วันอังคาร, กันยายน 04, 2561

ชาวเวเนซุเอลานับล้านกำลังหลั่งไหลออกนอกประเทศเพื่อหนีวิกฤติเศรษฐกิจที่รุนแรง บทเรียนที่ควรเรียนรู้...




https://www.facebook.com/BBCThai/videos/336957007045971/

ooo


เวเนซูเอล่าพินาศเพราะนโยบาย “สังคมนิยม” และประชานิยมนั้น เป็นจริงบางส่วน แต่มีสาเหตุรากลึกกว่านั้น

เวเนซูเอล่าแบ่งเป็นชนชั้นนำผิวขาวที่ร่ำรวยเหยียดเชื้อชาติ กับคนจนส่วนใหญ่ที่เป็นคนพื้นเมืองและลูกผสม ประเทศมีน้ำมันดิบสำรองมากที่สุดในโลก การส่งออก 95% เป็นน้ำมัน แต่ผลปย.ทั้งหมดตกอยู่กับชนชั้นนำที่สมคบกับเผด็จการทหารและบริษัทน้ำมันของอเมริกา

ช่วงปี 1960-80s เวเนซูเอล่าได้ประชาธิปไตย มีรัฐบาลเลือกตั้ง ถึงยุค 1970s น้ำมันราคาสูง รัฐบาลโอนกิจการน้ำมันต่างชาติเป็นของรัฐ ประเทศท่วมไปด้วยดอลลาร์น้ำมัน รบ.ใช้จ่ายเต็มที่ทั้งโครงสร้างพื้นฐานและสวัสดิการคนจนขนาดใหญ่ แต่รายได้น้ำมันยังไม่พอ ต้องกู้ยืมตปท. ถึงต้นยุค 1990s ราคาน้ำมันตกต่ำ ปท.ไม่มีเงินชำระหนี้ ต้องเข้าโครงการไอเอ็มเอฟ รบ.ตัดสวัสดิการคนจน นำไปสู่จลาจลครั้งใหญ่

พันโทฮูโก ชาเวซ ก่อรปห.ล้มเหลว เข้าคุกไปสองปี พอออกมาก็ตั้งพรรคสังคมนิยม เลือกตั้งชนะเป็นประธานาธิบดี เริ่มต้น “การปฏิวัติสังคมนิยมโบลิวาร์” ในต้นยุค 2000s น้ำมันราคาพุ่งสูง ปท.ท่วมท้นด้วยดอลลาร์น้ำมันอีกครั้ง ชาเวซเข้ายึดรัฐวิสาหกิจน้ำมัน เอาเงินกำไรมาทำสวัสดิการคนจนครั้งมโหฬาร โรงเรียน ทุนศึกษา พยาบาล บ้านสงเคราะห์ ลดค่าเช่า ราคาสินค้า น้ำมัน น้ำและไฟฟ้า ฯลฯ ซื้อกิจการเอกชนขนาดใหญ่เป็นของรัฐ ฝ่ายซ้ายสังคมนิยมทั่วโลก รวมถึงเอ็นจีโอและซ้ายไทยพากันชื่นชมฮูโก ชาเวซเป็นนักปฏิวัติผู้ยิ่งใหญ่เทียบเท่าเช กูวาร่า และคาสโตร จนชาเวซเสียชีวิตปี 2013

แต่ดอลลาร์น้ำมันยังไม่พอใช้ ต้องกู้ยืมตปท.มาใช้จ่ายเพิ่ม การขยายระบบราชการทำให้คอรัปชั่นแผ่ไปทั่ว ธุรกิจเอกชนพากันปิดตัว เงินทุนไหลออกนอกประเทศ ชนชั้นนำที่ร่ำรวยและคนชั้นกลางมันสมองวิชาชีพอพยพหนีไปยุโรป-อเมริกานับแสนคน หนี้ตปท.พุ่งจาก 38% เป็น 53% ของจีดีพี ถึงต้น 2010s ราคาน้ำมันตกต่ำ เวเนซูเอล่าขาดแคลนเงินดอลลาร์และกู้เพิ่มไม่ได้ (เพราะถูกสหรัฐฯคว่ำบาตร) สินค้านำเข้าหยุดชะงัก ขาดแคลนสิ่งอุปโภคทุกประเภท อาหาร เสื้อผ้า ยารักษาโรค รัฐบาลคุมราคาสินค้าและใช้ระบบแลกเปลี่ยนหลายอัตราจนเกิดตลาดมืดแพร่ระบาด ผู้คนเข้าคิวหลายชั่วโมงแย่งสิ่งของ อาชญากรรมปล้นชิง

