ปี 1963 มาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ ได้ยืนอ่านสุนทรพจน์ "I have a dream" ณ จุดนี้ ถ้าใช้มาตรฐานกรมศิลปากร จุดนี้ไม่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ pic.twitter.com/DySDac0sLS— Arthit Suriyawongkul (@bact) April 18, 2017
ooo
เพจกรมศิลปากรฯ ชี้ 'หมุดคณะราษฎร' เพียงเครื่องหมายระบุตำแหน่ง ศรีวราห์ระบุเอาผิดลักทรัพย์ไม่ได้
Wed, 2017-04-19 01:17
ที่มา ประชาไท
กรมศิลปากร ชี้เป็นเพียงเครื่องหมายระบุตำแหน่ง รอง ผบ.ตร.ชี้ไม่มีเจ้าของ ไม่ใช่โบราณวัตถุหรือของแผ่นดิน เอาผิดลักทรัพย์ไม่ได้ ผู้ว่าฯกทม.ปัดเกิดไม่ทัน2475 - ผอ.เขตยินดีเปิดกล้องหากมีคนขอ ตร.สั่งห้ามถ่ายภาพ 'หมุดหน้าใส' ใครฝ่าฝืนต้องลบภาพทิ้งทันที
หมุดคณะราษฎร หรือ 'หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ' ที่หายไป
19 เม.ย. 2560 จากกรณีหมุดคณะราษฎร หรือ 'หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ' ที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ที่ระบุถึงเหตุการณ์สำคัญและหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิ.ย.2475 หายไป แต่ถูกแทนด้วยหมุดใหม่ที่มีข้อความและความหมายใหม่แทนในจุดเดิม ซึ่งขณะนี้ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ปฏิบัติการดังกล่าวนั้น
กรมศิลปากร ชี้เป็นเพียงเครื่องหมายระบุตำแหน่ง
ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 เม.ย. 60 เวลา 20.46 น. เฟซบุ๊ก 'กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร' โพสต์ข้อความว่า ประเด็น “หมุดคณะราษฎร์” เป็นโบราณวัตถุ ตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 หรือไม่?
กรมศิลปากรได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ตามพ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535ได้บัญญัติให้ “โบราณวัตถุ” หมายความถึง สังหาริมทรัพย์ที่เป็นของโบราณ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งประดิษฐ์หรือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรือที่เป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของโบราณสถาน ซากมนุษย์หรือซากสัตว์ ซึ่งโดยอายุหรือโดยลักษณะแห่งการประดิษฐ์หรือโดยหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของสังหาริมทรัพย์นั้น เป็นประโยชน์ในทางศิลป ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี ซึ่งจากนิยามดังกล่าวกรมศิลปากรจึงเห็นว่า หมุดคณะราษฎร์มิใช่โบราณวัตถุตามนัยของ พ.ร.บ.โบราณสถานฯ เนื่องจากหมุดคณะราษฎร์เป็นวัตถุที่พลเอกพระยาพหลพลหยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร์ ได้นำมาติดตั้งไว้ในบริเวณลานพระราชวังดุสิตเมื่อปี พ.ศ. 2479 ซึ่งเป็นเวลา 4 ปี ภายหลังจากเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง ดังนั้นหมุดคณะราษฎร์จึงมิใช่สังหาริมทรัพย์ที่เป็นประโยชน์ในทางประวัติศาสตร์ เพราะหมุดดังกล่าวมีลักษณะเป็นเพียงเครื่องหมายระบุตำแหน่งที่เคยมีการประกาศแถลงการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองเท่านั้น
