไล่ลงมาตั้งแต่รองผู้อำนวยการฯ เสนาธิการ และคนที่นั่งอยุ่ตามหน่วยงานหลักๆ เช่น กิจการมวลชน หน่วยข่าวกรอง หน่วยอะไรทั้งหลายแหล่เป้นทหารทั้งนั้น

คนเหล่านี้ซึ่งจะทำหน้าที่ประเมินภัยคุกคาม จัดยุทธศาสตร์ มันคิดแบบทหาร เสนอดดยทหาร แล้วก็ทำแบบทหาร”

อจ.พวงทองยังให้คำตอบต่อข้อสงสัยที่ว่า คณะรัฐประหารชุดนี้อยู่ยาวกว่าครั้งก่อนๆ (ทั้งจากปี ๓๔ และ ๔๙) ว่า “เป็นดอกผลจากความอ่อนแอของภาคประชาชน และการแตกแยกเป็นสองขั้วอย่างชัดเจน ทำให้ประชาชนในแต่ละฝ่ายสามารถถูกระดมขึ้นมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองของอีกฝ่ายได้ง่าย”

ภาคประชาชนที่อ้างนั้นหมายถึงพวกเอ็นจีโอ นักสิทธิมนุษยชน และโดยเฉพาะสื่อมวลชน “ซึ่งไม่ว่า คสช. จะทำอะไรที่เป็นปัญหา ก็จะยังเห็นสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งให้การสนับสนุนและปกป้องตลอดเวลา...

คุณจะเห็นคนอย่างหมอประเวศ วะสี ยังไปร่วมโครงการประชารัฐ ไทยนิยม นี่คือภาคประชาสังคมที่ใหญ่มากๆ ก็ยังให้การสนับสนุนและเป็นส่วนสำคัญที่สร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลทหารอยู่”

ต่อประเด็น ความน่าจะเป็นหลังจาก (ถ้ามี) การเลือกตั้งเกิดขึ้นแล้ว พวงทองเชื่อว่า “พรรคของทักษิณ ชินวัตรก็ยังกลับมาได้อีก อันเป็นผลจากนโยบายของรัฐบาลทักษิณในอดีตที่ผูกใจคนได้นาน” แต่กระนั้น “เสียงของเพื่อไทยคงลดลง แต่คงไม่ถึงขนาดว่าจะทำให้เพื่อไทยพ่ายแพ้เป็นพรรคเสียงส่วนน้อย”

อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งเป็นศิษย์เก่าของรัฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ว่าชาวบ้านผู้ออกเสียงจะเลือกลงคะแนนโดยดูจากนโยบายหลักของพรรคการเมืองเป็นปัจจัย มากกว่านโยบายย่อยๆ เล็กๆ น้อยๆ “ที่ คสช. ร่วมมือกับพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นมาเพื่อซื้อใจชาวบ้านด้วยโครงการทางเศรษฐกิจ

มันคือการอัดฉีดเงินเข้าสู่ท้องถิ่นด้วยเงินของรัฐบาล...ดิฉันคิดว่ามันไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่ เมื่อไปถามชาวบ้านที่มีประสบการณ์จากโครงการประชารัฐ คูปองรายเดือน ๓๐๐ บาท ชาวบ้านที่ดิฉันไปเจอบ่นทุกคนว่าคนที่ได้ประโยชน์คือบริษัทใหญ่

...๓๐๐ บาท ยังผูกใจคนไม่ได้”