วันพุธ, เมษายน 19, 2560

หมุดแห่งความขายหน้า





หมุดแห่งความขายหน้า

Tue, 2017-04-18 14:00

ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี
ที่มา ประชาไท

หากการเปลี่ยนหมุดใหม่ เป็นกระบวนการสร้างสัญญะประเภทหนึ่ง เพื่อรื้อถอนความทรงจำทางการเมืองที่ดำรงอยู่ และประกอบสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ขึ้นมาแทนที่

ก็ต้องนับว่าเป็นความพยายามที่ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

เราทราบกันดีว่า การที่สัญญะจะทำหน้าที่ในการสื่อความหมาย จำเป็นต้องอาศัยการทำงานร่วมกันระหว่างรูปสัญญะ และความหมายสัญญะ หมุดในฐานะสัญญะทางประวัติศาสตร์ชนิดหนึ่ง จะทำหน้าที่ในการสร้างความทรงจำชนิดใหม่ขึ้นมาได้ จำเป็นต้องอาศัยไม่เพียงรูปสัญญะ และความหมายสัญญะ เท่านั้น หากแต่ยังต้องอาศัยการแสดง/การแสดงออก (performance) เพื่อทำหน้าที่ในการสร้างปฏิสัมพันธ์ทางอารมณ์ความรู้สึกร่วมระหว่างบุคคล สถานที่ และสังคม อีกด้วย

เพราะหากประวัติศาสตร์คือ บทบรรยายที่ถูกใช้เพื่อเชื่อมร้อยปัจเจกบุคคลให้เข้าด้วยกัน และผนวกรวมบุคคลให้เข้ากับอดีตร่วมแล้ว ประวัติศาสตร์ทางการ ย่อมไม่อาจประกอบสร้างขึ้นจากความกำกวมหรือถูกปล่อยให้มีความคลุมเครือ การแสดง การเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางกายภาพให้กลายเป็นพื้นที่ทางสังคม ผ่านวัตถุและการสร้างสัญญะ (signage) จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างประวัติศาสตร์แห่งความทรงจำของสังคม และดังนั้น หมุดทางประวัติศาสตร์ จึงมีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษว่า commemorative plague

ในความทรงจำของประชาชน หมุดคณะราษฎร จึงไม่ได้เป็นเพียงวัตถุชิ้นหนึ่ง หากแต่เป็นวัตถุที่ถูกสร้างขึ้นในภูมิทัศน์ทางการเเมืองเฉพาะ ในช่วงเวลาเฉพาะ ที่บรรจุไปด้วยความทรงจำของประชาชนต่อศักราชใหม่ที่อุบัติขึ้น คำประกาศ พื้นที่ วัตถุ และอารมณ์ความรู้สึกของประชาชน จึงมีความสำคัญต่อการถักทอความหมายและความทรงจำที่มีต่อ “หมุดแห่งการก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ”

หมุดไร้ชื่อที่ปรากฏตัวขึ้นในวันเวลาที่ไม่ปรากฏของต้นเดือนเมษายน จึงเป็นได้เพียงแค่สัญญะอันกลวงและว่างเปล่า ปราศจากการเชื่อมโยงใดๆกับเวลาของสังคม ไม่ว่ากับทั้งประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา หรือชีวิตทางการเมืองของผู้คนในปัจจุบัน หรือกระทั่งกับพื้นที่ทางการเมืองของสังคม เป็นได้อย่างมาก เพียงการพยายามเข้ามาลักเล็กขโมยน้อยทางประวัติศาสตร์ ที่ทิ้งเอาไว้ก็แต่เพียงความสับสน อลหม่าน ต่อผู้คนในทุกกลุ่ม

ความไร้ชื่อและที่มาที่ไป ยังได้เปิดพื้นที่อย่างเสรีให้กับการตีความ และสร้างความหมายให้กับวัตถุแปลกปลอมชิ้นนี้ตามชอบใจของประชาชน ภาวะ “ไร้เจ้าภาพ” ของหมุดแปลกปลอม ได้ทำให้วัตถุชิ้นนี้ ขาดไร้ชึ่งอำนาจ (authority) สถานะ หรือความชอบธรรมใดๆ ที่จะปกป้องตนเองอีกด้วย

ชื่อ “หมุดหน้าใส” จึงได้กลายเป็นรูปสัญญะอันน่าขัน ที่ประชาชนพากันขนานนามและเผยแพร่ทั่วไปอยู่ในสาธารณะชนขณะนี้ และอย่างที่ไม่มีใครมีอำนาจจะควบคุมได้

ในท่ามกลางความคลุมเครือของสิ่งที่เกิดขึ้น วัตถุชิ้นนี้ กลับได้สร้างความทรงจำชนิดใหม่ต้อนรับรัฐธรรมนูญใหม่ของไทย อย่างคาดไม่ถึง นั่นก็คือ ความขายหน้าแห่งชาติ (national embarrassment) นั่นเอง

ooo



ภาพจากอินเตอร์เน็ต