\
รอง ผบ.ตร.ชี้ไม่มีเจ้าของ ไม่ใช่โบราณวัตถุหรือของแผ่นดิน เอาผิดลักทรัพย์ไม่ได้
มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ด้านความมั่นคง กล่าวถึงกรณีมีความเคลื่อนไหวให้ดำเนินคดีลักทรัพย์กับผู้ที่ถอดเปลี่ยนหมุดคณะราษฎร ว่า กรณีนี้จะถือเป็นคดีลักทรัพย์ก็ต่อเมื่อมีผู้เสียหายเป็นเจ้าของทรัพย์ ไม่ว่ากรณีอ้างเป็นทายาท หรือเป็นเจ้าของก็ต้องมีหลักฐานกรรมสิทธิ์ในทรัพย์นั้น เช่นอ้างว่าเป็นเจ้าของ เป็นทายาทของใคร ถ้าได้รับตกทอดมาก็ต้องมีหลักฐานว่าได้รับทรัพย์สินนั้นเป็นมรดก หากไม่มีหลักฐานว่าเป็นทรัพย์มรดกก็อ้างเป็นมรดกหรือเป็นเจ้าของทรัพย์ไม่ได้ กรณีหมุดนี้ไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของ สอบถามไปยังหน่วยงานราชการ ทั้งสำนักงานเขตดุสิตและกรมศิลปากร ได้รับการยืนยันว่าไม่มีหน่วยงานใดเป็นเจ้าของ จึงไม่ใช่ของแผ่นดิน ไม่ใช่โบราณวัตถุหรือดูแลครอบครอง เมื่อเป็นดังนั้นยังไม่ชัดว่าทรัพย์นี้เป็นของใครเลย จะดำเนินคดีลักทรัพย์ได้อย่างไร ทรัพย์เป็นของใครยังไม่รู้เลย ยังไม่มีเจ้าของมาบอกเลยว่าทรัพย์ของตนเองหายไป จะทำคดีได้อย่างไร ความผิดเกิดหรือยังก็ไม่รู้
“ตอนนี้คดียังไม่เกิด ถ้าคดีเกิดแล้วจึงจะมีอำนาจสืบสวนสอบสวนต่อ เจ้าหน้าที่จะเอาอำนาจอะไรไปทำ ความผิดยังไม่เกิด จะออกหมายเรียก หรือหมายจับใครได้อย่างไร ตอนนี้ยืนยันว่ายังไม่มีผู้ใด หรือหน่วยงานใดเป็นเจ้าของทรัพย์นี้ จึงยังไม่สามารถดำเนินคดีได้ ต้องว่ากันไปตามกบิลบ้านกบิลเมือง ใครที่จะยุยงปลุกปั่นให้เป็นเรื่องการเมืองก็ว่ากันไปตามหลักฐานแล้วกัน ผมจะว่าไปตามหลักฐานที่มี” รอง ผบ.ตร.กล่าว และว่า กฎหมายบอกว่าผู้ใดเอาทรัพย์สินผู้อื่นไป ถือว่าผิดฐานลักทรัพย์ จึงต้องมีเจ้าของมาบอกก่อนว่ามีคนเอาของของเขาไป แต่กรณีนี้ยังไม่มีใครเป็นเจ้าของ แล้วจะเอาผิดได้อย่างไร คดีนี้เราทำการสืบสวนไม่นิ่งนอนใจ ต้องว่าตามกบิลบ้านกบิลเมือง
ผู้ว่าฯกทม.ปัดเกิดไม่ทัน2475 - ผอ.เขตยินดีเปิดกล้องหากมีคนขอ
มติชนออนไลน์ยังได้รายงานเพิ่มเติมดด้วยว่า พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. เปิดเผยว่า “สำหรับกรณีการเปลี่ยนหมุดดังกล่าวตนไม่รู้จริงๆ อีกอย่างก็เกิดไม่ทัน ถ้าผมเกิดทันในปี 2475 ผมตอบให้เลยว่าหมุดหายไปไหน อีกอย่างผมก็ไม่รู้เรื่องและไม่ได้เป็นผู้สั่งให้เปลี่ยน อีกอย่างที่สุพรรณบุรีก็ไม่มี ถ้าที่สุพรรณบุรีมีผมจะตอบให้หมดเลย”
ขณะที่ สุธน อาณากุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง เปิดเผยกับ มติชนออนไลน์ด้วยว่า ถึงกรณีหากจะมีหน่วยงานเข้าไปขอดูกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (ซีซีทีวี) บริเวณดังกล่าว สุธน กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า “หากจะมีผู้มาขอดูวงจรปิดบริเวณดังกล่าวทางกทม.ก็ยินดี”
ตร.สั่งห้ามถ่ายภาพ 'หมุดหน้าใส' ใครฝ่าฝืนต้องลบภาพทิ้งทันที
