วันอังคาร, กันยายน 04, 2561

เมียนมาถูกประณามและจับตาเรื่องการจำกัดเสรีภาพสื่ออีกครั้งหลังศาลสั่งจำคุกนักข่าวรอยเตอร์สองคนนาน 7 ปี อ่านบางส่วนของรายงานที่นำไปสู่การลงโทษคนทั้งสอง





สองนักข่าวรอยเตอร์ : เรื่องราวสังหารที่หมู่บ้านอิน ดิน



REUTERS
คำบรรยายภาพวา โล และจอ โซ อู (เสื้อขาว)


3 กันยายน 2018
บีบีซีไทย


ข่าวการลงโทษจำคุก วา โล และจอ โซ อู นักข่าวสองคนของสำนักข่าวรอยเตอร์ เป็นเวลา 7 ปี ฐานละเมิดกฎหมายว่าด้วย ความลับของทางราชการ เรียกเสียงประณามจากนานาชาติ และสะท้อนกิตติศัพท์ของเมียนมาเองในเรื่องของการจำกัดเสรีภาพสื่อ

บีบีซีไทยถอดความบางส่วนของรายงานข่าวที่รอยเตอร์รวบรวมและเป็นเหตุให้นักข่าวสองคนถูกจับเมื่อวันที่ 12 ธันวาคมปีที่แล้ว ฐานได้มาซึ่งเอกสารอันเป็นความลับเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ และถูกลงโทษในที่สุด รอยเตอร์จัดทำรายงานโดยการสัมภาษณ์ผู้ที่มีส่วนรู้เห็นการสังหารหมู่ชายชาวโรฮิงญา 10 คน ที่หมู่บ้านอิน ดิน ซึ่งประกอบไปด้วยชาวบ้านหลายชาติพันธุ์ เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2017



ชายชาวพุทธสองคนที่ลงมือขุดหลุมฝังศพชายทั้งสิบที่ถูกจับกุมตัวมาตั้งแต่เย็นวันที่ 1 กันยายน เป็นคนบอกกับรอยเตอร์ว่าชายทั้งหมดถูกมัดมือไพล่หลังไว้ด้วยกัน ขณะคุกเข่ามองดูหลุมศพที่เขากำลังขุด และเช้าวันรุ่งขึ้น ชายสองคนถูกชาวพุทธในหมู่บ้านฟันตาย ส่วนที่เหลืออีกแปดคนถูกทหารยิงตาย


REUTERS


นอกจากนี้รอยเตอร์ยังได้รับภาพถ่ายสามใบจากชาวพุทธในหมู่บ้าน ที่แสดงให้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ห้วงเวลาที่ชายชาวโรฮิงญาถูกทหารจับกุมไป จนถึงนาทีที่ถูกสังหารในเวลา 10.00 น.

รอยเตอร์ยังได้รวบรวมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลายวันก่อนหน้านั้น บวกกับคำให้สัมภาษณ์เป็นครั้งแรกของชาวพุทธในหมู่บ้านที่ยอมรับว่า ลงมือเผาบ้านเรือนของชาวโรฮิงญา นำศพไปฝัง และฆ่าคนมุสลิม

เมื่อวันที่ 10 มกราคมปีนี้ กองทัพเมียนมาออกแถลงการณ์ยืนยันเนื้อหาบางส่วนของรายงานที่รอยเตอร์เตรียมจะเผยแพร่เกี่ยวกับการสังหารหมู่ ชายทั้งสิบคนที่หมู่บ้านอิน ดิน แต่แถลงการณ์ของกองทัพมีเนื้อหาไม่ตรงกับสิ่งชาวพุทธในรัฐยะไข่และชาวมุสลิมโรฮิงญาบอกกับรอยเตอร์


REUTERS
คำบรรยายภาพภรรยาของ จอ โซ อู หนึ่งในสองนักข่าวรอยเตอร์ร่ำไห้หลังทราบคำตัดสินของศาลที่ให้ลงโทษจำคุกนักข่าวคนละ 7 ปี

กองทัพเมียนมาบอกว่าชายทั้งสิบเป็นสมาชิกของ "ผู้ก่อการร้าย 200 คน" ที่โจมตีหน่วยความมั่นคง แต่ชาวพุทธที่ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์บอกว่าไม่เคยมีเหตุการณ์โจมตีร้ายแรงต่อหน่วยความมั่นคงในหมู่บ้านอิน ดิน ส่วนพยานชาวโรฮิงญาที่คุยกับรอยเตอร์บอกว่าทหารเลือกชายทั้งสิบออกมาจากกลุ่มชาวโรฮิงญาที่พยายามหาที่หลบภัยบนชายหาดที่อยู่ไม่ไกล เนื่องจากกองทัพเมียนมาส่งทหารเข้าไปยังหมู่บ้านอิน ดิน หลังเกิดเหตุการณ์โจมตีป้อมตำรวจหลายแห่งทางตอนเหนือของรัฐยะไข่

รอยเตอร์ยังสัมภาษณ์ชาวพุทธอีกหลายคนในรัฐยะไข่ ทหาร กำลังกึ่งตำรวจ ชาวโรฮิงยา และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นอีกคนหนึ่ง และได้ข้อมูลดังนี้ :

ชาวพุทธในหมู่บ้านบอกว่าทหารและกำลังกึ่งตำรวจเป็นผู้จัดแจงให้ชาวพุทธจากหมู่บ้าน อิน ดิน และจากอีกสองหมู่บ้าน ลงมือเผาบ้านเรือนของชาวโรฮิงญา




สมาชิกกองกำลังกึ่งตำรวจสามคนกับตำรวจอีกสามนายประจำหน่วยข่าวกรองในเมืองสิตตะเว บอกกับรอยเตอร์ว่า คำสั่งให้ "กวาดล้าง" ชุมชนชาวโรฮิงญาในหมู่บ้านอิน ดิน นั้นถูกส่งผ่านมาตามสายบังคับบัญชาของกองทัพ

เจ้าหน้าที่ชาวพุทธในหมู่บ้านอิน ดิน และกองกำลังกึ่งตำรวจคนหนึ่งบอกว่า สมาชิกกองกำลังกึ่งตำรวจบางคนปล้นทรัพย์สินของชาวโรฮิงญา รวมทั้งวัว และจักรยานยนต์เพื่อนำไปขาย

รอยเตอร์นำเรื่องราวและหลักฐานที่รวบรวมได้ไปสอบถามนายซอ เท โฆษกรัฐบาลเมียนมา ได้รับคำตอบว่า "เราไม่ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้น และเราไม่ได้ปฏิเสธเรื่องนี้โดยสิ้นเชิง" หากว่า "มีหลักฐานที่ชัดเจนและเชื่อถือได้" ว่ามีการละเมิดเกิดขึ้น รัฐบาลจะลงมือสืบสวน

โฆษกรัฐบาลเมียนมารับปากในขณะนั้นว่าหากพบว่ามีการกระทำผิดจริงจะต้องมีการลงโทษตามกฎหมาย ส่วนเรื่องคำสั่ง "กวาดล้าง" ชาวโรฮิงญานั้น จะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน ส่วนเรื่องการปล้นทรัพย์สินชาวโรฮิงญา ตำรวจจะเป็นผู้สืบสวน