รัฐบาลต้องอุ้มรัฐวิสาหกิจที่ขาดทุนมหาศาล และไม่ยอมตัดลดสวัสดิการคนจนเพราะเป็นฐานการเมืองหลัก รัฐบาลเร่งพิมพ์ธนบัตรออกมาใช้จ่ายแทน จนเกิด “เงินเฟ้อหลุดโลก” ปีล่าสุดเงินเฟ้อสูงถึงล้านเปอร์เซ็นต์ เงินโบลิวาร์กลายเป็นเศษกระดาษ (กระดาษทิชชูหนึ่งม้วนราคา 2.6 ล้านโบลิวาร์) แม้รัฐบาล “ปฏิรูปเงินตรา” หลายรอบด้วยธนบัตรรุ่นใหม่ แต่ไม่สำเร็จเพราะยังพิมพ์ธนบัตรเพิ่มไม่หยุด

การเมืองกลายเป็นเผด็จการ แนวร่วมฝ่ายค้านชนะเลือกตั้งปี 2015 ได้เสียง 2/3 ของสภานิติบัญญัติ ประธานาธิบดีมาดูโรก็ใช้ศาลสูงสั่งยุบสภา แล้วจัดเลือกตั้ง “สภารัฐธรรมนูญ” ใหม่ที่มีแต่พรรคของตัวเอง จับกุมคุกคามนักการเมืองฝ่ายค้านจนต้องลี้ภัยไปตปท. ใช้กำลังทหารปราบผู้ประท้วงเสียชีวิตหลายร้อยคน และห้ามพรรคฝ่ายค้านใหญ่ลงเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2018 แต่ไม่ว่าศก.จะวิกฤตและชีวิตจะลำบากเพียงใด คนจนจำนวนมากก็ยังสนับสนุนมาดูโรอย่างเหนียวแน่นเพราะกลัวจะสูญเสียสิ่งที่ได้มา

เวเนซูเอล่าเป็นตัวอย่างของรัฐล้มเหลว บทเรียนสำคัญ เช่น เอาศก.ไปฝากไว้กับน้ำมันตัวเดียว สังคมที่แตกขั้วเป็นสองฝ่ายต่อสู้แย่งชิงเงินจากน้ำมัน ระหว่างชนชั้นนำผิวขาวที่ไม่แบ่งปันให้ใคร กับคนจนส่วนข้างมากที่ถูกกดขี่สาหัสมาหลายร้อยปีและไม่เคยได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอัน จนมีฮีโร่ที่ชื่อ ฮูโก ชาเวซ ลงมาโปรด

และบทเรียนที่พวกซ้าย “สังคมนิยม” ทั้งไทยและเทศไม่ยอมเรียนรู้สักครั้งคือ การระงับกลไกตลาด ยึดทรัพย์และจำกัดกิจการของเอกชนนั้นต้องขยายตลาดมืดและระบบราชการที่โกงกินไปพร้อมกัน การโอนทรัพย์จากคนรวยมาแจกให้คนจนโดยไม่มีการขยายตัวเศรษฐกิจไปด้วยนั้นก็คือ การที่ “ชาวนาฆ่าห่านเพื่อเอาไข่ทองคำ” สังคมนิยมแบบนี้ไม่ใช่ "กระจายรายได้" แต่เป็นการ "กระจายความจน" อย่างทั่วถึง!


พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์