ข่าวสดออนไลน์รายงานด้วยว่า เวลา 17.50 น. วันที่ 18 เม.ย. 60 ที่บริเวณพระบรมรูปทรงม้า ลานพระราชวังดุสิต มีประชาชนแวะเวียนเข้าไปดูที่หมุดตัวใหม่ที่มีผู้นำมาเปลี่ยนแทนหมุดคณะราษฎรหรือหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญของเดิม โดยมีกำลัง จนท.ตร.191 จำนวน 10 นายเฝ้าสังเกตการณ์ โดยไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพและหากใครถ่ายรูปหมุดดังกล่าวจะถูกสั่งให้ลบทิ้งทันที
ตำรวจอ้างว่ามีคำสั่งห้ามถ่ายรูปตัวหมุด หรือรูปคู่เห็นหมุดดังกล่าว หากฝ่าฝืนก็จะถูกควบคุมตัวทันที ทำให้ผู้ที่มาดูต่างผิดหวังกลับไป
เรื่องที่เกี่ยวข้อง:
ประยุทธ์ สั่งจนท. ตามสืบ 'หมุดคณะราษฎร' ย้ำประชาธิปไตยอยู่ในใจทุกคน แต่ขอให้ชุดสืบสวนฯทำงาน
จ่านิว ถาม 'หมุดหน้าใส' ของใคร จ่อนำหมุดคณะราษฎรจำลองไปติดแทนก่อน
ooo
ชาวเน็ตถล่ม เพจกรมศิลป์ หลังโพสต์หมุดคณะราษฎร ไม่ใช่โบราณวัตถุ
ที่มา มติชนออนไลน์
18 เม.ย. 60
เมื่อวันที่ 18 เมษายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเว็บเพจเฟซบุ๊ก กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร โพสต์ข้อความ ระบุว่าประเด็น “หมุดคณะราษฎร” เป็นโบราณวัตถุ ตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 หรือไม่?
กรมศิลปากรได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ตามพ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ได้บัญญัติให้ “โบราณวัตถุ” หมายความถึง สังหาริมทรัพย์ที่เป็นของโบราณ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งประดิษฐ์หรือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรือที่เป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของโบราณสถาน ซากมนุษย์หรือซากสัตว์ ซึ่งโดยอายุหรือโดยลักษณะแห่งการประดิษฐ์หรือโดยหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของสังหาริมทรัพย์นั้น เป็นประโยชน์ในทางศิลป ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี ซึ่งจากนิยามดังกล่าวกรมศิลปากรจึงเห็นว่า หมุดคณะราษฎร์มิใช่โบราณวัตถุตามนัยของ พ.ร.บ.โบราณสถานฯ เนื่องจากหมุดคณะราษฎร์เป็นวัตถุที่พลเอกพระยาพหลพลหยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร์ ได้นำมาติดตั้งไว้เมื่อปี พ.ศ. 2479 ซึ่งเป็นเวลา 4 ปี ภายหลังจากเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง ดังนั้นหมุดคณะราษฎร์จึงมิใช่สังหาริมทรัพย์ที่เป็นประโยชน์ในทางประวัติศาสตร์ เพราะหมุดดังกล่าวมีลักษณะเป็นเพียงเครื่องหมายระบุตำแหน่งที่เคยมีการประกาศแถลงการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองเท่านั้น
ทั้งนี้ภายหลังจากโพสต์ข้อความดังกล่าวมีคนมาแสดงความเห็นคัดค้านจำนวนมาก เช่น ทำไมหมุดคณะราษฎร์ ถึงไม่มีประโยชน์ทางประวัติศาสตร์ครับ ถ้าใช้บรรทัดฐานนี้พวกรูปวัตถุ อนุสาวรีย์ต่างๆก็ถือว่าไม่มีประโยชน์ด้วยรึเปล่าครับ, อยากให้ไปอ่านและเรียนประวัติศาสตร์ใหม่นะ มันเป็นหลักฐานที่ระบุตำแห่งการประกาศและบอกเวลาด้วย